ถึงคราวเข้าคลาสวิชาคำนวณ "ค่าโง่ทางด่วน" หาผลลัพธ์จากสูตรคำนวณทางออก ... สูตรไหนเสียแล้วคุ้มสุด มาไล่เรียงไปพร้อมๆ กัน


จาก 17 ข้อพิพาท ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ณ ขณะนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเสร็จแล้วเพียง 1 คดี คือ ข้อพิพาทการแข่งขัน ที่เกิดจากการสร้างทางด่วนโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541 ซึ่งดันไปผิดสัญญาที่บอกว่าจะไม่มีการแข่งขันกับเอกชน เป็นผลให้รายได้เอกชนลดลง จึงต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่ลดลงให้ BEM รวมวงเงิน 1,790 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย แบ่งเป็น ปี 2542 จำนวน 731 ล้านบาท และปี 2543 จำนวน 1,059 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยกำหนดให้ชำระภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีสิ้นสุด ส่วนอีก 16 ข้อพิพาท อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองสูงสุด


ทีนี้เมื่อเงินชดเชยก้อนแรก 1,790 ล้านบาท คือ ภาระหนี้ที่ กทพ. ต้องจ่ายให้ BEM ก็ทำให้ฉุกคิดว่า อีก 16 ข้อพิพาทที่เหลือ มูลค่าจะมากขนาดไหน? และจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย? ... เกิดคำถามต่อมาว่า กทพ. จะสู้ต่อหรือยอมถอย?

...


สูตรทางออก แบ่งเป็น 2 สูตร คือ

1. สู้ต่อ แล้วค่อยมาลุ้นผลลัพธ์อีกทีตอนศาลปกครองสูงสุดตัดสินทุกคดีเสร็จสิ้น

2. ยอมถอย เพราะมองเห็นแววแพ้มารำไร รูปแบบคดีที่เหลือ 16 ข้อพิพาท ก็เป็นไปในรูปแบบเดียวกับคดีที่ตัดสินเสร็จสิ้นแล้วแทบทั้งหมด


ทีนี้เมื่อสูตรทางออกมี 2 ทางเลือก เราจะมาย่อยกันดูว่า แต่ละทางเลือก กทพ. ต้องเสียอะไรบ้าง?


1. สูตรทางออกสู้ต่อ | คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดมีโอกาสเป็นไปได้หลักๆ 2 ผลลัพธ์ คือ "ชนะ" กับ "แพ้"

   1.1 หาก "ชนะ" เท่ากับว่า กทพ. จะต้องจ่ายชดเชยข้อพิพาทให้กับ BEM แค่คดีเดียว จำนวน 1,790 ล้านบาท หรือหากไม่อยากจ่ายด้วยเงิน ก็ขอจ่ายด้วยเวลาแทน

   1.2 หาก "แพ้" เท่ากับว่า กทพ. ต้องจ่ายชดเชยข้อพิพาททั้งหมด รวม 17 ข้อพิพาท จำนวน 137,517 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 31 ธ.ค. 61) หรือจะจ่ายด้วยเวลาแทนเหมือนอย่างผลลัพธ์แรกก็ได้ แต่แน่นอนว่า ระยะเวลาที่ต้องจ่ายย่อมมากกว่าหลายเท่า


2. สูตรทางออกยอมถอย | สูตรทางออกยอมถอยมี 2 ผลลัพธ์หลักๆ ที่เป็นไปได้ คือ

   2.1 จ่ายด้วยเงินบวกจ่ายด้วยเวลา คือ จ่ายเงินชดเชยในส่วนข้อพิพาทแรกที่แพ้คดีแล้ว จำนวน 1,790 ล้านบาท แล้วในส่วนคดีข้อพิพาทที่เหลืออีก 16 ข้อพิพาท จ่ายด้วยเวลา

   2.2 จ่ายด้วยเวลาทั้งหมดแบบเหมารวมข้อพิพาทแรกที่แพ้คดี คือ นำมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 17 ข้อพิพาท จำนวน 137,517 ล้านบาท มาคำนวณเป็นระยะเวลาสัมปทาน


ในส่วนของการจ่ายด้วยเวลา คำว่า "เวลา" ในที่นี้ คือ ระยะเวลาสัมปทานที่จะขยายให้ BEM เพิ่มเติมจากระยะเวลาสัมปทานเดิม คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) รวมถึงส่วน D ที่จะสิ้นสุดสัมปทานปี 2563 และอีกเส้นทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ที่จะสิ้นสุดสัมปทานปี 2569

...


คราวนี้มาถึงการเข้าสูตรคำนวณทางออก "ค่าโง่ทางด่วน" แล้วมาพิเคราะห์กันว่า ผลลัพธ์แบบไหนจะคุ้มที่สุด!!


สูตรทางออกที่ 1 สู้ต่อแล้วชนะ

อันดับแรกทดไว้ในใจก่อนว่า ข้อพิพาทการแข่งขันแพ้แล้ว 1 คดี และต้องจ่ายชดเชยให้ BEM จำนวน 1,790 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง ณ เวลานี้ ยอดที่ต้องจ่ายชดเชยขยับมาเป็น 4,318 ล้านบาทแล้ว และจากจำนวนเงิน 4,318 ล้านบาท หากไม่อยากจ่ายด้วยเงิน แต่ขอจ่ายด้วยเวลาแทน ก็จะต้องขยายระยะเวลาสัมปทานให้กับ BEM ประมาณ 4-5 ปี

สรุปผลลัพธ์ คือ กทพ. ต้องจ่ายเงิน 4,318 ล้านบาท หรือจ่ายด้วยเวลา 4-5 ปี


สูตรทางออกที่ 2 สู้ต่อแล้วแพ้

เมื่อสู้ต่อแล้วแพ้ แน่นอนว่า ต้องจ่ายชดเชยให้กับ BEM รวม 17 ข้อพิพาท จำนวน 137,517 ล้านบาท แต่กว่าจะมาถึงวันตัดสินสิ้นสุดจนครบ 17 ข้อพิพาททั้งหมด ก็ปาเข้าไปปี 2578 แล้ว ซึ่งแน่นอนว่า จำนวนเงินต้องเปลี่ยนแปลงตามดอกเบี้ย ที่อยู่ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 โดยจากการคาดการณ์มูลค่าข้อพิพาทในอนาคตจนศาลปกครองสูงสุดตัดสินทุกคดี ในปี 2578 ของ กทพ. เท่ากับ 326,127 ล้านบาท แต่ด้วยจำนวนเงินที่มากมหาศาลจึงมีการเสนอจากบอร์ด กทพ. ว่า ให้จ่ายด้วยเวลาแทน ซึ่งเวลาที่จะจ่ายนั้นตอนแรกมีการเสนอสูงถึง 37 ปี แต่สุดท้าย มีการปรับลดให้เหลือประมาณ 30 ปีแทน

สรุปผลลัพธ์ คือ กทพ. ต้องจ่ายเงิน 326,127 ล้านบาท หรือจ่ายด้วยเวลา 30 ปี


สูตรทางออกที่ 3 ยอมถอยแล้วจ่ายด้วยเงินบวกด้วยเวลา

ในเมื่อมองเห็นแววแพ้มารำไร ก็ตัดสินใจยอมถอย แล้วควักเงินจ่ายชดเชยให้ BEM ในส่วนข้อพิพาทแรกที่แพ้คดีไปแล้ว จำนวน 1,790 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ที่ ณ เวลานี้ ขยับมาเป็น 4,318 ล้านบาทเรียบร้อย และในส่วนข้อพิพาทอีก 16 ข้อพิพาท ก็จ่ายด้วยเวลา คำนวณแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 15-25 ปี

...

สรุปผลลัพธ์ คือ กทพ. ต้องจ่ายเงิน 4,318 ล้านบาท และจ่ายด้วยเวลา 15-25 ปี


สูตรทางออกที่ 4 ยอมถอยแล้วจ่ายด้วยเวลา

ตัดปัญหาภาระหนี้ก้อนโตที่จะพอกพูนจากดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ในสภาวะที่โอกาสแพ้คดีมีสูง ด้วยการยอมถอยแล้วจ่ายด้วยเวลา คือ ขยายสัมปทานให้ BEM ไปเลยเต็มๆ 30 ปี

สรุปผลลัพธ์ คือ กทพ. ต้องจ่ายด้วยเวลา 30 ปี


แต่ทีนี้ สูตรทางออกที่ 2 กับสูตรทางออกที่ 4 มันมีส่วนผลลัพธ์ที่เหมือนกันอยู่ 1 จุด คือ ใช้เวลาจ่ายทดแทนจำนวนเงิน คือ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี จึงทำให้เกิดผลลัพธ์ย่อยงอกออกมา ซึ่งเป็นผลจากหลาย "ตัวแปร" นั่นคือ การเจรจาต่อรองกับ BEM ให้ปรับลดภาระหนี้จาก 137,517 ล้านบาท ลงเหลือ 59,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อจำนวนเงินลดลงครึ่งหนึ่ง การจ่ายด้วยเวลาก็จะไม่ใช่ 30 ปี แต่จะเป็น 15 ปีแทน


แน่นอนว่า การปรับลดภาระหนี้ให้ กทพ. ลงครึ่งหนึ่ง ย่อมต้องมีข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งทาง BEM เสนอก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) ช่วงด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 31,500 ล้านบาท (BEM ลงทุนเองทั้งหมด) โดยขอระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี

...


สรุปผลลัพธ์ย่อย คือ กทพ. ต้องจ่ายเวลา 30 ปี แต่มาจาก 2 ส่วน แบ่งเป็น ชดเชยข้อพิพาท 15 ปี และสัมปทานทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) 15 ปี


มาถึงตรงนี้ หากตัดการจ่ายด้วยเวลาออกไป ตัวเงินที่ กทพ. ต้องจ่ายชดเชยให้ BEM ก้อนกลมๆ ใหญ่ๆ กรณีที่การเจรจาต่อรองไม่เป็นผล จะอยู่ที่ 326,127 ล้านบาท ถามสั้นๆ เลยว่า กทพ. จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย? ในเมื่อจำนวนเงินมหาศาลขนาดนี้ นับเป็นค่าโง่ทางด่วนที่แพงแสนแพง แพงจนอดคิดเทียบไม่ได้ว่า หากต้องเอาเงินจากภาษีประชาชนมาจ่ายจะต้องสูญเสียงบประมาณส่วนไหนไปบ้าง ...


เมื่ออดเทียบไม่ได้ก็ต้องลองเทียบดูเสียหน่อย ว่า มูลค่าค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท จะใช้เป็นงบประมาณส่วนไหนได้บ้าง? (เทียบปีงบประมาณ 2562)


1. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การชำระหนี้เงินกู้" (งบประมาณ 259,610 ล้านบาท)

2. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "สวัสดิการผู้สูงอายุ" (งบประมาณ 296,227 ล้านบาท)

3. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การวิจัยและการพัฒนาด้านการศึกษา" (งบประมาณ 3,421 ล้านบาท)

4. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การกีฬาและนันทนาการ" (งบประมาณ 4,806 ล้านบาท)

5. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การสาธารณสุข" (งบประมาณ 311,319 ล้านบาท)

6. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การเคหะและชุมชน" (งบประมาณ 53,878 ล้านบาท)

7. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การขนส่ง" (งบประมาณ 192,839 ล้านบาท)

8. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การรักษาความสงบภายใน" (งบประมาณ 191,221 ล้านบาท)

9. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "การป้องกันประเทศ" (งบประมาณ 223,765 ล้านบาท)

10. ค่าโง่ทางด่วน 326,127 ล้านบาท สามารถใช้เป็นงบประมาณ "งานวิจัยประยุกต์และการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์" (งบประมาณ 1,091 ล้านบาท)


จากการเทียบเคียงงบประมาณข้างต้น แสดงให้เห็นว่า มูลค่าหนี้ก้อนโต 326,127 ล้านบาท ถ้านำมาจัดสรรเป็นเงินงบประมาณสามารถพัฒนาประเทศได้ในหลายๆ ส่วน หากต้องมาเสียเป็น "ค่าโง่" คงน่าเสียดายนัก


| หากปล่อยคดีกินเวลานาน ยิ่งเสียดอกเบี้ยเพิ่ม


"จะใช้เวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันอย่างแน่นอน" ... คำยืนยันจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) ที่กล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 โดยหากนับจนครบกำหนด 45 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 13 กันยายน 2562 ดังนั้น เมื่อครบกำหนด 45 วัน ค่าโง่ทางด่วน (รวมดอกเบี้ย) จากเดิม 137,517 ล้านบาท (ณ 31 ธ.ค. 61) จะขยับเป็น 145,197 ล้านบาท


และหากนับจนถึงวันนี้ (7 ส.ค. 62) ตีตัวเลขแล้วก็ประมาณ 144,087 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมถึง 6,570 ล้านบาท


... ดังนั้น ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกใช้สูตรทางออกไหน อย่าลืมว่า เวลาและดอกเบี้ยไม่เคยคอยใคร ที่สำคัญพึงเตือนใจไว้ด้วยว่า เมื่อทำสัญญาร่วมกับเอกชน รับปากเรื่องไหนไว้ต้องทำตามที่บอก อย่าให้เกิดคดีค่าโง่ซ้ำรอยอีก.


—————


ข่าวน่าสนใจ