เจ้าหน้าที่กรมประมง จ.สมุทรสงคราม แจงความยากในการเพาะพันธุ์ปลาทู เชื่อมั่นในอนาคต “ปลาทูไทยไม่หาย” มีกินตลอดปี หลังมีสัญญาณดี วิจัยและพัฒนาจนเพาะพันธุ์ลูกปลาทูได้สำเร็จบางส่วน แต่ยังอนุบาลและวิจัยอาหารบำรุงให้แข็งแรง...
วิกฤติปลาทูไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์นำเสนอ คุณรู้จัก "ปลาทูไทย"ดีแค่ไหน? รู้ไหมว่ามันกำลังจะหายไปจากโลก! ทำให้คนไทยตื่นตัวเมื่อรู้ว่า แท้จริง “ปลาทู” ที่กินทุกวัน ไม่ใช่ “ปลาทูไทย” แต่เป็นปลาทูที่นำเข้าจากมาเลเซีย โอมาน บังกลาเทศ อินเดีย หลายคนจึงกังวลว่า “ปลาทูกำลังจะจากไปจริงๆ หรือ”
ปัญหาภาวะวิกฤติที่ปลาทูอาจใกล้สูญพันธุ์ เบื้องลึกสาเหตุเกิดจากอะไร? ทั้งๆ ที่ “กรมประมง” ไม่เคยนิ่งนอนใจ และมีแนวทางดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านก็สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาทูได้สำเร็จ
...
รออีกอึดใจ เพาะได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
นายอำนาจ ศิริเพชร นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้าสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ถึงแนวทางการดูแลรักษาปลาทูของกรมประมงกว่า 50 ปี โดยได้วิจัยศึกษาปลาทูตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 เริ่มจากฉีดฮอร์โมน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งปี พ.ศ.2509 เริ่มหันมาศึกษาประชากรปลาทู ต่อมาในปี พ.ศ.2554 เริ่มเพาะพันธุ์ปลาทูจนถึงปัจจุบัน ปรากฏผลทำสำเร็จ 3 ครั้ง
รอบแรก เป็นความร่วมมือของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสงคราม รอบ 2 และ 3 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา เพาะพันธุ์ลูกปลาทูได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้สามารถเลี้ยงได้ในเชิงเศรษฐกิจ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนอนุบาลและการวิจัยและพัฒนาที่จังหวัดพังงา เพื่อทดลองเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม หากต้องอนุบาลตามชายฝั่งว่าเหมาะสมที่อุณหภูมิ ความเค็มเท่าไร และผลิตอาหารเม็ดที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทู
“ตอนนี้ที่กำลังวิจัยกันอยู่คือ ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มอัตราการฟัก อัตราการรอดของการอนุบาลลูกปลาทู ผลวิจัยต้องรู้ว่าจำนวนเร่ิมต้นของพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นที่เท่าไรจึงจะประสบความสำเร็จมากที่สุด แล้วหลังจากที่เพาะลูกพันธุ์ได้แล้ว ก็ต้องศึกษาการอนุบาล ทดลองสูตรอาหารต่างๆ สูตรไหนที่เสริมอาหารธรรมชาติได้ในโรงเพาะฟัก ก่อนที่จะปล่อยสู่ธรรมชาติ” นายอำนาจเปิดเผยผลวิจัยล่าสุด
เปิด 3 ปัจจัย เหตุไฉน เพาะปลาทู ยากแสนยาก?
กว่าจะเพาะพันธุ์ลูกปลาทูได้ ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จได้ยากมีองค์ประกอบใดบ้าง นายอำนาจ ตอบข้อสงสัยนี้กับทีมข่าวฯ ว่า ในการเพาะเพื่อให้ปลาทูวางไข่ สิ่งที่เป็นความลำบาก คือ 1.ไม่สามารถสังเกตได้ว่าตัวไหน ตัวผู้ ตัวเมีย เพราะรูปลักษณ์เหมือนกันหมด 2.ปลาทู สืบพันธุ์ วางไข่กันเป็นฝูง ถ้าได้จำนวนพ่อแม่พันธ์ุมาน้อย โอกาสที่ไข่จะได้รับการผสมก็น้อยด้วย
และอีกปัจจัยที่ทำให้ปลาทูใช้ความพยายามเพาะพันธุ์นานมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น คือ ปลาทูอยู่ในทะเลเปิด ซึ่งอุณหภูมิ ความเค็มต้องค่อนข้างคงที่ การนำเข้ามาในโรงเพาะฟัก ทำให้ต้องมีการวิจัยศึกษาเรื่องการควบคุมความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง ความมิดชิดของโรงเรือนด้วย ซึ่งสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันสต็อกน้ำไว้ในบ่อ 16 ไร่ ทำน้ำความเค็มสูง ปรับปรุงโรงเรือน บ่อพ่อแม่พันธ์ุเพื่อรอรับแม่ปลาทูที่น่าจะจับได้ในช่วงเดือน พ.ย. ก็เริ่มเพาะพันธุ์ปลาทูได้ทันที
...
“ไม่สามารถบอกได้ว่าจับได้พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ได้กี่คู่ เพราะดูไม่ออกว่าตัวไหนตัวผู้ ตัวเมีย เลยต้องรวมฝูง ใช้ปลาทูจำนวนมากเป็นร้อยตัวในการนำมาเพาะพันธุ์ ปีใดรวบรวมปลาทูมาได้น้อย โอกาสเพาะได้ก็ทำยาก อย่างศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเล จ.สมุทรสงคราม บำรุงพ่อแม่พันธุ์ปลาทูช่วง ธ.ค. 60-เม.ย. 61 รวบรวมพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จากโป๊ะน้ำตื้นของสมุทรสงคราม และจากโป๊ะของ จ.เพชรบุรี ได้พ่อแม่พันธุ์มา 30 ตัว ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่วางไข่ อาจเป็นเพราะ 1.สัดส่วนน้อย 2.อาหารบำรุงพ่อแม่พันธุ์ยังไม่ดีพอ เพราะได้กินแต่ไรสีน้ำตาล เลยปล่อยกลับธรรมชาติแล้ว” นายอำนาจกล่าวถึงอุปสรรค
...
สำหรับวิธีการเพาะพันธุ์ปลาทู เร่ิมด้วยรวบรวมปลาทูทุกขนาด ทั้งตัวเล็ก กลาง ใหญ่ นำมาบำรุงเป็นพ่อแม่พันธุ์ ด้วยตัวไรสีน้ำตาล อาหารเม็ด เพื่อให้มีไข่สมบูรณ์ ซึ่งศูนย์วิจัยฯ จ.สมุทรสงคราม มีบ่อดินเพาะไรสีน้ำตาล 12 ไร่ 4 บ่อ บ่อละ 3 ไร่ รอบที่ผ่านมาปลาทูไม่วางไข่ สาเหตุน่าจะเป็นเพราะได้กินสารอาหารไม่ครบ
“การที่จะบำรุงให้ปลาทูสมบูรณ์ มีน้ำเชื้อแข็งแรงที่ดี ต้องได้รับสารอาหารครบ ตอนนี้สิ่งที่ต้องการ คือ 1.ความมั่นคงทางด้านอาหาร 2.อาหารเม็ดที่จะบำรุงพ่อแม่พันธุ์ เพราะเมื่อปี พ.ศ.2554-2555 ศูนย์วิจัยฯ ฉะเชิงเทรา ทดลองและพบว่าปลาทูที่เลี้ยงในกระชังสามารถกินอาหารเม็ดได้ด้วย ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง พังงา กำลังวิจัยเรื่องที่จะผลิตอาหารบำรุงพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งหากสำเร็จ ต่อไปการเลี้ยงปลาทูก็จะพัฒนาไปสู่การเลี้ยงได้”
...
นับเป็นข่าวดี และเป็นความหวังในการอนุรักษ์ปลาทูไทย ซึ่งโอกาสแห่งความสำเร็จ นายอำนาจกล่าวว่า ปัจจุบันหลายฝ่ายร่วมมือกันด้วยดีอย่างจริงจังทั้งภาครัฐ เอกชน ให้การสนับสนุน กรมประมงมอบหมายให้กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ ทางเศรษฐกิจ สัตว์น้ำเฉพาะถิ่น หรือมีจำนวนลดลง เพื่อปล่อยคืน เพิ่มจำนวนในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ การขยายโครงการ หรือการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ โอกาสเป็นไปได้มากที่จะประสบความสำเร็จในโรงเพาะฟัก แล้วปล่อยคืนสู่ธรรมชาติให้ปลาทูอยู่รอด และในอนาคตคนไทยจะมีปลาทูสัญชาติไทยกินตลอดปี
ปลาทูเพาะ VS ปลาทูธรรมชาติ รสชาติจะแตกต่างหรือไม่?
สำหรับรสชาติของปลาทูที่เพาะพันธุ์ นายอำนาจยังไม่เคยลิ้มลอง เนื่องด้วยเมื่อเพาะเลี้ยงได้ระยะหนึ่ง และไม่มีความสมบูรณ์เพศ สมบูรณ์ไข่ ก็ปล่อยคืนธรรมชาติ แต่เชื่อว่ารสชาติปลาทูเพาะเลี้ยงคงไม่แตกต่างจากปลาทูธรรมชาติ เพราะปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลาช่อนทะเล ปูม้า และอื่นๆ ที่หน่วยงานของกรมประมงเพาะได้ รสชาติอร่อยเหมือนกันกับในธรรมชาติ
“ปลาทูเป็นปลากินแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ระยะเวลาการเลี้ยงเร็วกว่าปลากินเนื้ออย่างเดียวเช่น ปลากะพง หากเพาะพันธุ์ปลาทูประสบความสำเร็จจริงๆ ปล่อยลงเขตอนุรักษ์ของชุมชน มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดออกกฎกติกาดูแลในการปล่อยในอ่าว หรือแหล่งอาศัยเดิม ในลักษณะของการทำฟาร์มทะเลโดยชุมชนดูแล มีกฎกติกาห้ามเครื่องมือบางชนิด กำหนดเทศกาลจับปลาทู กินปลาทู หลังวิจัยแล้วว่ามีขนาดเหมาะสมที่จะจับ ต่อไปก็จะนำไปสู่การพัฒนาทำฟาร์มทะเลซึ่งมีต้นทุนน้อยกว่าการขุดบ่อดินและเลี้ยงในกระชัง” นายอำนาจกล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ