การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลและ 5G ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายๆ แขนง ไม่เว้นแม้แต่ในวงการ "ธุรกิจสื่อสารมวลชน" เองก็ตาม ในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน บางสำนักต้องปิดตัว "สื่อเก่า" ที่บุกเบิกทำมาหลายสิบปี หันหัวรถจักรมารุก "สื่อใหม่" งัดกลยุทธ์เพื่อก้าวผ่านจุดวิกฤติและต่อสู้กับ "สื่อหน้าใหม่" ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ...

ในวันนี้ ... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับแนวคิดที่น่าสนใจในแง่มุม "สื่อเก่า-สื่อใหม่" แบบ "จีนๆ" ของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" ... ว่า ยุคที่ดิจิทัลเข้ามาดิสรัปชันวงการสื่อทั่วโลก สำหรับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนแล้วเป็นอย่างไร

ช่วงเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะสื่อมวลชนไทยเข้าเยี่ยมชมและหารือกับผู้บริหารของสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี ณ นครซีอาน มณฑลส่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, กรมกิจการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือภาษาต่างประเทศแห่งประเทศจีน (CIPG), ศูนย์จีน-อาเซียน, สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มณฑลส่านซี และนิตยสาร CHINA REPORT ASEAN เป็นคณะเจ้าภาพ

สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)

...

สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี แต่เดิมนั้นมีการทำงานแยกส่วนกัน แบ่งเป็น สถานีวิทยุ (ก่อตั้งปี 2492) และสถานีโทรทัศน์ (ก่อตั้งปี 2503) ก่อนจะมีแนวคิดควบรวมสื่อเป็นหน่วยงานเดียวกันในปี 2554 ปัจจุบัน มีการดำเนินงานในหลากหลายแพลตฟอร์ม ได้แก่ สถานีวิทยุ จำนวน 10 ช่องสัญญาณ, สถานีโทรทัศน์ 10 ช่อง มีผู้ชมมากถึง 5 ล้านครัวเรือน, หนังสือพิมพ์, เว็บไซต์ทางการประจำภาคตะวันตก อย่าง CNWEST และโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบกว่า 200 ช่องทาง มีสมาชิกกว่า 30 ล้านคน

ภาพแรกที่ได้เห็นหลังจากก้าวเข้าไปยังห้องประชุมส่วนกลางของสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี คือ จอมอนิเตอร์กว่า 10 จอเรียงรายบนผนังด้านหนึ่ง โดยมีจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ซึ่งภาพที่ฉายบนจอก็จะเป็นช่องโทรทัศน์ต่างๆ เหมือนกับสถานีข่าวบ้านเรา แต่ที่น่าสนใจ คือ จอมอนิเตอร์มีการบอกเรตติ้ง สภาพการจราจร รวมถึงการวิเคราะห์ต่างๆ ให้เห็นกันแบบเรียลไทม์

สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)

เห็นภาพกันแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า วงการสื่อจีนคงไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและ 5G เท่าใดนัก แต่ทางสถานีฯ กลับบอกว่า

พร้อมเล่าให้คิดภาพตามง่ายๆ ว่า ... "ในยุคหนึ่ง คนจีนนิยมรับข่าวสารจากวิทยุ ก่อนที่โทรทัศน์จะค่อยๆ คืบคลานเข้ามา แล้วกลืนวิทยุไป แต่แล้ววิทยุก็กลับมาผงาด กลับมาเพราะรถติด คนเลยเปิดฟังเยอะ ... สุดท้าย ก็มาถึงจุดจบวิทยุอีกครั้ง เมื่ออินเทอร์เน็ตรุกคืบเข้ามา และปัจจุบัน มีคนเข้าถึงประมาณ 800 ล้านคน กว่า 90% ใช้สมาร์ทโฟน"

และเมื่อได้รับผลกระทบแล้วจะให้อยู่เฉยคงไม่ได้ ทางสถานีฯ เองก็มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555-2556 ซึ่งการปรับกลยุทธ์ของจีนนั้นไม่ใช่การ "ทิ้งสื่อเก่า" เพราะพวกเขาไม่ได้มองว่า "สื่อใหม่จะมาแทนที่สื่อเก่า เพราะสื่อเก่าก็มีจุดแข็งของตัวเอง ฉะนั้น ต้องมีการผสานสื่อ 2 ยุคเข้าด้วยกันอย่างลงตัว"

ตามที่มีดำริจาก "สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีน ว่า

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

...

นายเชียน จวิน รองผู้อำนวยการ สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี บอกเล่าแนวคิดการทำสื่อในยุคดิจิทัลจากดำริของ "สี จิ้นผิง" ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 3 เฟส ที่มีสำนวนและความหมายล้ำลึก ว่า

  • เฟส 1 คุณคือคุณ เราคือเรา : แยกการทำงานของสื่อต่างๆ อย่างชัดเจน
  • เฟส 2 ในเรามีคุณ ในคุณมีเรา : การผสมผสานสื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน ในเฟสนี้ทางสถานีฯ บอกว่า "พวกเขาเดินทางมาถึงแล้ว"
  • เฟส 3 คุณคือเรา และเราคือคุณ : เป้าหมายสำคัญที่วงการสื่อจีนจะต้องเดินทางไปให้ถึงในอนาคต ในเฟสนี้ไม่ได้เพียงแค่การผสมผสานสื่อเข้าด้วยกันเหมือนเฟส 2 แต่ต้องผสมผสานให้เข้ากันอย่างลงตัว
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)

อีกหนึ่งนโยบายของ "สี จิ้นผิง" ที่มอบให้แก่วงการสื่อจีน รวมถึงสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี คือ "ต้องอิสระและใช้ทุกแพลตฟอร์มอย่างคล่องตัว"

...

ในส่วนของการทำงานของสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซีนั้น ทางสถานีฯ จะเป็นผู้ดำเนินงาน บริหาร และซ่อมบำรุงแบบครบวงจร โดยมีความเป็นอิสระและเชื่อมโยงกับทุกแพลตฟอร์มตามดำริของ "สี จิ้นผิง" ที่ให้ไว้ ซึ่งพันธกิจของสถานีฯ คือ เพื่อการสื่อสาร, เพื่อการปกครองภาครัฐ และเพื่อการบริการประชาชน

ด้านคอนเทนต์ที่ใช้ในการนำเสนอมีทั้งที่มาจากทางภาครัฐและเอกชน พูดง่ายๆ ว่า สื่อแต่ละแพลตฟอร์มจะมีที่มาเดียวกัน แต่จะกระจายตามช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเอง อาทิ การนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดีย ทางสถานีฯ บอกว่า จะเน้นการสื่อสารด้วยรูปภาพมากกว่าตัวหนังสือ และยังเลือกใช้แอปพลิเคชัน WeChat (วีแชต) ในการส่งข้อมูลข่าวสารถึงประชาชนโดยตรง (คล้ายๆ กับ LINE@ บ้านเรา) คาดว่าอย่างน้อยจะมีผู้ได้รับสารต่อครั้งประมาณ 15 ล้านคนทีเดียว

อีกหนึ่งที่น่าสนใจของสถานีฯ คือ การเริ่มเปิดรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ที่มีการทำเนื้อหาในรูปแบบภาษาอังกฤษ แม้ตอนนี้จะยังมีผู้รับสารค่อนข้างน้อยราวๆ 2 หมื่นคน แต่ก็ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญ และยังมีการเปิดรับบทความจากผู้อ่านภายนอกเพื่อให้คอนเทนต์มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วย

สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)

...

หากมองจากดำริและนโยบายต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็ต้องบอกว่า "สี จิ้นผิง" มีแนวคิดที่มองการณ์ไกลพอสมควร มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและนำเสนอข่าวสารเพื่อให้ทันโลก แต่อีกด้านก็ยังคงเข้าใจสภาพสังคมจีนที่ยังมีบางส่วนยึดติดกับการเสพสื่อแบบเก่า ซึ่งมิอาจทอดทิ้งได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อเก่ายังมีอิทธิพลต่อคนรับสารเกือบ 100%

สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)
สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี (16/07/2562)

ทั้งนี้ ขอทิ้งท้ายด้วยความตอนหนึ่งจาก "สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลส่านซี" ไว้ว่า

"กลไกการจัดเรตติ้งไม่ใช่การบ่งบอกความน่าเชื่อถือ ไม่นำมาเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ แบบเป็นนัยสำคัญ ... มองจุดที่ทำในฐานะสื่อมากกว่าจะมองกำไร .. ทุกรูปแบบจะมีการดำรงอยู่ จะใช้สื่อใหม่ในการพัฒนาสื่อเก่า".