ทางออกของ "ค่าโง่ทางด่วน" ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบ หลายฝ่ายหลายเสียงต่างมองกันคนละทิศละทาง บ้างเสนอให้จ่ายด้วยเวลาแบบเต็มๆ จัดไปเลยสัมปทาน 30 ปี บ้างออกมาค้านตัวโก่ง บอกไมไ่ด้!! 30 ปีมากเกินไป บ้างออกมาต้องสู่คดีต่อแพ้เท่าไหร่ค่อยว่ากัน ... ตัดภาพมาที่ประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ ภาษีทั้งนั้น แถม "ดอกเบี้ย" ค่าโง่ก็ไม่ได้นิ่งตาม
แม้ว่า ขณะนี้จะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (กมธ.) เข้ามาพิจารณาข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะ กมธ. เองก็มีหลายเสียงอยู่เหมือนกัน ล่าสุด วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประธานกรรมการ กทพ. และตัวแทนผู้ว่าการ กทพ. มาให้ข้อมูลพร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา รวมถึงขอเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า และในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จะมีการเชิญตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ. มาร่วมประชุมและให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่า จะใช้เวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันอย่างแน่นอน
...
ทั้งนี้ มาย้อนดูคำถามจากตอนที่แล้ว "ค่าโง่ทางด่วน" เข้าช่องไหนดี? "จ่ายด้วยเงิน" หรือ "จ่ายด้วยเวลา" หลายเสียงดูจะเอนเอียงให้จ่ายด้วย “เวลาครึ่งหนึ่งและเงินครึ่งหนึ่ง” เพราะมองว่า หากจ่ายด้วยเวลาทั้งหมดตามที่บอร์ด กทพ. เสนอ คือ ขยายสัมปทาน 30 ปี แลกกับการยุติข้อพิพาททั้งหมดนั้น มีระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และเกรงจะเป็นการเสียผลประโยชน์ที่ กทพ. ควรจะได้รับ ส่วนอีกหนึ่งทางออก ที่หากจ่ายด้วยเงินทั้งหมดก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าโง่ก้อนมหึมานี้ หันซ้ายหันขวาก็คงไม่พ้นภาษีของประชาชนอีกเป็นแน่!!
ทีนี้มาว่าในส่วนของการจ่ายด้วยเวลาครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งจ่ายด้วยเงิน ...
ทางออกนี้แบ่งย่อยออกเป็นอีก 2 ทางเลือก คือ 1.หากโอกาสชนะคดีสูง และ 2.หากโอกาสแพ้คดีสูง ในเวลานี้ กทพ. จะมั่นใจสู้คดีต่อหรือยอมถอยก็ยังตอบไม่ได้ ยังต้องมีการพิจารณากันต่อไป แต่สำหรับ 2 ทางเลือกนี้ ถ้ามองทางเลือกแรก ก็ต้องยอมจ่ายชดเชยให้ BEM ในกรณีที่แพ้คดีข้อพิพาทการแข่งขันตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว รวมวงเงิน 1,790 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยทำให้ต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าตัว กลายเป็นจ่ายค่าโง่ 4,318 ล้านบาท แต่หากไม่อยากจ่ายด้วยเงินก็จ่ายด้วยเวลาประมาณ 4-5 ปี ส่วนถ้ามองทางเลือกที่ 2 เพราะแววแพ้มารำไร ก็ตัดสินใจยุติข้อพิพาททั้งหมด แล้วจ่ายค่าโง่ด้วยเวลา 15 ปี ไม่ใช่ 30 ปี!!
ทำไมถึงควรจ่ายแค่ 15 ปีน่ะหรือ? นั่นเพราะตัวเลขมูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาททั้งหมดที่อยู่ที่ 137,517 ล้านบาท กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองที่จะให้เหลือเพียง 59,000 ล้านบาท ดังนั้น จากตัวเลขนี้เมื่อมาคำนวณจ่ายด้วยเวลาแล้วยังไงก็ไม่เกิน 15 ปี แต่ถ้าหากพลิกล็อกกลับมาเป็นแบบเดิม เจรจาไม่เป็นผล ก็ต้องจ่ายกันแบบเน้นๆ หนักๆ ค่าโง่ 137,517 ล้านบาทต่อไป แบ่งเป็น คดีผลกระทบการแข่งขัน 78,908 ล้านบาท, คดีไม่ปรับค่าผ่านทาง 56,034 ล้านบาท และคดีอื่นๆ 2,575 ล้านบาท
อ้อ! ที่บอกว่าค่าโง่ตามเดิม 137,517 ล้านบาทนั้นน่ะ ไม่ได้หมายความว่า เวลาผ่านไปจนถึงวันยุติข้อพิพาทแล้วจำนวนเงินจะเท่าเดิมตลอดนะ มันมีการเปลี่ยนแปลง เพราะต้องรวมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 เข้าไปด้วย ซึ่งหากยังไม่มีการตัดสินหาทางออกยุติข้อพิพาททั้งหมด เมื่อถึงวันที่คดีสิ้นสุดประมาณปี 2578 ซึ่งโอกาสแพ้คดีมีสูง จากค่าโง่ทางด่วน 137,517 ล้านบาท จากการคาดการณ์แล้วจะพุ่งสูงถึง 326,127 ล้านบาททีเดียว!!
รายละเอียดข้อพิพาท
หมวด 1 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว 4,318 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
หมวด 2 อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 6,332 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
หมวด 3 อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 7,226 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
หมวด 4 อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ BEM ชนะแล้ว 12,050 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
หมวด 5 อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ 35,536 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
รวมข้อพิพาท 1-5 จำนวน 61,536 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
หมวด 6 คดีที่เตรียมยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ 75,437 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
รวม 1-6 จำนวน 137,069 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย)
...
และที่สำคัญ ตัวเลขค่าโง่ 137,517 ล้านบาทนี้ เป็นตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 หากเรามาคิดคำนวนดอกเบี้ยรายวันเล่นๆ จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นี้ เราต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วนเพิ่มจากเดิมกันเท่าไร?
เมื่อคดีจะสิ้นสุดทุกคดีในปี 2578 ดังนั้น เวลานับแต่ปี 2561 จึงมีระยะเวลากว่าจะถึงวันนั้นประมาณ 17 ปี เมื่อมาคำนวณจากคาดการณ์มูลค่าความเสียหายจากค่าโง่ทางด่วน พบว่า ขณะนี้ ค่าโง่ทางด่วนจะอยู่ที่ 143,847 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมกว่า 6,000 ล้านบาท
ฉะนั้นแล้ว หากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปแบบไม่มีทิศทางที่แน่ชัด คงไม่พ้นกระทบภาษีประชาชนเป็นแน่ ผู้มีอำนาจจึงต้องตัดสินใจให้รอบคอบ อย่าผลีผลาม แต่ก็ไม่ควรถ่วงเวลา เพราะดอกเบี้ยพุ่งต่อไม่รอแล้วนะ.
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน