ช่วยกันเข็น ช่วยกันผลักดันมานานเกือบ 2 ปี ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ที่มีการลงนามสัญญาร่วมทุน "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.25 แสนล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานที่เปรียบดั่ง "ความหวัง" ของหมู่บ้าน ‘อีอีซี’

"ไทยแลนด์ 4.0" ที่มี ‘อีอีซี’ (EEC) หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นศูนย์กลาง เริ่มค่อยๆ เห็นภาพชัดขึ้น หลังมีการจรดปากกาลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐ : การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. และภาคเอกชน : บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือ ‘ซีพี’ (CP) เป็นหัวเรือใหญ่ พร้อมด้วยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BEM), บริษัท ช.การช่างฯ, บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่นฯ (CRCC) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ (ITD)

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เรียกว่า อุปสรรคขลุกขลักกันมาตลอด ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มยื่นซองประมูล จนถึงวันได้ผู้ชนะประมูล ว่ากันว่า ติดปัญหาเรื่อง "เงื่อนไข" ที่ทางฝั่ง ‘ซีพี’ ยังไม่โอเค

...

กระทั่งช่วงต้นเดือนตุลาคม ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ‘ซีพี’ ถือโอกาสใช้เวทีงานเปิดตัวหนังสือของตนเอง ส่งสัญญาณเน้นๆ กระตุ้นหนักๆ ถึงรัฐบาล

ธนินท์ เจียรวนนท์
ธนินท์ เจียรวนนท์

—————

"เสี่ยงต้องเสี่ยงด้วยกัน
ล่มต้องล่มด้วยกัน
ไม่ใช่เอกชนเสี่ยง
แต่รัฐบาลไม่เสี่ยง"

—————

ธุรกิจยุคนี้ต้องการความรวดเร็ว รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้คนอยู่ระยองใช้เวลา 45 นาที เชื่อมกับกรุงเทพฯ ขณะที่จีนมีรถไฟความเร็วสูงหลายหมื่นกิโลเมตร แต่เรายังมัวชักช้าอยู่ และไม่ได้มองความสำคัญ ถ้า ‘อีอีซี’ ไม่เกิด คือ เรากำลังถดถอย... ใจความตอนหนึ่งที่น่าสนใจจากถ้อยความ ‘เจ้าสัวธนินท์’

ผ่านมาเพียงไม่นานหลังจากนั้น (ไม่ถึงเดือน) วันแห่งความชื่นมื่นก็มาเยือน "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" ความหวังแห่งหมู่บ้าน ‘อีอีซี’ ก็ได้ฤกษ์ออกเดินทาง

ผ่าตัด "ไฮสปีด 3 สนามบิน" แสนล้าน

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ออกเดินทางจากสถานีดอนเมือง (สนามบินดอนเมือง) สู่สถานีสุวรรณภูมิ (สนามบินสุวรรณภูมิ) และเทียบจอดที่สถานีอู่ตะเภา (สนามบินอู่ตะเภา) ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร เริ่มจากกรุงเทพฯ และผ่านอีก 4 จังหวัด คือ สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง รวมแล้วกว่า 9 สถานี

การันตีว่า ลดน้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม ที่คำนวณเป็นมูลค่าแล้วกว่า 128,641 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)

ไฮสปีดประหยัดเวลา?

ปกติถ้าขับรถยนต์จาก ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ขึ้นทางด่วนแล้ว เวลาโดยประมาณก็ 1 ชั่วโมง แต่ถ้านั่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้เวลาเพียงแค่ 35 นาที

และถ้าขับรถยนต์จาก ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขึ้นทางด่วนก็อาจใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ถ้านั่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้เวลาเพียง 45 นาที

...

แต่ถ้าขับรถยนต์จาก ช่วงดอนเมืองยิงยาวถึงอู่ตะเภา ที่อาจใช้เวลาเดินทางถึง 3 ชั่วโมง หากนั่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางลงกว่าครึ่ง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้น

ส่วนขบวนรถด่วนที่เดินทางจากสถานีมักกะสันถึงสนามบินอู่ตะเภา ก็ใช้เวลาเพียง 45 นาทีเช่นกัน

นอกจากประหยัดเวลา

แล้วประเทศและประชาชนจะได้อะไร?

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีมูลค่า 224,544 ล้านบาท (กรอบวงเงินคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) และกลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) และส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่าย 2,200 ล้านบาท) หากทำสำเร็จคาดว่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 650,000 ล้านบาท

แบ่งเป็น

  • ผลตอบแทนทางการเงิน 1.28 แสนล้านบาท
  • มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเศรษฐกิจ รัศมี 2 กิโลเมตรตามเส้นทางรถไฟ 2.15 แสนล้านบาท
  • ภาษีเข้ารัฐเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท
  • มูลค่าเพิ่มการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกอีกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
  • ลดใช้น้ำมัน เวลา อุบัติเหตุ และสิ่งแวดล้อม 128,641 ล้านบาท

...

(มูลค่าปัจจุบัน : คิดจากอัตราคิดลดทางด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 3)

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการจ้างงานช่วงก่อสร้างถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี รวมทั้งเปิดโอกาสให้แรงงานไทยเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูง

โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะเวลาสัญญา 50 ปี แบ่งเป็น ออกแบบ+ก่อสร้าง 5 ปี และดำเนินการ 45 ปี หลังจากหมดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐทันที

ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ดึงนักลงทุนจีน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นตัวช่วยดึงนักลงทุนจีนได้แน่นอน แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหรือระยะเวลา เพราะจะเป็นตัวเชื่อมโยงสู่คลัสเตอร์หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น คลัสเตอร์เรื่องการท่องเที่ยว ด้านการเงิน หรือการเรียนรู้ และในกรณีนี้ ‘อีอีซี’ ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงอีกด้วย หากโครงการนี้ทำสำเร็จ ไทยจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้นโครงการนี้จะเป็นการขยายตัวทางด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และโลจิสติกส์ ฯลฯ

...

"โครงการนี้มีความน่าสนใจตรงที่ ‘จุดที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วิ่งผ่าน’ เพราะจะมีการขยายตัวของชุมชนในหลายๆ จุด นำไปสู่การขยายตัวชุมชนเมือง เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะไปช่วยดึงการลงทุน การพัฒนา"

แต่อย่าเพิ่งยิ้มไป รศ.ดร.สมชาย ฝากข้อกังวลที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ไว้ 3 ข้อ ดังนี้

—————

"ระยะเวลา เป็นสิ่งสำคัญ"

—————

ข้อแรก ที่น่าห่วงมากที่สุด คือ จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายได้หรือไม่ ที่เห็นได้ชัดเลยตอนนี้ คือ การเวนคืน ซึ่งรัฐบาลจะทำได้ตามเป้าหมายขนาดไหน

ข้อ 2 คือ ประเด็นปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ที่อยู่ในลักษณะหมิ่นเหม่ ขาลง ซึ่งจีนเองก็เป็นนักลงทุนที่สำคัญ เศรษฐกิจจีนตอนนี้ลงมาต่ำสุดในรอบ 30 ปี ที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้าเศรษฐกิจจีนขยายตัวลดลง ถึงจุดหนึ่งอาจส่งผลกระทบในเรื่องการลงทุนกับจีน กระทบกับโครงการได้เหมือนกัน

ข้อ 3 คือ ยกตัวอย่าง ‘สเปน’ สร้างทางรถไฟโดยหวังว่าสองข้างทางจะมีการพัฒนาชุมชนเมือง แต่สุดท้าย ณ บางแห่ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มันผ่านไป แรงดึงดูดที่จะสร้างชุมชนเมืองจะต้องมีแม่เหล็กที่จะทำ อันนี้ก็จะเกิดประเด็นปัญหาการพัฒนาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมืองในหลายๆ จุด

"การบานปลายที่ลงทุนไปแล้ว หมายถึงว่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่างๆ บานปลายหรือไม่"

หากจะถามว่า แล้วตกลง "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" จะคุ้มหรือไม่?

คงต้องลุ้นต่อไปว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่?

จะสามารถเวนคืนแล้วทำตามระยะเวลาที่ให้ไว้ได้หรือไม่?

เพราะสิ่งนี้ก็เป็นข้อห่วงใยที่หลายๆ ฝ่ายกังวล ซึ่งเป็นส่วนสัญญาแนบท้ายที่เกี่ยวข้องกับการ "ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า" ที่มีแววว่าจะเหมือนกับโครงการอื่นๆ ที่รัฐจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเอง หากทำไม่ได้ตามกำหนด

แต่หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า สิ่งแรกที่จะคุ้ม คือ ต้นทุนโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำตั้งนานแล้ว.

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)