"ความเชื่อ" เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งความเชื่อในเมืองไทยมีให้เลือกหลายรูปแบบ บางคนเชื่อในเรื่อง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ โชคลาง ของขลัง อำนาจลึกลับ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ บ่อยครั้งบางคนก็มีความเชื่อผิดๆ ซึ่งบางเรื่องอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กๆ นี้แหละทำให้ต้องเสียสุขภาพ เงินทองได้ง่ายๆ เพราะในความเป็นจริง หลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ในหลายเรื่อง

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย 10 ความเชื่อผิดๆ ของคนไทยที่มักจะกลับมาวนเวียนให้คิดว่าดี ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง

1.ความเชื่อผิดๆ : เหรียญควอนตั้ม สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพียงแค่สวมใส่ หรือเอามาแช่น้ำดื่ม

ความจริง : เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น "เหรียญควอนตั้ม" หากแขวนไว้ไม่ได้รักษาโรคอะไร ไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างที่อ้างหลอกขาย ดินที่นำมาขึ้นรูปเหรียญพบมีสารกัมมันตภาพรังสี มีอันตรายต่อร่างกายด้วย อย่าหลงเชื่อซื้อ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง

...

2.ความเชื่อผิดๆ : แผ่นหยกให้ความร้อน รักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ความจริง : อย.เตือนไว้ว่าเป็นการโฆษณาแอบอ้างเกินจริง ไม่ได้ขออนุญาตจำหน่าย ไม่ได้จดทะเบียนกับ อย.ว่าเป็นสินค้ากับทางการแพทย์ 

3.ความเชื่อผิดๆ : มังคุดนึ่ง รักษามะเร็ง

ความจริง : แม้จะมีงานวิจัยว่า สารแซนโทนที่อยู่ในเปลือกมังคุด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ต่อต้านมะเร็ง แต่สารแซนโทนเป็นสารไม่ละลายน้ำ การนำมังคุดไปนึ่ง ไม่ได้ทำให้สารแซนโทนละลายออกมาอยู่ในเนื้อมังคุด การสกัดสารแซนโทนจากเปลือกมังคุด ยังต้องใช้วิธีการผลิตโดยเฉพาะ ปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกมังคุดที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับมะเร็งแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม เปลือกมังคุดมีสารกลุ่มแทนนิน การนำมังคุดไปนึ่งอาจทำให้สารแทนนินซึ่งละลายน้ำได้ ซึมเข้าสู่เนื้อมังคุด เมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ อาจทำให้ท้องผูก สะสมในตับและไตได้ การรับประทานมังคุดให้ได้ประโยชน์ ควรรับประทานผลสดไม่เกินวันละ 4-5 ผล เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกิน

4.ความเชื่อผิดๆ : น้ำแข็งผสมฟอร์มาลีนเพื่อละลายช้า

ความจริง : ฟอร์มาลีน (ฟอร์มัลดีไฮด์) ที่นำมาใช้ดองศพ ดองสัตว์ มีหน้าที่ทำให้กล้ามเนื้อ-โปรตีนต่างๆ จับตัวแข็ง ศพหรือสัตว์ที่ดองไปจึงแข็งตัว ไม่เน่าเปื่อย ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำให้น้ำแข็งละลายช้า เรื่องน้ำแข็งยูนิคใส่ฟอร์มาลีนขาย ไม่มีพ่อค้าน้ำแข็งคิดทำ เหตุกลิ่นฉุน และฟอร์มาลีนไม่ช่วยให้น้ำแข็งละลายช้าหรือเร็ว 

5.ความเชื่อผิดๆ : ห้ามกินดิบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะเมื่อเข้าไปในท้องจะพองและไปดูดน้ำจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจนเกิดอาการขาดน้ำ อาจเกิดภาวะช็อก

...

ความจริง : บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินดิบได้ ไม่ผิด ไม่แตกต่างกับการกินแป้งเข้าร่างกาย จะทำให้อิ่มนาน-ท้องอืด เพราะใช้เวลาย่อยค่อนข้างนานขึ้นกว่าที่ต้มแล้ว และไม่ได้จะดูดน้ำจากร่างกายมากจนเกิดภาวะขาดน้ำอย่างที่อ้าง แต่ไม่ควรกินเกินวันละ 1-2 ซอง เพราะมีปริมาณของโซเดียมสูงต่อ 1 ซอง จากการใส่เครื่องปรุงรส ทั้งในน้ำซุป และซองเครื่องปรุง มีค่าสูงถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน และควรจะกินโดยใส่เนื้อสัตว์ ไข่ หรือผักลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้มากขึ้น

6.ความเชื่อผิดๆ : กินของแช่แข็งระบบเผาผลาญไขมันจะลดลง

ความจริง : กินน้ำเย็น ช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ประมาณ 17 กิโลแคลอรีต่อน้ำเย็น 1 ลิตร เนื่องจากพอร่างกายต้องรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ตลอดเวลา จึงมีการนำพลังงานในร่างกายมาใช้ด้วย

7.ความเชื่อผิดๆ : กินอาหารที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ทำให้เกิดมะเร็ง

ความจริง : การใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหาร ช่วยลดการสูญเสียวิตามินและสารอาหารหลายอย่างได้ดีกว่าการต้มด้วยน้ำร้อน หรือปิ้งย่างด้วยซ้ำ คลื่นไมโครเวฟเป็นแค่เหมือนกับคลื่นวิทยุหรือคลื่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะวิ่งผ่านตัวของอาหารไป ไม่ได้เป็นสารกัมมันตรังสีที่จะตกค้างในอาหารให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

...

8.ความเชื่อผิดๆ : บอระเพ็ดดองน้ำอัดลม ดื่มรักษาเกาต์

ความจริง : บอระเพ็ด รวมถึงน้ำอัดลมไม่ได้มีสรรพคุณรักษาเกาต์ หากกินมากเกินจะเป็นอันตรายต่อตับ การใช้บอระเพ็ดรักษาโรคเกาต์หรือปวดตามข้อ ไม่เคยปรากฏผลวิจัยระบุว่าทำได้ แต่สรรพคุณที่พบในหนูทดลอง คือ แก้ปวดและต้านการอักเสบ จากสารสกัดเอทานอลจากเถาบอระเพ็ด สารสกัดน้ำจากเถาบอระเพ็ด มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดที่กระตุ้นให้เป็นเบาหวานได้ แต่นั่นก็เป็นการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการรักษาโรคเบาหวาน

ความเป็นพิษจากสารสกัดเอทานอลของเถาบอระเพ็ดพบว่ามีแนวโน้มก่อให้เกิดความผิดปกติของตับและไตในหนูทดลอง เคยมีรายงานบอระเพ็ดก่อให้ความเป็นพิษต่อตับ ชายชาวเวียดนาม อายุ 49 ปี ที่รับประทานยาเม็ดจากบอระเพ็ด วันละ 10 เม็ด ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ จนเป็นดีซ่าน

...

9.ความเชื่อผิดๆ : ดื่มน้ํามะตูม+ใบยอ น้ำข้าว+ไข่ขาว รักษาโรคไต

ความจริง : ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น แถมมีอาการหนักขึ้นอีก “ใบยอ” เป็นพืชที่มีฟอสฟอรัสสูง และเป็นแร่ธาตุที่คนเป็นโรคไตต้องระวังให้มาก ไม่แพ้ธาตุโพแทสเซียม และแคลเซียม เนื่องจากไตไม่สามารถขับแร่ธาตุดังกล่าวได้ปกติ ส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของแร่ธาตุในเลือดเพิ่มสูง นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น เช่น กระดูกพรุน ดังนั้นการนำใบยอมาต้มกับ "มะตูมแห้ง" ดื่มเพื่อรักษาอาการไตเสื่อม ไม่พบงานวิจัยว่าพืช 2 ชนิดใช้รักษาโรคไตได้

ด้าน "น้ำข้าวร้อนและไข่ขาว" รักษาโรคไตไม่ได้เช่นกัน ยกเว้นคนไข้โรคไตบางคนที่มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ แพทย์ถึงจะแนะนำให้กินไข่ขาวเพื่อทดแทนที่สูญเสียไป ปัจจุบันยังไม่มีอาหารหรือสมุนไพรอะไรที่บำรุงไตโดยตรง ดังนั้นคนเป็นโรคไตต้องระวังไม่กินเนื้อสัตว์มาก ไม่กินเค็มจัด หรือหวานจัดเกินไป ลดอาหารที่มีไขมันสูง และต้องออกกำลังกาย

10.ความเชื่อผิดๆ : ดื่มมะนาวโซดา รักษามะเร็ง

ความจริง : น้ำมะนาวและน้ำโซดา ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการรักษามะเร็ง บางงานวิจัยระบุไว้ว่า การดื่มน้ำโซดาขณะท้องว่าง จะทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ต่อระบบทางเดินอาหารตามมา อาทิ ไม่สบายท้อง เกิดภาวะกรดไหลย้อน เกิดการระคายเคืองเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร

น้ำมะนาว ส่วนประกอบหลักคือ กรดซิตริก เป็นกรดชนิดอ่อน รสเปรี้ยว จะกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมาทำให้ชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ส่วนน้ำโซดา เกิดจากการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาอัดลงในน้ำ ทำให้ส่วนประกอบหลักของน้ำโซดาคือ กรดคาร์บอเนต ก็มีความเป็นกรดเช่นเดียวกับกรดซิตริก

ทั้ง 10 ความเชื่อผิดๆ ที่ "เชื่อแล้วพัง" นี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า โดยมากจะเป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการกิน ปัญหาสุขภาพ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งบางเรื่องเผยแพร่ แชร์กันมานานแสนนานเป็นสิบสิบปี ตั้งแต่สมัยเป็นฟอร์เวิร์ดอีเมล แล้ววนกลับมาแชร์อีกครั้งทั้งในเฟซ ไลน์ ไอจี ทวิตเตอร์

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย 10 ความเชื่อผิดๆ ของคนไทย
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย 10 ความเชื่อผิดๆ ของคนไทย

“ทุกครั้งที่มีความเชื่อผิดๆ เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ผมจะออกมาชี้แจงทันที เพราะต้องการสื่อให้รู้ว่าสังคมไทยไม่ค่อยใช้ตรรกะทางวิทยาศาสตร์ในการรับข้อมูลข่าวสาร หลักการวิทยาศาสตร์คือตั้งข้อสงสัย ว่าจริงไม่จริง และหาข้อมูลสนับสนุนว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน

ในโลกสังคมออนไลน์จะเกิดการแชร์เร็วมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของคนรับสาร บางครั้งความเชื่อฟังดูเหมือนไม่มีอะไร เช่น น้ำสมุนไพรรักษาโรค แต่ถ้าเอาไปใช้ผิดก็เป็นอันตรายด้วย เพราะฉะนั้นอย่ารีบร้อนเชื่อที่โลกโซเชียลแชร์ ภาครัฐควรออกมาแก้ข่าวปลอมต่างๆ ให้มาก คนไทยจะได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ดีกว่าผมตอบคนเดียวเพราะจะไม่ทั่วถึง

ต้องมีสติทุกครั้งที่รับข่าว อย่าเชื่อและอย่ารีบร้อนแชร์ทันที ให้นั่งคิดก็จะเห็นภาพว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ บางเรื่องข้อมูลที่ถูกต้อง มีคนมาเตือน มาแก้ในเน็ตอยู่แล้ว แค่ใช้เวลาในการค้นหาในกูเกิล" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของไทยกล่าว.

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่