รวยแบบมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องรวยแบบ "เจ้าสัวเมืองไทย" ที่ไม่ว่าเว็บไซต์ ‘ฟอร์บส’ (FORBES) จะจัดอันดับ "มหาเศรษฐีพันล้าน" กี่ปีต่อกี่ปี อันดับต้นๆ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง หมุนเวียนสับเปลี่ยน ขับเคี่ยวกันเป็นเบอร์ 1 แต่ทุกคนรู้ไหมว่า "มหาเศรษฐีพันล้าน" ที่ว่านี้มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของประเทศไทย

7 เดือน เงิน "เจ้าสัว" พุ่งนาทีละเป็นแสน

ในขณะที่ พนักงานกินเงินเดือนอย่างเราๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเดือนละ 2 หมื่นกว่าบาท และเหล่าผู้ใช้แรงงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท กำลังหาเงินตัวเป็นเกลียว

อีกด้านหนึ่งที่เป็น "มหาเศรษฐีพันล้าน" สัดส่วนไม่ถึง 1% กลับรวยพุ่ง และยังรวยได้อีก

พุ่งแค่ไหน?

เดือนเท่าไร? นาทีเท่าไร?

มาดูนี่!!

ระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือน ความมั่งคั่งสุทธิของ เจ้าสัว ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ เบอร์ 1 มหาเศรษฐีพันล้านเมืองไทย ปี 2562 เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท (เดือน มี.ค. : 15.2 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4.6 แสนล้านบาท)

นั่นหมายความว่า ณ ขณะนี้ ‘เจ้าสัวธนินท์’ มีความมั่งคั่งสุทธิ 17.5 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 5.3 แสนล้านบาท

หากคิดเป็น "ค่าแรง"

เท่ากับว่า ในช่วง 7 เดือน มีค่าแรงเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท

เท่ากับว่า มีค่าแรงวันละ 3 ร้อยล้านบาท

เท่ากับว่า มีค่าแรงชั่วโมงละ 13 ล้านบาท

เท่ากับว่า มีค่าแรงนาทีละ 2 แสนบาท

...

ขณะที่ คนที่เหลือใน 5 อันดับแรกก็ไม่ต่างกันนัก รวยพุ่ง รวยได้อีกเหมือนกัน

อันดับ 2 ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ จาก 14.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (4.4 แสนล้านบาท) เป็น 17.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (5.3 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 พันล้านดอลลาร์ฯ (9 หมื่นล้านบาท) ใช้เวลาเพียงแค่ 7 เดือน ก็สามารถมีความมั่งคั่งสุทธิเท่า ‘เจ้าสัวธนินท์’

ต่างจากเราๆ ที่ในบทความที่แล้ว (ส่องเศรษฐีพันล้านไทยหน้าใหม่ 2 ปี เพิ่ม 11 คน "ช่องว่าง" ที่ล้านปีถึงจะเท่าเทียม) คำนวนผลลัพท์ออกมาว่า หากเราอยากรวยเท่า ‘เจ้าสัวธนินท์’ เราต้องใช้เวลาเป็นล้านๆ ปี

มาต่อที่อันดับ 3 ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ และครอบครัว จาก 5.9 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.8 แสนล้านบาท) เป็น 5 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.5 แสนล้านบาท) ลดลง 9 ร้อยล้านดอลลาร์ฯ (27 ล้านบาท)

อันดับ 4 ‘สุเมธ เจียรวนนท์’ จาก 4.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.4 แสนล้านบาท) เป็น 4.8 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.5 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3 ร้อยล้านดอลลาร์ฯ (9 พันล้านบาท)

และอันดับ 5 ‘จรัญ เจียรวนนท์’ จาก 4.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.3 แสนล้านบาท) เป็น 4.7 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.4 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3 ร้อยล้านดอลลาร์ฯ (9 พันล้านบาท)

5 มหาเศรษฐี "ไทย-สหรัฐฯ" มั่นคง มั่งคั่ง

ไม่ใช่แต่ใน ‘ไทย’ เท่านั้น ที่ "มหาเศรษฐี" 5 อันดับแรก หมุนเวียนสับเปลี่ยนแต่กับคนหน้าเดิมๆ ใน ‘สหรัฐฯ’ เองก็เช่นกัน

ในจำนวน "มหาเศรษฐี" 5 อันดับแรกของ ‘สหรัฐฯ’ ติดอันดับโลกไปแล้ว 3 คน คือ ‘เจฟฟ์ เบซอส’ ที่ครองอันดับ 1 ยันอัน "มหาเศรษฐีพันล้านโลก" ด้วยความมั่งคั่งสุทธิ 114 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 3.5 ล้านล้านบาท

อันดับ 2 ‘บิลล์ เกตส์’ ความมั่งคั่งสุทธิ 106 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.2 ล้านล้านบาท) และอันดับ 3 ‘วอร์เรน บัฟเฟต์’ ความมั่งคั่งสุทธิ 80.8 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.5 ล้านล้านบาท)

ส่วนอันดับ 4 แม้ไม่ได้อยู่ใน 5 อันดับแรกทำเนียบโลก แต่ความมั่งคั่งก็ไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ แถมยังเป็นที่รู้จักกันดี เขาคือ ‘มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก’ ความมั่งคั่งสุทธิ 69.6 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.1 ล้านล้านบาท) และอันดับ 5 ‘แลร์รี เอลลิสัน’ ความมั่งคั่งสุทธิ 65 พันล้านดอลลาร์ฯ (2 ล้านล้านบาท)

...

ขณะที่ ‘ไทย’ คือ ดินแดนมหาเศรษฐีพันล้านแห่งอาเซียน

‘สหรัฐอเมริกา’ เองก็มีการกล่าวขานกันว่า "อาณาจักรเศรษฐีพันล้านที่ใหญ่สุดในโลก"

เพราะจากจำนวนมหาเศรษฐีพันล้านทั่วโลก 2,604 คน มากกว่าครึ่งล้วนอาศัยอยู่ใน ‘สหรัฐอเมริกา’

การเติบโตของมหาเศรษฐีพันล้านในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4% จาก 680 คน เป็น 705 คน มากกว่าอันดับ 2 อย่าง ‘จีน’ เกือบ 3 เท่า ที่มีมหาเศรษฐีพันล้าน 285 คน

รวมกันแล้ว "มหาเศรษฐีพันล้าน" ในสหรัฐฯ ทั้ง 705 คน มีความมั่งคั่งสุทธิ 3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 91.4 ล้านล้านบาท

ซึ่งแม้ว่า ความมั่งคั่งสุทธิของมหาเศรษฐีพันล้านทั้งหมดในสหรัฐฯ จะลดลงราวๆ 5% แต่ก็ยังมากกว่าความมั่งคั่งสุทธิรวมของ 8 ประเทศที่ตามหลังมา ได้แก่ จีน, เยอรมนี, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สวิตเซอร์แลนด์, ฮ่องกง, อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย ที่มี 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ (88 ล้านล้านบาท)

...

"กิน-ดื่ม" แหล่งที่มาความร่ำรวย "เศรษฐีไทย"

ในขณะที่ 5 อันดับ เศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ‘อเมซอน’, ซอฟต์แวร์ ‘ไมโครซอฟต์’ หรือแม้แต่โซเชียลเน็ตเวิร์กยอดฮิต ‘เฟซบุ๊ก’

แต่สำหรับ ‘ไทย’ แล้ว ต้องบอกว่า "แตกต่าง"

เรียกว่า "หนีไม่พ้น"

เริ่มตั้งแต่ ‘ซีพี’ ที่คนในตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ติดอันดับมหาเศรษฐีพันล้านถึง 9 คน ไม่ต้องบอกก็รู้กันทั้งประเทศ ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อที่มีทุกหัวมุมซอย หรือแม้แต่เครือข่ายโทรศัพท์ ทุกอย่างล้วนแต่ผูกกับการอุปโภคบริโภคทั้งสิ้น

ต่อด้วย ตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ กับห้างสรรพสินค้าค้าปลีกรายใหญ่ ที่แตกย่อยแบรนด์หลากหลาย มีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ, ตระกูล ‘อยู่วิทยา’ กับธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นของคู่กายตั้งแต่ชนชั้นแรงงานยันนักกีฬา

หรือ ‘เจ้าสัวเจริญ’ กับอาณาจักรธุรกิจน้ำเมาและอสังหาริมทรัพย์ ที่ทุกเทศกาลคนไทยต้องดื่ม

...

รองลงมาอื่นๆ ก็จะเป็นธุรกิจเครื่องดื่ม, ยา หรือโรงพยาบาล

นับๆ ดูแล้ว แหล่งที่มาความร่ำรวย "เศรษฐีไทย" วนเวียนกับธุรกิจการ "กิน" การ "ดื่ม" และชีวิตประจำวันของคนไทยแทบทั้งสิ้น

1% ที่มั่งคั่ง แต่มีทรัพย์สินรวม 32% ของจีดีพี

สัดส่วน "มหาเศรษฐีพันล้านไทย" มีไม่ถึง 1% ของประเทศ แต่กลับมีมูลค่าความมั่งคั่งรวมกัน 94.8 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.9 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 19% ของจีดีพี

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ สัดส่วน 50 เศรษฐีไทย ที่มี 1% ของประเทศ มีมูลค่าความมั่งคั่งคิดเป็น 32% ของจีดีพี รวมกันแล้วกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4.9 ล้านล้านบาท

เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า "งบประมาณปี 2563" ถึง 1 ล้านล้านบาท

หลังจากนี้คงต้องมาดูต่อกันว่า "เศรษฐีไทย" จะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในปี 2563 อีกกี่พันล้าน.

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • Forbes 400 ranking of 2019’s richest Americans | The 5 richest man in the US have a staggering combined of $435.4 billion. (02/10/2019) : BUSINESS INSIDER
  • The US is home to more billionaires than China, Germany and Russia combined by Alicia Adamczyk (09/05/2019) : CNBC
  • The Richest People in The World 2019 (03/2019) : FORBES
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ไตรมาสที่ 2/2562 (Gross Domestic Product : Q2/2019) (19/08/2019) 09.30 AM : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ