"That's one small step for man, one giant leap for mankind,"
นี่คือ ก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่มันคือก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
วันที่ 20 ก.ค. 2562 (ตามเวลาประเทศไทย) จะเป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่มนุษย์คนแรก ที่มีชื่อว่า นีล อาร์ม สตรอง (NEIL ARMSTRONG) ได้ก้าวเท้าเหยียบลงบนดวงจันทร์ ผืนแผ่นดินที่อยู่นอกโลกสีน้ำเงินเป็นครั้งแรก
50 ปีผ่านพ้น จากวันแห่งประวัติศาสตร์
มนุษยชาติเราได้อะไรบ้าง?
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า ยังคงมีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงชาติเดียวเท่านั้น ที่สามารถส่งมนุษย์ลงสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ ส่วนอีก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย สหภาพยุโรป หรืออียู ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ที่ในปัจจุบันมีความรุดหน้าเรื่องการบุกเบิกอวกาศเป็นอย่างมากนั้น ยังคงทำได้เพียงสำรวจรอบๆ ดวงจันทร์ หรือส่งยานไปลงสู่ดวงจันทร์เท่านั้น
แต่แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ เคยนึกสงสัยกันบ้างไหม นับตั้งแต่โครงการอะพอลโล 11 - 17 ที่สหรัฐอเมริกาพาเหรดส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1969-ค.ศ.1972 เป็นต้นมานั้น เหตุไฉน สหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์อีกเลย
...
หรือแม้แต่รัสเซีย หรืออดีตสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งสามารถส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ได้ก่อนสหรัฐอเมริกาเสียอีก แต่กลับไม่เคยส่งนักบินอวกาศไปยังดินแดนนอกโลกแห่งนี้เลยเช่นกัน
ส่วน อียู ญี่ปุ่น หรือจีน ที่กำลังมาแรงเหลือเกิน เรื่องการบุกเบิกอวกาศ ก็ยังไม่เคยทำเช่นนั้นเช่นกัน
คำตอบง่ายๆ ของคำถามยากๆ นั้นก็คือ การเดินทางไปยังดวงจันทร์นั้น แม้จะอาศัยเทคโนโลยีที่มนุษย์มีในยุคนี้ มันก็ยังคงเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก และเสี่ยงมากๆ อยู่ดี และที่สำคัญจะต้องใช้ทุนรอนจำนวนมหาศาล!
50 ปีผ่านพ้น มีดราม่าอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์คนหนึ่งไปเหยียบดวงจันทร์กันบ้าง และที่สำคัญ ในอนาคตข้างหน้ามนุษยชาติจะได้อะไร นอกจากก้อนหินบนดวงจันทร์ที่นาซาขนกลับมาโลกมากมายก่ายกอง ถึงขนาดเอาไปแจกบรรดาพันธมิตรได้เยอะแยะ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง
จนกระทั่งอเมริกันชนยุคนั้น อดรนทนไม่ได้ กับงบประมาณก้อนอภิมหามหึมาที่สูญเสียให้กับโครงการ เหยียบโลกพระจันทร์ จนถึงกับออกมาประท้วงด้วยถ้อยคำประชดประชันว่า
“เราต้องการขนมปัง มากกว่า ก้อนหินบนดวงจันทร์”
เมื่อถึงวาระแห่งการพิชิตอวกาศ เวียนมาบรรจบครบ 50 ปี เราควรเรียนรู้อะไร และอนาคตข้างหน้ามันจะเกิดอะไรตามหลังรอยเท้าแห่งประวัติศาสตร์บนดวงจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาแฟนไทยรัฐออนไลน์ไปดื่มด่ำแบบเพลินๆ แบบวิทยาศาสตร์คุยง่ายๆ กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวิทยาศาสตร์ ขาประจำ ที่จะขอฟื้นวัย BABY BOOMER เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกิดขึ้นให้ทุกท่านได้ละเลียดสายตาอ่านกัน
...
1.มนุษย์ไปดวงจันทร์ มันเรื่องโกหก นาซาจัดฉากลวงชาวโลก ไวรัล ที่ไม่มีวันตายจาก!
“หากเป็นการจัดฉาก นอกจากจะเป็นเรื่องยากกว่าการส่งคนไปลงดวงจันทร์แล้ว ยังจะถูกจับได้ง่ายกว่าอีกด้วย!” อาจารย์ชัยวัฒน์ ระเบิดหัวเราะทันที ที่ถูกถามถึงเรื่องไวรัล ที่ฆ่ายังไงก็ฆ่าไม่ตายนี้!
เช่นนั้นแล้ว เราให้กูรูของเราไปทวนคำตอบแบบสรุปเร็วๆ เข้าใจง่ายๆ เคลียร์ๆ กันอีกครั้ง
ทฤษฎีสมคบคิด (CONSPIRACY THEORY) การไปดวงจันทร์ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทุกอย่างเป็นการจัดฉาก
1.ในเมื่อ นีล อาร์ม สตรอง กำลังก้าวลงจากยาน เพื่อย่ำเท้าลงบนดวงจันทร์เป็นคนแรก แล้วใครกันล่ะเป็นคนถ่ายภาพประวัติศาสตร์นั้น
...
ตอบ ได้มีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยตั้งกล้องอยู่ด้านนอกยานอีเกิ้ลใกล้กับบันไดทางลง เพื่อเตรียมจับภาพประวัติศาสตร์นี้
2.เหตุใดธงชาติสหรัฐอเมริกา จึงพลิ้วไหวได้ในขณะที่นักบินอวกาศกำลังปักลงพื้น ทั้งๆที่บนดวงจันทร์ไม่มีลม
ตอบ จริงอยู่ บนดวงจันทร์ไม่มีลม แต่ธงชาติสหรัฐฯ เจ้าปัญหานั้น ถูกออกแบบมาแล้วตั้งแต่ต้นแล้วให้มีเสาหลักและมีแกนเพื่อจับธงให้คลี่กางออกได้
3.เหตุใดภาพถ่ายบนดวงจันทร์ จึงเห็นมนุษย์อวกาศได้ชัดเจนมาก แต่กลับไม่เห็นดาวบนท้องฟ้าเลยสักดวง
...
ตอบ ในเมื่อกล้องโฟกัสอยู่ที่คน หากจะต้องการให้ติดดาวบนท้องฟ้า ก็ต้องใช้เลนส์อีกแบบหนึ่งจึงจะสามารถทำได้
4.ในขณะที่ยานอีเกิ้ลกำลังลงสู่พื้นดวงจันทร์ เหตุไฉน พื้นดินบริเวณดังกล่าวจึงไม่ปรากฏฝุ่นคลุ้งขึ้นมา หรือหลุมบนผืนดินที่เกิดจากการถูกลมและความร้อนของไอพ่น
ตอบ มันถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ยานค่อยๆ พยุงตัวลงสู่พื้นดวงจันทร์เท่านั้นเอง
5.LUNA ROVER รถยนต์ที่โครงการอะพอลโลในช่วงหลังๆ ให้นักบินอวกาศใช้สำหรับการสำรวจดวงจันทร์ คันตั้งเบ้อเร่อ จะไปกับยานลำจิ๋วที่ลงบนดวงจันทร์ได้อย่างไร
ตอบ มันไม่ได้ถูกยัดลงไปทั้งคัน ดังที่เห็นตอนมันวิ่งบนดวงจันทร์ หากแต่มันถูกออกแบบให้พับได้ ติดอยู่ที่ด้านนอกของยานลงสู่ดวงจันทร์ และแยกชิ้นจนมีขนาดเล็กมากพอสำหรับการติดตั้งกับยานอีเกิ้ล จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบรวมกันอีกครั้งบนดวงจันทร์
6.ยานพาหนะ ยานอวกาศ และอุปกรณ์จำนวนมากที่สหรัฐฯ ทิ้งเอาไว้บนดวงจันทร์ เหตุไฉน จึงไม่มีภาพถ่ายออกมาแสดงต่อสาธารณชน
ตอบ มีครับ นาซา นำมาแสดงต่อสาธารณชนหลายครั้งแล้ว เช่นภาพนี้
จริงๆ ข้อชี้แจงเพื่อตอบโต้เรื่องนี้ นาซา ได้มีการนำเสนอต่อสาธารณชนมาอย่างละเอียดหลายครั้งแล้วนะ แต่ก็มักจะไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ เท่ากับการพยายามกล่าวหาว่า มีความพยายามสร้าง ทฤษฎีสมคบคิดขึ้น
สงสัยคงเพราะมันอ่านแล้วไม่สนุกเท่า จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ ก็ระเบิดหัวเราะเสียงดังขึ้นมาอีกระลอก
ว่าแต่ แล้วเหตุไฉน มนุษย์จึงจะต้องตะเกียกตะกายไปดวงจันทร์ให้ได้ ทั้งๆที่มันยากลำบากและเสี่ยงต่อชีวิตกันล่ะ?
2.ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์นอกโลกที่ดีที่สุด เพื่อค้นหา อะไรคือจุดเริ่มต้นของเรา
“เราไม่ไปไม่ได้น่ะสิ เพราะดวงจันทร์มันอยู่ตรงหน้าเราแค่นี้ และที่สำคัญมนุษยชาติเรามีจิตวิญญาณของการเป็นนักสำรวจฝังรากลึกอยู่ใน DNA กันทุกคนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ การไปดวงจันทร์นั้นมีอะไรมากกว่าที่ใครๆ คิดเอาไว้เยอะมาก โดยเฉพาะการไขรหัสพระเจ้า ที่ว่า ต้นกำเนิดของเรา มันเกิดมาจากอะไร?” จอมนักวิทยาศาสตร์ไทย ตอบแบบนิ่มๆ แต่สุขุมนุ่มลึกในลีลา
การจะไปให้ถึงคำตอบนั้น มนุษยชาติจะค้นหาจากเพียงโลกสีน้ำเงินของเราเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องไปค้นหาคำตอบเหล่านั้นจากนอกโลกด้วย และดวงจันทร์มันคือจุดที่ใกล้เรา มากที่สุด
ที่สำคัญตอนนี้เรารู้แล้วว่า โลก ดวงจันทร์ของเรา ดาวเคราะห์อื่นๆ หรือดวงจันทร์ในระบบสุริยะอื่น มีจุดกำเนิดมาจากกระบวนการเดียวกัน และมาจากวัตถุดิบเดียวกัน แต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน แล้วก็กลายมาเป็นสภาพอย่างเช่นทุกวันนี้ที่แตกต่างกันมาก
ที่เห็นชัดๆ เลยก็อย่างเช่น ในระบบสุริยะของเรา มีเพียงโลกเท่านั้นที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ระดับพืช หรือสัตว์ ทำให้โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปจากจุดกำเนิดมากมาย ในขณะที่ดวงจันทร์นั้น กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย ฉะนั้นการที่เราไปศึกษาสภาพของดวงจันทร์จึงเท่ากับว่าเราไปสำรวจโลกในยุคดึกดำบรรพ์นั่นเอง พูดง่ายๆ คือ ดวงจันทร์ คือ ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์นอกโลกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ!
3.ขุมทรัพย์ แห่งทรัพยากร RARE EARTH จุดคุ้มทุน!
เบื้องต้นต้องยอมรับว่า การลงทุน เพื่อส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์แต่ละครั้งนั้น ต้องใช้เงินมหาศาล ในอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้รับนั้น สิ่งที่จับต้องได้ คือ ก้อนหินบนดวงจันทร์ และข้อมูลสำคัญมากมาย สำหรับการค้นหาอดีตของเรา ซึ่งในแง่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ถือว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม แต่หากมองในแง่ของ เงิน เพียงอย่างเดียว ต้องถือว่า อเมริกันชน ขาดทุนยับเยิน
หากแต่ในศตวรรษนี้เชื่อว่าหากสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น จะส่งคนกลับไปบนดวงจันทร์อีกครั้ง คราวนี้จะไม่เหมือนในอดีตที่เพียงส่งคนไปดูลาดเลา แต่จะเป็นการส่งคนขึ้นไปเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งคนขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ รวมถึงการขุดทรัพยากรที่มีค่า มาใช้ประโยชน์
“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าบนดวงจันทร์มีน้ำ แต่น้ำที่ว่านี้ไม่ใช่น้ำบนพื้นผิวเหมือนบนโลกนะ แต่มันอยู่ในรูปของเกล็ดน้ำแข็งจำนวนมาก ที่บริเวณขั้วเหนือ ขั้วใต้ และใต้ดิน
แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ บนดวงจันทร์มีทั้ง 1.แร่ไทเทเนียม โลหะที่ใช้สำหรับการสร้างจรวด 2.ฮีเลียม 3 เชื้อเพลิงสำคัญสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชั่น แต่จุดที่เป็นไฮไลต์จริงๆ นั่นก็คือ 3.โลหะธาตุที่หาได้ยากมากบนโลก แต่มีมากที่สุดในประเทศจีน นั่นก็คือ แรร์เอิร์ท (RARE EARTH) ซึ่งใช้สำหรับเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเทคโนโลยีไฮเทค เช่น ดาวเทียม จรวด และแน่นอน โทรศัพท์มือถือ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้บนดวงจันทร์มีอยู่มาก”
รู้แล้วใช่ไหม เหตุไฉน สหรัฐอเมริกา ในยุคที่กำลังทำศึกประหัตประหารสงครามการค้ากับ จีน จึงจะต้องกลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง และคราวนี้หากประสบความสำเร็จ ความคุ้มทุนทางการเงินของอเมริกันชนทั้งผองก็จะปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม
4.เมื่อสหรัฐฯ เปิดช่อง ทำเหมืองบนดวงจันทร์ ยุคแย่งชิงทรัพยากรอวกาศกำลังจะอุบัติ!
ตอนนี้ หากสังเกตท่าทีของสหรัฐอเมริกาดีๆ จะพบว่า มีการตระเตรียมความพร้อมไม่ต่างจากช่วงความพยายามบุกเบิกตะวันตกในอดีต เพราะตอนนี้ พญาอินทรี ได้ออกกฎหมายเพื่อตัวเอง ที่เรียกว่า US SPACE ACT OF 2015 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ อนุญาตให้มีการลงทุนสำหรับการสำรวจอวกาศ หรือการกระทำอื่นใดในเชิงพาณิชย์ โดยสิ่งของ หรือทรัพยากรอื่นใดที่ได้จากการสำรวจ ให้ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ลงทุน ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการปูทางไปสู่การทำเหมืองบนดวงจันทร์ได้กลายๆ นั่นเอง
ซึ่งจะว่าไป ไอ้เจ้ากฎหมายที่ว่านี้ มันไม่ต่างจากกฎหมายศรีธนญชัย และสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมายอวกาศขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีเนื้อหาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า อวกาศ ตั้งแต่เหนือบรรยากาศโลกขึ้นไป รวมถึงทุกสิ่งในอวกาศ เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือดวงจันทร์ เป็นของมนุษยชาติทั้งมวล ประเทศไหนจะอ้างสิทธิ์ไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ ไปสำรวจได้ เก็บก้อนหินจากดวงจันทร์มาได้ แต่จะไปทำธุรกิจบนนั้น หรือเอาหินบนดวงจันทร์มาขายไม่ได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้รับการลงสัตยาบันรับรองจากชาติสมาชิก รวมทั้งสหรัฐอเมริกาเอง ตั้งแต่เมื่อปี 1967 หรือยุคที่สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา แข่งขันกันอย่างหนักเรื่องจะส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ ด้วยเล็งเห็นแล้วว่าหากทั้งสองประเทศทำสำเร็จ อาจจะถึงขนาดปักธงประเทศยึดดวงจันทร์ว่าเป็นดินแดนของตัวเอง!
ด้วยเหตุนี้ กฎหมายเจ้าปัญหาดังกล่าวจึงยังถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากชาวโลกในวงกว้าง เพราะนอกจากจะส่อขัดกับกฎหมายอวกาศแล้ว ในเชิงของการตีความ กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะบังคับใช้กับชาวโลกทั้งหมดได้อย่างไร?
แต่ในมุมของ สหรัฐอเมริกา นั้น ใช้วิธีอ้างหน้าตาเฉยว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ต่างจากเป็นเพียงการเปิดทำสัมปทานเหมืองในต่างประเทศ ที่ให้นักลงทุนมาลงทุนทำเหมือง ผลประโยชน์ที่ได้ก็คือผลตอบแทนของการลงทุน เมื่อหมดสัมปทานก็จบกัน ไม่ได้เป็นการไปปักธงยึดครองดินแดนบนดวงจันทร์ หรือดาวอื่นๆ ในอนาคตเสียหน่อย
ซึ่งการยกเมฆเลี่ยงบาลีแบบศรีธนญชัยนี่เอง ทำให้ประเทศอื่นๆ เริ่มเอาเยี่ยงเอาอย่าง
ลักเซมเบิร์ก ประเทศเล็กๆ ในยุโรป ได้ออกกฎหมาย SPACE RESOURCE ACT หรือ กฎหมายทรัพยากรอวกาศ ซึ่งมีเนื้อหาแทบไม่แตกต่างกับ กฎหมาย US SPACE ACT OF 2015 ตามมาในปี 2017 ทันที และในอนาคตอีกไม่นานนักเชื่อว่า ก็คงจะมีอีกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่รุดหน้าด้านอวกาศ ก็เอาเยี่ยงเอาอย่างตามมาอีกอย่างแน่นอน
เพราะผลประโยชน์สำหรับมนุษย์นั้น มันอยู่เหนือสิ่งอื่นใด!