เปิดใจนักคิดค้น "นวัตกรรมเอกซเรย์สามมิติ" สัญชาติไทย มาตรฐานระดับโลก 10 ปีแห่งความพยายามเพื่อผู้ป่วยยากไร้และห่างไกลความเจริญ สุดภาคภูมิใจช่วยรัฐประหยัดเงินตราของประเทศง 270 ล้านบาท
ประเทศไทยมีนักเทคโนโลยีเก่งไม่แพ้ชาติอื่นในโลก ตราบใดที่ไม่หยุดคิดค้นย่อมเกิด “นวัตกรรม” ใหม่มาช่วยแก้ไขปัญหา และต่อชีวิตคนได้ โดยเฉพาะ “นวัตกรรมทางการแพทย์” ถึงแม้ต้องใช้ระยะเวลานานในการพัฒนากว่า 10 ปี จึงประสบความสำเร็จก็ตาม
ดังผลงาน “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้รับพระราชทาน “รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562” ถือเป็นนวัตกรรมดิจิทัลเอกซเรย์ มาตรฐานระดับโลกแห่งแรกของไทย ซึ่งคิดค้นตั้งแต่ปี 2550 พัฒนามาจนกระทั่งปัจจุบันถูกผลิตและนำไปใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย 60 เครื่อง ช่วยประหยัดเงินตราของประเทศสูงถึง 270 ล้านบาททีเดียว
...
การรักษาโรคได้ผลดีที่สุด ต้องวินิจฉัยด้วย “เครื่องเอกซเรย์”
“เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย” (3D Cone-Beam Computed Tomography) เทคโนโลยีที่คนไทยคิดค้น ประดิษฐ์ขึ้นใช้เองในเมืองไทยเป็นครั้งแรกมีประสิทธิภาพล้ำเลิศในทางการแพทย์อย่างไร ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผอ.โครงการฯ และผู้ริเริ่มเล่าความเป็นมาในการพัฒนาจนสำเร็จ กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า
การรักษาโรคจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง “เครื่องเอกซเรย์” จึงเป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำคัญที่ช่วยวินิจฉัยอาการป่วยของคนไข้เพื่อให้แพทย์รักษาได้ถูกวิธี แต่เนื่องจากมีราคาแพงและนำเข้าจากต่างประเทศเครื่องเอกซเรย์จึงมีไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล สร้างภาระให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาเดินทางไป รพ.อีกแห่งที่มีเครื่องเอกซเรย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการใช้เครื่องเอกซเรย์ และความยากลำบากของผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลและยากไร้ จึงคิดทำโครงการวิจัยประดิษฐ์ “เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบรังสีทรงกรวย” ขึ้น ในปี พ.ศ. 2550
สร้างทีมร่วมวิจัยจาก สวทช.ขึ้นมารวมทั้งสิ้น 19 คน จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มี 2 บุคคลสำคัญ คือ ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยอาวุโส สวทช. เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบซอฟต์แวร์ และ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส สวทช. เป็นหัวหน้านักวิจัยระบบฮาร์ดแวร์
3 นวัตกรรม "โคนบีมซีที" ฝีมือคนไทย
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวยที่คิดค้นขึ้น เรียกสั้น ๆ ว่า โคนบีมซีที (Cone Beam CT) หรือ ซีบีซีที (CBCT) นับเป็นนวัตกรรมขั้นสูงจากฝีมือนักวิจัยไทย และผลิตในประเทศไทย ที่เกิดจากความเชี่ยวชาญศาสตร์แห่งคณิตของ ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช คือ Fourier transform หรือ Convolution และทีมวิจัยช่วยกันพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สร้างภาพตัดขวางแบบสามมิติให้ทำงานภายใต้กลไกทางกลศาสตร์ในการผลิตและออกแบบ
...
ประดิษฐ์ออกมา 3 ลักษณะ คือ 1. “เครื่องเดนตีสแกน” (DentiiScan) สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า , 2. “เครื่องโมบีสแกน” (MobiiScan) ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สำหรับการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และ 3. “เครื่องมินีสแกน” (MiniiScan) สำหรับการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด
“ขณะเครื่องทำการตรวจผู้ป่วย รังสีเอกซ์จะถูกฉายหลอดเอกซเรย์ทะลุผ่านอวัยวะของผู้ป่วยที่ทำการตรวจที่หมุนรอบ 360 องศา เข้ามายังอุปกรณ์รับรังสี แล้วจะคำนวณด้วยระบบคอมพิมพ์เตอร์และสร้างภาพการวินิจฉัยแบบสามมิติ ทำให้เห็นรายละเอียดโครงสร้างอวัยวะผู้ป่วยทั้งหมดได้อย่างชัดเจน คำว่าลำรังสีทรงกรวย คือเอกซเรย์ที่ฉายใช้โคนบีนทรงคล้ายรูปกรวย หมุนรอบเดียวทำให้ไม่ต้องใช้รังสีเยอะ เหมือน CT สแกน เครื่องโคนบีมซีทีนี้ใช้รังสีต่ำกว่าสิบเท่า” ศ.ดร.ไพรัช ผู้อำนวยการโครงการ อธิบายหลักการทำงาน
...
เดนตีสแกน นวัตกรรมสุดล้ำ เอกซเรย์พบโรค ทั้งที่คนไข้ไม่รู้ว่าป่วยอยู่
เครื่องเอกซเรย์ทั้ง 3 แบบนั้น เป็นเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาขึ้น เพื่อใช้งานจริงในวงการแพทย์ มีประสิทธิภาพสูง และช่วยวินิจฉัยโรคได้อย่างน่าทึ่งโดยบางโรคคนไข้ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเป็น โดยผ่านการทดสอบความถูกต้องของคุณภาพของภาพและปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับเปรียบเทียบเครื่องจากต่างประเทศ และได้รับรองมาตรฐานสากล ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์) และนำเครื่องเอกซเรย์ไปใช้งานจริงกับผู้ป่วย ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุและคนพิการ หรือประชาชนทุกระดับมีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
โดยเฉพาะเครื่อง “เดนตีสแกน” (DentiiScan) 2.0 ช่วยให้แพทย์เห็นภายในช่องปากหรืออวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยในรูปแบบภาพ 3 มิติ ช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคและวางแผนการผ่าตัดมีความแม่นยำ แผลมีขนาดเล็กและมีความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงวินิจฉัยโรคและวางแผนรักษาในงานทันตกรรมต่างๆ ช่วยให้แพทย์เห็นลึกลงไปถึงระบบต่างๆ ของช่องปากอย่างชัดเจน เห็นจุดผิดปกติได้แม่นยำและรักษาได้รวดเร็ว อาทิ รากฟันเทียม ผ่าฟันคุด ปากแหว่งเพดานโหว่ ถุงน้ำและฟันฝัง ขากรรไกรหักเนื่องจากอุบัติเหตุ รวมทั้งการตรวจดูไซนัสด้วย
...
“ที่เชียงใหม่เครื่องเอกซเรย์เดนตีสแกนแล้วเจอมะเร็งกรามช้างที่กระดูกกราม ตัดและทำการรักษาได้ทัน ส่วนที่แพร่มีคนเกิดอุบัติเหตุกรามหัก หมอที่ใช้เครื่องเดนตีสแกนบอกว่าแต่ก่อนลำบากมาก เพราะเอกซเรย์ธรรมดาแล้วไม่รู้ว่ารอยร้าวแตกตรงไหน พอใช้เครื่องนี้ทำให้รู้จุดชัดเจน รักษาได้ไว ส่วนการฝังรากฟันเทียมเอกซเรย์แล้วก็ช่วยให้วางแผนทำการรักษาไม่ให้โดนเส้นประสาท ผ่าฟันคุด ฟันฝังเอกซเรย์แล้วก็รู้ตำแหน่ง ผ่าแป๊บเดียวก็เสร็จ
เครื่องนี้มีความปลอดภัยสูง บางคนไปหาหมอเอกซเรย์แล้วเจอปัญหาสุขภาพเพิ่มทั้งที่ตัวคนไข้เองยังไม่รู้เลยก็มี เคยมีเคสไซนัสอักเสบ เอกซเรย์เจอฟันหลุดเข้าไปในโพรงไซนัสจนเป็นหนองโดยผู้ป่วยเองก็ไม่รู้ หมอก็ผ่าเอาหนอง เอาฟันออก” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ผู้อำนวยการโครงการฯ พูดถึงประสิทธิภาพ
เกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ ช่วยรัฐประหยัดงบ 270 ล้านบาท
เครื่อง DentiiScan 1.1 ได้นำไปใช้งานในโรงพยาบาลและศูนย์ทันตกรรมชั้นนำของประเทศตั้งแต่ปี 2554 และมีการพัฒนาเครื่อง DentiiScan มาอย่างต่อเนื่อง มีการติดตั้งเครื่อง DentiiScan ทั้งรุ่น 1.1 และ 2.0 รวมทั้งหมด 10 เครื่อง และมีการใช้งานมากกว่า 5,000 ครั้ง ด้วยประสิทธิภาพของเครื่องที่เห็นผลชัดเจน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และวงการเครื่องมือแพทย์ไทยรัฐบาลจึงสั่งผลิตเครื่อง DentiiScan 2.0 เพิ่มภายใต้โครงการ Big Rock อีก 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อในปี 2562 จะมีเครื่องเดนตีสแกนให้บริการรวมทั้งสิ้น 60 เครื่องในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 37 แห่ง กระทรวงกลาโหม 4 แห่ง กทม. 2 แห่ง สังกัดมหาวิทยาลัย 7 แห่ง
สิ่งสำคัญนอกจากประสิทธิภาพการรักษาแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า เครื่องเดนตีสแกนยังช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินไทยสูงถึง 270 ล้านบาท เพราะหากนำเข้าราคาเครื่องละ 10 ล้าน แต่ด้วยฝีมือคนไทยที่ผลิตได้เองจึงมีมูลค่าเพียง 5.5 ล้านต่อเครื่อง ช่วยรัฐบาลประหยัดงบเครื่องละ 4.5 ล้านบาททีเดียว โดยก่อนหน้านั้นติดตั้งไป 10 เครื่องจากเงินสนับสนุนแหล่งอื่น ปัจจุบันเหลืออีก 2 แห่งจะครบ 50 เครื่องทั่วไทยตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ จากกำลังอัตราการผลิต 4 เครื่องต่อเดือน
“เรารู้สึกปลื้มใจ ภูมิใจมากที่เครื่องไปช่วยหมอเยอะแยะมากโดยเฉพาะคนไข้ยากไร้ ที่ติดตั้งไม่เสร็จเพราะเป็นอาคารใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ บางพื้นที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ตกแต่งภายในยังไม่เสร็จ ต้องชมรัฐบาลที่สั่งผลิต 50 เครื่อง เป็นนโยบายที่ถูกต้องมาก ถ้าไม่ทำขึ้นเอง คนเข้าถึงยาก นำเข้าก็แพง เรากระจายเครื่องให้มากที่สุด บางแห่งไปติดตั้งที่อำเภอ อยากติดตั้งเครื่องในพื้นที่ที่ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่กังวลว่าลงไปไกลแล้วมีคนดูแลไหม
การเลือกพื้นที่ติดตั้งจะมีคณะกรรมการ มีรอง ผอ. สวทช เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก รพ.ต่างๆ ร่วมพิจารณา ดูจากปัญหาของคนในพื้นที่ ความพร้อมแต่ละแห่ง หลังติดตั้งจะมีการอบรมวิธีการใช้ให้กับหมอทันตกรรมที่ฝังรากฟัน และบุคลากรที่ช่วยหมอเวลาฝังรากฟัน” ผอ.โครงการ อธิบาย
ปากแหว่งเพดานโหว่ มีชีวิตโดยไม่ลำบาก เรื่องง่ายๆ หาจุดเลือดออกในสมอง
สำหรับ “เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) นั้นเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติสำหรับผู้ป่วยในท่านอน สามารถเคลื่อนย้ายได้ไปใช้ขณะผ่าตัดหรือห้องฉุกเฉิน ประโยชน์ของเครื่องโมบีสแกนเพื่อการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้งผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และยังสามารถสแกนอวัยวะอื่นๆ นอกจากกะโหลกศีรษะได้อีกด้วย เช่น มือ แขน เท้า ที่สามารถวางบนเครื่องเอกซเรย์ได้โดยไม่ติดขัด
เครื่องโมบีสแกนมีทั้งหมด 3 เครื่องใช้งานที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ใช้กับผู้ป่วยกว่า 1000 ครั้ง ปัจจุบันกำลังจะผลิตเครื่องที่ 4
“คนยากไร้เป็นชาวเขานำลูกที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ เด็กดูดนมไม่ได้เพราะสำลัก ต้องหาอะไรแปะไว้ก่อนแล้วก็ผ่าตัดปิดรู ก่อนผ่าตัดหมอก็ต้องการภาพสามมิติเพื่อดูว่าเพดานตรงไหนโหว่ ไม่โหว่ เครื่องก็ช่วยให้วางแผนการรักษาผู้ป่วยได้ ช่วยให้คนกลับมามีชีวิตโดยที่ไม่ต้องลำบากอีกต่อไป กรณีเกิดอุบัติเหตุได้รับความกระทบกระเทือนที่สมอง นำเครื่องมาเอกซเรย์ เพื่อหาจุดว่าเลือดออกในสมอง และก็รักษาได้รวดเร็ว” ผอ.โครงการกล่าวเสริม
ป่วยมะเร็งเต้านม รู้ผลไว ลดผ่าตัดซ้ำ
ส่วน เครื่องมินีสแกน (MiniiScan) ขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก สร้างขึ้นเพื่อะช่วยวินิจฉัยก้อนเนื้อมะเร็งได้อย่างแม่นยำ เน้นการตรวจหาขอบเขตทางรังสีของก้อนเนื้อเต้านมในห้องผ่าตัด ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยก้อนเนื้อได้เลยในห้องผ่าตัด ช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดและการดมยาสลบของผู้ป่วย ส่งผลให้การผ่าตัดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอผลวินิจฉัยและผ่าตัดเพื่อรักษาซ้ำอีก และช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้ และใช้งานจริงกับผู้ป่วยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปแล้วกว่า 100 ครั้ง ปัจจุบันมีแห่งเดียวที่ จ.สงขลา
“ในอดีตผ่าเสร็จ ต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจอีกตึกแบบสองมิติ แล้วก็ต้องวิ่งกลับมาเพื่อผ่าตัดใหม่อีก คุณหมอผู้เชี่ยวชาญมะเร็งที่คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลาฯ แนะให้ทำเครื่องเอกซเรย์ที่ไม่ใหญ่นัก ติดกับห้องผ่าตัดได้ เราเลยเรียกเครื่องเอกซเรย์ว่า มินีสแกน” ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ผอ.โครงการฯ ในวัย 75 ปี กล่าว
เครื่อง “เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย หรือโคนบีมซีที สัญชาติไทย นอกจากเป็นตัวอย่างผลงานที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ ช่วยลดการสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศ 270 ล้านบาทแล้ว ยังเป็นสิ่งการันตีได้ว่า “คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก” จริงๆ
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ