หากพูดถึงไอเท็มใหม่ของสิงห์นักสูบยุคนี้ คงหนีไม่พ้น "บุหรี่ไฟฟ้า" บ้างหวังว่าสูบแล้วจะช่วยเลิกบุหรี่มวน บ้างสูบเพราะความเท่ กลิ่นหอมดึงดูดใจ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ แต่หารู้ไม่จริงๆ แล้ว "อันตราย" กว่าที่คิด
นับเป็นข้อมูลการวิจัยชุดใหม่เกี่ยวกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่น่าตกใจมากทีเดียว เมื่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี (CDC) ออกมาแถลงว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" อาจมีส่วนทำให้ผู้ป่วยโรคปอดเสียชีวิตจากการสูบ หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย และผู้ป่วยอีก 1,080 ราย ซึ่งจากการซักถามประวัติผู้ป่วยโรคปอด พบว่า 78% มีการใช้สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ ทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารสกัดจากน้ำมันกัญชา
ทำเอากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศออกติดตามและซักประวัติการสูบบุหรี่ของผู้ป่วยเป็นการด่วน ว่า มีการเชื่อมโยงกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ก็ออกมาเทคแอ็กชั่นมอบหมายกรมควบคุมโรคทำความเข้าใจพิษภัย "บุหรี่ไฟฟ้า" เพื่อให้รู้เท่าทัน หวั่นเกิดการเสพติดนิโคตินมากขึ้นกว่าเดิม
...
แล้ว "นิโคติน" ใน "บุหรี่ไฟฟ้า" รุนแรงอย่างไร? ... ในส่วนนี้กรมควบคุมโรคอธิบายไว้ว่า "นิโคติน" ที่อยู่ใน "บุหรี่ไฟฟ้า" ส่งผลเสียโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท เมื่อสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ไปมากๆ ก็จะเกิดการเสพติด ทำให้สิงห์นักสูบทั้งหลายต้องเพิ่มปริมาณหยดน้ำยานิโคตินเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่สมองสั่งการโดยไม่รู้ตัว ทำให้เซลล์ในร่างกายผิดปกติ กลายเป็น "โรคมะเร็ง" ในที่สุด ... ส่วนที่เข้าใจหรือสงสัยกันว่า "บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน" นั้น จริงหรือเท็จ? "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะพาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบ
| "บุหรี่ไฟฟ้า" กับความเข้าใจผิด
"บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยทำให้เลิกบุหรี่มวนได้" ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ย้ำหนักแน่นก่อนจะอธิบายให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เป็นความเข้าใจผิด ถ้าคนซื้อบุหรี่ไฟฟ้าแล้วคิดว่าจะไปเลิกบุหรี่มวน สุดท้าย จำนวนคนที่เลิกบุหรี่มวนด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยกว่าคนที่เลิกด้วยวิธีรักษาอื่น
แล้วจริงหรือไม่? กับการบอกว่า "บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน 80-90%"
ศ.นพ.ประกิต ยืนยันกับทีมข่าวฯ ว่า ไม่จริง ไม่มีหลักฐาน เป็นการสรุปมาอย่างนั้นเอง แต่ไม่มีหลักฐานความอันตรายเท่ากันหรือไม่ เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้กันมาเพียงไม่กี่ปี เทียบกับบุหรี่มวนที่มีการใช้มาเป็นร้อยๆ ปี
"มีการทดลองจากการดูปฏิกิริยาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเอาน้ำล้างปอดมาตรวจ พบว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากที่สูบบุหรี่มวน ฉะนั้น จากการทดลองนี้นักวิชาการคิดว่า ในระยะยาวคงมีปัญหาเรื่องโรคปอดและโรคหัวใจใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่มวน ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยพันกว่าราย เสียชีวิตไปกว่า 18 ราย"
ส่วนจะบอกว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" ต้องสูบนานแค่ไหนถึงอันตราย ข้อมูลตรงนี้ยังคงไม่แน่ชัด เพราะเริ่มมีอาการป่วยเพียง 2-3 ปี บางคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าปีเดียวก็ป่วย ร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน การตอบสนองและภูมิต้านทานก็ไม่เหมือนกัน
...
| ผสมน้ำมันสกัดกัญชากับ "บุหรี่ไฟฟ้า" เสี่ยงเพิ่ม
"78% ของผู้ป่วย มีการผสมน้ำมันสกัดกัญชาในบุหรี่ไฟฟ้า แต่ที่เหลือไม่ได้ผสม ฉะนั้น ยังสรุปไม่ได้ว่า น้ำมันสกัดกัญชามีส่วน เพราะที่ไม่มีน้ำมันสกัดกัญชาก็ป่วยด้วย จึงยังสรุปไม่ได้ว่ามีอะไรอื่นนอกเหนือจากน้ำมันกัญชา ที่สำคัญ ป่วยตอนอายุยังน้อย อายุเฉลี่ย 23 ปี แล้วเป็นคนละโรคกับที่สูบบุหรี่มวน" ศ.นพ.ประกิต อธิบาย
ซึ่งแม้จะยังฟันธงไม่ได้ว่า น้ำมันสกัดกัญชามีส่วนทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ ศ.นพ.ประกิต ก็ยืนยันหนักแน่นว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายแน่นอน
"บุหรี่ไฟฟ้าผิดธรรมชาติ"
บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีจำนวนมาก ซึ่งปอดของมนุษย์ไม่สามารถรับอะไรได้เลย ยกเว้น "อากาศบริสุทธิ์" ที่สำคัญ "ไอระเหย" พวกนี้ไม่ใช่ไอน้ำเฉยๆ แต่เป็น "ละอองไขมัน" ที่มีสารเคมีจำนวนมาก ฉะนั้น มันผิดธรรมชาติที่จะให้ของแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไปในปอด ปอดมนุษย์บอบบางมาก ไม่ใช่กระเพาะที่จะกินอะไรเข้าไปก็ได้ แต่อันนี้เมื่อมันเข้าไปแล้วเกิดการอักเสบ ปอดอักเสบพันกว่าราย บางคนหายใจไม่ออกต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
...
หากถามว่าความเสี่ยงเทียบเท่าบุหรี่มวนหรือไม่?
ศ.นพ.ประกิต อธิบายให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า บุหรี่มวนต้องสูบ 20-30 ปี ถึงจะเป็นมะเร็ง แต่ "บุหรี่ไฟฟ้า" เพิ่งใช้มาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งมีการเอาเยื่อบุช่องปากของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับคนสูบบุหรี่มวนไปตรวจ พบว่า เซลล์ในช่องปากผิดปกติ มียีนที่ผิดปกติ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยการสูบบุหรี่มวนพบยีนเหล่านี้ 1,400 กว่าตัว แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบยีนผิดปกติ 800 กว่าตัว ฉะนั้น เซลล์มีการเปลี่ยนไปในทางที่อาจจะเป็นมะเร็งในอนาคตได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากเวลายังสั้นเลยยังไม่พบ อาจเป็นไปได้ว่า มะเร็งอาจเกิดน้อยกว่าบุหรี่มวน เพราะสารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่า แต่ผลจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ เพราะใช้กันยังไม่กี่ปี ในสหรัฐอเมริกาที่ป่วยกันพันกว่าคนก็ใช้กันมา 2-3 ปีเท่านั้นเอง
ขณะนี้ สรุปไม่ได้ว่าอันตรายมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่สรุปได้แน่นอนว่า "อันตราย" เพราะมีคนป่วยเป็นพันและเสียชีวิตไปแล้ว 18 ราย นี่เป็นความเข้าใจผิดของคน โดยเฉพาะวัยรุ่น ว่า "บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย เป็นแค่ละอองไอน้ำ" เป็นความเข้าใจผิดทั้งหมด
...
| กลิ่นหอมดึงดูด ที่จริงคือ ตัวร้าย
"กลิ่นหอมเนี่ยตัวร้าย เพราะใส่สารปรุงแต่งกลิ่นหอมเข้าไปดึงดูดวัยรุ่น ในสหรัฐอเมริกา นักเรียนมัธยมปลายสูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 5 ล้านคน และครึ่งหนึ่งไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน ด้วยคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ใส่สารปรุงแต่งทำให้กลิ่นหอม ผลกระทบต่อร่างกายไม่มีใครรู้ คนขายบอกว่าไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ถูกฟ้องแล้ว เด็กที่ป่วยฟ้องศาล หรือเด็กที่เลิกไม่ได้ฟ้องศาล มันเสพติดและเลิกไม่ได้"
สำหรับในประเทศไทยมีการทำวิจัยและสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า เด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.5% แต่หลังจากนั้นยังไม่ได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติกำลังทำการสำรวจและจะเพิ่มกลุ่มอายุอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ ความผิดทางกฎหมายในประเทศไทย คนสูบไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่คนนำเข้ามาขายหรือคนขายผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่ได้บุหรี่ไฟฟ้ามาผิดกฎหมายของศุลกากร เพราะไม่ได้เสียภาษี เป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี แต่ไม่มีใครไปดำเนินการตามกฎหมาย เน้นจับที่วางขายตามตลาดหรือขายออนไลน์ จับคนขายไม่ได้เน้นคนสูบ
"คนบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ไม่ได้เผาไหม้ มีสารพิษน้อยกว่า สารปรุงรสก็เป็นสารที่ใช้ปรุงอาหาร ในสหรัฐอเมริกา อย. ก็รับรองว่าปลอดภัย ... กินนั้นปลอดภัย แต่เวลาเข้าไปในสารเคมี เป็นน้ำแล้วถูกความร้อน 200-250 องศาเซลเซียส สารเคมีมีการเปลี่ยนไป เลยไม่มีใครรู้ว่า สารเคมีเหล่านี้เป็นผลอย่างไรต่อปอด"
ฉะนั้น อย่าสรุปว่า สารพวกนี้กินได้ การเอามาสูบ มาเป็นความร้อนแบบนี้ มันไม่ใช่สารเคมีเดิมแล้ว นี่เป็น "ปัญหาใหญ่" ศ.นพ.ประกิต ทิ้งท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
- 3 ปัจจัย วิเคราะห์ดื่มหนัก หลังสิ้นใจ ร่างกายแข็งช่วงเวลาใด
- นัก “ล่าแต้ม” ป่วยจิต หรือ ฮิสทีเรีย ผลร้ายซ้ำซ้อน เหยื่อป่วย PTSD
- สัญญาณอันตราย "มะเร็ง" โรคร้ายจ่ายแพง ชายเป็น "มะเร็งเต้านม" ได้
- 1 ในล้าน มีชีวิตแค่ 14 ชม. โคม่า 2 ครารอดปาฏิหาริย์ แม่เล่าวินาทีบีบหัวใจ
- ใครว่า "โนรา" สูญ? ปั้นรายได้คืนละหมื่น เปิดโรง "โนราบิก" รำ "ลดอ้วน"