กว่า 16 ปีแล้ว ที่ "แพนด้า" จากจีน นามว่า ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ ได้มาอาศัยที่ประเทศไทย หลายๆ คนมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียน ยอดผู้เข้าชมราวๆ 15 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 295 ล้านบาท (ราว 10 ล้านดอลลาร์ฯ) และช่วงแรกๆ ถึงกับมีการทำไลฟ์ทีวี 24 ชั่วโมง เฝ้าตามติดทุกอิริยาบถแบบเรียลลิตี้ เรียกได้ว่า "แพนด้า" ทั้ง 2 ตัว ได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยม

จุดสตาร์ทของ "แพนด้า" ขวัญใจชาวไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี 2546 ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ จากศูนย์วิจัยแพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวัย 3 ขวบ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล มาเป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน โดยไทยต้องทำตามเงื่อนไขของสัญญา จ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐาน คู่ละ 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นราคามิตรภาพ (ค่าธรรมเนียมพื้นฐานตามจริง 1 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 30 ล้านบาท) เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเมื่อปี 2556 ไทยได้ต่อสัญญาไปอีก 10 ปี ทำให้ ‘ช่วงช่วง’ และ ‘หลินฮุ่ย’ จะอยู่ไทยไปจนถึงปี 2566

แต่ก่อนที่จะครบกำหนด 10 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาเสียก่อน ‘ช่วงช่วง’ อายุ 19 ปี หนึ่งในทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ตายอย่างปริศนา แต่คาดกันว่าเกิดจากกิน "ไผ่" นำความโศกเศร้ามาสู่ชาวไทยทุกคน และเกิดข้อสงสัยว่า ‘ช่วงช่วง’ ตายได้อย่างไร โดยปกติแพนด้ามีอายุเฉลี่ยประมาณ 14-20 ปี แต่หากอาศัยในสวนสัตว์อาจอยู่ยาวถึง 30 ปี เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญจากจีน 5 คน สัตวแพทย์สวนสัตว์เชียงใหม่ 4 คน และสัตวแพทย์จากศูนย์อนุรักษ์วิจัยองค์การสวนสัตว์อีก 2 คน ได้ทำการชันสูตรซาก ‘ช่วงช่วง’ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

...

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องลุ้นตามผลการชันสูตร คือ ข้อสัญญาที่ไทยได้ทำร่วมกับจีน โดยระบุว่า หากการตายของแพนด้าผิดธรรมชาติ ไทยต้องจ่าย 30 ล้านบาท ถ้าเป็นไปด้วยความประมาทต้องเสียค่าปรับถึง 50 ล้านบาทต่อตัว ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ไทยจะต้องจ่ายเงินหรือไม่ คงต้องรอคำแถลงผลการชันสูตรกันอีกที

แต่กรณี "ทูตแพนด้า" นั้น ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยแห่งเดียว จีนได้ส่ง "ทูตแพนด้า" ไปประจำอยู่กว่า 10 ประเทศทั่วโลก จุดเริ่มต้นจากแพนด้าธรรมดาๆ สู่การเป็น "ทูตแพนด้า" ที่ค่าตัวการยืมแพงลิบลิ่วมาจากไหน? "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะพาไปย้อนเรื่องราว

| เส้นทางที่ยิ่งใหญ่ "แพนด้าน้อย" สู่การเป็น "ทูต"

ย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์ถัง ตามบันทึกของจีน ที่มีการเล่าจุดเริ่มต้นของการดำเนินการที่เรียกว่า "การทูตแพนด้า" โดยจักรพรรดินีหรือ ‘บูเช็คเทียน’ ได้ส่งแพนด้าจำนวน 1 คู่ เพื่อเป็นของขวัญให้แก่จักรพรรดิของญี่ปุ่น นับเป็นประวัติศาสตร์การทูตที่เริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7

จากนั้นในปี 2493 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้หยิบยก "การทูตแพนด้า" ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง

ช่วงระหว่างปี 2501 จนถึงปี 2525 จีนส่ง "ทูตแพนด้า" กว่า 24 ตัว ไปยัง 9 ประเทศทั่วโลก อย่างสหภาพโซเวียตได้รับ "ทูตแพนด้า" จำนวน 2 ตัว ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่าง 2 ประเทศ ภายในค่ายสังคมนิยม

ปี 2515 ญี่ปุ่นได้รับ "ทูตแพนด้า" คู่แรกที่เดินทางมาในนามสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อว่า ‘คันคัน’ และ ‘รันรัน’ ประจำที่สวนสัตว์อุเอโนะ นับเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นและจีนใหม่อีกครั้ง ต่อมาในสมัยประธานาธิบดี "หู จินเทา" ได้ส่งทูตแพนด้ามาเพิ่มอีกคู่ แต่ครั้งนี้ญี่ปุ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานการยืม 9.5 แสนดอลลาร์ฯ (ราว 29 ล้านบาท)

...

ในปีเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้รับ "ทูตแพนด้า" ชื่อว่า ‘หลิงหลิง’ และ ‘ฉิงฉิง’ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการผสานวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ช่วงแรกจะสังเกตเห็นว่า การส่ง "แพนด้า" ของจีนจะเป็นไปเพื่อการทูตเชื่อมสัมพันธ์ ทั้งการให้เพื่อเป็นของขวัญในวาระโอกาสต่างๆ แต่หากมาย้อนดูช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน แต่ละประเทศที่ได้รับ "ทูตแพนด้า" จะมาพร้อมกับการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐาน หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า จ่ายค่า "ยืม" ที่ในระยะเริ่มแรก ปี 2523 ต้องจ่าย 5 หมื่นดอลลาร์ฯต่อเดือน (ราว 1.5 ล้านบาท)

การ "ยืมแพนด้า" แต่ละครั้ง (ครั้งละ 2 ตัว) ไม่ใช่ว่าจีนจะให้จ่ายเงินแล้วจบไป แต่ยังมีเรื่องของความสัมพันธ์และรายละเอียดข้อสัญญาที่น่าสนใจ อย่างเช่น

  • "ลูกแพนด้า" ที่เกิดมาจาก "ทูตแพนด้า" ต้องเป็นสมบัติของจีน
  • "เลือด" ของ "ทูตแพนด้า" เป็นสมบัติของจีน
  • "น้ำอสุจิ" ของ "ทูตแพนด้า" เป็นสมบัติของจีน
  • "ขน" ของ ทูตแพนด้า เป็นสมบัติของจีน
  • การดูแลด้านสุขภาพต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากจีนมาร่วมด้วย

...

ทีนี้เราลองมาย้อนดูกันหน่อยว่า ในระยะ 10 ปีนี้ มีประเทศไหนบ้างที่ "ยืมแพนด้า" จากจีน

ปี 2552 : ออสเตรเลีย

"ทูตแพนด้า" ที่ออสเตรเลียยืมมาจากจีน จำนวน 2 ตัว มีชื่อว่า ‘หวางหวาง’ และ ‘ฟูนิ’ ประจำอยู่ที่สวนสัตว์ทางตอนใต้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นระยะเวลา 10 ปี ค่าธรรมเนียมพื้นฐาน 1 ล้านดอลลาร์ฯต่อปี (ราว 30 ล้านบาทต่อปี) หากนับดูแล้ว ณ เวลานี้ ก็ใกล้จะหมดสัญญาลงไปทุกที ซึ่งทางออสเตรเลียเปรยไว้ว่าจะขอขยายเวลาการยืม "ทูตแพนด้า" อย่างน้อยไปจนถึงปี 2567 หรือประมาณ 5 ปีนับจากนี้ โดยมีค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 9.3 แสนดอลลาร์ฯต่อปี (ราว 28 ล้านบาทต่อปี) เพราะออสเตรเลียมองว่า "ทูตแพนด้าเป็นตัวกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยม" แต่หากว่า การเจรจาข้อสัญญาไม่เป็นผล ก็ต้องโบกมือบ๊ายบาย "ทูตแพนด้า" ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวม 300 ล้านบาท

...

ปี 2554 : สกอตแลนด์

2 ทูตแพนด้า ‘เถียนเถียน’ และ ‘หยางกวง’ เดินทางจากจีนมายังสกอตแลนด์ด้วยเครื่องบินสุดพิเศษ รายล้อมด้วยเมนูอาหารชั้นดี ทั้งต้นไผ่ แอปเปิล แครอท เค้กพิเศษสำหรับแพนด้า และน้ำแร่ ผ่านบริการจาก Fedex Panda Express ทั้งคู่เป็น "ทูตแพนด้า" ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการ ‘หยางกวง’ ได้รับการบันทึกสถิติโลก แพนด้าที่มีลูกมากถึง 107 ตัว ส่วน ‘เถียนเถียน’ ถูกขนานนามว่า "มารดาแห่งแพนด้า"

โดยระยะเวลาการยืมจากจีน 10 ปีเช่นเดียวกับออสเตรเลีย ซึ่งทางการสกอตแลนด์หวังว่า ทูตแพนด้าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การยืมแพนด้ายังถือเป็นสัญลักษณ์ของ "ความสัมพันธ์ที่เจริญเติบโต" ระหว่าง 2 ประเทศ

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน รวม 240 ล้านบาท

ปี 2555 : สิงคโปร์

"ทูตแพนด้า" ชื่อว่า ‘ไคไค’ และ ‘เจียเจีย’ อยู่ภายใต้สัญญาการยืมเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งชื่อที่ตั้งมานั้นก็เพื่อเป็นมงคลแก่ความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างจีนและสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่ 9 ที่ได้ทำสัญญาการทูตด้วยการ "ยืมแพนด้า"

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน รวม 210 ล้านบาท

ปี 2556 : แคนาดา

"ทูตแพนด้า" อายุราว 5 ปี เป็นอีก 1 คู่ ที่มีการทำสัญญาข้อตกลงการทูตด้วยการ "ยืมแพนด้า" จากจีน เป็นระยะเวลา 10 ปีเช่นเดียวกัน ซึ่งนับเป็น "ทูตแพนด้า" คู่แรกที่เดินทางมาประจำที่แคนาดานับตั้งแต่ปี 2523

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน รวม 180 ล้านบาท

ปี 2557 : มาเลเซีย

"แพงแสนแพง" ค่าตัวการยืม "ทูตแพนด้า" ที่ทำเอารัฐบาลมาเลเซียถึงกับบ่นอุบจนคิดอยากจะส่งกลับคืนเดี๋ยวนั้นเสียเลย และข้องใจว่า "ทำไมมาเลเซียต้องจ่ายแพงขนาดนี้?" แต่ติดปัญหาที่มีการทำสัญญาทางการทูตด้วยการ "ยืมแพนด้า" เมื่อปี 2557 ย้อนไปสมัยนายกรัฐมนตรี "นาจิบ ราซัค" นู่น ทุกๆ ปี มาเลเซียจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานให้แก่จีน 1 ล้านดอลลาร์ฯ (ราว 30 ล้านบาท) ราคาเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เพื่อยืมแพนด้ายาวไปจนกระทั่งปี 2567

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน รวม 150 ล้านบาท

ปี 2559 : เกาหลีใต้

"ทูตแพนด้า" ที่เกาหลีใต้ยืมมาจากจีนนี้ มีระยะเวลายาวกว่าประเทศอื่น คือ 15 ปี โดยตัวเมียอายุประมาณ 2 ปี และตัวผู้อายุ 3 ปี และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ "ทูตแพนด้า" เดินทางมาประจำที่เกาหลีใต้ นับตั้งแต่ปี 2537

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวม 120 ล้านบาท

ปี 2560 : เนเธอร์แลนด์

"ทูตแพนด้า" จะประจำที่เนเธอร์แลนด์เป็นระยะเวลา 15 ปี เหมือนกับเกาหลีใต้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ การทูตแพนด้า" ของจีน ตัวผู้ชื่อ ‘ซิงหยา’ และตัวเมียชื่อ ‘อู๋เอิ๋น’ อายุ 3 ปีทั้งคู่ ช่วงที่เดินทางมาเนเธอร์แลนด์ "ทูตแพนด้า" ถูกดูแลอย่างดีระหว่างการเดินทางบนเครื่องบิน ด้วยเมนูไผ่ 40 กิโลกรัม, หน่อไผ่ 5 กิโลกรัม, แครอท 500 กรัม และแอปเปิลอีกจำนวนมาก

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน รวม 60 ล้านบาท

ปี 2561 : ฟินแลนด์

นับเป็นประเทศล่าสุดที่ทำการทูตด้วยการ "ยืมแพนด้า" จากจีน โดย ‘หัวเป๋า’ และ ‘จินเป๋าเป๋า’ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งทางฟินแลนด์ให้คำมั่นว่า "ทูตแพนด้า" จะได้อยู่ในสถานที่ที่ได้กินไผ่สดใหม่ทุกมื้อ มีการวิเคราะห์พฤติกรรม และยังหวังว่า "ทูตแพนด้า" จะมีลูกในช่วงระยะเวลาที่ประจำอยู่ที่ฟินแลนด์ด้วย

มูลค่าการยืม "ทูตแพนด้า" นับแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 30 ล้านบาท

แม้ว่าหลายๆ ประเทศจะยอมจัดหนักจัดเต็ม 30 ล้านบาทต่อปี เพื่อหวังว่า "ทูตแพนด้า" จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของตน รวมถึงเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน แต่กลุ่มแคมเปญสวัสดิภาพสัตว์กลับมองว่า นี่คือ "ปฐมบทข้อตกลงทางการค้า".

ข่าวน่าสนใจ :