ผ่านมาแค่เดือนเดียว แสงแห่งความหวังยังไม่ทันเล็ดลอด ฟ้าสลัวก็กลายเป็น "ฟ้ามืด" ในทันใด!! ... เห็นทีที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" พร่ำบอกว่า "สายสัมพันธ์กับ สี จิ้นผิง ยังดีอยู่" จะเป็นเพียงคำโม้พูดบดบังฉากหลังร้อนระอุที่เตรียมพุ่งคมหอกภาษีลงสนามรบทันทีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีท่าทีบิดพลิ้ว ...

ทำเอา "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงกับนั่งเก้าอี้ไม่ติด เมื่อ "ค่าเงินหยวน" อ่อนค่าลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ออกมาประกาศกร้าว "ตราหน้าจีน" ว่า "บิดเบือนค่าเงิน" (Currency Manipulator) สั่งชักธงรบสู้ศึก "สงครามการค้า" รอบ 4 เล็งใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบที่เข้มข้นกว่าเดิม ... สร้างความปั่นป่วนสะเทือนไปทั้งโลก

จากข้อกล่าวหาของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มองว่า ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเกิดจากพฤติกรรมจงใจของจีนที่หวังจะแก้แค้นกลับสหรัฐฯ ที่ประกาศเตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนเพิ่ม รอบที่ 4 มูลค่ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2562 และมีความเป็นไปได้สูงว่า อัตราภาษีอาจเพิ่มเป็น 25% หากในระหว่างนี้ "สหรัฐฯ-จีน" ยังตกลงกันไม่ได้

...

แล้วจีนมีพฤติกรรม "บิดเบือนค่าเงินหยวน" จริงอย่างที่ "ทรัมป์" กล่าวหาหรือไม่?

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า การปลุกปั่นค่าเงินจะต้องมี 2 เงื่อนไขเป็นอย่างน้อย คือ การเอาเงินสกุลท้องถิ่นของตัวเองไปไล่ซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าลง ฉะนั้นแล้ว ต้องมีการเช็กดูว่า จีนมีการทำอย่างนั้นหรือเปล่า ซึ่งจะปรากฏออกมาชัดเจนจากเงินทุนสำรองของประเทศจีน ว่า มีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนไหม เพราะผู้ที่จะไปไล่ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ได้ คือ แบงก์ชาติจีน

"พูดง่ายๆ การที่จะกล่าวหาใครปลุกปั่นค่าเงินหรือเปล่าจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างน้อย 2-3 เรื่อง คือ

  • ข้อแรก คุณได้ละเมิดข้อตกลงในหลักเกณฑ์ IMF ในมาตราที่ 4 หรือไม่
  • ข้อสอง คุณได้ละเมิดกฎหมายของอเมริกาเองที่เริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปี 2531 แล้วเอามาขยายความโดยประธานาธิบดี บารัค โอบามา เพื่อเอาใช้เป็นข้อเจรจาต่อรองใน PPP ในปี 2558 หรือไม่
  • ข้อสาม คุณได้ละเมิดข้อตกลง G20 หรือไม่ ซึ่ง G20 มีข้อตกลงชัดเจนเลยว่า เพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิกของ G20 มีการฝืนกลไกตลาดโดยการกำหนดค่าเงิน คือ ไม่ทำให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าเกินจริงเพื่อให้ได้เปรียบด้านการแข่งขันการค้าต่างประเทศ ซึ่งผู้ว่าแบงก์ชาติจีนกล่าวอย่างชัดเจนเลยว่า เขาได้ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างแข็งขันและเคร่งครัด

และ ข้อสำคัญ แม้แต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาจีน เวลากล่าวหาก็ยังไม่สามารถจะประกาศอย่างเต็มที่ได้ ต้องทำรายงานไปที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ เพื่อให้สภาคองเกรสพิจารณาว่า รายงานที่คุณทำมาสมเหตุสมผลไหม เพื่อให้สภาคองเกรสอนุมัติ สมมติสภาคองเกรสเห็นด้วยกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ตามรายงานที่ส่งมา สภาคองเกรสก็สามารถให้อำนาจกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เก็บภาษีประเทศคู่ค้าที่ปั่นค่าเงินได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม แต่ขณะเดียวกัน อเมริกาเก็บภาษีล่วงหน้าไปก่อนเลย 2.5 แสนล้านเหรียญ"

...

เงินหยวนอ่อนค่าในรอบ 11 ปี แล้วก่อนหน้านี้?

รศ.ดร.สมภพ คลายข้อสงสัยในประเด็น "เงินหยวนอ่อนค่า" ว่า ค่าเงินหยวนในอดีตก่อนที่จีนจะเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวน จีนเริ่มทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ปี 2548 หรือ 14 ปีที่แล้ว ตอนนั้นค่าเงินหยวนอยู่ที่ 8.35 หยวนต่อดอลลาร์ฯ และเป็นแบบนั้นมา 10 กว่าปี คือ จีนเริ่มทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนตั้งแต่ปี 2537 และตั้งแต่ปี 2537-2548 ค่าเงินหยวนอยู่ที่ 8.35 หยวน ต่อเนื่องมาแทบไม่ได้เปลี่ยนเลย ... ต่อมาหลังจากนั้น 3-4 ปี จีนจึงปล่อยค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้น แล้วก็แข็งค่าขึ้นตามลำดับจนถึงประมาณ 6 หยวนต่อดอลลาร์ฯ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จากปี 2558 กลายเป็น 6 หยวนต่อดอลลาร์ฯ

"เศรษฐกิจจีนเริ่ม GDP (จีดีพี) ที่ชะลอตัวลง มีการเกินดุลการค้าน้อยลง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็น้อยลง ปีที่แล้วแค่ 0.4% ถ้าคุณได้เปรียบดุลการค้า คือ ค้าขายมากกว่าซื้อ คุณสามารถได้ประโยชน์จากดุลบริการ เช่น การท่องเที่ยว แล้วจะมีเงินดอลลาร์ฯ ไหลเข้าประเทศมาก พอดอลลาร์ฯ ไหลเข้าประเทศมาก ก็ต้องซื้อเงินหยวน เพราะดอลลาร์ฯ ไหลเข้าประเทศ ต้องเอามาใช้ในจีน ต้องมีการแลกเปลี่ยนเป็นเงินหยวน ดังนั้น เงินหยวนก็จะแข็งค่าขึ้น แต่ตอนนี้จีนเริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว ก่อนหน้านี้เกินดุลฯ อย่างน้อย 3-4% ต่อจีดีพี"

... ว่ากันว่า มหาสงคราม "จีน VS สหรัฐฯ" ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ "สงครามการค้า" แต่กำลังก้าวเข้าสู่วังวนสนามรบใหม่ที่รุนแรงและน่ากลัวกว่าเดิม

...

มาถึงตรงนี้ คงน่าสนใจไม่น้อยว่า หากสหรัฐฯ ตอบโต้กลับจีนด้วยการ "บิดเบือนค่าเงินดอลลาร์ฯ" ให้ "อ่อนค่า" ลงบ้างจะเป็นอย่างไร?

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ย หมายความว่า ใครก็ตามที่ไปกู้เงินจากเฟดสามารถกู้ได้ง่ายและกู้ได้ถูกลง เพราะดอกเบี้ยต่ำลง ... "ทรัมป์บีบคั้นเฟดให้รีบลดดอกเบี้ยอย่างมากและรวดเร็ว เพื่อทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อน ฉะนั้น ทรัมป์คงจะบีบคั้นให้เฟดลดดอกเบี้ยต่อไป ดอลลาร์ฯ ยิ่งอ่อน ประเทศอื่นยิ่งลดดอกเบี้ยตาม อย่างตอนนี้ลดลงมา 3-4 ประเทศแล้ว รวมถึงไทยด้วย" รศ.ดร.สมภพ ตั้งข้อสังเกต

สอดคล้องกับความเห็นของ นางสุจิต ชัยวิชญชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่มองว่า "เมื่อไรก็ตามที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย แปลว่า ดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าและค่าเงินบาทจะแข็งค่า"

...

ในแง่นโยบายการเงิน เฟดส่งสัญญาณมาว่า เปิดโอกาสลดดอกเบี้ย คาดปีนี้มีการปรับลด 2 ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก ซึ่งประธานเฟดออกมาบอกว่า ถึงแม้จะยุติสงครามการค้าชั่วคราวจริง แต่ผลของสงครามการค้ายังสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ...

"ลดดอกเบี้ยแข่งกัน เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินคุณอ่อนได้ ทำไมค่าเงินอ่อนได้ เพราะต้นทุนของสกุลเงินมันถูกลง"

หลายคนมองว่า "สงครามการค้า" ครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะขยายสู่ "สงครามค่าเงิน" ในอนาคต เช่นเดียวกับ รศ.ดร.สมภพ ที่เห็นไปในทิศทางนั้นเช่นกัน แต่มองว่า รุนแรงกว่านั้นมาก ... "ต่อไปไม่ใช่สงครามค่าเงินอย่างเดียว เป็นสงครามการเงินไปแล้ว ไม่ใช่แค่ Currency War แต่เป็น FINANCIAL WAR!! แล้ว คือ ใช้ทั้งการลดดอกเบี้ยแข่งกัน ใช้ทั้งการทำให้ค่าเงินอ่อนแข่งกัน อันนี้จะสร้างความปั่นป่วนได้ง่าย ทั้งตลาดเงิน การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น ต้องระวัง!!"

แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งในสงครามครั้งนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ลูกหลงจากสงครามทำให้ไทยเริ่มมีเลือดไหลออกมาซิบๆ แล้ว และกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อสงครามการค้าที่ต้องกัดฟันสู้แบบเลือดตาแทบกระเด็น ... ต่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องมากมาย แต่ก็ยาก ยากเพราะอะไร เพราะสงครามการค้าที่ทำให้ทุกอย่างชะงักงันหมด ห่วงโซ่และทิศทางโลกเปลี่ยนทิศทาง

"ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องกลไกตลาด ด้านหนึ่งส่งผลกระทบส่งออก ด้านหนึ่งในแง่ของประเทศสะท้อนความแข็งแกร่งของประเทศ สะท้อนว่า เรามีดุลการค้าเกินดุล ... จุดที่แบงก์ชาติและหลายๆ คนกังวลน่าจะเป็นเรื่องการเข้ามาลงทุนแบบวูบๆ วาบๆ แต่ตัวที่เป็นหลัก ณ ตอนนี้ เป็นจุดที่ทำให้ค่าเงินแข็ง คือ เรื่องดุลการค้า ดุลบริการ เป็นจุดที่ใครๆ มองไทยเป็น Safe Heaven ของเอเชีย" นางสุจิต แสดงทรรศนะ

สอดคล้องกับ รศ.ดร.สมภพ ที่มองทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนหลังและปี 2563 ว่า ไทยมีปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในเวลาเดียวกัน สำหรับเงินบาท เมื่อเรามองว่าเป็นปัญหา เราต้องมองว่าเป็นโอกาสด้วย เช่น การลงทุน เพราะเงินถูกลง ดังนั้น โครงการอีอีซีต้องรีบเข็นออกมา ลงทุนยิ่งถูกลง เรายิ่งประหยัดเงิน ยิ่งเงินบาทแข็ง ยิ่งนำเข้าถูก พยายามหาประโยชน์จากส่วนนี้ให้มากและเร็วขึ้น ฉะนั้น หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ อีอีซี สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ออกมาอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าขาดสิ่งพวกนี้ ต่างชาติไม่สนใจ

"ขณะนี้ ราคาทองพุ่งขึ้นเรื่อยๆ และมี 2 แหล่งที่ไปได้ คือ พันธบัตรของประเทศที่ได้รับความเชื่อถือสูง อย่างตอนนี้พันธบัตรของสหรัฐฯ เป็นพันธบัตรของมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก แพงขึ้นอย่างมาก ดอกเบี้ยลดฮวบเลย ไทยเราก็เจอหางเลขไปด้วย เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทย แค่ 1.5% เอง นั่นก็จะทำให้เห็นว่า แหล่งพักพิงที่ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า Safe Heaven คือ พันธบัตรของประเทศที่มีความมั่นคง เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงบางประเทศในอาเซียน เช่น ไทย และอีกแหล่งพักพิง คือ ทอง" รศ.ดร.สมภพ ทิ้งท้าย.

ข่าวน่าสนใจ :