ปัจจุบันประเทศไทยของเรา มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ แต่ในจำนวนนี้ มีเพียง 35 ล้านไร่เท่านั้น ที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน หรือ หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับการมีน้ำเพียงพอ เอาไว้สำหรับการเพาะปลูก ส่วนจำนวนที่เหลือที่มีมากมายถึง 114 ล้านไร่ นั้น เป็นพื้นที่ ที่ต้องอาศัยฝนจากฟ้า เป็นหลักสำหรับการเพาะปลูก
35 ล้านไร่ และ 114 ล้านไร่ ตัวเลขช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน
แต่ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยของเรา ไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องน้ำเท่าใดนัก ด้วยเหตุเพราะ เราอยู่พื้นแผ่นดินที่มีน้ำท่าบริบูรณ์ สมดั่งคำที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
หากแต่ เมื่อตัดภาพมาในยุคปัจจุบัน ปรากฏการณ์โลกร้อน อันเกิดจากการทำลายล้างธรรมชาติเกินพอดี ของ มนุษย์บางจำพวก ทำให้ ดินแดนสุวรรณภูมิของเรา ต้องพบเจอกับปัญหาภัยแล้ง จากฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือ มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ อยู่เป็นเนืองนิจ จนเกิดความทุกข์ยากขึ้นแก่พี่น้องเกษตรกรชาวไทย
โครงการพระราชดำริฝนหลวง จึงบังเกิดขึ้น
เมืื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พ.ย. 2498
“…แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือเคยอ่านหนังสือทำได้...”
...
พระราชดำรัสนี้ เกิดขึ้น ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ขณะเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
นั่นแหละ คือจุดเริ่มต้น ที่ ประเทศไทยของเรา มีโครงการพระราชดำริฝนหลวง และหากแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ อยากรู้ว่า วิธีการทำฝนหลวง มีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร สามารถติดตามรับชมได้จาก คลิปใต้บรรทัดนี้
และหากใครยังไม่ทราบ เรากำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้งที่อาจใกล้เคียงกับ ภัยแล้งที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อปี 2558
ปีนี้ ประเทศเราแล้งแค่ไหนแล้ว กรมฝนหลวงของเรา ต่อสู้กับภัยแล้งเพื่อ พี่น้องเกษตรกร กันไปอย่างไรแล้ว เราไปฟังคำตอบกัน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ปีนี้ ต้องยอมรับว่า กรมฝนหลวงต้องทำงานหนักกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ ถือเป็นปีแรกที่ต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการโปรยฝนหลวงมากถึง 11 ฐานบินในทุกภาค แม่เว้นแม้แต่ภาคใต้ ที่แต่ไหนแต่ไรมา ขึ้นชื่อว่า มีฝนตกชุกทุกปี และยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนเสียด้วยซ้ำไป!
“ปีนี้ มีการร้องขอฝนหลวงมากเป็นพิเศษ โดยตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา มีการร้องขอมากถึง 2,446 ราย จาก 645 อำเภอ ใน 67 จังหวัด โดยมีอำเภอประสบภัยแล้ง 73% จาก 876 อำเภอทั่วประเทศ นอกจากนี้ เรายังพบอีกด้วยว่า ภัยแล้งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ มีความยากต่อการทำฝนหลวงมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้อัตราความสำเร็จในการทำฝนหลวง จากแต่เดิมอยู่ที่ 95% ลดลงมาเหลือ 90% ในปีนี้” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวกับทีมข่าวฯ ด้วยสีหน้าหนักใจ
เรากำลังเผชิญภัยแล้งที่อาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นสุด วสันตฤดู!
หากแต่ คนไทยเรา ทราบหรือไม่? กำลังคนและเครื่องมือ สำหรับการผลิตฝนหลวง เพื่อพื้นที่การเกษตร ที่มีมากมายถึง 114 ไร่ เพื่อสู้กับภัยแล้งที่หนักหนาเช่นนี้ นั้น เรามีเพียง เครื่องบิน 28 ลำ นักบิน 71 นาย โดยแบ่งเป็น กัปตัน 45 นาย นักบินผู้ช่วย 13 นาย และ เฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ กับ กัปตัน 13 นาย เท่านั้น!
“หลายปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวง จัดชุดกำลังออกบินสร้างฝนหลวงช่วยภัยแล้งพี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอด แต่เนื่องด้วยอัตรากำลังพลเพียงเท่านั้น ซึ่งยังคงไม่เพียงพอ ทำให้ นักบินฝนหลวงต้องทำงานหนักชนิดที่เรียกว่า ใน 1 ปี ต้องทำงานติดต่อกันถึง 8 เดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-สิ้นเดือน ต.ค. ของทุกปี โดยไม่มีวันหยุดราชการ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์มาโดยตลอด” ผู้แบกรับความหวังของพี่น้องเกษตรกร กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง
...
นักบิน นักวิทยาศาสตร์ ทีมงานฝนหลวง ทำงานหนักแค่ไหน?
ในหนึ่งกระบวนการบิน เพื่อทำฝนหลวง นั้น หากต้องปฏิบัติให้ครบตามกระบวนการเพื่อให้เกิดฝนหลวง จะต้องทำ 3 ขั้นตอน หรือ พูดง่ายๆ คือ จะต้องขึ้นบินทั้งหมด 3 รอบ รอบละประมาณ 1-2 ชั่วโมง (สามารถรับชมรายละเอียดทั้งหมดได้จากคลิป ด้านบน) ซึ่งต่อ 1 ลำ จะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ 6 คน ประกอบด้วย กัปตัน 1 นาย นักบินผู้ช่วย 1 นาย เจ้าหน้าที่สื่อสาร 1 คน ช่างเครื่อง 1 คน นักวิทยาศาสตร์ 1 คน เจ้าหน้าที่โปรยสาร 1 คน
โดยในแต่ละรอบการบิน นั้น หากใช้เครื่องบินขนาดเล็ก เช่น Cessna Caravan จะใช้ 3 ลำ หากเป็นเครื่องบินขนาดกลาง คือ Casa จะใช้ 2 ลำ แต่หากใช้เครื่อง Super King Air ก็จะใช้ 1 ลำ ต่อ 1 รอบการบิน
และกระบวนการทั้งหมดนี้ เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้ง นักวิทยาศาสตร์ จะต้องเริ่มทำงานกัน ตั้งแต่ 07.00-19.00 น. ของทุกวัน
“การขึ้นบินทำฝนหลวงแต่ละครั้งให้ได้ผลคุ้มค่างบประมาณเราจะต้องดูว่า อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเกินกว่า 60% ค่าการยกตัวของเมฆอยู่ในแนวดิ่ง ความเร็วลมชั้นบนในระดับความสูง 5,000-10,000 ฟิต ต้องไม่เกิน 36 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง และสภาพอากาศชั้นบนต้องเปิด เมฆชั้นบน ชั้นกลางไม่มากนัก เพื่อแสงแดดจะได้ทำให้เมฆฝนที่เราก่อขึ้นจะได้ขยายตัวฟองฟู ตกเป็นฝน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของการเกิดฝน และเบื้องต้น ในกรณีที่สามารถทำฝนหลวงได้สำเร็จ ปกติปริมาณฝนที่ตกลงมา จะครอบคลุมพื้นที่ 50,000-500,000 แสนไร่ โดยประมาณ”
...
ในขณะที่ พื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ น้อยที่สุดเลยก็คือ 114 ล้านไร่ หรือ พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยฝนเพียงอย่างเดียวในการทำการเกษตร
หากแฟนๆ ไทยรัฐนึกไม่ออกว่า ภารกิจเพื่อพี่น้องเกษตรกรนี้ หนักหน่วงเพียงใด ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอคิดตัวเลขคร่าวๆ ให้ทุกท่านได้ลองพิจารณากัน
...
ภัยแล้งเริ่มหนัก งานหนัก 8 เดือนไม่มีวันหยุด แถมต้องสูญเสียนักบินให้สายการบินพาณิิชย์ทุกปี
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศของเรา เผชิญปัญหาภัยแล้งคุกคามมากขึ้น คำร้องขอฝนหลวง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนอาจจะยังไม่รู้คือ เรามี นักบิน 71 นาย โดยแบ่งเป็น กัปตัน 45 นาย นักบินผู้ช่วย 13 นาย และ เฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ กับ กัปตัน 13 นาย และนักวิทยาศาสตร์ 30 คน เท่านั้น ทำให้ในบางปี ต้องร้องขอกองทัพอากาศ ส่งเครื่องบินและนักบินมาร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
“ตอนนี้ ที่เรายังขาดคือ ตำแหน่งกัปตัน และนักบินผู้ช่วย ซึ่งปัจจุบันเรามีรวม 71 นาย เราต้องการอีก 6 นาย เพื่อให้มีจำนวน 77 นาย จะได้สามารถแบ่งวันหยุดได้ แต่แน่นอนปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ เงินเดือนของนักบินฝนหลวงนั้น ถึงแม้ว่าจะสูงในระดับหนึ่ง คือ หากเป็น ตำแหน่งกัปตัน เงินเดือนรวมเบี้ยเลี้ยง จะอยู่ที่ประมาณ 100,000 กว่าบาท ส่วนนักบินผู้ช่วยจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 กว่าบาท แต่เงินจำนวนนี้ หากไปเทียบกับ กัปตัน หรือ นักบินผู้ช่วย สายการบินพาณิชย์ จะมีช่องว่างที่ต่างกันมาก เพราะนักบินสายการบินพาณชย์ หากเป็นกัปตัน เริ่มต้นขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 บาท ส่วนนักบินผู้ช่วย เริ่มต้นขั้นต่ำ จะอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท
และแน่นอน นักบินของเราทุกคน ในทุกๆ ปี ต้องทำงาน 8 เดือนเต็มๆ ไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์!
ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะหาได้ยากแล้ว ในแต่ละปี เราก็มักจะสูญเสีย นักบินโครงการฝนหลวง ไปให้กับสายการบินพาณิชย์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 คน ต่อปี!
ยืนหยัดอยู่ด้วยใจ ขอทำงานเพื่อแผ่นดิน สืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9
“ที่อยู่ด้วยกันตอนนี้ บอกได้เลยว่า อยู่กันด้วยใจ ที่อยากทำงานเพื่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งสิ้น โดยเฉพาะตำแหน่งกัปตัน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานมานานนั้น มีอายุ เกิน 50 แล้วหลายท่าน ด้วยเหตุนี้ เราจึงทำเรื่อง เพื่อขอขยายเกษียณอายุราชการ จาก 60 ปี ไปเป็น 65 ปี ด้วยเกรงว่า จะมีปัญหาเรื่องอัตรากำลังในอนาคต" อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
นักวิทยาศาสตร์ ก็ยังขาดแคลน แถมทำงานหนักไม่แพ้นักบินฝนหลวง
ซึ่งนอกจากจะประสบปัญหา ขาดแคลนนักบินแล้ว ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ ก็ขาดแคลนเช่นกัน เพราะปัจจุบัน เรามีนักวิทยาศาสตร์ เพียง 30 คน จากจำนวนที่ต้องการคือ 77 คน สำหรับการขยายศูนย์ปฏิบัติการให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งหากถามว่า เหตุใดเราจึงขาดแคลนมากขนาดนี้ เบื้องต้น นอกจากเรื่องการทำงานหนัก 1 ปี ทำงาน 8 เดือนเต็ม ไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เช่นเดียวกับนักบินแล้ว เรื่องรายได้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน เพราะตำแหน่งนี้ จะเทียบเท่ากับ ข้าราชการซี 3 ซึ่งจะมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาทเท่านั้น
“น้องๆ เด็กๆ ที่มาเริ่มทำงานใหม่ๆ แล้วต้องลาออกไป เราก็เข้าใจเขาเหมือนกัน เพราะเขาเองก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล การที่ต้องออกมาทำงานทุกวัน ก็อาจทำให้เขามีเวลาให้กับครอบครัวได้ไม่มากนัก ซึ่งประเด็นนี้ เราเข้าใจกันดี” แววตาและน้ำเสียงทิ้งท้าย ของ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คือคำอธิบายในทุกๆ สิ่ง สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน