จิตแพทย์ไขปมพฤติกรรมนัก “ล่าแต้ม” เข้าข่ายโรคจิต? เหยื่อทางเพศที่โชคร้ายตกเป็นแต้ม ชะตาชีวิตเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ทั้งซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวง หรือกระทั่ง PTSD
จากเรื่องราวการตายปริศนาของ พริตตี้สาวชื่อดัง สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนข้องใจสาเหตุการเสียชีวิตของเธอที่ดูมีเงื่อนงำ ผ่านมาเกือบสัปดาห์ที่ตำรวจกำลังเร่งหาความจริง แต่ผู้ต้องสงสัยแรกที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด ซึ่งเป็นหนุ่มพริตตี้บอยนั้น
ล่าสุด ตำรวจเดินหน้าเอาผิดผู้ต้องสงสัย และเตรียมแจ้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่น” ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดไว้ก่อน แต่..
ในทางกลับกัน โลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็พยายามขุดคุ้ยเขา พบว่ามีการโพสต์โอ้อวดเรื่องผู้หญิง จนมีคำถาม ตั้งข้อสังเกตว่านี่คือการ "ล่าแต้ม" หรือไม่..?
พฤติกรรมคนชอบ “ล่าแต้ม” จงใจเก็บเลเวล เก็บจำนวนการมีเพศสัมพันธ์ให้ได้เยอะๆ เข้าข่ายโรคจิต? แล้วเหยื่อทางเพศที่โชคร้ายตกเป็นแต้ม ชะตาชีวิตนอกจากถูกละเมิดทางเพศแล้ว ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพชีวิตอย่างไร
...
นัก "ล่าแต้ม" ป่วยจิต หรือ "ฮิสทีเรีย"
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า พฤติกรรมผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือเพศสภาพอื่นๆ บางคนนิยม “ล่าแต้ม” ซึ่งเป็นพฤติกรรม free sex จากประเทศตะวันออกนั้นเพิ่งเกิดในสังคมไทยประมาณ 10 ปีหลัง ทั้งนี้พฤติกรรม “ล่าแต้ม” ไม่ได้เกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วยทางด้านจิตเวช หรือป่วยเป็นโรคใด แต่เป็นความนิยมที่ไม่ถูกต้อง และความเข้าใจผิดในเรื่องเพศสัมพันธ์
ความเสี่ยงจากพฤติกรรม “ล่าแต้ม” ค่านิยมผิดๆ ที่อยากมีเพศสัมพันธ์และเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ นพ.อภิชาติ กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เสี่ยงเจ็บป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV, ซิฟิลิสซึ่งกลับมาระบาดอีก, ตับอักเสบ, หนองในต่างๆ ทั้งหนองในแท้ หนองในเทียม, เริม ในผู้หญิงหากไม่ป้องกันอาจจะเกิดปัญหา “ตั้งครรภ์” ที่ไม่พร้อมได้ โดยเฉพาะหากเป็นเด็กวัยรุ่นในวัยเรียน จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาด้วย อาทิ ความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูบุตรจนนำไปสู่ปัญหาการทำแท้งได้
“ปัจจุบันมีความเข้าใจผิดในเรื่องเพศ เพราะการเปลี่ยนไปของสังคม บางคนมีค่านิยมผิดๆ ว่าการมีเพศสัมพันธ์กับหลายๆ คน เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจในกลุ่มที่ชอบเหมือนๆ กัน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือเพื่อนๆ ต้องปลูกฝังช่วยกันทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าจริงๆ แล้วการที่จะมีเพศสัมพันธ์ควรต้องมีกับคนที่เป็นคู่ครอง เมื่อถึงวัยอันควร หรือเวลาที่เหมาะสมกับคนที่เหมาะสม และควรมีการป้องกันทุกครั้ง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนเป็นจำนวนมาก” จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิตแนะนำ
PTSD ผลร้ายที่ไม่เคยคิด หากตื่นมาพบว่าถูก “ล่าแต้ม”
ในกรณีหากโชคร้าย เกิดพลาดพลั้ง “ตกเป็นเหยื่อล่าแต้ม” ด้วยวิธีมอมเหล้า หรือมอมยา เมื่อตื่นมาพบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ นพ.อภิชาติ เผยถึงผลกระทบทางด้านจิตใจในระยะยาว เกิดปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ทั้งซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวง หรือกระทั่งเกิด PTSD ได้
โรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คือ “โรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ” เป็นสภาวะป่วยทางจิตใจ เมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง อาจถึงขั้นเกือบเสียชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก อาทิ ภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า หรือถูกข่มขืน เป็นต้น
...
ซึ่งคนที่เผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ รอดชีวิตมาได้ หรือว่าเป็นผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา เช่น หวนคิดถึงเหตุการณ์รุนแรงเสมอจนเก็บไปฝันร้ายอยู่ตลอดเวลา หรือเกิดอาการระแวดระวัง หวาดกลัวตลอดเวลา ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ปกติ วิธีรักษาต้องพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจได้ และพาไปพบหมอ หรือจิตแพทย์ เพื่อรักษาอาการ
“การป้องไม่ให้ตกเป็นเหยื่อล่าแต้ม หนึ่ง หลีกเลี่ยงที่จะไปในสถานที่เกิดความเสี่ยง สอง ไม่ควรไปกับคนไม่รู้จัก หรือแปลกหน้า สาม หากมีความรู้สึกผิดปกติในร่างกายขณะดื่มแอลกอฮอล์ เช่น รู้สึกควบคุมตัวเองลำบาก สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือ รีบบอกคนรอบข้างเพื่อขอความช่วยเหลือ สี่ บอกคนรอบข้าง เพื่อน คนในครอบครัว ให้รู้ว่าจะไปไหน เพื่อจะได้ช่วยเหลือทัน หากมีความผิดปกติ ส่วนคนที่มีพฤติกรรมล่าแต้ม สามารถเลิกได้โดยปรับความคิดทัศนคติ หรือโทรมาขอคำปรึกษาคำแนะนำกับกรมสุขภาพจิตได้” นพ.อภิชาติ ชี้แนะ
...
มุมมองนักสังคมสงเคราะห์ "ล่าแต้ม" จุดสะท้อนปัญหาที่ไม่ควรเพิกเฉย
ด้านนางสาว จันทร์ชนก โยธินชัชวาล นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และตัวแทนจากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ระบุกับทีมข่าวฯ ว่า “ล่าแต้ม” เป็นพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนสองคน แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นปัญหาพฤติกรรมหนึ่งสะท้อนถึงสภาวะปัญหาของสังคมที่ไม่ควรเพิกเฉย และควรตระหนักมากขึ้นกับพฤติกรรมนี้
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ได้ให้คำแนะนำวัยรุ่นในเรื่องภาวะความเครียด ความไม่สบายใจจากการเรียน ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และปัญหาต่างๆ ในหลายสาเหตุจากความรัก อาทิ การปรับตัว ที่ไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไรให้เหมาะสม ความผิดหวัง อกหัก ปัญหาสุขภาพจิตจากการตกเป็นเหยื่อล่าแต้ม ยังไม่พบ แต่หากสำรวจอย่างละเอียดก็อาจจะเจอ
จำนวนเด็กวัยรุ่นที่โทรมาปรึกษามีมากขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาไม่ต่างกว่าเดิม คือ วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยอาจมีปัญหาเรื่องการปรับตัว ความรัก ความสัมพันธ์กับเพื่อน แต่ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวมีปัจจัยอื่นๆ ทำให้มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น เดิมอาจจะแค่ทะเลาะ ไม่เข้าใจกัน แต่ปัจจุบันเป็นยุคโซเชียล ทะเลาะ ด่ากัน แล้วโพสต์ผ่านสื่อ หรือดึงออกจากกลุ่ม ทำให้ภาวะความไม่สบายใจของเด็กเพิ่มมากขึ้น
...
“พฤติกรรมล่าแต้ม ถือเป็นพฤติกรรมสะท้อนปัญหาสังคม และสะท้อนปัญหาครอบครัว จริงๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคม หรือแม้แต่สื่อเอง ทุกฝ่ายต้องตระหนัก สนใจ และให้ความสนใจในการจัดการมากขึ้น ให้คนเข้าใจว่าพฤติกรรมไม่ว่าจะล่าแต้ม หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นส่งผลกับตัวเขาเอง คนรอบข้าง หรือแม้แต่สังคมด้วย” นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการพิเศษกล่าว.
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ