"พริตตี้ เอนเตอร์เทน เชียร์เบียร์" ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการถูก "ล่วงละเมิดทางเพศ" และภัยความรุนแรง นั่นก็เพราะ "เลือกที่จะทำเอง" ... ประโยคเหล่านี้เป็นเพียง "มายาคติ" หรือ "ความจริง" ที่ต้องยอมรับ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า "พริตตี้" เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมมากอาชีพหนึ่ง มีหลากหลายรูปแบบแตกต่างตามลักษณะการจ้างงาน ทั้งพริตตี้งานอีเวนต์ พริตตี้สินค้า พริตตี้ร้านอาหาร พริตตี้ช่วยชงเหล้า (เด็กเชียร์เบียร์) จนกระทั่งที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในตอนนี้ "พริตตี้เอนเตอร์เทน"

ในสังคมไทย อาชีพ "พริตตี้" มักจะถูกมองในแง่ลบเสมอ อาจด้วยการแต่งกายและสถานที่ทำงาน แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร ก็ยังมีหญิงสาวหลายคนสนใจที่จะทำงานนี้ หลายคนบอกว่า "รายได้ดี รายได้งาม"

นางสาว ‘เอ’ (นามสมมติ) อดีตเด็กเชียร์เบียร์ ได้แชร์ประสบการณ์การทำงาน ในงานเสวนา "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็วและการคุกคามทางเพศ" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดยถอดบทเรียนจากกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว

...

"วงการนี้ทำเงินง่าย แต่ความเสี่ยงสูง" ... ‘เอ’ เริ่มต้นย้อนอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยคลุกคลีกับวงการ "พริตตี้สายเอนเตอร์เทน"

"เด็กเชียร์เบียร์เป็นวิธีหาเงินที่ใช้เวลาไม่มาก ไม่เหนื่อยมาก และก็มีเวลาให้การอ่านหนังสือด้วย ที่เราต้องมาทำงานนี้เพราะที่บ้านไม่มีเงินที่จะส่งเราเรียน"

ไม่ใช่แค่ ‘เอ’ เท่านั้น แต่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ของเธอก็มีเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน คือ การส่งเสียตัวเองเรียนหรือหาเลี้ยงครอบครัว

"น้องๆ จำนวนมากที่ต้องทำเพื่อหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลครอบครัว ส่งน้องเรียน หรือแม้แต่ตัวเองเรียน ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่วงการนี้นานๆ หรอก เมื่อถึงเวลาก็ต้องมีงานอื่น ไม่ได้สนับสนุนให้ใครเข้ามาเดินทางสายนี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว ที่เราคิดว่าเอาตัวรอดได้ เวลาอยู่ในสถานการณ์คับขันมันยากมากที่จะรอด"

| รายได้มาก ความเสี่ยงสูง

อะไรที่ดึงดูดให้สาวๆ หลายคนเลือกอาชีพนี้กัน? คำตอบก็คงหนีไม่พ้น "เงิน" ที่ได้มา เด็กเชียร์เบียร์ได้ตกวันละ 350 บาทในไม่กี่ชั่วโมง บวกกับค่าฝาเบียร์อีก 10 บาท รวมเป็น 400-500 บาทต่อวัน ยิ่งถ้าทำเป็นสัปดาห์ ถ้าทำ 15 วัน ก็จะได้ถึง 7,000-8,000 บาท ต่างจากงานพาร์ทไทม์ปกติที่ได้เงินประมาณ 40 กว่าบาทต่อหนึ่งชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่เด็กเชียร์เบียร์ต้องเจอคงหนีไม่พ้น "การถูกล่วงละเมิดทางเพศ" แม้ ‘เอ’ จะทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ลูกค้าบางคนกลับคิดไม่ซื่อ

"การที่ลูกค้ามาแตะตัวหรือลวนลามเราก็เลี่ยงไม่ได้ ถ้าลูกค้าไปฟ้องเจ้าของร้าน เราก็อยู่ร้านนี้ไม่ได้ เราก็ต้องออกจากร้าน"

‘เอ’ ยอมรับว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะโดนคุกคามทางเพศ และแม้จะมีบางคนยินยอมพร้อมใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้สังคมมองคนทำอาชีพนี้แบบเหมารวม พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในทุกๆ อาชีพไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกมอมเหล้า มอมยา เพื่อบังคับข่มขืนทั้งร่างกายและจิตใจ

...

"อาชีพนี้ก็เป็นอาชีพสุจริต ไม่ได้ไปฆ่าใคร แต่ทุกคนตีตราว่า ถ้าเป็นเด็กพริตตี้หรือเด็กเชียร์เบียร์เป็นเด็กไม่ดี อยากให้สังคมมองใหม่ว่า จริงๆ แล้วนี่เป็นการทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวเหมือนกัน อยากให้สะท้อนกลับไปที่ผู้ดื่มบ้างว่า ถึงแม้จะจ้างเขาไป เขาก็มีหน้าที่ของเขา คือ การชงเหล้า เอนเตอร์เทน แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไปจาบจ้วงเขา หรือว่าจะไปลวนลามเขาทั้งทางด้านร่างกายและก็คำพูด" ถ้อยความทิ้งท้ายจาก ‘เอ’ ผู้ที่ครั้งหนึ่งเลือกเส้นทางพริตตี้เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียน

| ถึงเวลาลบ "มายาคติสังคมไทย"

"สังคมไทยมองว่า เมื่อคุณอยู่ในพื้นที่นี้ แต่งตัวแบบนี้ ให้บริการแบบนี้ ผมก็น่าจะถูกเนื้อต้องตัวคุณได้ หรืออาจมองว่าเป็นความผิดของผู้หญิงที่พาตัวเองไปในที่แบบนั้น ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นความคิดในเชิงอำนาจที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน คล้ายๆ กับที่เรียกว่า ใบอนุญาตให้คุกคามทางเพศ เราอยู่ในสังคมที่มีกติกาแบบนี้" นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร อธิบายภาพมายาคติของสังคมไทยที่มีต่อเด็กเชียร์เบียร์ หรืออาชีพ "พริตตี้เอนเตอร์เทน"

...

"อยากให้พนักงานบริการทั้งหลายได้รับความเป็นธรรม คนที่มีอำนาจตัดสินใจในบ้านเมืองนี้ควรจะออกกติกาที่เป็นธรรมมาคุ้มครองเขา อย่าปล่อยให้เขาทำงานโดยไม่มีกติกา ต้องมีกฎหมายคุ้มครอง สวัสดิการ ถ้าเขาอยู่ในวิชาชีพที่เขามีเกียรติยศศักดิ์ศรีเพียงพอ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาปลอดภัยและมีหลักประกัน"

—————

"การให้เกียรติและเคารพในเนื้อตัวร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์"
นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร

—————

จากสถิติการให้บริการของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 พบว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มี "สตรี" ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 60 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2% และถูกกระทำอนาจาร 44 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1% หากจำแนกเป็นความรุนแรงนอกครอบครัว พบว่า มี "สตรี" ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 47 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5% และถูกกระทำอนาจาร 42 ราย คิดเป็นสัดส่วน 5% ส่วนความรุนแรงในครอบครัว มี "สตรี" ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 7 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1% และถูกกระทำอนาจาร 1 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1% เช่นเดียวกัน

...

| เด็กเชียร์เบียร์ อาชีพเสี่ยงผิดกฎหมาย

เด็กเชียร์เบียร์เป็นอาชีพที่เห็นได้ง่ายๆ แค่ก้าวขาเข้าสถานบันเทิง แต่ใครจะรู้ว่าอาชีพนี้สุ่มเสี่ยงว่าจะ "ผิดกฎหมาย" นายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวถึง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ว่า มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเด็กเชียร์เบียร์ นั่นคือ มาตราที่ 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

และคำนิยามในมาตราที่ 3 ระบุว่า "โฆษณา" หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด

อีกหนึ่งคำนิยาม คือ "การสื่อสารการตลาด" หมายความว่า การกระทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการ หรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง

แน่นอนว่า เมื่อทำผิดกฎหมายย่อมต้องถูกลงโทษ ตามมาตรา 43 เขียนไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายแพทย์พงศ์ธร กล่าวว่า "เด็กเชียร์เบียร์ตีความว่าเป็นการตลาดแบบตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จัดกิจกรรมมีพริตตี้บอยหรือพริตตี้เกิร์ล เข้ามาร่วมมาเชียร์ให้มีการดื่มมากขึ้น อันนี้ก็มีความผิดตามมาตรา 32"

กล่าวง่ายๆ คือ เด็กเชียร์เบียร์จะมีความผิดก็ต่อเมื่อชวนหรือชักจูงให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่การใส่เสื้อที่แสดงยี่ห้อแบรนด์ก็ถือว่ามีความผิด แต่หน้าที่อื่นๆ ของเด็กเชียร์เบียร์อย่างการชงเหล้าไม่นับว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด

"อยากฝากเตือนว่า การแข่งกันดื่มสุรา บังคับดื่ม ดื่มหนักดื่มให้หมดในเวลารวดเร็ว มันไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง"

ในวันข้างหน้า "พริตตี้" เหล่านี้จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยหรือไม่ ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร คงต้องจับตาดูท่าน รมว.แรงงาน และ รมว.พม. หลังมีการออกมาขยับแสดงท่าทีกันบ้างแล้ว ว่า จะขับเคลื่อนเป็นหนึ่งในอาชีพอิสระที่มีกฎหมายรองรับ หรือซุกซ่อนไว้เบื้องหลังของสังคมมุมมืดต่อไป.

ข่าวน่าสนใจ :