"อี-สปอร์ต" ฟีเวอร์หนัก! จากความชื่นชอบการเล่นเกมธรรมดา กระโจนสู่สนามแข่งขัน ทุ่มฝึกซ้อม หวังโลดแล่นในเส้นทาง "นักกีฬาอี-สปอร์ต" สร้างรายได้และชื่อเสียง แต่หารู้ไม่ว่า "ต้องแลกมากับความเจ็บปวดในระยะยาว"
การเป็น "นักกีฬาอี-สปอร์ต" ไม่ใช่ง่ายๆ นอกจากต้องสลัดภาพจำ "เด็กติดเกม" แล้ว ยังต้องฝึกซ้อมอย่างหนักแลกกับอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลในระยะยาว แต่ละคนต้องใช้เวลาในการ "เล่นเกม" เพื่อฝึกซ้อม 3-10 ชั่วโมงอย่างต่ำ ช่วงที่มีการแข่งขันทุ่มเต็มที่ 12-14 ชั่วโมงก็มี หากในส่วนของ "นักกีฬามืออาชีพ" คงไม่น่าห่วงเท่าไหร่ อย่างน้อยๆ ก็มีโค้ชทีมคอยดูแล แต่ "นักกีฬาสมัครเล่น" นี่สิที่น่าเป็นห่วง
อาการหลักๆ ของเหล่านักกีฬาทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นที่พบเจอมากที่สุดกว่า 56% หนีไม่พ้น "ตาล้า" หรืออาการเมื่อยล้าของดวงตา ที่เกิดจากการจ้องหน้าจอนานๆ ตามมาด้วยอาการปวดข้อมือ-มือ คอ และหลัง อันสืบเนื่องจากการขยับเมาส์และนั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งนอกจากภาวะทางด้านร่างกายแล้ว ในช่วงการแข่งขันหรือเล่นเกมติดกันนานๆ ยังส่งผลให้เกิด "ภาวะเครียด" อีกด้วย
...
หากมาดูจากผลการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ปี 2560 ไทยมีผู้เล่น "อี-สปอร์ต" ประมาณ 18.3 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากร และปี 2561 มีผู้ชม "อี-สปอร์ต" ประมาณ 2.6 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ในช่วงปี 2560-2564 ซึ่งการเล่นเกมของคนไทยในวันธรรมดาเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนในวันหยุดเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 15 นาที หลายคนล้วนมีผลกระทบทางด้านสุขภาพ อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมแทบทั้งสิ้น
| นั่งเล่นเกมนาน เจ็บปวดไปทั้งกาย
"นั่งนาน" เสี่ยง "โรคร้าย"
โรคร้ายที่ว่านั้นคืออะไร?
- หัวใจ : นั่งนาน เลือดไหลเวียนช้าลง กล้ามเนื้อเผาผลาญไขมันน้อยลง กรดไขมันอุดตันง่าย
- ตับอ่อน : นั่งนาน มีผลต่อการผลิตอินซูลิน เสี่ยง "โรคเบาหวาน"
- สมอง : นั่งนาน ได้รับเลือดและออกซิเจนน้อยลง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่กระตุ้นการทำงานสมอง
- กล้ามเนื้อ : นั่งนาน กล้ามเนื้อสะโพกตึงและขยับองศาได้จำกัด
- เส้นเลือดและกระดูกที่ขา : นั่งนาน เลือดไม่ไหลเวียน เกิดปัญหาที่ข้อเท้า เล้นเลือด ลิ่มเลือดอุดตัน
- ระบบย่อย : นั่งนาน การย่อยอาหารช้าลง ท้องอืด จุกเสียด
ไม่เพียงเท่านี้ จากผลการวิจัยยังเผยให้เห็นอีกว่า การ "นั่งนาน" มีความเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไปจนถึงโรคมะเร็ง ดังนั้น เหล่านักกีฬาอี-สปอร์ตทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม!!
"ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสายทุก 30-45 นาที"
ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกและข้อ ให้คำแนะนำว่า การนั่งนานๆ บวกกับความตึงเครียดจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังเกิดการเกร็งจะยิ่งทำให้ปวดหลังมากขึ้น จึงต้องมีวิธีการนั่งที่ถูกต้อง ดังนี้
1.นั่งหลังตรง เพื่อลดอาการตึงที่ช่วงหลัง
2.วางเท้าให้ราบไปกับพื้นทั้ง 2 ข้าง ถ้านั่งไขว่ห้างหรือวางขาไว้ข้างเดียวจะส่งผลในเรื่องความดันที่ส่งลงไปที่ขา ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
3.ปรับระดับหน้าจอให้อยู่ตรงพอดี ให้สายตามองตรงไปด้านหน้า ไม่เงย ไม่ก้ม จะช่วยลดอาการตึงหรือเมื่อยล้าบริเวณกล้ามเนื้อช่วงคอและไหล่ได้
4.แขนช่วงที่ใช้งานพิมพ์คีย์บอร์ดให้เก็บศอกใกล้ตัว เพื่อช่วยผ่อนคลายหัวไหล่และแขน ลดอาการตึงและเมื่อยล้า
...
นอกจากนี้ ควรพักสายตาอย่างน้อย 5 นาที หลังจากที่จ้องดูหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เพราะแสงจากหน้าจอจะทำให้ดวงตาเมื่อยล้า อาจจะใช้วิธีการหลับตาหรือมองไปรอบๆ เป็นระยะๆ
| "อี-สปอร์ต" ส่งผลดีต่อสมอง?
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยเผยแพร่ออกมาว่า การเล่น "อี-สปอร์ต" เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้ส่งผลลบซะทีเดียว แต่มี "ผลดีต่อสมอง" ด้วย อ้างการเล่น 5-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะช่วยกระตุ้นสมองในเรื่องการจดจำ การวางแผนกลยุทธ์ รวมถึงการแยกประสาทในการมองจุดต่างๆ บนหน้าจอเกม รวมถึงบอกว่า ทีมฟุตบอลดังๆ ก็ใช้ "อี-สปอร์ต" หรือ "เกม" เป็นตัวช่วยในการฝึกซ้อมเพื่อจำลองสถานการณ์ก่อนลงสนามจริง จนทำให้บางคนคิดว่า การเล่นเกมจะส่งผลดีต่อสมองจริงๆ เล่นจนติด และกลายเป็น "โรคติดเกม"
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ได้หยิบยกข้อมูลมาอธิบายให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า "เกม" มีผลต่อสมองของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะสมองส่วนที่เป็นคันเบรกยังสร้างไม่เต็มที่ และยังมีข้อกังวลด้วยว่า เด็กๆ จะติดเกมมากขึ้น ในทางการแพทย์มีการวินิจฉัยแล้วว่า สมองที่ได้รับผลกระทบจากเกมเป็นสมองส่วนเดียวกันกับที่ติดสารเสพติด ซึ่งตอนนี้มีการสังเกตการณ์อยู่ว่า พฤติกรรมการเล่นเกมเมื่อเทียบเท่ากับสารเสพติดจะมีขนาดหรือปริมาณเท่าไร เพื่อที่จะบอกว่า "เกมนี้เป็นเกมอันตรายสำหรับเด็ก" เช่น บางเกมอาจอันตรายถึงขั้นเป็นเฮโรอีน เล่นนิดเดียวก็ติดได้
...
"องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การติดเกมเป็นโรคๆ หนึ่ง"
"จากการสแกนสมองของเด็กติดเกมมีปัญหาในการพัฒนาสมองในเรื่องของการยับยั้งชั่งใจ เห็นได้ว่า เด็กติดเกมจะมีอาการลงแดงเหมือนยาเสพติด ถ้าไม่ได้เล่นเกมจะมีการเพิ่มระยะเวลาการเล่นเกม"
"เด็กที่เล่นเกมไม่ได้ติดเกมทุกคน"
พญ.มธุรดา ขยายความประโยคข้างต้นว่า การเล่นเกมสามารถเล่นได้ปกติถ้ามีวินัยการเล่น แต่ประเทศไทยก็มีอยู่ 10% ที่จะเป็น "โรคติดเกม" กลไกการติดเกมเหมือนกับการติดโรคทางสารเสพติด องค์การอนามัยโลกจึงจัดให้ "โรคติดเกม" อยู่ในประเภทเดียวกับการติดสารเสพติด ในตอนนี้เรียกได้ว่า ไทยอยู่อันดับต้นๆ ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในวงการ "อี-สปอร์ต" และผู้ผลิตเกม อย่าง สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ กลับมีอัตราการติดเกมไม่ถึงร้อยละ 5
...
"ถ้าให้เด็กๆ เล่นเกม คงต้องมีการควบคุมดูแล ไทยเป็นผู้บริโภคและตลาดเสรีเรื่องเกมเยอะมาก เกมออนไลน์มาจากทุกที่ บริษัทต่างๆ มีการผลิตและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่การรักษากฎระเบียบหรือวินัยการเล่นเกมยังขาด"
คำแนะนำทิ้งท้ายจาก พญ.มธุรดา ฝากไว้ว่า การเล่นเกมควรจำกัดเวลา เล่นพอขำๆ เพราะเมื่อเริ่มคลั่งไคล้ย่อมมีความเสี่ยง ถ้าเป็นเด็กติดเกมแล้ว จะมีโรคสมาธิสั้นตามมาอีก ผู้ปกครองต้องพูดคุยกำหนดเป้าหมาย ... ดังนั้น การรักษา คือ "การลด"
เห็นได้ว่า การเป็นนักกีฬา "อี-สปอร์ต" นั้นไม่ได้เป็นง่ายๆ อย่าคิดว่าแค่ "เล่นเกม" ก็เป็นได้ ต้องควบคุมตัวเอง ฝึกฝน รู้ลิมิต มิใช่เสพติดเกินขนาด จนร่างกายต้องเจ็บปวด และป่วยจิตเวชเป็น "โรคติดเกม".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ :
- "อี-สปอร์ต" กีฬาที่คนยังไม่ยอมรับ ผูกติดภาพจำ "เด็กติดเกม"
- 2SIDED ปัญหาและทางออก GAME ศิลปะ หรือ อาชญากรรม
- เปลี่ยนภาระเป็นพลัง เด็กสุพรรณฯ เจ๋ง สร้าง "วีลแชร์ AI" สั่งด้วยเสียง
- "ฮ่องกง" ต้องถอย ดื้อแพ่งสู้ต่อเศรษฐกิจยับ หนีไม่พ้นกรงเล็บ "พญามังกร"
- วาทกรรมขัดแย้ง "คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า" ลาม "ฮ่องกง" ... เหตุใดคนไทยถึงอินนัก?