สถานการณ์การชุมนุมประท้วงที่ "ฮ่องกง" ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนลงต่อสู้บนท้องถนนนานหลายสัปดาห์ ไม่มีทีท่าจะล่าถอย บางส่วนบุกยึดสนามบิน ต้องประกาศระงับเที่ยวบินทั้งหมดต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ผู้โดยสารติดค้างอื้อ

นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แถลงเตือนผู้ประท้วงด้วยสีหน้าเคร่งเครียด "อย่าผลักบ้านเมืองลงสู่หุบเหว" พร้อมย้ำว่า ความรุนแรงทั้งหมดทั้งมวลนั้นกำลังผลักให้ฮ่องกงเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้ กลายเป็นสังคมที่มีแต่ความหวาดวิตกและอันตราย และฝากให้ผู้ประท้วงลองย้อนถามตัวเองดูว่า ต้องการให้บ้านเกิดเมืองนอนตกลงไปสู่หุบเหวจริงๆ หรือ ...

ซึ่งแม้ว่าการออกมาส่งสัญญาณเตือนครั้งนี้ของนางแลมจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวกว่าเดิม แต่กลับไม่ได้ทำให้ผู้ประท้วงรู้สึกหวาดหวั่นใดๆ ... หากจะมองหา "ทางออก" หรือ "ทางลง" ในตอนนี้ของฮ่องกง นักวิเคราะห์มองว่า ทางที่ดีที่สุดนั้นไม่มี มีแต่ "เลวร้ายน้อยที่สุด" เท่านั้น

...

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ชี้ "ทางออกฮ่องกง" ที่อย่างน้อยที่สุดก็มีผลกระทบน้อยที่สุด ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า ทางออกฮ่องกงที่น่าจะเป็นสภาวะทางออกที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือ "การถอยหลังกลับ" ซึ่งมี 3 กรณี คือ

  • นำร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกจากสภานิติบัญญัติ ที่ตอนนี้มีการแช่แข็งไว้อยู่
  • นางแคร์รี แลม ลาออก
  • ตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินว่า ตำรวจมีการใช้กำลังสมเหตุสมผลหรือไม่และมีการดำเนินการต่อผู้ประท้วงอย่างไรบ้าง

การ "ถอยหลังกลับ" เป็นทางออกที่มีผลกระทบเยอะ แต่โอกาสที่จะเกิดน้อย ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดว่า การดำเนินการด้วยทางออกนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปสู่จีน เขาจึงกลัวเหลือเกินว่า การถอยหลังกลับจะเป็นตัวอย่างนำร่องให้กับคนในผืนแผ่นดินใหญ่ หากดูตัวอย่างแล้วปฏิบัติตาม เมื่อไม่พอใจก็ออกมาประท้วงสร้างแรงกดดันเพื่อถอนร่างกฎหมาย จีนรู้ว่ามีความเสี่ยง ทางออก "ถอยหลังกลับ" จึงมีความเป็นไปได้ แต่อาจไม่มาก

"อีกทางออกหนึ่ง คือ ให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายเหมือนกับที่เคยทำเมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้ว ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา แล้วค่อยๆ จับแกนนำกลุ่มต่างๆ ไปเล่นงานกันในชั้นศาล แต่สถานการณ์ตอนนี้มันบานปลายแล้ว คนออกมาเยอะมาก ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า จีนพยายามกัดฟัน พยายามจะใช้ตรงนี้ แต่ทีนี้โอกาสที่จะเกิดแบบนี้ไม่ใช่ง่ายนัก"

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งทางออกที่ รศ.ดร.สมชาย มองว่า "จีนเองก็ต้องการจะใช้" คือ ในเมื่อมีคนที่ไม่เห็นด้วยก็อยากจะให้คนที่ไม่เห็นด้วยนั้นออกมาบอกว่า "การออกมาประท้วงแบบนี้มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมือง" ต้องการให้คนกลุ่มนี้ออกมาเยอะๆ หากมีการใช้ความรุนแรงก็อาจจะสร้างเรื่องได้ว่า "มีความชอบธรรม" แต่ดูตอนนี้ก็ไม่ใช่ง่ายนัก และทางที่จีนหลีกเลี่ยงมากที่สุด ซึ่งเป็นทางสุดท้าย คือ อาจจะต้องใช้กำลัง ฉะนั้น ตอนนี้มีการขู่ๆ หลายครั้ง แต่ยังไม่กล้าทำ

...

"จีนกำลังจะมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ดังนั้น สี จิ้นผิง จะแสดงความอ่อนแอไม่ได้ แต่หากมีการใช้ความรุนแรง ภาพลักษณ์ของฮ่องกงและจีนจะกระทบทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ"

หากถึงจุดที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากดั่งเหตุการณ์ "เทียนอันเหมิน" จะเกิดผลกระทบอย่างไร?

  • ภาพลักษณ์ของจีนในการใช้กำลัง ซึ่งกว่าจะรักษาได้ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี
  • ภาพลักษณ์ของเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญ ก็จะถูกกระทบในแง่ของศูนย์การเงิน ศูนย์การค้า และมีลูกชิ่งต่อไป ชิ่งไปยังสิ่งที่เชื่อมโยงกับทางการจีน

และที่สำคัญมากกว่านั้น คือ ภาพที่จีนบอกว่า อาจเป็น 1 ประเทศ 2 ระบบ จะทำให้ความน่าเชื่อถือหมดไป ฉะนั้น การใช้กำลังเป็นสิ่งที่จีนพยายามหลีกเลี่ยงที่สุด แต่ตอนนี้ทางเลือกของจีนชักน้อยลง

"จีนมีทางเลือกที่น้อยลงไปมากๆ ฉะนั้น ทางเลือกที่เลวร้ายน้อยที่สุด คือ การดำเนินมาตรการตามที่มีการประท้วง คือ การถอนร่างกฎหมายฯ การลาออก และการตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งอาจลดความสูญเสียลงไปได้บ้าง"

...

นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
นางแคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

จากการสนทนากับ รศ.ดร.สมชาย มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและเป็นชนวนเหตุการประท้วงในครั้งนี้ นั่นคือ "กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ... เหตุใดชาวฮ่องกงถึงออกมาต่อต้านมากขนาดนี้และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไร?

"คนมองว่า มันไม่ใช่แค่ผู้ร้ายข้ามแดน แต่ความเป็นอิสระในด้านการศาลที่มีการตกลงไว้ก็จะกระทบ ในด้านจีนเองกำลังขยายสิทธิในการครอบงำในด้านการเมือง ฉะนั้น ความรู้สึกของคนเหล่านี้ ทั้งเด็ก คนแก่ ทั้งหมดเลย จึงมองว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการที่จีนพยายามจะแผ่อิทธิพลในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เข้ามา จึงทำให้คนไม่พอใจขยายออกมาเป็นล้าน"

...

รศ.ดร.สมชาย อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ระยะหลังจะเห็นว่า จีนในยุคของ "สี จิ้นผิง" มีการออกกฎหมายความมั่นคงเข้าไปครอบคลุมผู้เห็นต่าง ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน กำลังแผ่การใช้กำลังครอบงำทางการเมือง ในการลดสิทธิเสรีภาพของคนลง แรงกดดันตรงนี้จึงทำให้เกิดการขยายตัวออกมาเป็นล้านคน

แน่นอนว่า การชุมนุมประท้วงหากยืดเยื้อย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ สำหรับ "ฮ่องกง" เองก็เช่นกัน โดยไตรมาสที่แล้ว เศรษฐกิจฮ่องกงติดลบ 0.3% ไหนจะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงถึง 35% อีกทั้งตลาดหุ้น ที่มีทุนจดทะเบียนทั้งหมด 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ แต่ ณ ขณะนี้ หุ้นตกไปกว่า 16% หรือประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ แล้ว

"จีนกำลังอยู่ในสภาพที่ทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ฉะนั้น อัตราการเติบโตของจีนในครึ่งปีที่ผ่านมา 6.3% ถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในรอบสิบกว่าปี แถมยังมีผลกระทบจากฮ่องกงเพิ่มอีก สถานการณ์ดังกล่าวนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องความผันผวนของตลาดหุ้น ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับประเทศต่างๆ ซึ่งหมายความว่า สถานการณ์ของจีนกับฮ่องกงตอนนี้ รวมสงครามการค้า จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจโลกครึ่งปีลดลง การขยายตัวลดลง อย่างที่ IMF ก็มีการปรับตัวเลขลง การค้าระหว่างประเทศ ขนาดที่ยังไม่รุนแรงมาก ยังลดจากการขยายตัว 3.5% เหลือ 2.5% และสิ่งที่สำคัญ ก็คือ การผันผวนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ขยายวงจากสงครามการค้ามาสู่สงครามทางด้านการเงิน การลดดอกเบี้ย และมาเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน นี่คือ ภาพรวมที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจทางตรง และไทยกระทบทางอ้อม ในเรื่องการท่องเที่ยว เพราะจีนมีอัตราการเติบโตต่ำ 6.2% ซึ่งอาเซียนและไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับ 1"

"การเรียกร้องอธิปไตย เลยเถิดไปจากข้อตกลงที่อังกฤษทำกับจีน"

หลายคนที่ติดตามประเด็นการประท้วงฮ่องกงคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า นอกจากเรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ยังมีเบื้องหลังของการเรียกร้อง "อธิปไตย" ต้องการแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และมองว่า การประท้วงในแต่ละครั้งของฮ่องกงมีกลุ่มประเทศมหาอำนาจคอยบงการอยู่เบื้องหลัง

นั่นจึงเกิดคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหมหากว่าการชุมนุมประท้วงฮ่องกงในครั้งนี้จะนำไปสู่การแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคต

รศ.ดร.สมชาย ตอบประเด็นนี้ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า การเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แน่ เพราะจีนมองว่า "ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่ง" จีนมีการทำข้อตกลงกับอังกฤษว่า ในระยะ 50 ปีแรก อังกฤษจะให้อธิปไตยกับจีน แต่ว่าจีนมีการผ่อนผันให้มีการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ในด้านศาล นิติบัญญัติ และการบริหาร เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีการเรียกร้องจึงเลยเถิดไปแล้ว จีนไม่มีทางปล่อยแน่นอน เพราะสิ่งที่จีนต้องการและเป็นความฝันของจีน คือ จีนเป็นหนึ่งเดียว รวมมาเก๊า ไต้หวัน และฮ่องกง จีนจึงปล่อยฮ่องกงไปไม่ได้ 100% หากจีนปล่อยฮ่องกงไป เอกภาพของจีนจะถูกกระทบ เกมนี้บอกเลยว่า จีนปล่อยฮ่องกงไปไม่ได้!!

ในกรณีนี้ มหาอำนาจก็ไม่กล้าแทรกแซง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอธิปไตยของจีน แต่สิ่งที่มหาอำนาจจะแทรกแซง คือ การโจมตีเรื่องสิทธิมนุษยชน

"เมื่อถึงจุดหนึ่งจีนอาจต้องใช้กำลัง แต่จีนก็บอกว่า จะใช้ความอดกลั้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้ไม่มีทางลงที่ดีที่สุด มีแต่เลวร้ายน้อยที่สุด"

ก่อนจะปิดบทสนทนาประเด็นการประท้วงที่ฮ่องกงครั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ให้มุมมองไว้ว่า หากผู้ประท้วงยังดื้อแพ่งต่อ ฮ่องกงจะค่อยๆ ย่อยยับลง แต่จีนอาจหวังให้ผู้ประท้วงดื้อแพ่งต่อไป จนเมื่อเศรษฐกิจย่อยยับ ก็ให้คนที่ไปประท้วงมีความตระหนักเอง.

ข่าวน่าสนใจ