... สำเนียงปักษ์ใต้ร่ายกลอนสด และท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยแต่แฝงไปด้วยความดุดัน ซึ่งถ่ายทอดผ่าน "นักแสดง" ที่สวมชุดประดับลูกปัดหลากสีและคริสตัลสะท้อนแสงแวววาว อีกทั้งศีรษะที่สวมเทริดอย่างบรรจง มาพร้อมเอกลักษณ์ปลอกเล็บยาวสีเงินยวง เหล่านี้ประกอบกันอย่างงดงาม นามว่า "โนรา"

  • "โนรา" ได้รับการเสนอขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) (ปี 2563)
  • "โนรา" ไม่นิยมรำในงานแต่งงาน อันมาจากความเชื่อที่ว่า งานแต่งงานเป็นงานที่บ่าวสาวต้องร่วมหลับนอน ถือว่าเป็นการไม่เคารพครูบาอาจารย์
  • คณะโนราขนาดกลาง มีรายได้ต่อคืนสูงถึงประมาณ 30,000 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 175,000-350,000 บาทต่อเดือน
  • "โนราบิก" ประยุกต์ท่ารำโนรามาเป็นการออกกำลังกาย มีทั้งหมด 19 ท่า แต่ละท่าจะช่วยในการรักษาโรคที่แตกต่างกันไป

----------

หากจะเอ่ยถึง "โนรา" หลายคนในยุคนี้อาจไม่คุ้นเคย และคงคิดว่า "โนรา" ใกล้จะสิ้นสูญเสียแล้ว หรือถ้ายังหลงเหลืออยู่ก็คงเป็นที่นิยมแค่กับผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง "โนรา" ยังคงมีอยู่แทบทุกพื้นที่ดินแดนใต้ ที่นิยมมากอยู่บริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่าง พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา มีตั้งแต่รุ่นใหญ่ กระทั่งรุ่นเล็ก กว่า 278 คณะ แบ่งเป็นสายตระกูลหลัก 5 สาย ได้แก่ สายโนราพุ่มเทวา, สายโนราแปลก ท่าแค, สายโนรา เครื่องงาม, สายโนราเติม-วิน-วาด และสายโนรายก ทะเลน้อย

จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ
จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช

...

แล้วรู้กันหรือไม่? "โนรา" ไม่แสดงใน "งานแต่งงาน"

สมัยก่อนมีความเชื่อกันว่า การรำโนราในงานแต่งงานจะเท่ากับการไปร่วมยินดีที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมหลับนอนกัน ซึ่งถือว่าไม่เคารพครูบาอาจารย์ของโนรา ฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงมักเห็นโนราในงานประจำปี ที่เป็นประเภทงานบุญ งานบวช หรืองานแก้บนต่างๆ เดือนเดือนหนึ่งมีงานสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เรียกว่า เม็ดเงิน "โนรา" สะพัดทั่วดินแดนใต้เลยทีเดียว

ซึ่งจากข้อมูลของ "คณะโนรามอส ยอดระบำ" (คณะขนาดกลาง) ทราบว่า รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนบาท บางคืนรายได้สูงถึง 30,000 บาท!!

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เลยขอพาคุณผู้อ่านมุ่งสู่ดินแดนใต้ไปทำความรู้จักกับขุมทรัพย์ "โนรา" ที่ว่ากันว่า "ปั้นรายได้คืนละหมื่น"

จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ
จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช

"โนรา" อาชีพหลัก ยอมเสียเงินจ้างคนทำสวนแทน

"ส่วนใหญ่รำ "โนรา" เป็นอาชีพหลัก บางคณะเป็นที่นิยมมากแทบไม่มีเวลาทำอะไรเลย ต้องจ้างคนมาดูแลสวนแทน"

ตอนหนึ่งจากคำบอกเล่าของ นายจิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช ผู้เริ่มฝึกรำ "โนรา" มาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากเด็กชายที่ร้องรำผิดๆ ถูกๆ หน้าจอโทรทัศน์ สู่การเป็นนักแสดงโนราอาชีพ หลังเข้าฝากตัวเป็นศิษย์บรมครูหลายๆ ท่าน ฝึกฝนกับ "พ่อถาวร" ท่วงท่ารำจาก "แม่สำเนา" การแสดงจาก "แม่อำนวย" และร่วมแสดงวง "แม่เพ็ญศรี ยอดระบำ"

จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ
จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช

----------

...

"ฝึกแรกๆ ไม่ค่อยชอบเท่าไร"

----------

นายจิรเดช เท้าความถึงสมัยเริ่มฝึกรำ "โนรา" ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า การฝึกโนรานั้นมีความยาก เวลาย่อหรือยกไม้ยกมือนานๆ หลายรอบก็จะเมื่อย ยอมรับว่า ฝึกแรกๆ ไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะแม่เพ็ญศรีเป็นผู้หญิง เวลารำเราก็ต้องอ่อนช้อยตาม ต่างจากครูผู้ชายที่ต้องรำอย่างเข้มแข็งทะมัดทะแมง ซึ่งการรำ "โนรา" ต้องรู้องศาของการตั้งวง การย่อตัว จังหวะ การเปลี่ยนท่วงท่าทำนองไม่ให้หยาบ และรำยังไงไม่ให้ดูตุ้งติ้งจนเหมือนผู้หญิง เราเลยรู้สึกว่า การรำยากกว่าการ "ว่ากลอน"

สำหรับการ "ว่ากลอน" นั้น ต้องเรียนรู้สัมผัส รู้จักคีย์เสียง ทำนองที่ฟังแล้วไพเราะ เนื้อหาสาระแต่ละงานที่ไปแสดง และต้องว่ากลอนให้สมวัย ถ้าตามผู้ใหญ่เขาหมดจะถูกมองว่า "แก่แดด" องค์ประกอบเยอะกว่าจะเป็น "โนราที่สมบูรณ์แบบ"

จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ
จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช

...

ปี 53 พลิกผัน "โนราเด็กปักษ์ใต้"

"ศรราม น้ำเพชร" ลิเกภาคกลาง จุดประกายในใจ "จิรเดช" ตัดสินใจตั้งคณะโนราเด็กปักษ์ใต้

"ตอนปี 2553 ไม่มีคณะโนราที่เป็นเด็กเลย มีแต่ผู้ใหญ่ทั้งนั้น ทางแม่เพ็ญศรี คุณพ่อคุณแม่ เลยบอกว่า "ลองตั้งคณะโนราเด็กดูไหม?" เพราะสมัยนั้นลิเกทางภาคกลาง "ศรราม น้ำเพชร" เขาดังและเป็นเด็ก เลยตัดสินใจตั้งคณะโนราเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปี ตอนนี้ก็ผ่านมา 9 ปีแล้ว"

"จิรเดช" บอกเล่าถึง "คณะโนราเด็ก" ของตนเองให้ฟังด้วยความภูมิใจว่า ในคณะฯ มีคนประมาณ 30 คน นักแสดง นักดนตรี เป็นเยาวชนหมด ไม่มีใครอายุเกิน 25 ปี นอกจากคนทำอุปกรณ์เวที ทุกคนเป็นเพื่อนๆ ที่อยู่ชุมนุมในโรงเรียนเดียวกัน และก็แถวๆ บ้าน

ว่ากันว่า "โนรา" เงินสะพัด รายได้คืนละหมื่น?

"จิรเดช" แจกแจงรายได้กับทีมข่าวฯ ฟังว่า รายได้ตกคืนละ 35,000 บาท เฉลี่ยแบ่งกัน นักแสดงเริ่มต้นที่คนละ 500-3,000 บาท นักแสดงรับเชิญ (หัวหน้าคณะอื่น) คนละไม่เกิน 3,000-5,000 บาท หัวหน้าทีมนักดนตรี 1,000 บาท และนักดนตรีคนละ 700 บาท ส่วนหัวหน้าวงเหลือเก็บตกประมาณคืนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

...

"เดือนหนึ่ง 10-20 งาน ทั้งของคณะเราเอง และถูกรับเชิญไปแสดงคณะอื่น ในภาคใต้ทุกงานจะต้องมีโนรา ยกเว้น "งานแต่ง" ที่ไม่นิยมกัน มันเป็นขนบธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาว่า "ไม่รำงานแต่ง" แต่จะมีช่วง 4 เดือนของทุกปี (พ.ย.- ก.พ.) ที่จะรับแต่งานแสดงอื่นๆ จะไม่มีงานที่เกี่ยวกับโนรานอกจาก "งานแก้บน" หรืองานอวมงคลที่จำเป็นจริงๆ"

แน่นอนว่า เมื่อดีมานด์มาก ซัพพลายย่อมมากตาม เกิดการแข่งขันในวงการ "โนรา" แย่งชิงเม็ดเงินต่องานต่อคืน ที่แม้แต่ "จิรเดช" ก็ยอมรับว่า "มีปัญหาเหมือนกัน"

"สมมติคณะเรารับค่างาน 35,000 บาท แต่คณะอื่นที่อาจก่อตั้งมาใหม่รับแค่ 25,000 บาท เขาก็จะได้งานไป เพราะเจ้าภาพบางรายไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพผลงาน ไม่ได้สนใจว่าดัง-ไม่ดัง ผลงานดี-ไม่ดี ขอแค่ประหยัดงบประมาณไว้ก่อน"

โลกเปลี่ยน "โนรา" เปลี่ยน

"จิรเดช" ยืนยันหนักแน่น "ไม่ทิ้งความเป็นโนราดั้งเดิมแน่นอน" แต่ยอมรับว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและสังคมนิยม

"การรำโนราแบบสมัยก่อนมีแค่การรำและว่ากลอน เด็กปัจจุบันไม่รู้เรื่อง เข้าไม่ถึง ต้องมีการปรับของโบราณดั้งเดิมและเพิ่มอะไรต่างๆ เข้าไป เช่น เพิ่มเพลงร้อง พูดสำนวนตลก ทำบท และการแต่งตัว วิวัฒนาการให้น่าดูชม ใส่คริสตัลเพิ่มเพชร ให้ดูแบบ "โนราทำไมใส่ชุดสวย" และมีตลกสอดแทรก ทำให้เด็กหัวเราะ มันเหมือนเป็นการต่อยอด "อนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดอยู่เสมอ" มันก็เหมือน "เสื้อใส่ช่วงบน กางเกงใส่ช่วงล่าง" ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย"

----------

สำหรับ "จิรเดช" แล้ว "เสน่ของโนรา" คือ "เอกลักษณ์ที่ภาคอื่นเลียนแบบไม่ได้ ต้องคนใต้เท่านั้น"

----------

จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ
จิรเดช เพ็งรัตน์ เจ้าของคณะ "โนรามอส ยอดระบำ" คณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช

เปิดโรง "โนราบิก" รำ "ลดอ้วน"

ท่วงท่าร่ายรำอันงดงาม จากที่ "จิรเดช" เท้าความและบอกเล่ากับทีมข่าวฯ ถึงความเป็น "โนรา" สู่การเปิดโรง "โนราบิก" อีกวิวัฒนาการศิลปะดั้งเดิมที่เทียบชั้นฟิตเนสชั้นดี

"โนราบิก" คืออะไร?

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เปิดสนทนากับ นางสาวธนนันท์ จริยะเลอพงษ์ ลูกสาวของ ว่าที่ร้อยตรี ไตรบัญญัติ จริยะเลอพงษ์ ประธานศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านบางแขนน จ.ภูเก็ต ผู้ร่วมคิดค้น "โนราบิก" นวัตกรรมการออกกำลังกายที่วิวัฒนาการมาจาก "ท่าโนรา"

"โนราบิก" ศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านบางแขนน จ.ภูเก็ต

"จุดเริ่มต้นของ "โนราบิก" เกิดจากความต้องการอยากสืบสานและสืบทอด "โนรา" การแสดงของภาคใต้ ด้วยความเชื่อที่คนกลัว "โนราต้องมีครู" และในสมัยนั้น การรำโนราค่อยๆ ลดน้อยลง เลยอยากสืบทอดการแสดงโนรา ด้วยอยากให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น จึงแปลงท่าร่ายรำมาเป็นท่าออกกำลังกายแทน"

----------

19 ท่า "โนราบิก" พิชิต "โรคเรื้อรัง"

----------

"การรำโนราบิกช่วยในเรื่องของโรคหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น ช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนเลือด และยังช่วยเกี่ยวกับข้อ สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น และสมดุลร่างกาย ซึ่งแต่ละท่าจะบอกว่าท่าไหนช่วยในเรื่องอะไรบ้าง เช่น ความดันโลหิตสูง ลดความเครียด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน"

"โนราบิก" ศูนย์วัฒนธรรมหมู่บ้านบางแขนน จ.ภูเก็ต

สาธิตท่วงท่า "โนราบิก"

  • ท่าที่ 4 ผู้สูงศักดิ์, ท่าที่ 5 มือเท้าสะเอว ยืดขาสองข้าง และท่าที่ 6 มือเท้าสะเอว ยืดขายกแขน : ช่วยบริหารกล้ามเนื้อแขน-ขา หลัง ไหล่ และคอ
  • ท่าที่ 9 โตเล่นหาง และท่าที่ 10 ปลาล่องวารี : ช่วยบริหารกล้ามเนื้อแขนและขา
  • ท่าที่ 1 เทพพนม และท่าที่ 19 พระพุทธเจ้าห้ามมาร : ช่วยให้จิตใจสงบและประสาททำงานดีขึ้น
ท่วงท่า
ท่วงท่า "โนราบิก"
ท่วงท่า
ท่วงท่า "โนราบิก"

จากผลวิจัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พบว่า การออกกำลังกายด้วย "โนราบิก" ช่วยด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด และความสมดุลของร่างกายดีขึ้น ร้อยละ 93.9, ความอ่อนตัวดีขึ้น ร้อยละ 90.9, ความวิตกกังวล/ซึมเศร้าน้อยลง ร้อยละ 75.8 และการนอนดีขึ้น ร้อยละ 87.9

"ขณะนี้ ชุมชนฯ ของเราจะมีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุมาออกกำลังกายโดยใช้ "โนราบิก" เป็นท่าออกกำลัง และในอีกทางหนึ่งจะเป็นกลุ่มนักเรียนที่เป็นลักษณะเหมือนหลักสูตร ซึ่งเราได้เข้าไปสอนในโรงเรียน ปลูกฝังให้รู้จักท่ารำโนรา และนำไปประยุกต์ใช้ได้ภายในโรงเรียน" ธนนันท์ ทิ้งท้ายกับทีมข่าวฯ

"โนรา" ไม่ได้ "สูญ"

เม็ดเงินยังสะพัดทั่วดินแดนใต้ ปรับเปลี่ยนท่วงท่าให้น่าดูชม ดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ วิวัฒนาการสู่ "โนราบิก" ร่ายรำออกกำลังกาย สู้ "โรคเรื้อรัง".

ข่าวแนะนำ :