ที่เขาว่า นี่เป็นยุค "เทคโนโลยี" เปลี่ยนโลก เห็นจะเป็นจริง ไม่ว่าจะหันซ้ายหันขวาไปแวดวงธุรกิจใด ก็ล้วนแต่ถูกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปแทรกซึมผุด "ธุรกิจใหม่" ที่เกิดจาก "ช่องว่าง" เล็กๆ

หนึ่งในธุรกิจที่ดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทสำคัญ และเห็นเด่นชัดมากๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ ธุรกิจความบันเทิง ทั้งเพลง ละคร ภาพยนตร์ ล้วนแต่มี "ธุรกิจใหม่" ที่ดิจิทัลเข้าไปแทรกซึมผ่านช่องว่างเล็กๆ เพื่อผสานเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้

และวันนี้มีธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจและกำลังมาแรงทั้งในไทยและต่างประเทศ เกิดการแข่งขันกันดุเดือดในชนิดที่ว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ นั่นคือ "ธุรกิจให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ" ที่มีการคาดการณ์ว่ามีมูลค่าสูงถึงหลักแสนล้านบาททีเดียว

ถ้าย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อน อาจจะมีเพียงแค่ไม่กี่เจ้า รายใหญ่ก็มีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ แต่ปัจจุบัน แค่ปี 2019 ปีเดียว ก็มียักษ์ใหญ่กระโดดวงร่วมแจมตลาดสตรีมมิ่งวิดีโอนี้ด้วยถึง 2 เจ้า ซึ่งยักษ์ใหญ่ที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ใคร ‘ดิสนีย์’ (Disney) กับ ‘แอปเปิล’ (Apple) นั่นเอง

...

การกระโดดมาร่วมแจมของ ‘ดิสนีย์’ กับ ‘แอปเปิล’ ไม่ได้มาแบบธรรมดาๆ เพราะการมาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อโค่นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอย่าง ‘เน็ตฟลิกซ์’ (Netflix) ให้ร่วงลง

• สงครามสตรีมมิ่ง เริ่มต้นขึ้นแล้ว!!

"เน็ตฟลิกซ์ เจ็บหนักไม่ใช่น้อยแน่!"

มุมมองจากหนึ่งในแวดวงเทคโนโลยีบอกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เห็นว่า การเข้ามาของ ‘ดิสนีย์’ น่ากลัวที่สุด เพราะมีคอนเทนต์อยู่เต็มมือ และยังมี Pixar, Marvel, Star Wars และ National Geographic ที่เป็นของเก่าเก็บตรึงใจแฟนๆ มานาน และของใหม่ที่กำลังจะผลิตออกมาเป็นคอนเทนต์ออริจินัลบน Disney+ โดยเฉพาะด้วย อย่างที่เราเห็นกัน แค่วันเดียว ‘Disney+’ ก็มีคนสมัครสมาชิกแล้ว 10 ล้าน ตัวเลขนี้ไม่ธรรมดา

‘Disney+’ คืออะไร?

ทำไมถึงกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ ‘Netflix’

มาทำความรู้จักกัน ... ย้อนกลับไปวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 สิ่งที่แรกว่า Disney+ ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ที่มียักษ์ใหญ่อย่าง ‘ดิสนีย์’ เป็นเจ้าของ

สิ่งที่ Disney+ พรีเซนต์ตัวเองในงานเปิดตัว คือ การมีคอนเทนต์มากมายในกำมือ ทั้งที่เป็นของ ‘ดิสนีย์’ เอง และจากพันธมิตรภายใต้ครอบครัว ‘ดิสนีย์’ อย่าง Pixar, Star Wars, Marvel และอื่นๆ

โดยเป้าหมายที่สำคัญที่ ‘ดิสนีย์’ มุ่งมั่นในการลงสู้ศึกสงครามสตรีมมิ่งครั้งนี้ คือ การเข้ามาถ่วงดุลกับ ‘เน็ตฟลิกซ์’ ที่ถือเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดและเป็นเจ้าตลาดอยู่ในตอนนี้

ซึ่งก้าวแรกที่ ‘Disney+’ เปิดตัว ก็ถือว่าสั่นคลอนตลาดสตรีมมิ่งวิดีโออยู่ไม่น้อย เพราะแค่วันเดียวก็สามารถทำยอดบอกรับสมาชิกได้ถึง 10 ล้าน และยังตั้งเป้าไว้สูงมากด้วยว่า ภายในปี 2024 ‘Disney+’ จะมียอดบอกรับสมาชิก 60-90 ล้าน หวังชนกับ ‘เน็ตฟลิกซ์’ เต็มเหนี่ยว ที่ ณ ปัจจุบัน ‘เน็ตฟลิกซ์’ มียอดบอกรับสมาชิก 158.3 ล้าน

แค่นี้ ‘เน็ตฟลิกซ์’ จะถึงกับต้องเจ็บหนักเลยหรือ?

...

หนึ่งในแวดวงเทคโนโลยีมองว่า ยังไง ‘เน็ตฟลิกซ์’ ก็เจ็บหนัก เพราะถ้ามาแบบนี้แล้วมีความเป็นไปได้ว่า ‘ดิสนีย์’ จะดึงคอนเทนต์ตัวเองกลับคืนสู่อ้อมอกทั้งหมด แล้วเปิดให้สตรีมมิ่งที่ ‘Disney+’ ที่เดียว ท่าทีดึงคอนเทนต์ของ ‘ดิสนีย์’ ไม่ได้เพิ่งมีตอนนี้ แต่แสดงออกมาตั้งแต่เริ่มมีกระแสข่าวว่าจะทำสตรีมมิ่งเองแล้วด้วยซ้ำ หากวันหนึ่ง ‘เน็ตฟลิกซ์’ ไม่มีคอนเทนต์ของ ‘ดิสนีย์’ ก็อาจจะลำบากไม่น้อย เพราะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์และเป็นที่ชื่นชอบหลายๆ เรื่องก็เป็นของ ‘ดิสนีย์’ แต่ทาง ‘เน็ตฟลิกซ์’ เองก็เหมือนจะพอเดาทางไว้ก่อนแล้ว หลังๆ ก็จะเห็นว่า ‘เน็ตฟลิกซ์’ พยายามผลิตคอนเทนต์ที่เป็นออริจินัลของตัวเองมากขึ้น และก็ไปได้ดีซะด้วย อย่างซีรีส์ Stranger Things

แต่เมื่อมันเกิด "สงครามสตรีมมิ่ง" แล้ว คงจะไม่ได้มีเพียงแค่นี้แน่

• สงครามตัดราคา ทำ Netflix สะเทือน

การกำหนดราคาของ ‘Disney+’ บอกเลยว่า ‘เน็ตฟลิกซ์’ อาจจะต้องเสียยอดสมาชิกไปไม่มากก็น้อยแน่ๆ

...

"ตัดราคา" กันรุนแรงแค่ไหน?

‘Disney+’ เปิดราคาที่ทำเอาสมาชิก ‘เน็ตฟลิกซ์’ ถึงกับชะงัก อยู่ที่ 212 บาทต่อเดือน แถมยังให้ทดลองใช้ฟรีอีก 1 ปีเต็มๆ

ส่วนยักษ์ใหญ่อีกเจ้า ‘Apple TV+’ โดย ‘แอปเปิล’ นี่ก็ถูกมากไปอีก 99 บาทต่อเดือน ให้ทดลองใช้ฟรี 7 วัน

และที่เพิ่งเปิดไปหมาดๆ อีกราย ‘YouTube Premium’ ก็เริ่มต้นที่ 159 บาทต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 1 เดือน

ขณะที่ ‘เน็ตฟลิกซ์’ มี 3 ราคาให้เลือก เริ่มตั้งแต่ 280, 350 และ 420 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาที่คนนิยมมากที่สุด คือ 350 บาทต่อเดือน ส่วนการให้ทดลองใช้ฟรีอยู่ที่ 30 วัน

เท่านั้นยังไม่พอ ‘Disney+’ ยังไม่ได้มีแค่นี้ ยังมีแพ็กเกจที่มัดรวม Disney+, Hulu และ ESPN+ ด้วยราคาเพียง 393 บาทต่อเดือน

เห็นราคาแค่ยักษ์ใหญ่ 4 เจ้านี้แล้ว ถูกกว่า ‘เน็ตฟลิกซ์’ กันทุกเจ้าเลยทีเดียว

นอกจากยักษ์ใหญ่ที่ว่ามาข้างต้นแล้ว ในไทยยังมีอีกหลายเจ้าที่น่าจับตามอง นั่นคือ WeTV, VIU ที่เน้นจุดขายในด้านคอนเทนต์ซีรีส์จีนและเกาหลี ที่คนไทยชื่นชอบกันอยู่แล้ว แถมราคายังถูกไม่เบา 99-119 บาทต่อเดือน ที่สำคัญถ้าคิดไม่อยากเสียเงิน เลือกดูฟรีก็ได้ เพียงแต่คอนเทนต์ช้ากว่าคนที่สมัครสมาชิกเท่านั้นเอง

...

แต่ "สงครามราคา" มันไม่ได้เจ็บแค่ยักษ์ใหญ่เท่านั้น ยังมีอีกมุมที่เสี่ยงเจ็บหนักเหมือนกัน

นั่นก็คือ "ผู้บริโภค" อย่างเรา

"สงครามราคานี่แหละน่ากลัว พอมารวมกันการชิงคอนเทนต์แล้วยิ่งน่ากลัวไปใหญ่ หมายความว่า พอคอนเทนต์แยกเป็นของใครของมัน ต่างคนต่างดึงคอนเทนต์กลับแพลตฟอร์มตัวเอง แถมราคายังตัดกันไปมา ยักษ์ใหญ่เสี่ยงที่งบการเงินอาจมีปัญหา แต่คนเจ็บไม่ใช่แค่คนที่ลงสนามแข่ง คนดูอย่างเราก็เจ็บด้วย เจ็บแบบไหน เจ็บแบบเสียเงินเยอะไง อันนั้นก็อยากดู อันนี้ก็อยากดู ไปๆ มาๆ ก็สมัครทุกอัน อย่างน้อยอาจสมัคร 2 อัน จากเสียถูกๆ กลายเป็นเฉียดพันต่อเดือนก็ได้ ดังนั้น นาทีนี้มองว่า รายไหนหาพันธมิตรด้านคอนเทนต์ได้มากกว่าย่อมได้เปรียบ"

ส่วนแง่ของผลกระทบจาก "สงครามสตรีมมิ่ง" ที่นอกเหนือจากนี้นั้น หนึ่งในแวดวงเทคโนโลยีมองว่า อาจจะไม่ใช่ผลลบซะทีเดียว มันก็มีข้อดีอยู่บ้าง คนอาจจะบอกว่า โรงภาพยนตร์อาจลำบาก คนไม่ไปดูแล้ว แต่ในมุมมองตน คิดว่า คนยังไปดูภาพยนตร์ในโรงฯ อยู่ เพียงแต่อาจจะเป็นเฉพาะฟอร์มใหญ่จริงๆ แต่ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กๆ ก็อาจจะไปฉายในโรงฯ ไม่ไหว คนอาจจะเลือกดูผ่านสตรีมมิ่งมากกว่า รายเล็กในโรงฯ ก็อาจจะเริ่มหายไป แต่ก็เป็นโอกาสดีที่มีที่รองรับอย่างตลาดสตรีมมิ่งที่อาจเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น มันอาจจะกระทบบ้างในบางส่วน แต่ก็ไม่ทั้งหมด ทุกอย่างมันขึ้นกับการปรับตัวในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สุดท้าย อย่าคาดหวังว่า ราคาสมาชิกสตรีมมิ่งจะถูกและฟรีไปแบบนี้ตลอด ดูอย่าง ‘เน็ตฟลิกซ์’ ที่เมื่อยอดสมัครบอกรับสมาชิกเพิ่มขึ้น ราคาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยเช่นกัน ดังนั้น เจ้าอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน เมื่อได้เป้ายอดสมัครบอกรับสมาชิกครบตามที่หวัง ในที่สุด ราคาก็จะขึ้นตามมา เพราะนี่คือ "สงครามสตรีมมิ่ง".

ข่าวอื่นๆ :