คุณจะทำอย่างไร? หากว่าบัตรวีซ่าที่มีเงินหลักแสน กลับไม่สามารถถอนเงินสดหรือรูดซื้อสินค้าในต่างประเทศได้ และทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีเงินไม่พอจ่าย...
ณ ปัจจุบัน คนไทยนิยมเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้น บ้างไปท่องเที่ยว ไปทำงาน ไปเรียน เมื่อกระแสมา การตลาดก็ต้องรุก ตอบสนองอำนวยความสะดวกผู้บริโภคทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้าน "การเงิน" หลายธนาคารเข็นโปรโมชั่นมาเอาใจ ทั้งค่าธรรมเนียมถูก แถมประกันเดินทาง พ่วงส่วนลดร้านค้าดังต่างๆ ล่าสุด มีแบบถอนเงินสดเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้เลย ไม่ต้องคอยวิ่งซื้อเงินต่างประเทศให้ต้องระแวงเงินหาย เพียงแค่พกบัตรใบเดียวก็จบแล้ว ... ง่ายดายเสียนี่กระไร
แต่แล้วปัญหาก็เกิด! เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้ กลับไม่สามารถถอนเงินสดออกมาได้
"เงินอยู่ในบัตรหลักแสน แต่ทำอะไรไม่ได้"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นางศิริลักษณ์ สุวรรณวงศ์ เกี่ยวกับการใช้ "บัตรวีซ่า" ของธนาคารแห่งหนึ่ง ที่เมื่อนำไปใช้จริงที่ต่างประเทศแล้ว กลับไม่สามารถใช้ได้อย่างที่มีโปรโมชั่นแจ้งเอาไว้ ... "บัตร ก. จะใช้วิธีแลกเงินผ่านแอปเพื่อเติมเงินเข้าไปในบัตร เวลาที่เราเอาไปใช้ต่างประเทศจะแปลงเงินเป็นสกุลเงินประเทศนั้นๆ"
...
จากข้อมูลเบื้องต้นของนางศิริลักษณ์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ไปตรวจสอบโปรโมชั่นของบัตร ก. แล้วพบว่า บัตร ก. สามารถแลกเงินและเติมเงินเข้าบัตรได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันที่กำหนดของธนาคาร ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้มากถึง 10 สกุลเงิน คือ USD, GBP, EUR, HKD, JPY, AUD, SGD, NZD, CAD และ CHF โดยสามารถใช้ได้ทั้งการรูดซื้อสินค้าและการถอนเงินสด (สกุลเงินต่างประเทศ)
โดย นางศิริลักษณ์ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการใช้งานบัตร ก. จนกระทั่งเกิดเรื่อง กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ตนเองได้ทำบัตร ก. กับธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อให้ลูกสาวนำไปใช้ระหว่างเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเงินในบัตรประมาณ 4 แสนบาท ตอนแรกก็ใช้ได้ปกติดี แต่พอช่วงวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ลูกสาวได้ไปถอนเงินสดจากตู้ ATM แต่กลับไม่สามารถถอนเงินสดออกมาได้ ลูกสาวก็ร้อนใจเพราะต้องรีบจ่ายค่าหอพัก ติดต่อกลับมาหาตน ตนก็งงว่าทำไมกดไม่ได้ จึงแจ้งไปยัง Call Center ของธนาคาร แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไข ตนก็ต้องวิ่งวุ่นหาวิธีแก้ไขเฉพาะหน้า ติดต่ออีกธนาคารที่สามารถโอนเงินวันเดียวได้ ซึ่งทางธนาคารนั้นก็ทำให้ ก็ต้องขอบคุณที่ช่วยดำเนินการ แต่ธนาคารที่เป็นต้นบัตร ก. กลับไม่มีการแก้ไขใดๆ
หลังจากนั้น ลูกสาวก็ไปกดเงินอีก แต่ก็พบว่าตู้ ATM บางแห่งให้กดรหัส 4 หลัก แต่ตอนทำบัตร ธนาคารให้ตั้ง 6 หลัก ตนก็ติดต่อมาทาง Call Center ธนาคารอีกครั้ง ว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่า ตู้ ATM ไหนจะต้องกด 4 หลัก หรือ 6 หลัก ทางธนาคารก็ตอบกลับมาว่า "ต้องลองกดเอง" ต่อมา ลูกสาวได้นำบัตร ก. ไปรูดซื้อสินค้าในห้าง Target (สหรัฐอเมริกา) ปรากฏว่า "ใช้ไม่ได้" แต่แปลกที่ก่อนหน้านี้ลูกสาวสามารถรูดบัตรซื้อสินค้าในร้านชำหรือแมคโดนัลด์ได้ ตนก็ติดต่อกับธนาคารอีกครั้ง ได้รับคำตอบมาว่า "ห้าง Target ไม่มีความปลอดภัย อาจมีการคัดลอกข้อมูลลูกค้าขณะรูดซื้อสินค้า" แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ห้างไหนใช้ได้ ห้างไหนใช้ไม่ได้ ต้องทดลองซื้อเอง อย่างนี้แสดงว่า บัตรยังมีคุณภาพไม่ดีพอ
"พยายามสอบถามกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ เลยตัดสินใจเขียนเอกสารด่วนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร แล้วแนบสำเนาไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย แต่กลับไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ มีเพียงเอกสารตอบกลับจาก ธปท. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ระบุว่า ธปท. ส่งเรื่องให้ธนาคารเจ้าของบัตรตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะพิจารณาดำเนินการต่อไป"
...
จากกรณีดังกล่าว ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าไปยังฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้รับคำตอบว่า มีการส่งเรื่องมายัง ธปท. จริง ซึ่งทาง ธปท. ได้รับเรื่องร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว และทาง ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้แจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัตรให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยทางธนาคารยังไม่มีการชี้แจงกลับมา คาดว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงขอให้รอสักนิดเพื่อที่จะดำเนินการต่อไป ไม่งั้นจะเหมือนการฟังความข้างเดียว
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์บริการลูกค้าของธนาคาร ว่า กรณีรหัสบัตรที่จำเป็นต้องใส่เวลาใช้ถอนเงินสดจากตู้ ATM หากต้องใช้ 4 หลัก ให้กด 4 ตัวแรก และหากจะใช้รูดซื้อสินค้าในห้าง (กรณีห้าง Target) สามารถใช้ได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องทำการ Actived บัตรก่อนใช้ ในส่วนอื่นๆ สำหรับกรณีดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมได้
...
ทั้งนี้ ทางฝ่ายงานกำกับและตรวจสอบผู้ให้บริการชำระเงิน ธปท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทบัตร ก. ว่า เป็นลักษณะของ อี-มันนี่ ไม่ใช่รูปแบบบัตรเครดิต (บัตรเครดิต คือ การใช้เงินคนอื่นก่อน) เพราะมีการโอนเงินจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง เป็นการเติมเงินผ่านแอปพลิเคชัน สามารถทำได้ปกติ
โดยต่อมา ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ทางผู้ร้องเรียนได้รับการติดต่อกลับจากธนาคารเจ้าของบัตร โดยระบุว่า "กำลังหาทางแก้ไขให้เรียบร้อย พร้อมกับเสนอให้ถ่ายภาพขณะทำรายการเพื่อตรวจสอบ"
"เราต้องการเงินคืน ธนาคารก็บอกให้เราขายเงินกลับ แต่เราบอกว่า ให้คืนเป็นดอลลาร์ฯ มาเลย แบบนี้เหมือนเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค เพราะเราต้องแลกตามเรตสกุลเงิน ณ เวลานี้ เท่ากับขาดทุน" นางศิริลักษณ์ กล่าว
ส่วนประเด็นการถอนเงินสดจากตู้ ATM ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ตรวจสอบข้อกำหนด บัตร ก. มีการระบุว่า การถอนเงินสดที่ตู้ ATM ต่างประเทศ มีวงเงิน 50,000 บาท/วัน ในส่วนของค่าธรรมเนียมจะขึ้นกับแต่ละประเทศ สำหรับสหรัฐฯ อัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ฯ/รายการ แต่ทางนางศิริลักษณ์แจ้งกับทีมข่าวฯ ว่า ไม่สามารถกดจากตู้ ATM แบงก์พาณิชย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ กดได้เพียงตู้ ATM ใต้หอพักเท่านั้น ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายรอบ
...
"การกดเงินสดแต่ละครั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมการกดให้ธนาคารเจ้าของบัตรครั้งละ 3 ดอลลาร์ฯ ทางประเทศที่กดอีก 3-5 ดอลลาร์ฯ รวมแล้วประมาณ 8 ดอลลาร์ฯ ต่อครั้ง กดได้ทีละนิด แทนที่จะกดทีเดียวจากตู้ใหญ่ได้เลย ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายรอบ แต่กลับต้องมาเสียทีละรอบ ... ตอนนี้เงินค้างอยู่ในบัตรประมาณหลักแสน แต่ทำอะไรไม่ได้ ดอกเบี้ยก็ไม่มี"
จากกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น เมื่อมาตรวจสอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า สถิติการร้องทุกข์จากผู้บริโภคประจำปีงบประมาณ 2561 มีที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร/สถาบันการเงิน/เงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 182 ราย หรือร้อยละ 2.37 ในจำนวนนี้เป็นการร้องเรียนธนาคารที่ต้องการขอความเป็นธรรม และมีการร้องเรียนกรณีบัตรเครดิตอีก 42 ราย หรือร้อยละ 23.08 ส่วนใหญ่เป็นการขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอเงินคืน
ขณะที่ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า จำนวนบัตรเครดิต ปี 2560 สูงถึง 21 ล้านใบ และคนไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เฉลี่ยเดือนละ 5,959 บาทต่อบัตร อัตราการเติบโตเฉลี่ยของปริมาณธุรกรรมบัตรเครดิต ช่วงปี 2555-2560 อยู่ที่ 8%, อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง 15%, อี-มันนี่ 20% และโมบายแบงก์กิ้งสูงถึง 102%
จะเห็นได้ว่าการทำธุรกรรมของคนไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโมบายแบงก์กิ้งและอี-มันนี่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสยุคดิจิทัล 4.0 สถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมได้ จึงแข่งขันกันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการออกโปรโมชั่นที่อำนวยความสะดวกและหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจและเลือกใช้
ฉะนั้น ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังและตรวจสอบข้อกำหนดบัตรต่างๆ ที่ใช้ให้รอบคอบ มิเช่นนั้นอาจจะเป็นดังกรณีดังกล่าวนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อว่า ธนาคารเจ้าของบัตรจะแก้ไขอย่างไรต่อไป ... หากว่านี่ไม่ใช่เคสเดียวที่เกิดขึ้น แต่เป็นเคสแรกที่อาจจะมีเคสที่สองตามมา.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน