เเพทย์นิติเวช ให้ความรู้ วิเคราะห์ระยะเวลา และการเปลี่ยนแปลงหลังตาย ร่างแข็งช้า หรือเร็ว สาเหตุจาก 3 ปัจจัย สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ทำอะไรก่อนตาย”
การตายที่รู้เวลาแน่นอนชัดเจน คือ การตายที่เกิดระหว่างการรักษาของแพทย์ แต่หากเป็นการตายปริศนา ดังกรณีของ “ลันลาเบล” การหาเวลาการตายนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อใช้ติดตามค้นหาพยานหลักฐานในการจับกุมผู้กระทำผิดมารับโทษ โดยแพทย์นิติเวชผู้ตรวจระบุเวลาการเสียชีวิตอยู่ในช่วง 15.00-19.00 น.
สำหรับการเสียชีวิตของเธอชาวเน็ตติดตามกันอย่างต่อเนื่อง และเกิดคำถามคาใจ เหตุใดจึงไม่ชี้ชัดเวลาตาย อีกทั้งหลังดื่มเหล้าหนักจนเสียชีวิต ร่างกายจะแข็งภายในกี่ชั่วโมง ข้อสงสัยดังกล่าว นพ.ทศนัย พิพัฒน์โชติธรรม แพทย์นิติเวช รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี ที่มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์มากว่า 12 ปี เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ไว้อย่างละเอียด
กล้ามเนื้อ กราม ข้อนิ้ว จุดเปลี่ยนแรก หลังการตาย
...
นพ.ทศนัย เริ่มอธิบายว่า ตามหลักวิชาการแพทย์ “การตาย” หมายถึง การหยุดทำงานของก้านสมอง ระบบหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ภายหลัง “การตาย” ร่างกายจะหยุดการทำงานและจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีหลายอย่างภายในร่างกาย กระบวนการหนึ่งที่หยุดทำงานคือการสร้างสารเอทีพี (ATP) ซึ่งใช้ในการให้พลังงานแก่เซลล์
เมื่อสารเอทีพีลดลงมากถึงระดับหนึ่งเซลล์กล้ามเนื้อจะมีการสร้างพันธะทางเคมีขึ้นมาทำให้กล้ามเนื้อเกิดการแข็งตัวเหมือนตอนที่คนมีชีวิตเกร็งกล้ามเนื้อ ทำให้ศพเกิดสภาพกล้ามเนื้อแข็งทื่อ ที่เรียกว่า rigor mortis โดยกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
“ภายหลังตายใหม่ๆ ร่างกายจะเริ่มอ่อนตัว ขยับข้อต่างๆ ได้โดยไม่มีแรงต้าน เหมือนคนเป็นลมที่แขนขาอ่อนแรง จากนั้นกล้ามเนื้อก็จะค่อยๆ แข็งขึ้นเรื่อยๆ จะเริ่มขยับข้อต่างๆ ได้น้อยลงเรื่อยๆ โดยทั่วๆ ไปจะเริ่มแข็งในกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในครึ่งชั่วโมง - 2 ชั่วโมง เช่น ข้อกรามกับข้อนิ้ว แล้วจะเริ่มมีการเริ่มแข็งตัวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่บางส่วน ตั้งแต่ 2-4 ชั่วโมงขึ้นไป
และจะแข็งมากขึ้นเหมือนเป็นสโลปขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วจะแข็งตัวเกือบเต็มที่ในช่วง 4-6 ชั่วโมง และแข็งทื่อเต็มที่ตั้งแต่ 6-12 ชั่วโมง และแข็งทื่อเต็มที่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าศพนั้นจะเข้าสู่กระบวนเน่าซึ่งกระบวนการเน่าจะมีสารแอมโมเนียมาทำลายพันธะกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้ออ่อนลง ซึ่งหากเป็นเมืองร้อนแบบเมืองไทยส่วนใหญ่จะเริ่มประมาณที่ 24 ชั่วโมงเป็นต้นไป” นพ.ทศนัยอธิบาย
3 ปัจจัย วิเคราะห์หาความจริง ไทม์ไลน์หลังการตาย
ระยะเวลาในการการแข็งทื่อของศพ ภายหลังการตาย นพ.ทศนัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญของการแข็งทื่อของศพคือการใช้พลังงานก่อนตายคือผู้ตายได้มีการทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานก่อนตายมากน้อยเพียงใด เช่น วิ่งออกกำลังกาย วิ่งหนี ฯลฯ ศพจะมีการแข็งตัวเร็วมากขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการแข็งตัวของศพในทางวิชาการ ดังนี้ อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ปริมาณกล้ามเนื้อ การใช้กล้ามเนื้อก่อนตาย
หากตายในอุณหภูมิที่สูง อากาศร้อน เช่น กลางแจ้งการแข็งตัวของศพก็จะเกิดขึ้นเร็ว หรือหากเป็นศพที่มีปริมาณกล้ามเนื้อมากอยู่แล้ว เป็นคนหนุ่มสาวมีมวลกล้ามเนื้อมาก ศพก็จะแข็งตัวได้ชัดเจนกว่า เด็กหรือคนแก่ที่มีมวลกล้ามเนื้อน้อย ส่วนการใช้กล้ามเนื้อก่อนตาย เช่น ภาวะชัก หรือถูกกระแสไฟฟ้าดูด มีการเกร็งกระตุกก่อนตาย กล้ามเนื้อก็จะมีการใช้พลังงานมากทำให้สารเอทีพีหมดไปเร็วเกิดการแข็งตัวของศพเร็วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม
...
“การตรวจหาประเมินระยะเวลาการตายในทางนิติเวชศาสตร์ นอกจากตรวจจากการแข็งตัวของศพ แล้วยังใชัปัจจัยอื่นของการเปลี่ยนแปลงภายหลังการตาย เช่น การตกของเลือดภายหลังตาย (Livor mortis) หรือการประเมินด้านอื่นๆ มาประกอบด้วย นอกจากนี้การตรวจการแข็งตัวของศพเป็นการตรวจสิ่งทางชีววิทยาที่การวัดในทางสถิติจะมีความผันแปรในแต่ละศพ ศพที่แข็งตัวเต็มที่เราอาจจะพบบางศพแข็งตัวตั้งแต่เวลา 6 ชม. บางศพเราพบว่ามาแข็งตัวเต็มที่เมื่อ 12 ชั่วโมง ดังนั้นในทางการแพทย์จึงประมาณเวลาตายได้เป็นช่วงระยะเวลาการตายเท่านั้น ไม่สามารถระบุเวลาที่เป็นจุดจุดเดียวได้” นพ.ทศนัย อธิบาย
ดื่มเหล้าหนักจนเสียชีวิต ร่างกายเปลี่ยนแปลงแข็งช้า หรือเร็ว
การตรวจหาเวลาการเสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงภายหลังการตาย นพ.ทศนัย กล่าวย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงภายหลังการตาย เป็น “กระบวนการ” ไม่ใช่ “เหตุการณ์” จึงไม่มีลักษณะเป็นขั้นบันไดที่จะชี้จุดเปลี่ยนของแต่ละขั้นที่เป็นจุดเฉพาะได้ เพราะฉะนั้นการประมาณระยะเวลาการตาย จึงระบุเป็นช่วงระยะเวลา ไม่สามารถชี้ชัดเวลาเป๊ะๆ ได้
...
สำหรับกรณีที่สังคมสงสัย หากก่อนเสียชีวิตดื่มแอลกอฮอล์หนัก มีผลให้หลังการตาย ร่างกายแข็งช้าหรือเร็วหรือไม่นั้น นพ.ทศนัย อธิบายว่า “สาเหตุการเสียชีวิตไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายหลังการตาย พร้อมเน้นย้ำอีกครั้งสิ่งสำคัญ คือ “ก่อนตายทำอะไร””
“สาเหตุการเสียชีวิตไม่เป็นผลเกี่ยวกับการแข็งตัวของศพ แต่ขึ้นอยู่กับว่าก่อนตายทำอะไรมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ตายไปวิ่งออกกำลังกาย แล้วอยู่ๆ หัวใจวายตายซึ่งเป็นการเสียชีวิตจากโรค ร่างกายจะแข็งเร็วเพราะมีการใช้พลังงานก่อนตายมากสารเอทีพีหมดไปเร็ว แต่หากว่าผู้ตายนอนอยู่นิ่งๆ แล้วมีคนมาทำร้ายใช้อาวุธปักอกตาย แม้เป็นการถูกฆาตกรรม การแข็งตัวหลังตายก็จะเป็นไปตามปกติ เพราะร่างกายไม่มีการใช้พลังงานก่อนตาย ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีผลต่อการแข็งตัวภายหลังตายแต่ประการใด" เเพทย์นิติเวชกล่าว
คลายสงสัย เช็กอย่างไร ตาย หรือแค่หลับ
การตรวจเช็กดูว่าคนที่หมดสติ หรือหลับ หรือว่าเสียชีวิตนั้น นพ.ทศนัย เผยกับทีมข่าวฯ การสังเกตเพียงคร่าวๆ แยกแยะได้ยาก การจะตรวจว่าเสียชีวิตหรือไม่ ในทางการแพทย์ก็คงต้องตรวจดูว่ายังมีการหายใจ หรือชีพจรยังเต้นอยู่หรือไม่ ซึ่งหากเป็นคนทั่วไปที่ไม่เคยฝึกสังเกตมาก่อน หรือฝึกจับชีพจรมาก่อนอาจแยกไม่ได้ นอกจากนี้คนที่ตายใหม่ๆ เพียงแค่จับตัวอุณหภูมิร่างกายหลังเสียชีวิตใหม่ๆ ก็ยังลดลงไม่มาก คนทั่วไปอาจแยกได้ยาก โดย นพ.ทศนัย เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า
...
"เรามาทำงานเห็นเพื่อนร่วมงานฟุบหลับอยู่หากเพียงแค่มองเฉยๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาแค่ฟุบหลับหรือเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะเห็นว่าฟุบไปนานผิดสังเกตจึงลองเข้าไปปลุกหรือตรวจชีพจรดู” นพ.ทศนัยกล่าว
ดื่มเหล้าหนักจนเป็นพิษ เสียชีวิตภายในกี่ชั่วโมง
กรณีการเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เป็นพิษ นพ.ทศนัย อธิบายว่า เกิดจากการที่ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมาก ซึ่งแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดระบบประสาทเมื่อสูงถึงระดับเป็นพิษ (ส่วนใหญ่คือ ตั้งแต่ 350 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ทั้งนี้มีความผันแปรของแต่ละบุคคลด้วย) แอลกอฮอล์จะกดระบบประสาทส่วนที่มีการควบคุมการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจหยุดทำงานไป ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจล้มเหลวเป็นเหตุให้เสียชีวิต การเสียชีวิตจึงขึ้นกับว่าได้รับแอลกอฮอล์จนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดถึงระดับที่เป็นพิษเมื่อไร ซึ่งโดยทั่วไปการได้รับแอลกอฮอล์ด้วยการกินจะทำให้ระดับแอลกอฮอล์ขึ้นสูงสุดภายหลังการกินประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ทั้งนั้นบอกเป็นจำนวนชี้ชัดไม่ได้ถึงจำนวนเวลาดื่มจนถึงระดับเป็นพิษ เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะการดื่ม บางคนอาจจะค่อยๆ ดื่ม หรือบางคนดื่มเพียวๆ ยกซดถี่ๆ
“กรณีการตายปริศนาที่กำลังเป็นข่าวดัง อยากให้สังคมได้เข้าใจความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะทางชีววิทยาที่มีความผันแปรในช่วงกว้าง จึงไม่อาจบอกความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ไม่เหมือนทางฟิสิกส์ที่อาจคำนวณได้แม่นยำเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้” นพ.ทัศนัยกล่าว
ข่าวอื่นน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ