ผ่านมาหลายสัปดาห์ แต่ฮ่องกงก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติการประท้วง แม้จะมีเสียงเตือนจากนักวิเคราะห์ออกมาเป็นระยะว่า "เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย" ก็ไม่ได้ทำให้การต่อสู้ลดน้อยถอยลง กลับยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี ยิ่งวันอาทิตย์ (18 ส.ค.) ที่ผ่านมา มีการรายงานตัวเลขสูงถึง "ล้านคน" ขณะที่ ตำรวจฮ่องกงประเมินว่า มีเพียงแค่ "แสนคน" เท่านั้น

แต่ไม่ว่าตัวเลขของการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้จะเป็นหลักล้านหรือหลักแสน สิ่งที่น่าสนใจ คือ "ความเห็นแย้ง" หรือ "ความเห็นต่าง" ของคนในฮ่องกงที่เกิดจากคน 2 ช่วงวัย ...

ชาวฮ่องกงที่อยู่ใน "กลุ่มผู้สูงวัย" ส่งเสียงถาม "กลุ่มหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่" ที่ออกมาร่วมชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยมองว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้เหมือนกับการทำร้ายบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

...

ความเห็นที่สวนทางและมุมมองที่ต่างกันของ "คนรุ่นเก่า" และ "คนรุ่นใหม่" ในฮ่องกง นับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และมีความคล้ายคลึงกับบ้านเรา ที่ "ความต่างของช่วงวัย" กลายมาเป็นข้อถกเถียงบนประเด็นทางการเมือง

วาทกรรม "คนรุ่นเก่า" กับ "คนรุ่นใหม่" ถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของตัวแทนระบอบการปกครอง ในฮ่องกงมีการจับวางวาทกรรมคนรุ่นเก่าให้เป็นระบอบการปกครองพิเศษภายใต้จีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนคนรุ่นใหม่ถูกจับวางให้เป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

กลุ่มผู้สูงอายุ หรือ "คนรุ่นเก่า" ของฮ่องกง ไม่ค่อยถูกเอ่ยถึงในการมีส่วนร่วมหรือแสดงออกในการประท้วงนัก แต่มักถูกนำเสนอว่า คนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่สนับสนุนตำรวจฮ่องกงให้ดำเนินการกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ

ในมุมมองของ "คนรุ่นเก่า" ที่มีต่อ "คนรุ่นใหม่" ที่ออกมาชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ กำลังสื่อออกมาเป็นเสียงที่บอกว่า "คนหนุ่มสาวกำลังเดินทางผิด" พร้อมตั้งคำถามว่า "อะไรทำให้คนรุ่นใหม่ต้องลุกออกมาชุมนุมประท้วง ในเมื่อทุกวันนี้อาหารก็ยังมีกิน งานการก็ยังมีอยู่?"

บ้างมองว่า การออกมาเรียกร้องเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ ณ เวลานี้ กำลังริดรอนสิทธิของพวกเขาในการดำรงชีวิตตามปกติ

ประโยคหนึ่งของชายฮ่องกง วัย 63 ปี ที่บอกกับสำนักข่าว CNA โดยเขาให้ความเห็นว่า เด็กหนุ่มสาวควรให้ความสนใจกับการเรียนมากกว่าจะมาอยู่บนถนน มันกำลังทำลายชีวิตตัวเอง

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ต่างกับมุมมองของ "คนรุ่นใหม่" ที่กลับมองว่า การออกมาชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ เป็นการทำไปเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกงทุกคน

...

"ร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกำลังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ "สิทธิเสรีภาพ" ของชาวฮ่องกงหายไป"

พวกเขาบอกว่า ร่างกฎหมายฯ จะเปิดช่องว่างให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาขยายสิทธิในการครอบงำด้านการเมืองและขยายอิทธิพลของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์

และแม้จะไม่ได้ถึงขั้นอดอยาก แม้จะยังมีงานทำอยู่ แต่พวกเขากลับรู้สึกว่า ชีวิตพวกเขามันย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งบ้านพักอาศัยหลับนอน ทุกวันนี้ราคาสูงลิ่วเกินกว่าที่แบกรับภาระไหว

คำอธิบายคร่าวๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ทำให้เข้าใจการแสดงออกในจุดยืน 2 ด้าน ของ "คนรุ่นเก่า" และ "คนรุ่นใหม่" ได้ว่า คนรุ่นเก่าเกิดและเติบโตมาในยุคที่ยากลำบาก ในวันนี้ฮ่องกงเจริญขึ้นและเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่า ชีวิตความเป็นอยู่นั้นดีขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่เกิดและเติบโตในยุคที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่นานวันเข้ากับใช้ชีวิตยากลำบาก ชีวิตความเป็นอยู่นั้นดิ่งลง

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

...

จากความขัดแย้งของ 2 ช่วงวัยในแง่ความคิด นำมาสู่คำว่า "ความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ที่คนมองว่า นี่คือ หนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้ "คนรุ่นใหม่" ต้องการปลดตัวเองออกจากกรงเล็บของ "พญามังกร"

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการธุรกิจสากลและอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า การประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ มีการแบ่งขั้วที่หลากหลาย ทั้งการแบ่งขั้วคนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฮ่องกงกับประชาชน และความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงการขัดแย้งในด้านแนวคิดที่มีหลากมิติ ไม่ว่าจะแง่ทางการเมืองระหว่างฝ่ายจีนกับฝ่ายประชาธิปไตย

"มีคนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่พอใจกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน แต่ก็มีคนรุ่นเก่าอีกส่วนหนึ่งที่อยู่เคียงข้างกลุ่มเยาวชน"

หากวิเคราะห์ชนวนเหตุการชุมนุมประท้วงคร่าวๆ มี 2 ปัจจัย

1.ปัจจัยสะสม ที่ตกตะกอนมานานทางประวัติศาสตร์ : คนไม่พอใจคนจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับมีช่องโหว่ในการบริหารของรัฐบาลฮ่องกง อาทิ นโยบายปัญหาทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข การเปิดให้คนจีนเข้ามาแย่งสิทธิของคนฮ่องกงมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดการปะทุและระเบิดออกมา

2.ปัจจัยฉับพลัน : หากดูพัฒนาการการเมือง ในทุกครั้งที่มีม็อบจะมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ถูกจุดขึ้น เริ่มจากกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ต่อเนื่องเป็นการต่อต้านรัฐบาลนางแคร์รี แลม นำไปสู่การพัฒนาเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย

...

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ในเมื่อจีนยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ยอมให้นโยบาย "1 ประเทศ 2 ระบบ" ต้องหยุดชะงักหรือพังล้มลงเด็ดขาด แล้วคนฮ่องกงจะไม่ยอมรับการปกครองแบบ "1 ประเทศ 2 ระบบ" อย่างนั้นหรือ?

โฆษกสำนักงานกิจการฮ่องกง มาเก๊า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบความคิดเห็นและจุดยืนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ทราบว่า รัฐบาลกลางยืนหยัดดำเนินนโยบาย "1 ประเทศ 2 ระบบ" นับตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนเป็นต้นมา จนถึงที่สุดก็ได้รับความสำเร็จ เป็น "1 ประเทศ 2 ระบบ" ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถการแข่งขันระดับสากลได้รับการยอมรับอย่างกว้างในสังคมนานาประเทศ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงได้รับสิทธิประชาธิปไตยที่ไม่เคยมีมาก่อนและเสรีภาพอย่างกว้างขวางที่พบได้น้อยในโลก ดัชนีการปกครองด้วยกฎหมายของฮ่องกงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นการจัดการระบอบที่ดีที่สุดของการรักษาความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอย่างถาวรของฮ่องกงให้คงอยู่ต่อไป

"ฮ่องกงและมาเก๊าห้ามดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยของประเทศอย่างเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ท้าทายอำนาจส่วนกลางและอำนาจของกฎหมายพื้นฐานของเขตบริหารพิเศษอย่างเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากฮ่องกงเพื่อดำเนินกิจกรรมที่แทรกแซงทำลายแผ่นดินใหญ่อย่างเด็ดขาด"

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

สำหรับมุมมองของ ผศ.ดร.ดุลยภาค เกี่ยวกับนโยบาย "1 ประเทศ 2 ระบบ" นั้น เห็นว่า หลักการนี้ช่วยให้ฮ่องกงมีอำนาจขึ้น ทั้งในการจัดการตนเอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือการเมือง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป คนฮ่องกงกลับมองว่า หลักการ "1 ประเทศ 2 ระบบ" กำลังถูกเบี่ยงเบนไป จีนมีการเข้ามาแทรกแซงฮ่องกงมากขึ้น อำนาจในการเลือกผู้ว่าการเกาะฮ่องกงส่วนหนึ่งก็เลือกมาจากจีน จึงทำให้เกิดการต่อต้าน ต้องการมีสิทธิในการเลือกตั้งแบบเต็มร้อย

"คนฮ่องกงมองว่า จีนเข้ามายังไม่ถึง 25 ปีเลย แต่มีปัญหามากขนาดนี้แล้ว หากไปถึง 50 ปี จีนไม่ครอบทับเต็มที่เลยเหรอ"

หลายคนไม่คิดต่อต้าน 1 ประเทศ 2 ระบบ แต่ต้องการให้เป็น 2 ระบบจริงๆ อิสระจริงๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีไม่ใช่น้อย แต่ก็มีกลุ่มที่หัวรุนแรง ต่อสู้แบบสุดโต่ง ต่อต้านอิทธิพลจีน ไม่อยากอยู่ร่วมกับจีน ซึ่งแม้จะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องระวัง!! ... ผศ.ดร.ดุลยภาค เน้นย้ำ

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ทำไม "มาเก๊า" ถึงไม่เกิดปัญหาเหมือน "ฮ่องกง" ในเมื่อก็อยู่ใน "1 ประเทศ 2 ระบบ" เหมือนกัน?

ผศ.ดร.ดุลยภาค อธิบายให้เข้าใจว่า ฮ่องกงถูกปกครองโดยอังกฤษ ซึ่งอังกฤษได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายๆ อย่าง ทั้งปรัชญา การแสวงหาความรู้ วัฒนธรรม ทำให้คนฮ่องกงมีระบบการคิดหลายๆ อย่างเป็นแบบอังกฤษ แต่มาเก๊ามีจุดเริ่มต้นด้วยการตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ซึ่งไม่ได้เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายในระดับฝังรากลึก บวกกับประชาชนในชุมชนโปรตุเกสมักจะเป็นลูกครึ่ง ไม่ได้เป็นจีนโท่งๆ ลักษณะเป็นชุมชนนานาชาติที่ลื่นไหล

"ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาในฮ่องกงดีมาก ระดับแถวหน้าของโลก แต่มาเก๊าไม่ใช่แบบนั้น ดังนั้น ระบบความคิดหลายๆ อย่างของเยาวชนหนุ่มสาวจึงไม่ถึงกับต้องต่อต้านเผด็จการ หรือออกมากระฉับกระเฉงมีส่วนร่วมทางการเมืองขนาดนั้น วัฒนธรรมต่างกัน"

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง
การชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประท้วงที่ฮ่องกงเป็นที่จับตามองของคนไทยอย่างมาก ในแวดวงวิชาการมีการหยิบยกมาถกกันอยู่หลายเวที อย่างที่เอ่ยในตอนต้นที่ว่าด้วยเรื่อง "คนรุ่นเก่า" และ "คนรุ่นใหม่" ที่มีส่วนคล้ายกับเมืองไทยที่มีการนำวาทกรรม "ความต่างช่วงวัย" มาเป็นประเด็นถกการเมือง หรือการที่สื่อต่างๆ มีการเทียบเคียงบริบทการชุมนุมเรียกร้อง "ประชาธิปไตย" มีการแบ่งขั้วทางความคิดเกิดขึ้นบนโลกโซเชียล ลุกลามไปถึงวงการไอดอลหรือนักแสดงจีน ที่ชาวเน็ตไทยต่างเปิดเวทีถกร้อนถึงความเหมาะสมในการออกมาแสดงจุดยืน วนกลับมาที่กลยุทธ์การใช้ "ไอดอล" ดึง "คนรุ่นใหม่" ให้สำนึกรักในชาติกำเนิด สุดท้าย ชาวเน็ตไทยแบ่งเป็น 2 ขั้ว "สนับสนุน" และ "ต่อต้าน"

เกิดคำถามขึ้นในใจ "เหตุใดคนไทยถึงอินม็อบฮ่องกงนัก?"

ผศ.ดร.ดุลยภาค เสนอมุมมองว่า โลกการเมืองของคนเรา หรือแม้กระทั่งคนไทย เป็นธรรมดาที่มีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการประท้วงหรือก่อม็อบในช่วงเวลานี้ ดังนั้น คนไทยจึงโฟกัสที่สถานการณ์ฮ่องกงว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร บางคนอาจจะบอกว่า มันเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ หรือเป็นการต่อสู้แมทช์สำคัญทางประวัติศาสตร์ห้ามกระพริบตา คนไทยต้องดู หรืออาจจะมีผลกระทบที่เชื่อมโยงกับเรา เป็นเรื่องธรรมดา

"ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวในฮ่องกงมีมิติมอง 2 เด้ง 1.การเคลื่อนไหวพลเมืองต่อต้านรัฐบาล 2.ฮ่องกงเป็นหน่วยดินแดนย่อย การประท้วงมีการต่อต้านจีนด้วย ฉะนั้น เงื่อนไขตรงนี้แตกต่างจากเมืองไทย และแตกต่างจากหลายประเทศที่มักจะนำไปเปรียบเทียบกัน ถ้ามีการเคลื่อนไหวในหน่วยดินแดนที่ไม่ได้เป็นรัฐเอกราชอย่างแท้จริง จึงมีอิทธิพลของการต่อต้านจีนเข้ามาด้วย สลับซับซ้อน แต่คนไทยบางทีนำมาเปรียบกับการเมืองในบ้านเรา จะเปรียบเทียบแค่เรื่องเผด็จการกับประชาธิปไตย เทียบแค่การเมืองภายในประเทศเขากับประเทศเรา เอาเข้าจริงๆ รัฐบาลฮ่องกงก็ไม่ได้เผด็จการ แต่เป็นไฮบริด คือ เผด็จการผสมประชาธิปไตย ซึ่งตรงนี้คนไทยจะต้องแยกแยะให้ออก

ในเมืองไทยก็มีเคสเปรียบเทียบ 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา เพื่อนบ้านเมียนมา 1988 หรือฟิลิปปินส์ 1986 อะไรอย่างนี้ก็เปรียบได้ ส่วนฮ่องกงเกิดขึ้นล่าสุดและอยู่ในโมเมนต์ที่อุณหภูมิการเมืองไทยที่มีความขัดแย้งร้อนแรงอยู่ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สู้ในสภาหรือนอกสภา ถึงแม้ไม่ได้ออกมาสู้ชัดเจน แต่สามารถวัดผ่านกระแสที่เกิดขึ้นในฮ่องกง จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมกลุ่มการเมืองรวมถึงประชาชนจับตาดู".

—————

ข่าวน่าสนใจ :