... ว่ากันว่า เวที G20 จะเป็นเวทีหย่าศึก "จีน-สหรัฐฯ" หลายฝ่ายลุ้นตัวโก่ง ขอให้สงครามการค้าจบสิ้นสักที เพราะแค่ที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็หนักหนาเอาการแล้ว ขณะที่ ไทยเองก็โดนหนักไม่ใช่น้อย!! ต้องปาดเหงื่อฝ่าฟันกันแบบเลือดตาแทบกระเด็น ไม่รู้ว่าหลังจากปิดฉากการประชุมจะ "ฟ้าสว่าง" หรือ "ทางมืด"
"สงครามการค้า" เริ่มแผลงฤทธิ์รุนแรง ... แม้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 จะเสร็จสิ้นลงแล้ว โดยมีภาพการหารือของประธานาธิบดีจีน "สี จิ้นผิง" และประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น จับมือยิ้มสู้กล้อง ยอม "หย่าศึกชั่วคราว" แต่อยู่ภายใต้ข้อตกลงที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยื่นให้กัน
ช่วงบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาโต๊ะกลม หัวข้อ "สงครามการค้า จีน-อเมริกา ฟ้าสว่างหรือทางมืด หลังเวที G20" จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านมาให้ข้อคิดเห็นในการสรุปบทส่งท้ายการประชุม G20 ว่าจะเป็นไปทิศทางใด
...
"จีน-สหรัฐฯ" ดารานำหลักบนเวที G20
"เวที G20 ในปีนี้ ให้ความสำคัญในบริบทของการค้าและเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว เบื้องหลังเป็นเรื่องการเมือง..."
นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เริ่มต้นอธิบายถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศมหาอำนาจโลก "จีน-สหรัฐฯ" บนเวที G20 ที่เปรียบดั่ง "ดารานำหลัก" ว่า ปี 2562 นี้ ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งระดับความสัมพันธ์ที่ผ่านมาจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ว่าผู้นำประเทศจะเป็นใคร มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นระหว่างรัฐต่อรัฐสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งการหารือด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จะเห็นได้ว่า กรอบการหารือทุกมิติจะเกี่ยวข้องกับการหารือด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของประชาชนกับประชาชน
ภาพรวมขณะนี้ สหรัฐฯ ยังขาดดุลการค้ากับจีนอยู่มาก ปี 2561 สูงถึง 4.19 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 13 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 3.76 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 12 ล้านล้านบาท) ในส่วนของการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจกับจีนนั้น ทางสหรัฐฯ ทยอยขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าต่างๆ ถึง 3 รอบ สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 7.7 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเท่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าสหรัฐฯ ที่นำเข้าจากจีน
ในทางกลับกันจีนตอบโต้กลับสหรัฐฯ อย่างไร?
- หนึ่งคือ ระงับสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรของสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการ รวมมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์ฯ (ราว 8.95 หมื่นล้านบาท)
- สองคือ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 2 ครั้ง มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ
ตลอดที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายพยายามหาข้อยุติทางการค้า จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2561 มีการระงับมาตรการโต้ตอบทางการค้าระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ที่แม้ว่าจะมีการตกลงว่า จีนจะซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมถึงปรับมาตรการการค้าการลงทุนของต่างประเทศใหม่ แต่ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหนเท่าไร มีการเจรจาการค้ากันอีก 4 รอบ หวังกำหนดแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม เกิดผลต่างตอบแทนที่สร้างความสมดุลทางการค้าระหว่างกัน
...
"โดนัลด์ ทรัมป์ และสี จิ้นผิง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน"
หลายคนที่ได้ยินประโยคนี้ต่างต้องแคะหูแล้วแคะหูอีก แทบไม่อยากเชื่อคำเอ่ยนี้เท่าใดนัก เพราะภาพที่เห็นมาตลอดกว่า 2 ปี มีแต่จะฟาดฟันกันแบบที่ไม่มีใครยอมใคร สวนทางกับภาพที่เห็นบนเวที G20 ซะเหลือเกิน
ซึ่งนางสาวบุษฎีมองท่าทีของสองดารานำหลักบนเวที G20 เป็น "สิ่งสำคัญ" ที่แม้แต่ทั่วโลกเองต่างก็เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยนั้น นางสาวบุษฎีหยิบยกมา 4 ข้อหลักที่น่าสนใจ คือ
1. สหรัฐฯ จะยังไม่เก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีน มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 9 ล้านล้านบาท)
2. บริษัทของสหรัฐฯ สามารถขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้ ตราบใดที่อุปกรณ์เหล่านั้นไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการถอนชื่อ บริษัท หัวเว่ยฯ ออกจากบัญชี Entity List ถึงแม้ว่าจะมีข่าวออกมาว่าจะมีการปรับ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง
...
3. จีนกับสหรัฐฯ ยังเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้ โดยทรัมป์เองเห็นว่า สหรัฐฯ มีการเปิดเสรีให้กับจีน แต่กลับกัน จีนเองยังไม่ได้เปิดเสรีให้กับสหรัฐฯ
4. ทรัมป์บอกว่า สี จิ้นผิง สัญญาว่าจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลการค้า แต่ ณ ขณะนี้ ยังรอรายชื่อสินค้าอยู่
ท้ายที่สุด ทรัมป์ก็ออกมาบอกว่า ตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีจีนอยู่ มองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องการสื่อถึง ไม่ว่าในบริบทของการพูดคุยอย่างเป็นทางการ การปฏิสัมพันธ์ที่เห็นได้จากการถ่ายรูป การจับมือ ล้วนเป็นท่าทีและท่าทางที่ส่งสัญญาณว่ายังมีคงมีการพูดคุยกันต่อ คิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่มาจากเวที G20
"หลายประเทศมีการวางกรอบที่ต้องการตีกันจีนออกไป แต่สำหรับไทยกับอาเซียน ไม่ได้มองแบบนั้น แต่ต้องทำให้กรอบต่างๆ เดินหน้าไปด้วยกันให้เกิดความสมดุล ถามถึงการเลือกข้าง ... มันก็จะกลับมาที่ความสมดุลของการดำเนินความสัมพันธ์ ซึ่งไทยเป็นมิตรกับจีน เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และผู้เล่นอื่นๆ ในเวทีโลกด้วย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและรับมือกับความท้าทายได้ดี"
...
"จีน" กลับมาทวงเก้าอี้แชมป์คืน
อีกมุมมองหนึ่งจาก ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ที่ขอเปลี่ยนจากคำว่า "สงครามการค้า" เป็น "ข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" แทน เหตุว่า จีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้มีปัญหากันแค่เรื่องภาษีการค้าอย่างเดียว แต่ยังมีด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีก
ผมมองว่า "จีนกับสหรัฐฯ ไม่จบง่ายๆ"
จีนเสียแชมป์ให้สหรัฐฯ มา 200 ปี หมายความว่า ตั้งแต่ราชวงศ์ถังขึ้นมา จีนมีจีดีพีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ก่อนที่หลังจากนั้นจะเสียให้กับภูมิภาคทางตะวันตก เพราะฉะนั้น จีนจึงมาทวงเก้าอี้ของตัวเองที่เสียแชมป์ไป
ในกรณีการเลือกข้างของไทยท่ามกลางสมรภูมิสงครามการค้า "จีน-สหรัฐฯ" ดร.ธารากร มีความเห็นที่ไปทิศทางเดียวกับ นางสาวบุษฎี ว่า สหรัฐฯ กับยุโรปให้ไทยเลือกข้างแน่นอน ว่า ไทยจะอยู่ข้างไหน แต่การจะเลือกข้าง ไทยเลือกข้างไม่ได้ เพราะไทยต้องคบค้าสมาคมกับทุกๆ คนที่เป็นมิตร ส่วนเทอมหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดีอีกหรือไม่ คิดว่า เขาเจอศึกหนักภายใน ภายนอกเขาไม่กลัว ศึกหนักภายในยิ่งใหญ่กว่า
หลัง G20 "สงครามการค้า" ฟ้าสว่างหรือทางมืด?
ล่าสุด ไอเอ็มเอฟ (IMF) มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการประกาศสงครามการค้ารอบที่ 3 (รอบที่ 1 ก.ค.-ส.ค., รอบที่ 2 ก.ย. 61 และรอบที่ 3 พ.ค.-มิ.ย. 62) จาก 3.5 เหลือ 3.3 ในปีนี้ ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่ 3.6
แล้วสหรัฐฯ กับจีนเป็นอย่างไร?
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่เติบโตมากกว่า 3% แต่ปีนี้ปรับลดลงมาเหลือ 2.3% (ปี 61 สหรัฐฯ ขยายตัว 2.9%) และคาดว่าปีหน้าจะเหลือแค่ 1.9% สิ่งนี้เป็นก่อนที่จะเกิดสงครามการค้า รอบที่ 3 ด้วยซ้ำ ขณะที่ จีนมีการเติบโตปีที่แล้ว 6.6% แต่ปีนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะโตที่ 6.3% ปีหน้าจะลดเหลือ 6.1% เห็นได้ว่า เศรษฐกิจประเทศแกนหลักของโลกมีการชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้า
เมื่อประเทศที่มีกำลังซื้อสูงสุด เริ่มชะลอตัวลง ทำให้สินค้าที่ขายในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่กล้าซื้อของ เพราะไม่มีเงินมากพอ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่โตในช่วงหนึ่งไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจดี แต่เพราะมีการขายอาวุธสงคราม มันไม่ได้เกิดจากการกระจายไปทุกภาคส่วน
และไม่ว่าสหรัฐฯ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ไม่มีทางจะได้ดุล ไม่ใช่แค่กับจีน แต่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเยอะมาก เพราะแม้ไม่ได้ซื้อจากจีน ก็ต้องซื้อจากประเทศอื่น ซึ่งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขาดดุล 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ด้านจีนได้ดุลการค้า 4.16 แสนล้านดอลลาร์ฯ (ราว 13 ล้านล้านบาท)
บทสรุปการประชุม G20 ผู้ทรงคุณวุฒิภายในงานสัมมนาฯ ต่างลงความเห็นกันแล้วว่า ทิศทางของสงครามการค้า "จีน-สหรัฐฯ" เป็นได้แค่ "ฟ้าสลัว" ที่ยังไม่ถึงกับสว่างและยังไม่มืดซะทีเดียว.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน