"การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" ... ประโยคที่ได้ยินมาช้านาน และไม่อาจหาข้อโต้แย้งมาเถียงได้ ไม่มีใครอยากมีโรค ไม่มีใครอยากเป็นคนป่วย แต่ก็ยากเหลือเกินที่จะหนีมันพ้น ในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวคราวคนดัง คนบันเทิง ป่วยด้วย "โรคร้าย" กันอยู่หลายคน ซึ่งหนึ่งในโรคร้ายที่ว่านั้นก็ไม่ใช่โรคใหม่หรือโรคแปลกอะไร ยังคงเป็นโรคเดิมที่คุ้นชื่อดี ‘มะเร็ง’

‘มะเร็ง’ ชื่อนี้มีแต่คนขยาด ไม่มีใครอยากเป็น บางคนไม่คิดจะไปตรวจ เพราะกลัวผลออกมาว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคร้าย กลัวทำใจรับสภาพที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ความที่เราหลีกหนี ไม่ตรวจ ไม่สนใจ เพิกเฉยอะไรหลายๆ อย่าง มันไม่ได้ช่วยให้หนี ‘มะเร็ง’ พ้น กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็น "ระยะที่ 4" เสียแล้ว

(ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จำแนกตามระยะของโรค ปี 2555-2560 ตามทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของประเทศไทยทั้งหมด ตกปีละประมาณ 120,000 ราย | ข้อมูลจาก : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
(ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จำแนกตามระยะของโรค ปี 2555-2560 ตามทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของประเทศไทยทั้งหมด ตกปีละประมาณ 120,000 ราย | ข้อมูลจาก : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

...

ฉะนั้น การรู้ตัวก่อน รักษาไว ย่อมส่งผลดีกว่า ... แล้วเราจะสังเกตตัวเองอย่างไร?

สถาบันมะเร็งแห่งชาติให้ข้อมูล "7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง" ที่สังเกตง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่

  • ระบบขับถ่าย : ท้องผูกสลับท้องเดินเรื้อรัง อาจเป็น "มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" และปัสสาวะขัดเรื้อรัง อาจเป็น "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
  • แผล : แผลเรื้อรังในช่องปากนานเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็น "มะเร็งช่องปาก", แผลเรื้อรังบริเวณผิวหนัง อาจเป็น "มะเร็งผิวหนัง" และแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร อาจเป็น "มะเร็งกระเพาะอาหาร"
  • มีก้อนตุ่ม : ก้อนบริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอเรื้อรัง อาจเป็น "มะเร็งต่อมน้ำเหลือง", ก้อนเต้านม อาจเป็น "มะเร็งเต้านม" และตุ่ม ก้อนบริเวณผิวหนัง อาจเป็น "มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน"
  • กินกลืนอาหาร : กลืนอาหารไม่ลงหรือติดขัด อาจเป็น "มะเร็งหลอดคอ หรือ มะเร็งหลอดอาหาร", ท้องอืด ปวดท้องเรื้อรัง อาจเป็น "มะเร็งระบบทางเดินอาหาร" และน้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจเป็น "มะเร็งหลายชนิด"
  • ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล
  • ไฝ หูด เปลี่ยนไป
  • ไอ เสียงแหบ : ไอเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็น "มะเร็งปอด" และเสียงแหบเรื้อรัง อาจเป็น "มะเร็งหลอดคอ หรือ มะเร็งกล่องเสียง"

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด ‘มะเร็ง’ หลักๆ มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ

ข้อ 1 ปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก จากพวกอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค หรือสารก่อมะเร็งต่างๆ

ข้อ 2 ปัจจัยภายในร่างกาย อาจมาจากความผิดปกติของพันธุกรรม หรือความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน แต่ในปัจจัยนี้ยังคงมีเป็นส่วนน้อย 

| ความเข้าใจผิดๆ ชายไม่เป็น "มะเร็งเต้านม"

หลายๆ คนคงพอทราบดีอยู่แล้วว่า "มะเร็งเต้านม" เป็นภัยร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิง และจากทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ปี 2560 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ก็เผยให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือ "มะเร็งเต้านม" ส่วนมากจะพบในระยะที่ 2 ถึงระยะที่ 4 และผู้ป่วยส่วนใหญ่รวมถึงคนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดๆ กันว่า "มะเร็งเต้านม" ผ่าตัดออกแล้วจะไม่เป็นซ้ำ หรือแม้แต่ "ผู้ชายไม่เป็นมะเร็งเต้านม" เกิดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น

จากความเข้าใจผิดๆ ที่ว่านี้ นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ผู้ชายก็เป็น "มะเร็งเต้านม" ได้ เพียงแต่โอกาสน้อยกว่าผู้หญิง เทียบประชากร 100-150 คน จะพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านม 99 คน และผู้ชาย 1 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายที่มีอายุมากแล้ว อายุน้อยไม่ค่อยพบ ในส่วนความเสี่ยงนั้น กรรมพันธุ์ก็ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

...

นายแพทย์อาคม อธิบายถึงลักษณะของ "มะเร็งเต้านม" ให้เข้าใจว่า "มะเร็งเต้านม" ของผู้ชายจะมาเป็นลักษณะ "ก้อนนม" ส่วนใหญ่ก้อนที่เป็นมะเร็งจะเป็นเหมือนกันหมด ฉะนั้น การรักษาและการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมของผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน กรณีที่พบก้อนจะพบในผู้ชายที่มีอายุสูงวัยมากๆ บางทีไม่ใช่มะเร็ง แต่เป็นเนื้อนม หรือ นมแตกพาน แบ่งได้เป็น 3 ช่วงอายุ คือ แรกคลอด ที่ได้ฮอร์โมนจากแม่, วัยรุ่น และสุดท้าย คือ วัยชรา

อีกส่วนหนึ่ง คนชอบบอกว่า การใช้ยาจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ข้อมูลตรงนี้ยังมีไม่มากพอที่จะบอกว่ากลุ่มที่ใช้ยาพวกนี้จะเพิ่มความเสี่ยง อย่างที่บอกว่า ข้อมูลมันมีน้อย คนไข้ยังมีน้อย มีไม่เยอะ ไม่มากพอจะบอกได้ว่าการใช้ยาพวกนี้จะมีผลหรือเปล่า

อย่างไรก็ตามแต่ถ้าผู้ชายเจอก้อนก็แนะนำว่า ต้องมาพบแพทย์เหมือนกัน เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน

...

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดๆ ที่บอกว่า "ผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นซ้ำ" นั้น นายแพทย์อาคม ให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดออกบางทีอาจมีเซลล์มะเร็งตกค้างในระดับเล็กๆ ที่ไม่สามารถตรวจเจอได้ จึงมีโอกาสที่จะกลับมาในอนาคตได้ ฉะนั้น แพทย์จึงให้ยาเคมี หรือ ยาต้าน เพื่อทำลาย ยับยั้ง "มะเร็งเต้านม" รักษาหาย แต่มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้ ยาต้าน การฉายแสง ไม่ได้ช่วยให้ปลอดจากโรค หรือหายขาดได้

"การเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายไม่ได้หวังผลหายขาด แต่การรักษาเป็นการยืดอายุและหวังว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องทุกข์ทรมาน ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายไม่ว่าชนิดไหน ไม่ได้หายขาด อย่าง ‘มะเร็งเต้านม’ ถ้าเป็นระยะสุดท้ายก็มีโอกาสอยู่ได้นานอีก 5 ปี"

| ‘มะเร็ง’ โรคร้าย แต่จ่ายแพง

‘มะเร็ง’ โรคร้ายที่มีการรักษาที่ซับซ้อน แถมพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายที่แสนแพง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษา ‘มะเร็ง’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปี 2561 มีการชดเชยค่ารักษาถึง 9,557 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัวอย่างต่ำประมาณ 50,000 บาท ทีมข่าวฯ จึงได้ตรวจสอบอัตราค่ายาที่ใช้รักษา ‘มะเร็ง’ ที่พบมากในคนไทย รวมถึงประมาณการค่าฉายรังสี มาให้คุณผู้อ่านดูกัน เพื่อที่จะได้เตรียมวางแผนค่าใช้จ่ายสำรองสำหรับอนาคตข้างหน้าที่ไม่แน่นอนว่า ‘มะเร็ง’ จะมาถึงเราเมื่อไร

...

มะเร็งเต้านม

  • Trastuzumab : Sterile pwdr 150mg 1 ไวแอล 15,340.59 บาท, Sterile pwdr 440mg 1 ไวแอล 44,999.92 บาท
  • Trastuzumab emtansine : Sterile pwdr 100mg 1 ไวแอล 62,595.00 บาท, Sterile pwdr 160mg 1 ไวแอล 101,115.00 บาท

มะเร็งปอด

  • Gefitinib : tab 250mg 1 เม็ด 599.98 บาท

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง

  • Rituximab (MAITHERA®) : sterile sol 100 mg/10ml 1 ไวแอล 6,252.44 บาท, sterile sol 500 mg/50ml 1 ไวแอล 24,182.00 บาท, sterile sol 1400 mg/11.7ml 1 ไวแอล 30,434.44 บาท
  • Rituximab (TRUXIMA®) : sterile sol 100 mg/10ml 1 ไวแอล 5,000.00 บาท, sterile sol 500 mg/50ml 1 ไวแอล 19,345.60 บาท

มะเร็งลำไส้

  • Bevacizumab : Sterile sol 100 mg/4ml 1 ไวแอล 9,095.00 บาท

มะเร็งตับ

  • Sorafenib : Sorafenib 200mg 1 Tablet 1,900.00-2,228.00 บาท
(ข้อมูล : กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา, สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)
(ข้อมูล : กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา, สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

ประมาณการค่าฉายรังสีมะเร็งที่พบบ่อย

  • มะเร็งศีรษะและลำคอ : แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เทคนิค 3 มิติ 130,100 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี 8,500 บาท, ค่าฉีดสารทึบรังสี 2 ขวด 1,500 บาท, ค่าหน้ากาก 6,000 บาท, ค่าคำนวณ 6,000 บาท, ค่าฉายรังสี (2,500 บาท x 35 ครั้ง) 87,500 บาท, ค่า CBCT (1 ครั้ง/สัปดาห์) 12,600 บาท และ MRI Simulation 8,000 บาท) และเทคนิค IMRT/VMAT 186,600 บาท (ค่า CT Simulation 8,500 บาท, MRI Simulation 8,000 บาท, ค่าฉีดสารทึบรังสี 2 ขวด 1,500 บาท, ค่าหน้ากาก 6,000 บาท, ค่าคำนวณ 10,000 บาท, ค่าฉายรังสี (4,000 บาท x 35 ครั้ง) 140,000 บาท และค่า CBCT 12,600 บาท)
  • มะเร็งเต้านม : แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เทคนิค 3 มิติ 84,500 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี 8,500 บาท, ค่าคำนวณ 6,000 บาท, ค่าฉายรังสี (2,500 บาท x 25 ครั้ง) 62,500 บาท, Boote electron 3,500 บาท และค่า port film 4,000 บาท) และเทคนิค 2 มิติ 69,300 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี (Acuity Simulation) 2,000 บาท, ค่าคำนวณ 800 บาท, ค่าฉายรังสี (2,400 บาท x 25 ครั้ง) 60,000 บาท, Boote electron 3,500 บาท และค่า port film 3,000 บาท)
  • มะเร็งปอด : แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เทคนิค 3 มิติ 141,100 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี 8,500 บาท, ค่าเอกซเรย์ด้วยเครื่องควบคุมตามการหายใจ 25,000 บาท, ค่าฉีดสารทึบรังสี 1,500 บาท, ค่าคำนวณ 6,000 บาท, ค่าฉายรังสี (2,500 บาท x 35 ครั้ง) 87,500 บาท และค่า CBCT 12,600 บาท) และเทคนิค IMRT/VMAT 197,600 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี 8,500 บาท, ค่าเอกซเรย์ด้วยเครื่องควบคุมตามการหายใจ 25,000 บาท, ค่าฉีดสารทึบรังสี 1,500 บาท, ค่าคำนวณ 10,000 บาท, ค่าฉายรังสี (4,000 บาท x 35 ครั้ง) 140,000 บาท และค่า CBCT 12,600 บาท)
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ : เทคนิค 3 มิติ 103,000 บาท (ค่าจำลองการฉายรังสี (CT Simulation) 8,500 บาท, MRI Simulation 8,000 บาท, ค่าฉีดสารทึบรังสี 1,500 บาท, ค่าคำนวณ 6,000 บาท, ค่าฉายรังสี (2,500 บาท x 28 ครั้ง) 70,000 บาท และค่า CBCT 9,000 บาท)

ทิ้งท้าย ด้วยอีกความเชื่อผิดๆ ที่คนไทยมักแชร์ทั่วโลกโซเชียล อย่าง "มังคุดนึ่งรักษามะเร็ง" ความจริง คือ การนำมังคุดไปนึ่งอาจทำให้สารแทนนินซึมเข้าสู่เนื้อมังคุด เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ อาจทำให้ท้องผูก สะสมในตับและไตได้ หรืออีกความเชื่อผิดๆ "กินอาหารอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟทำให้เกิดมะเร็ง" ความจริง คือ คลื่นไมโครเวฟเหมือนคลื่นวิทยุหรือคลื่นโทรศัพท์มือถือ ที่จะวิ่งผ่านตัวของอาหาร ไม่ได้เป็นสารกัมมันตรังสีตกค้างในอาหารจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

ฉะนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่ามีความเสี่ยงเป็น ‘มะเร็ง’ ควรไปพบแพทย์ทันที อย่าหลงเชื่อข้อความที่แชร์บนโลกโซเชียล ... ‘มะเร็ง’ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งดี ผู้ป่วยมีโอกาสหาย แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้.

ข่าวน่าสนใจ :