ถ้าเก็บทรัพย์สินมีค่าของผู้อื่นตกหาย อย่ามัวดีใจ หรือบางคนอาจมีพฤติกรรมโลภ อยากอุบอิบไว้ โดยคิดว่านั่นคือลาภของตน วิธีที่ดีที่สุดควรพยายามหาทางคืนเจ้าของ หรือนำไปแจ้งความ เพราะสิ่งของนั้นๆ นอกจากมีค่าสำหรับเจ้าของแล้ว
บางคนคงจะยังไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า หากไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จากที่เป็น Hero อาจกลายเป็น “ทุกขลาภ” เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ในอนาคต ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาได้เช่นกัน (มีความผิดฐานลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับได้)
“สิทธิ์” ควรได้ตามกฎหมาย เมื่อ “คืน” ของ
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายกระดูกเหล็ก มากประสบการณ์กว่า 34 ปี อธิบายกับทีมข่าวฯ ถึงกรณีเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 บัญญัติวิธีปฏิบัติของบุคคลที่เก็บทรัพย์สินหายได้ ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ข้อดังต่อไปนี้
1.ส่งมอบทรัพย์สินนั้นคืนให้เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิ์จะรับทรัพย์สินนั้น 2.แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิ์จะรับทรัพย์สินนั้นโดยมิชักช้า 3.ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ภายใน 3 วัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบหาตัวเจ้าของหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์จะรับทรัพย์สินนั้น
เมื่อผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ปฏิบัติตามมาตรา 1323 แล้ว นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์เรียกรับเงินรางวัลเพื่อแลกกับการคืนทรัพย์สินหาย ได้ตามมาตรา 1324
“ตามมาตรา 1324 กฎหมายกำหนดชัดเจน เก็บทรัพย์สินได้ เจ้าของมารับ มีสิทธิ์เรียกเงินรางวัลจากเจ้าของ เป็นจำนวนร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินภายในราคา 30,000 บาท แต่ถ้าราคาสูงกว่านั้น เรียกได้เพิ่มอีกร้อยละ 5 หากนำส่งตำรวจจะได้เพิ่มอีกร้อยละ 2.5 เป็นค่าธรรมเนียม แต่ไม่เกินหนึ่งพันบาท” ทนายชื่อดังกล่าว
กฎหมายฟ้องร้องพิทักษ์สิทธิ์คนเก็บ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
...
นอกจากนี้ถ้าผู้มีสิทธิ์รับทรัพย์สินไม่มารับคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันเก็บได้ กรรมสิทธิ์นั้นตกเป็นของผู้เก็บได้ ตามมาตรา 1325 ด้วย กรณีเก็บได้ของตกที่เป็นโบราณวัตถุ ผู้เก็บมีสิทธิ์ได้รับรางวัล 10% จากราคาของวัตถุโบราณชิ้นนั้น หากไม่มีคนมาเอาของชิ้นนั้นๆ ก็จะตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ถ้าเจอหรือเก็บของมีค่าที่ซุกซ่อน หรือฝังไว้ เมื่อไม่มีผู้มาอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธ์จะตกเป็นของแผ่นดินเช่นกัน แต่ถ้านำส่งตำรวจจะได้รับรางวัล 1 ใน 3 ของราคาทรัพย์สิน การส่งคืนของมีค่าให้กับเจ้าของ ทนายอนันต์ชัย แนะ ส่งมอบกันเองได้
แต่กรณีทรัพย์สินที่มีราคาสูง วิธีที่ดีและเรียบร้อยสมบูรณ์ที่สุด ควรมอบต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้ โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงๆ หากเกิดกรณีเจ้าของไม่ให้เงินรางวัลตามมาตรา 1324 ผู้เก็บได้สามารถฟ้องร้องได้
“เงินรางวัลเป็นเรื่องน้ำใจที่กฎหมายกำหนดไว้ คนเก็บมีสิทธิ์ควรได้ หากไม่ได้ก็มีกฎหมายให้ฟ้องร้องได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีทำกัน เพราะหากมีการฟ้องร้อง จะถูกมองเป็นเรื่องเสียหาย น่าอับอายขายขี้หน้า วัฒนธรรมไทย ถ้าไม่ใช่ของเราแต่อยากได้ จะถูกมองเป็นคนไม่ดี ในทางกฎหมายศาลจะเชื่อวัตถุพยานหลักฐานมากกว่าพยานบุคคล เหมือนคดีหวย 30 ล้าน” นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายกระดูกเหล็กอธิบาย
ไม่ส่งคืนทรัพย์สิน จากฮีโร่กลายเป็นผู้ร้าย ซวยคุก 5 ปี
กรณีเก็บทรัพย์สินของผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะตกหล่นหาย หรือติดมา หากไม่ส่งคืน นอกจากจะไม่มีสิทธิ์รับรางวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1323 ยังจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคสอง ฐาน “ยักยอกทรัพย์สินหาย” เพราะคิดว่าเจ้าของเลิกตามหาแล้วจึงเก็บไว้เป็นของตัวเอง โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 5 เดือน ปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีความผิด “ฐานลักทรัพย์” ในกรณีผู้เก็บของหายได้ แล้วมีเจตนา ทุจริต เบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตัวเอง ทั้งๆที่รู้ว่าเจ้าของยังติดตามหาอยู่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
...
และหากผู้เก็บได้ข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอม อาจจะมีความผิดข้อหา “กรรโชกทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
“หากเก็บทรัพย์สินได้แล้วไม่คืน คุณกำลังเป็นผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 คือ ทรัพย์ที่เก็บได้ต้องส่งมอบคืนเจ้าของ แจ้งเจ้าของ กรณีการได้รับของ หรือเจอของที่ไม่ใช่ของตัวเอง ทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือรีบส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใกล้เคียงที่สุด เพราะไม่งั้นจะมีประเด็นอื่นตามมาได้” พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. กล่าว
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ
...