"อ๊ะ อ๊ะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง" ย้ำกันแล้ว ย้ำกันอีก แต่ก็ยังมิวายมีคนแอบทิ้งตามพื้นที่สาธารณะ บ้างหย่อนลงน้ำ ลอบกองทิ้งไว้ กลายเป็น "ขยะตกค้าง" กองพะเนินสร้างมลพิษ โดยไม่รู้ตัวกันเลยว่า "กำลังกินยาพิษอย่างช้าๆ" ...

จากรายงาน วิกฤติ "ขยะตกค้าง" ปีเดียวเท่า 3 ราชมังฯ เฉลี่ยต่อวันทิ้งคนละ 1 กก. ทราบกันแล้วว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.64 เฉลี่ยคนไทยทิ้งขยะวันละ 7.6 หมื่นตันต่อวัน หรือเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มด้วยว่า ในอนาคตจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หลายคนยังเพิกเฉย "ใช้เยอะ ทิ้งเยอะ" เหมือนเดิม ไม่รับรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา แต่หากลองมองรอบตัว จะรับรู้ได้ว่า สภาพแวดล้อมมัน "เปลี่ยนแปลง"

©Pexels
©Pexels

...

ในปี 2561 สามารถนำขยะมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ได้ 9.58 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 13 และสามารถกำจัดอย่างถูกวิธี 10.88 ล้านตัน หรือร้อยละ 39

แต่!! เรายังมี "ขยะตกค้าง" อยู่อีก 7.36 ล้านตัน หรือร้อยละ 27

คุณผู้อ่านคิดว่า "มาก" หรือ "น้อย"?

หากคิดไม่ออก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์จะมาเทียบให้เห็นภาพกันว่า ในแต่ละปีมี "ขยะตกค้าง" มากขนาดไหน

คลิกไล่ดูทีละภาพกันเลย

จากกราฟิกข้างต้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้นำปริมาณขยะตกค้างของปี 2561 ที่มีจำนวน 7.36 ล้านตัน มาคำนวณหาปริมาตร ซึ่งได้เท่ากับ 24,533,333 ลูกบาศก์เมตร แล้วนำมาเทียบกับปริมาตรของสนามราชมังคลากีฬาสถาน 7,546,635 ลูกบาศก์เมตร พบว่า ปี 2561 ประเทศไทยมี "ขยะตกค้าง" เทียบเท่ากับสนามราชมังคลาฯ ถึง 3 สนามครึ่ง

ขณะเดียวกัน หากนำ "ขยะตกค้าง" มาบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่งบรรจุน้ำหนักสูงสุดได้ 27.4 ตัน พบว่า ปี 2561 ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 268,613 ตู้

ถ้าใน 10 ปีข้างหน้า ยัง "ใช้เยอะ ทิ้งเยอะ" กันอยู่แบบนี้ อาจจะเทียบเท่ากับสนามราชมังคลาฯ ถึง 4 สนามครึ่ง และต้องใช้ตู้คอนเทนต์เนอร์มากกว่า 3.7 แสนตู้

เห็นกันหรือยังว่า "ขยะตกค้าง" มันมากขนาดไหน

©vkingxl
©vkingxl

อีกอย่างหากสังเกตเห็นตู้คอนเทนเนอร์สีแดงในกราฟิก นั่นคือ ปริมาณ "ขยะอันตราย" ซึ่งปี 2561 มีมากถึง 3 ล้านตัน หากนำบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้มากถึง 1 แสนตู้ทีเดียว

แล้วรู้ไหมว่า "ขยะอันตราย" มาจากชุมชนถึง 638,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.2 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 414,600 ตัน หรือร้อยละ 65 ส่วนอีกร้อยละ 35 เป็นพวกแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ฯลฯ ประมาณ 223,400 ตัน

©PublicDomainPictures
©PublicDomainPictures

...

ขยะอันตรายจากชุมชนกระทบต่อตัวเราอย่างไร?

จำเหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2557 ได้ไหม?

เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557
เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557

ครั้งนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการดับเพลิงกว่า 1 สัปดาห์ ซึ่งจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศช่วงเกิดเพลิงไหม้ พบว่า บริเวณชุมชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ่อขยะ มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน 20-30 เท่า และพบฝุ่นขนาดเล็กมากปริมาณถึง 30 เท่า อยู่ในขั้นวิกฤติ ต้องอพยพประชาชนที่อาศัยในรัศมี 1.5 กิโลเมตร หลายคนได้รับผลกระทบจากควัน เกิดอาการแสบตา คัดจมูก หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ฯลฯ

แต่หากคิดว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้คงไม่เป็นไร(มั้ง)

...

คงต้องคิดใหม่!! เพราะขยะอันตรายมี "สารพิษ" อยู่จำนวนไม่น้อย ทั้ง "ตะกั่ว ปรอท สารหนู แมงกานีส ฯลฯ" หากเราได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าทางใด ก็จะเกิดการสะสมจนเหมือนการกิน "ยาพิษ" อย่างช้า ๆ

ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร สามารถทำให้ระดับสถิติปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง นับเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสถิติปัญญาสูงปีละกว่า 600,000 คน และโรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว (Leadcaused mental retardation) ยังเป็น 1 ใน 10 อันดับโรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

แน่นอนว่า ถ้าได้รับปริมาณมากย่อมเสี่ยงถึงขั้น "เสียชีวิต"

©Ben_Kerckx
©Ben_Kerckx

"คนทิ้ง" กับ "ขยะ" อะไรจะอยู่นานกว่ากัน?

จากข้อมูลของสารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า ปี 2562 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 73-80.1 ปี แล้ว "อายุขัยขยะ" ล่ะยืนยาวเท่าไหร่?

...

ค่อย ๆ ลากดูทีละสเต็ป

Before
After

เห็นกันแล้วใช่ไหมว่า ต่อให้ "คนทิ้ง" หมดอายุขัย แต่ "กระป๋องอะลูมิเนียม ถุงพลาสติก โฟม" ยังคงอยู่ และอยู่ยาวจนรุ่นลูกรุ่นหลานเรา

โดยจากการสำรวจ "ขยะตกค้าง" บริเวณชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน ในพื้นที่ 24 จังหวัด พบว่า มีปริมาณขยะตกค้างมากถึง 569,657 ชิ้น น้ำหนักรวม 33 ตัน โดยในจำนวนนี้เป็น "ถุงพลาสติก" มากที่สุด ร้อยละ 18.9 รองลงมาเป็นขวดเครื่องดื่มพลาสติก ร้อยละ 8.6, ถุงก๊อปแก๊ป ร้อยละ 8.4, ถ้วย/จานโฟม ร้อยละ 6.9 ฯลฯ

©SandraAltherr
©SandraAltherr

ฉะนั้น พึงนึกเสมอว่า "ใช้เยอะ ทิ้งเยอะ" อย่าปล่อยให้ "ขยะล้นเมือง".