ปัจจุบัน ในโลกโซเชียลมีเดียปรากฏคลิปผู้คนทำอะไรแปลกๆ เป็นจำนวนมาก พฤติกรรมที่เห็นก็มีหลากหลาย บางคนดูคุยโม้โอ้อวดแบบผิดปกติ หรือบางคนชอบว่าหรือเหยียดหยามคนอื่นก็มีให้เห็น แต่บางอาการที่ดูไม่เป็นพิษภัย แต่อาจจะสร้างความรำคาญ หรือความน่าหมั่นไส้ให้กับคนอื่นๆ ได้ เพราะคิดว่าตนเองเก่งที่สุดไม่มีใครสู้ได้ หล่อเหลาไม่มีใครเทียม ความสามารถเหลือล้ำ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
ใช่แล้ว ... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กำลังให้คุณผู้อ่านทำความรู้จักกับความผิดปกติในอาการ "หลงตัวเอง" แต่ถ้าเป็นหนักมากๆ ก็อาจจะเข้าข่าย โรค Narcissistic Personality Disorder หรือ โรคบุคลิกภาพผิดปกติได้ เพื่อทำความรู้จักและให้เข้าใจ จึงได้พูดคุยกับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาให้ความรู้
• อาการคน "หลงตัวเอง" ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เก่งที่สุด หล่อสุด คนอื่นผิดหมด
หมออภิชาติ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการ "หลงตัวเอง" อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นโรคทางจิตเวช แต่เป็นภาวะที่ให้ความสนใจกับตัวเองมากเกินไป
หลงตัวเอง คือ พฤติกรรมทางสังคม ซึ่งบุคลิกภาพของแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพบางคนอาจจะสุดขั้วสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอาการหลงตัวเอง อาจจะอยู่ในจำพวกของบุคลิกภาพแบบมีปัญหา หรือทางการแพทย์เรียกว่า Narcissistic Personality Disorder โดยเขามักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก ปัญหาอยู่ที่คนอื่น คิดว่าดีกว่าคนอื่น คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง คนที่ป่วยถึงขั้นนี้ จะต้องมีแพทย์เป็นผู้ประเมินอย่างละเอียด การที่เราเห็นใครแล้วบอกว่าเขาป่วยแบบนี้ดูจะไม่เหมาะ เพราะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทราบ
...
ในปัจจุบันเราจะเห็นคำในโลกอินเทอร์เน็ตหลายคำ อาทิ โรคหลงตัวเอง โรคเจ้าหญิง เจ้าชาย (Prince or Princess Syndrome) ซึ่งมีอาการคล้ายกัน คือ เห็นตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น ซึ่งตรงนี้ไม่ถึงกับเป็นโรค แต่เขาใช้เรียก "พฤติกรรมทางสังคม" ที่เกิดขึ้น แต่ส่วนมากเขาจะเรียกเฉพาะบุคคลที่เป็นเด็ก อายุไม่ถึง 18 ปี ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคนปกติได้ มาจากสิ่งแวดล้อม ค่านิยมต่างๆ ซึ่งตรงนี้เหมือนกระแสนิยมส่งผลต่อวิธีคิดทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้ามีการบอกเตือน ทำความเข้าใจ แต่ถ้าอายุเกิน 18 ปีไปแล้ว แต่ยังเป็นอยู่ บอกเตือนอะไรไม่ได้ คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แบบนี้จะเรียกว่า "บุคลิกภาพมีปัญหา"
• จะสังเกตตัวเองได้อย่างไร ว่าเป็นโรค "หลงตัวเอง" หรือไม่
นพ.อภิชาติ อธิบายว่า เราต้องสังเกตเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นไปอย่างปกติหรือไม่ ถึงแม้ว่าคนที่มีอาการหลงตัวเอง มักจะเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี พูดเก่ง แต่ก็มักจะหมกมุ่นเรื่องตัวเอง ต้องการความสนใจและยอมรับ ดังนั้นหากอยากสังเกตตัวเองก็ต้องลองคุยกับคนรอบข้างที่เราไว้ใจ เพื่อให้เขาพูดอย่างเปิดใจดู แต่ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ก็ลองโทรไปปรึกษาสายด่วน 1323 กรมสุขภาพจิต หรือไปพบจิตแพทย์ ไม่ต้องรอให้ถึงขั้นเป็นหนักๆ
กลับกัน หากพบว่าใครมีอาการ "หลงตัวเอง" จะเตือนเขายังไง
"วิธีการที่จะใช้ก็คงคล้ายกัน โดยการรับฟัง ฟังกันให้มากขึ้น การเรียนรู้กันและกันจะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น หากจะแนะนำเขาก็ควรพูดในลักษณะที่ไม่เป็นการตำหนิหรือต่อว่า เราต้องพูดด้วยความรักอย่างเอื้ออาทร แต่ถ้าคิดว่าแนะนำไม่ได้ ก็ควรให้เขาปรึกษาจิตแพทย์" โฆษกกรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าว
• โซเชียลมีเดียแพร่หลาย กระตุ้นให้คนหลงตัวเอง?
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้มีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้บางคนมองปัจจัยรอบตัวน้อยลง หันมาสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจโลก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
"ภาวะการหลงตัวเอง เกิดได้ทั่วไปกับทุกคน เนื่องจากมีภาวะทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งภาวะดังกล่าวโดยส่วนใหญ่ก็จะรู้ตัวเอง ว่าเริ่มหลงตัวเองมากไป จะมีเพียงบางคน หรือส่วนน้อยมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในภาวะหลงตัวเอง"
ภาวะหลงตัวเองนั้น ถือเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการเชื่อมถึงแค่เพียงปลายนิ้ว ก็ทำให้คนทั่วโลกเริ่มเป็นกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เพราะโลกโซเชียลมีเดียมีการเปิดกว้าง
...
• คนที่โพสต์โอ้อวดในโลกโซเชียลมีเดีย "หลงตัวเอง" หรือ ปิดปมด้อย!
นอกจากนี้ โฆษกกรมสุขภาพจิต ยังได้กล่าวถึงกรณีการโพสต์โอ้อวดความรวย ความหล่อ ความเก่งกาจ ของคนทั่วไปว่า บางทีการโพสต์อาจเกิดการตีความได้หลากหลาย ซึ่งจะแตกต่างจากการพูดคุยซึ่งหน้า เพราะมีน้ำเสียง ท่าทาง ถึงแม้ประโยคเดียวกัน แต่มันเปลี่ยนไปหลายร้อยแบบ เพราะการโพสต์บางครั้งอาจจะถูกตีความผิดเพี้ยนไป เราต้องประเมินอารมณ์ของคนรับสารด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะโพสต์อะไรลงไป ก็ควรวิเคราะห์ตีความก่อน ว่าสามารถอาจตีความได้ผิดเพี้ยนได้หรือไม่
"สิ่งสำคัญของโซเชียลมีเดีย คือ ไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ หรือพื้นที่ส่วนตัว เพราะโพสต์ลงไปก็มีคนเห็น มันก็จะกลายเป็นสาธารณะทันที เพราะคุณมีสิทธิ์รู้สึก คนเห็นคนรับสารก็มีสิทธิ์จะรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่บางครั้งการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ก็อาจจะทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนจะมีความมั่นใจในตัวเอง บางครั้งอาจจะเผลอแสดงออกเพื่อเรียกความมั่นใจ ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่ามีความหลากหลายมาก"
...
• หลงตัวเองมากไป เกิดโรคอื่นแทรก ซึมเศร้า อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการหลงตัวเองคือ "การใช้ชีวิตของคน หากไม่อยู่ในความเป็นกลาง มีความสุดโต่งมากเกินไป หากไม่ได้ในสิ่งตามที่คาดหวัง ก็อาจจะนำไปสู่การซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้า อาการซึมเศร้าก็อาจจะทำให้เกิดอารมณ์ชั่ววูบนำไปสู่ภาวะการอยากฆ่าตัวตายได้".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- ชีวิตยิ่งกว่านิยาย มุมมืด “ชายขายกาม” ทำมากกว่ามี Sex แฉกลมิจฉาชีพคราบลูกค้า
- เสพรอบ 100 เม็ด จากสาวติดยา มีเงิน 50 สตางค์ พลิกผันสู่เจ้าของคาเฟ่เห็ด
- ถอดรหัส 39 เหยื่อคอนเทนเนอร์ค้ามนุษย์ คาด 7 ชั่วโมงที่ทนทรมานจนตาย
- หนาวนี้จงระวัง ภัยในห้องน้ำ ผิวแห้งก่อโรคแทรกซ้อน เมาหลับเสี่ยงตาย
- อัศจรรย์เกินคาด พ่อแม่ใบ้สอนลูกพูดได้เก่ง เรียนดี เคล็ดลับวันละ 15 นาที
...