วนมาถึง "เทศกาลกินเจ" อีกครั้ง บรรดาร้านอาหาร สตรีทฟู้ด และตลาดสด ต่างประดับธงสีเหลืองมีตัวอักษร "เจ" สีแดงตรงกลาง แสดงถึงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า นี่คือ "อาหารเจ" ซึ่งจะมีให้เห็นกันไปยาวๆ กว่า 1 สัปดาห์ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 28 กันยายน ถึงช่วงเย็นวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม

"เทศกาลกินเจ" เป็นเทศกาลที่มีเม็ดเงินสะพัดสูงพอสมควร ปีๆ นึงกว่าหมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจในปีนี้ คือ แม้ผลการสำรวจ "พฤติกรรมการใช้จ่าย" ช่วงในช่วง "เทศกาลกินเจ" ปี 2562 จะมีเม็ดเงินสะพัดสูงที่สุดในรอบ 12 ปี แต่อัตราการขยายตัวกลับต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี

...

โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายให้เข้าใจว่า สาเหตุที่ช่วงเทศกาลกินเจ ปี 2562 มีมูลค่าการใช้จ่ายสูงที่สุดในรอบ 12 ปีนั้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าครองชีพสูง และราคาพืชผลการเกษตรปรับขึ้นอันเนื่องมาจากความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วม จึงส่งผลให้ประชาชนใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้า ในส่วนของอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี ก็เป็นผลจากประชาชนซื้อของน้อยชิ้นลง และมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีและยังไม่มั่นใจว่าจะฟื้นเมื่อใด

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ชี้ว่า มูลค่าการใช้จ่ายช่วง "เทศกาลกินเจ" ปี 2562 มีอัตราการขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุเพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประชาชนมีการควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ในภาพรวมการเข้าร่วม "กินเจ" ของประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพฯ นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 66.7% ที่น่าสนใจ คือ "กลุ่มคนรุ่นใหม่" ที่หันมากินเจกันมากขึ้นจากกระแสการรักษาสุขภาพ

อาหารเจแพง คนกินแค่ "บางมื้อ"

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วง "เทศกาลกินเจ" ปี 2562 กับ "ไทยรัฐออนไลน์" ซึ่งเมื่อพิเคราะห์จากข้อมูลพบว่า อัตราการเข้าร่วม "กินเจ" ในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น อยู่ที่ 37.4% (ปีที่แล้วอยู่ที่ 33.8% ลดลงจากปี 59 ที่อยู่ที่ 36.5%) แต่ความน่าสนใจ คือ แม้จะมีการ "กินเจ" มากขึ้น แต่คนที่กินเจเป็นประจำกลับมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยเลือกที่จะ "กินบางมื้อ" ในอัตราที่สูงถึง 37.5% มากขึ้นกว่าปี 2561 กว่าเท่าตัว และ "กินตลอดเทศกาล" ก็ลดลงมาอยู่ที่ 62.5% จากที่ปี 2561 อยู่ที่ 89.4%

อย่างที่ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกไว้ว่า เม็ดเงินช่วงเทศกาลกินเจสูงที่สุดในรอบ 12 ปี แต่สวนทางกับอัตราการขยายตัวที่ต่ำลงที่สุดในรอบ 12 ปี เมื่อมาพิเคราะห์จากข้อมูลฯ แล้ว พบว่า ปี 2562 จะมีมูลค่าการใช้จ่ายช่วง "เทศกาลกินเจ" ประมาณ 46,549 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 1.3% (ปี 2561 มูลค่า 45,938 ล้านบาท อัตราการขยายตัว 1.9%)

...

หากคิดเฉลี่ยต่อคนในช่วง 12 ปี พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายช่วง "เทศกาลกินเจ" เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้อยู่ที่ 11,155.62 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 10,963.46 บาท แบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  • ค่าอาหาร/กับข้าว : 993.28 บาท
  • ทำบุญ : 2,950.59 บาท
  • ค่าเดินทางไปทำบุญต่างจังหวัด : 3,885.65 บาท
  • ค่าที่พัก (ขณะทำบุญต่างจังหวัด) : 4,787.65 บาท
  • ค่าเสื้อผ้า : 538.46 บาท

ในส่วนของค่าอาหาร/กับข้าว เมื่อมาแยกย่อยดูแล้ว พบว่า ประชาชนเลือกซื้อ ผัก, ผลไม้, น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง และโปรตีนเกษตรเพิ่มมากขึ้น คาดเป็นผลจากกระแสการรักษาสุขภาพ

...

และเมื่อเปรียบเทียบลักษณะการ "กินเจ" ของแต่ละช่วงวัยแล้ว น่าสนใจว่า ทุกช่วงวัยมีลักษณะการ "กินเจ" เหมือนกัน คือ "ซื้ออาหารเจปรุงสำเร็จ" สัดส่วน 34.2% แต่หากมาแยกย่อยดูลักษณะการ "กินเจ" อื่นๆ จะแบ่งความนิยมได้ ดังนี้

  • ซื้อของมาทำกินเอง : อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ "วัยเกษียณ" นิยม 30.8% (รองลงมา 50-59 ปี 28.9%)
  • ซื้ออาหารสำเร็จรูป (มาม่า/โจ๊กซอง) : "อายุต่ำกว่า 20 ปี" นิยม 11.9% (รองลงมา 30-39 ปี 9.3%)
  • ไปโรงเจ : อายุ 60 ปีขึ้นไป หรือ "วัยเกษียณ" นิยม 18.9% (รองลงมา 50-59 ปี 17.0%)
  • ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ : "อายุ 40-49 ปี" นิยม 38.5% (รองลงมา 30-39 ปี 35.9%)
  • ซื้ออาหารแช่แข็ง : "อายุต่ำกว่า 20 ปี" นิยม 2.8% (รองลงมา 20-29 ปี 2.1% ส่วนอายุ 50 ปีขึ้นไป "ไม่นิยม")
  • กินอาหารที่บ้านทำ : "อายุต่ำกว่า 20 ปี" นิยม 18.2% (รองลงมา 40-49 ปี 17.7%)

"เทศกาลกินเจ" คนแห่ทำบุญ ค่าใช้จ่ายต่อคนเกือบหมื่น

จากค่าเฉลี่ยมูลค่าการใช้จ่ายต่อคน มีส่วนที่เป็นค่าที่พักและค่าเดินทางขณะทำบุญต่างจังหวัด รวมกันสูงถึง 8,573.3 บาทต่อคน ช่วงระยะเวลาที่มักเดินทางไปทำบุญอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน ส่วนใหญ่นิยมไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

...

ขณะที่ ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวช่วง "เทศกาลกินเจ" ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ให้ข้อมูลกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขประมาณการนักท่องเที่ยวที่แน่ชัด แต่ในด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วง "เทศกาลกินเจ" ปี 2562 มีทั้งสิ้น 13 กิจกรรม โดยจะลากยาวตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2562 แบ่งเป็น ภาคใต้ : ประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต, ประเพณีถือศีลกินเจ จังหวัดตรัง, ประเพณีถือศีลกินเจ จังหวัดชุมพร, เทศกาลถือศีลกินผัก สานสายสัมพันธ์ 2 แผ่นดินไทย-เมียนมา ประจำปี 2019, เทศกาลกินเจหาดใหญ่ และงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดพังงา

ภาคกลาง : เทศกาลประเพณีกินเจเยาวราช ประจำปี 2562, เทศกาลกินเจ อำเภอบ้านโป่ง, ประเพณีไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจสมุทรสาคร และประเพณีเทศกาลถือศีลกินเจ

ภาคเหนือ : ประเพณีกินเจศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา เมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์

ภาคตะวันออก : ประเพณีถือศีลกินเจเมืองจันทบุรี และเทศกาลกินเจเมืองพัทยา

แม้การคาดการณ์เม็ดเงินช่วง "เทศกาลกินเจ" จะสูงถึง 4.6 หมื่นล้านบาท แต่เป็นผลมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อ แต่อัตราการขยายตัวแค่ 1.3% แสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ไม่กล้าซื้อของมากนักเหมือนปีก่อนๆ อันมาจากความวิตกกังวลในสภาพเศรษฐกิจของประเทศ.

อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "กินเจ" พลังศรัทธา อิ่มใจได้สุขภาพ

   • เปิดประวัติ "กินเจ" หลากแหล่งที่มา เหตุผลแท้จริงให้อะไรกับเรา
   • ความเชื่อกินเจแบบไทยๆ หรือแค่แฟชั่น ทำไมม้าทรงต้องสำแดงอิทธิฤทธิ์
   • "กินเจ" 9 วัน 9 คืน สุขภาพดี ถือศีลอิ่มบุญ ไม่อ้วน ไม่โทรม
   • ปักหมุด จุดกินเจทั่วไทย ถือศีล-กินฟรี-ประเพณีสุดอะเมซิ่ง
   • เทศกาลกินมังสวิรัติในต่างแดน คึกคัก เทรนด์กินพืชผักกำลังมา