ใครๆ ก็อยากเป็น "นักบิน" อาชีพอันหอมหวานน่าดึงดูด หลายคนที่มีความฝันต่างพาเหรดเดินลากกระเป๋า หวังขึ้นนั่งประจำการขับเคลื่อนอากาศยานสู่ท้องฟ้า แต่ไฉน ณ เวลานี้ กว่า 600 ชีวิต ต้อง "ตกงาน" เดินเตะฝุ่น ไม่แม้แต่จะมีโอกาสได้ทำตามฝัน ...
"นักบิน" ไม่มีโอกาสตกงาน
"นักบิน" ขาดแคลน วิกฤติอุตสาหกรรมการบิน
ประเทศไทยผลิต "นักบิน" ป้อนตลาดไม่พอ
ช่วง 1-2 ปีก่อน ประโยคข้างต้นแพร่กระจายทุกหน้าสื่อตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี แต่มาวันนี้มันเปลี่ยนไป จากที่เคยแห่แหนลากกระเป๋าเข้าเรียนโรงเรียนการบิน หวังจบมาได้ทำอาชีพในฝัน กลับต้องเดินเตะฝุ่น "ตกงาน" กว่า 600 คน เสียเงินเรียนหลักล้าน จบมาเคว้งคว้าง ยึดอาชีพเสริมหารายได้แทน
ปัญหาเหล่านี้ วิกฤติที่ว่านี้ มันเกิดจากอะไร?
บ้างว่า "นักบินไทย" ถูก "นักบินต่างชาติ" แย่งงาน
บ้างว่า "นักบินไทย" เลือกงาน ไกลไม่ทำ เล็กไม่ทำ
บ้างว่า "โรงเรียนการบิน" มากเกินจำเป็น ผลิต "นักบิน" จนล้นตลาด
หรือว่ามันถึงคราว "อิ่มตัว" ของตลาดนักบิน?
...
ขณะที่ อีกฝั่งมองต่าง "ตลาดนักบิน" ไม่ได้อิ่มตัว ทั่วโลกยังขาดแคลน แต่ที่ "นักบินตกงาน" ไม่ใช่ไม่หางาน แต่ออกไปบินต่างประเทศไม่ได้
เหมือนติดอยู่ใน "กะลา"
ชะตาชีวิต "นักบินไทย" จะเป็นอย่างไร?
ใครจะช่วยพวกเขาได้ หรือพวกเขาต้องเป็นฝ่ายดิ้นรนเอง?
หาทางออกใน 2SIDED กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จาก 3 ผู้คร่ำหวอดแวดวงการบิน "จุฬา สุขมานพ" ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, "กัปตันสนอง มิ่งเจริญ" นายกสมาคมนักบินไทย และ "ปิยะ เคลือบมาศ" Flight Operations Director (Thai Summer Airways)
เก็บตกนอกรันเวย์
กัปตันสนอง : กลุ่มนักบินตกงานมีนัยสำคัญ คือ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 มีนักบินตกงานประมาณ 30 คน ขณะที่ ปี 2560 ขึ้นมาประมาณ 100-160 คน และปี 2561 เยอะที่สุด ประมาณ 170 คน ส่วนปี 2562 ที่เพิ่งจบ มีประมาณ 150 คน ฉะนั้น 3 ปีให้หลัง รวมกันแล้วประมาณ 500 คน
นายปิยะ : จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร 4-5 ปีที่แล้ว ก็เป็นแบบนี้มาครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่า วันนั้นมีการพูดถึง มีการแก้ไขหรือไม่ 5 ปีผ่านไป ยังเหมือนเดิม ... มันเหมือนสะพานแคบๆ คนมาออกันอยู่ที่คอสะพาน แทนที่จะเปิดโอกาสให้ไปเลียบสะพานบ้าง ติดไฟแดงบ้าง เลี้ยวซ้ายอ้อมไป
กัปตันสนอง : อยากให้ชะลอรับนักบินต่างชาติ แทนที่จะเอานักบินต่างชาติเข้ามา ให้เปิดรับสมัครนักบินไทย ไม่ใช่การลดมาตรฐานสายการบิน ถ้านักบินไทยมีคุณสมบัติพร้อมหรือครบถ้วนให้พิจารณารับสมัครงานผ่านการสอบคัดเลือก
นายปิยะ : ทุกคนอยากทำงาน การเป็นนักบินอยากโลดแล่น อยากผจญภัย อยากเรียนรู้ เป็นไปไม่ได้ที่จะมาเลือกงาน
นายจุฬา : นักบินไทยต้องเต็มใจไปทำงานต่างประเทศ นักบินไทยบางครั้งไม่อยากออกไปทำงานต่างประเทศ ... ต้องไปหาตลาดอื่น บินเครื่องบินเล็กก่อน สะสมประสบการณ์เก็บชั่วโมง เครื่องบินเล็ก ณ ปัจจุบัน ใช้คนต่างชาติเยอะเหมือนกัน เพราะหาคนในบ้านเราไม่ได้
กัปตันสนอง : จีนขาดแคลนนักบิน ไลเซนซ์ไทยในปัจจุบันไม่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงาน ถ้าสามารถเข้าไปเจรจาจะทำให้นักบินที่มีประสบการณ์บางส่วนเข้าไปทำงานในจีนได้ เมื่อนักบินกลุ่มนี้ออกจากสายการบินในไทยก็จะเกิดที่ว่าง เกิดอัตราจ้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
...
นายจุฬา : นักบินต้องมองตลาดงานในต่างประเทศ ปัจจุบัน ที่ได้ไลเซนซ์ที่สามารถบินภายใต้ของไทยมี 25 ราย แต่ใน 25 ราย เครื่องบินที่บินกันประจำมีแค่ไม่กี่ราย ที่เหลือเป็นนักบินประเภทเครื่องบินเล็ก รับจ้างบิน ดังนั้น นักบินต้องมองตลาดพวกนี้เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ปัจจุบัน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไปทำสายการบินใหญ่ๆ ตลาดแคบนิดนึง ความต้องการเขายังมีไม่เยอะ
นายปิยะ : เขาไม่ได้ไม่รับไลเซนซ์ที่ออกโดย ICAO แต่ไม่รับไลเซนซ์ที่ออกโดยรัฐบาลไทย ... ทุกภาคส่วนทำหน้าที่ได้ดีมากแล้ว อยากให้ทางรัฐเป็นตัวกลางเข้ามาช่วย วิสัยทัศน์สำคัญมาก ถ้าวิสัยทัศน์ยังไม่มี ลำบาก ... น่าจะอยู่ในกะลา ... "กะลาไทยแลนด์".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- THE INVISIBLE LOSS EP.3 คิดถึง เสียสละ ทหารชายแดนใต้ ตายไม่กลัว
- 2 SIDED | ปมหนังไทยซ้ำซาก "ผี ตลก กะเทย พระ" คนนิยม หรือไม่พัฒนา?
- "นักรบผลิตฝน" เหินเวหาฝ่าก้อนเมฆ ภารกิจไม่มีวันหยุด "ทุ่มเท จำเป็น อำลา"
- 2SIDED | ปัญหาและทางออก GAME ศิลปะ หรือ อาชญากรรม
- "โค้ชชิ่งบุฟเฟต์" เปิดร้านต้องไม่เจ๊ง ทริกปั้นกำไร ทำให้ "ลูกค้ารู้สึกชนะ"
...