จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้แนะวิธีดูแล "สภาพจิตใจ" ก่อนน้ำท่วม ขณะน้ำท่วมและหลังน้ำลด ชี้ "น้ำท่วมฉับพลัน" เสี่ยงเพิ่มจำนวนผู้ป่วยจิตเวช
“น้ำท่วม” ฉับพลันในหลายจังหวัดภาคอีสานที่กำลังประสบอยู่ เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถือเป็นภาวะวิกฤติ และภาวะอันตราย ส่งผลกระทบและความเสียหายในหลายๆ ด้าน นอกจากข้าวของ ทรัพย์สิน บ้าน รถ ไร่นา แล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย ซึ่งหากตั้งรับอย่างไม่ทัน หรือรับมือไม่ไหว เสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือจิตเวชได้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพดังกล่าว ทีมข่าวฯ สอบถาม นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ถึงแนวทางปฏิบัติ และจัดการสุขภาพจิตทั้ง ก่อนน้ำท่วม ขณะประสบอุทกภัย และหลังน้ำลด
วิธีเตรียมพร้อมรับมือ ก่อน "น้ำท่วม"
การเตรียมพร้อม นพ.อภิชาต ระบุว่า เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรประมาทโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประวัติท่วมมาก่อน หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำหลาก ควรเตรียมพร้อมโดยติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่, เก็บข้าวของสำคัญๆ ขึ้นไว้ที่สูง, เตรียมของอุปโภคและอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้ได้ 5-7 วัน อาทิ น้ำสะอาดไว้ดื่ม อาหารแห้ง มือถือพร้อมแบตเตอรี่สํารอง เสื้อชูชีพ ไฟฉายพร้อมถ่านสำรอง หากมีสัตว์เลี้ยงให้เตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับดูแลด้วย
...
เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในบ้าน นอกจากเคลื่อนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าไปอยู่ในจุดที่น้ำท่วมไม่ถึงแล้ว ในเรื่องสุขภาพซึ่งหลายคนไม่คำนึงถึงนัก โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หรือผู้ป่วยจิตเวช ควรไปพบหมอเพื่อรับยามาเพิ่มเพื่อให้มีใช้ช่วงน้ำท่วม ช่วยป้องกันอาการโรคกำเริบจนทรุดหนักได้
“ก่อนน้ำหลาก ต้องมีการพูดคุยกับคนในครอบครัว เพื่อช่วยกันวางแผนว่า หากเกิดน้ำหลากแล้ว จะดูแล ติดต่อกันอย่างไร กรณีมีผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ควรย้ายที่อยู่ชั่วคราว” นพ.อภิชาตชี้แนะ
เน้นใส่ใจ ดูแล คุยคนรอบข้าง คนไกลควรติดต่อสื่อสาร ลดเครียด
เมื่อเกิดอุทกภัย นพ.อภิชาต ระบุว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะเกิดความวิตกกังวล เครียด วิธีผ่อนคลายความเครียดไม่ให้สะสมจนเป็นเหตุนำไปสู่โรคซึมเศร้า ควรปฏิบัติ 2 วิธี ประกอบด้วย 1. หมั่นพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับคนในบ้านและเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเครียด 2. สำรวจอารมณ์ตัวเองบ่อยๆ ว่าความเครียด เริ่มส่งผลเสียมากขึ้นกับสุขภาพตัวเองหรือไม่ โดยหากรู้สึกควบคุมความรู้สึกตัวเองไม่ได้ เช่น รู้สึกกังวล แย่ หงุดหงิดตลอดเวลา จนนอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดตัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หรือโรคประจำกำเริบ เหม่อลอย ซึมเศร้า พูดจาน้อยลง ร้องไห้บ่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าเครียดมากไป ต้องรีบบอกคนในครอบครัว คนในพื้นที่ หรือ อสม. ประจำหมู่บ้าน ให้พาไปหาหมอที่ รพ.ใกล้บ้าน จะได้ช่วยเหลือทันท่วงที
“คนในครอบครัวต้องพูดคุย ถามไถ่กันบ่อยๆ และต่อเนื่อง ถามไถ่รับฟังกันให้มากๆ รวมถึงเพื่อนบ้านด้วย เพราะบางทีหากขาดการสื่อสาร อาจทำให้ช่วยเหลือได้ช้า สำหรับญาติที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ไม่สามารถเข้าไปช่วยก็สามารถส่งกำลังใจ ใช้ไลน์ โทรหาทักทาย โทรคุย ให้กำลังใจและรับฟังปัญหากัน เพื่อลดความเครียด” นพ.อภิชาตกล่าว
'อาการทางใจ' หลังน้ำลด ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นํ้าท่วมไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินเท่านั้น “สภาพจิตใจ” หลังน้ำลดก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งฟื้นฟู เนื่องจากผู้ประสบอุทกภัยจะรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกําลังใจ ทุกข์และเครียดมากกว่าช่วงก่อนน้ำท่วม หรือน้ำท่วม เนื่องจากเห็นสภาพบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา รถ เสียหาย การดูและสภาพจิตใจ จึงเป็นสิ่งสําคัญและควรกระทําเป็นอย่างยิ่ง
...
นพ.อภิชาต แนะนำให้ตั้งสติ จากนั้นให้ระบายความรู้สึกนึกคิดด้วยการพูดคุย ปรับทุกข์ กับคนในบ้านและครอบครัว หรือเพื่อนบ้าน และควรปรับชีวิตให้ดําเนินไปตามสภาพปกติเหมือนเดิมเท่าที่ทําได้ ข้อควรห้าม หากเครียดห้ามใช้ยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติดเด็ดขาด เพราะหากดื่มแล้วเมา อาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ปัญาหนักมากขึ้นกว่าเดิมได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้อารมณ์ซึมเศร้าเป็นหนักขึ้น
"เวลาเครียดให้ปรับทุกข์ หารือกับคนในครอบครัว เพื่อนบ้าน คนในชุมชน อย่าเก็บไว้คนเดียว หากรู้สึกหดหู่ใจมากๆ รู้สึกเศร้า เสียใจ ให้รีบบอกคนอื่น หรือหากคนในครอบครัว บางคนเริ่มแยกหรือเก็บตัวคนเดียว มีความเครียด ความเศร้ามากจนควบคุมตัวเองไม่ได้ เริ่มมีการสั่งเสีย อยากตาย อย่ามองเป็นความรำคาญ นั่นเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ ให้รีบรับฟัง ให้ความช่วยเหลือ หากรู้สึกว่าเอาไม่อยู่ พาไปหาหมอด่วนดีที่สุด อย่าเก็บไว้ที่บ้าน ให้รีบไปก่อนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา“
7 โรคตามมา หลังน้ำท่วม เหตุฉับพลัน อาจป่วย "จิตเวช"
...
นอกจากดูแลสภาพจิตใจแล้ว ภายหลังนํ้าลด หลังจากทําความสะอาดบ้าน ควรตรวจเช็กปลั๊กไฟ สายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้มั่นใจว่าปลอดภัยและสามารถใช้งานได้ปกติเหมือนเดิมก่อนนํากลับมาใช้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และห้ามดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่เคยเก็บไว้ในระหว่างนํ้าท่วม ควรต้มและปรุงให้สะอาดก่อนทุกครั้ง หากมีปัญหาที่แก้ไขได้เอง ควรแจ้งและขอความช่วยเหลือจากกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร หรือเจ้าหน้าที่อําเภอ
นอกจากนี้ นพ.อภิชาต แนะให้ระมัดระวังโรคผิวหนัง น้ำกัดเท้า ตาแดง ฉี่หนู ท้องเสีย ไทฟอยด์ และตับอักเสบ จากการใช้ช้อนร่วมผู้อื่น หรือดื่มน้ำจากแก้วเดียวกันกับคนอื่น ซึ่งโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นยามน้ำท่วม และยังมีอาการตามมาหลังน้ำลดอยู่สักระยะ อย่างไรก็ดีผลกระทบจากความเครียดเนื่องจากน้ำท่วม และการเกิดน้ำทว่มโดยฉับพลันอาจส่งผลให้ป่วย “จิตเวช” ได้
“บางคนอยู่ในพื้นที่ไม่เสี่ยง แต่จู่ๆ เกิดน้ำท่วมโดยไม่มันตั้งตัวอาจป่วยจิตเวชได้ นาข้าวที่กำลังจะเกี่ยวพังหมด จิตตก ขาดทุน เพราะบางคนกู้คนอื่นมาทำ พอจะได้เงินข้าวก็ถูกน้ำท่วม ทำให้เครียดมาก ซึมเศร้าจนคิดไม่อยากมีชีวิต อยากตายก็มี คนรอบข้าง หลายฝ่ายต้อง ดูแล สังเกตอาการ หลายกรณีพอผ่านช่วงวิกฤติไปได้ ค่อยๆ แก้ไข ก็ผ่านไปได้ด้วยดีก็เยอะ” นพ.อภิชาตกล่าว
...
ผลการให้บริการ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2560 นี้ มีทั้งหมด 62,418 สาย ผู้ใช้บริการเป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว ในภาพรวมกลุ่มประชาชนทั่วไป ปัญหาที่ปรึกษามากที่สุด อันดับ 1 ปัญหาการเจ็บป่วยจิตเวช ร้อยละ 39 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเก่าที่มีปัญหาก้าวร้าว ขาดยา หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาอันดับ 2 เรื่องความเครียดหรือวิตกกังวล ร้อยละ 35 อันดับ 3 ปัญหาความรักร้อยละ 9 อันดับ 4 ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 5 อันดับ 5 ปัญหาซึมเศร้า ร้อยละ 4และอันดับ 6 คือปัญหาเรื่องเพศร้อยละ 3 ส่วนที่เหลืออื่นๆ ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการทำงาน มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งพบ 425 คน และปัญหาการพนัน
จากจำนวนตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่า คนไทยป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ยอดคนป่วยจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับการเยียวยาผู้ประสบภัยของรัฐบาลด้วย
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ