“สัตว์เลี้ยง” เป็นทั้งเพื่อน คู่หู คอยเฝ้าระวังภัย ดูเล่นเพื่อความสวยงาม ซื่อสัตย์ แก้เหงาได้เป็นอย่างดี แต่การเลือกสัตว์เลี้ยงสักตัวนั้น มีหลายประเภท หลายร้านให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะตลาดนัดสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่สุดในไทย นั่นคือ "ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร" แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงพวกนี้ปลอดภัย ไม่ติดโรค หรือเป็นพาหะ ซื้อไปแล้วคุ้มค่ากับเงินที่เสียไหม เพราะสัตว์เลี้ยงบางชนิดมีราคาหลักพันถึงหลักหมื่น โรคที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้างที่ต้องรู้ไว้

โรคใน "สัตว์เลี้ยง" ภัยเงียบใกล้ตัวที่น่ากลัว

สพ.ญ.อรพิรุฬห์ ยุรชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยงว่า โรคในสัตว์เลี้ยงมีค่อนข้างเยอะ แต่ที่หลัก ๆ ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคแท้งติดต่อ ส่วนโรคที่รองลงมาคือโรคที่สัตว์เป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู

เมื่อพูดถึงระดับความรุนแรงนั้น โรคพิษสุนัขบ้านับว่าร้ายแรงที่สุด เพราะเมื่อสัตว์ติดเชื้อแล้ว เสียชีวิตแน่นอน โดยเมื่อสัตว์ถูกกัดหรือข่วน เชื้อจะแพร่ไปที่สมองแล้วลามไปทางระบบประสาทและมีโอกาสติดสู่คนได้ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ไม่จำกัดเพศหรืออายุ

...

ส่วนอีกโรคที่สามารถถึงแก่ชีวิตได้ คือโรคฉี่หนู อันเกิดมาจากสัตว์ไปกินแหล่งน้ำที่หนูได้ฉี่ไว้ ก็จะเกิดการติดเชื้อ ซึ่งโรคฉี่หนูจะทำให้สัตว์ตับวายหรือไตวาย ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ และอีกโรคที่อาจไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ คือโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ซึ่งทำให้พ่อและแม่พันธุ์ไม่สามารถผสมต่อได้ หรือถ้าเป็นในสัตว์เกษตร อาทิ โคนม ก็จะให้นมวัวน้อยกว่าปกติ 

โรคในฤดูฝนที่พบบ่อยคือ "โรคไข้เห็บ" อันเกิดมาจากตัวเห็บที่อาศัยตามพื้นดิน ผืนหญ้า เมื่อถึงฤดูฝน อุณหภูมิจะพอเหมาะต่อเห็บ ทำให้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว มีโอกาสติดสัตว์เลี้ยงได้ง่าย ถ้าเห็บมีเชื้อไข้เห็บ อาจทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ 

อีกโรคที่แพร่ง่ายในฤดูฝน คือ โรคฉี่หนู เพราะเมื่อมีแหล่งน้ำหรือน้ำขังมากขึ้น พวกหนูจะไปกินน้ำตามแหล่งต่าง ๆ และฉี่ลงไปในน้ำ ซึ่งเชื้อสามารถอยู่ในน้ำได้นาน เมื่อมีสัตว์มากินน้ำ ก็จะติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนู นอกจากนี้ สพ.ญ.อรพิรุฬห์ เตือนว่า ไม่ควรละเลยโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี 

เจ้าของกิจการ หากละเลย เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อ ตลาดนัดสัตว์เลี้ยง

ในกรณี ตลาดนัดสัตว์เลี้ยง หรือไม่ว่าที่ไหนที่มีสัตว์เลี้ยงแออัด โอกาสการเกิดโรคขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ และความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการ ยกตัวอย่าง ถ้าไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสัตว์ อาจทำให้สัตว์ที่มีโรคพิษสุนัขบ้า ไปกัดหรือแพร่เชื้อใส่สัตว์ตัวอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง เชื้อพิษสุนัขบ้าจะมากับน้ำลาย ถ้าสัตว์ที่มีเชื้อไปเลียสัตว์อีกตัว จะเกิดการแพร่เชื้อได้ ซึ่งแน่นอนว่าความแออัดนั้นทำให้เชื้อแพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่เชื้อยังไม่ออกอาการทันที ต้องรอ 2 ถึง 3 เดือนถึงจะแสดงอาการ

อีกโรคที่มีโอกาสเกิดในตลาดนัดสัตว์เลี้ยงคือ ไข้หวัดแมว ซึ่งเกิดเฉพาะในแมว กรณีไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน เมื่อมีคนซื้อแมวไป ในช่วงแรกแมวจะมีอาการเครียดเป็นเรื่องปกติของสัตว์เลี้ยงใหม่ แต่ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน ความเครียดนี้จะทำให้เป็นไข้หวัดแมวได้ 

...

อาการคือมีน้ำมูกและน้ำตาไหลออกมาเยอะผิดปกติ ยิ่งมีแผลในปาก จะทำให้กินอาหารไม่ได้ ถ้าเป็นลูกแมวที่มีแผลในปาก จะทำให้ลูกแมวขาดสารอาหาร และถึงแก่ชีวิตในที่สุด นอกจากนี้โรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นในความแออัดของตลาดสัตว์เลี้ยงคือ โรคติดเชื้อไวรัสในสุนัข อาทิ โรคหัด โรคลำไส้อักเสบ ถ้าเกิดขึ้นกับลูกสัตว์ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

ส่วนการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ อย่างสัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน ถ้าเป็นสัตว์น้ำจะขึ้นอยู่กับความสะอาดของน้ำในตู้หรือบ่อ ถ้าสกปรกก็มีโอกาสเกิดโรคและติดเชื้อกันได้ง่ายในน้ำ ถ้าเป็นกรณีสัตว์ปีก ให้พึงระวังโรคไข้หวัดนก ถึงแม้ไข้หวัดนกได้หมดไปจากประเทศไทยมานานแล้วก็ตาม แต่ยังมีรายงานการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน

จึงควรระวังนกที่ถูกจับมาจากป่าแล้วมาขาย เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่นกเหล่านี้จะมีเชื้อได้ ถ้าเป็นสัตว์เลื้อยคลาน พวกนี้จะมีเชื้อโรคอยู่ในลำไส้และตามผิวหนัง หากเราไม่ทำความสะอาดหลังสัมผัสแล้วมารับประทานอาหาร อาจทำให้ท้องเสีย อาเจียนได้ ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับเข้าไป

...

วิธีสังเกตอาการ สัตว์เลี้ยงสุดรัก เริ่มป่วยเป็นโรค

การสังเกตอาการภายนอกของสัตว์ มีทั้งที่สังเกตได้ง่ายและสังเกตได้ยาก บางโรคไม่สามารถสังเกตได้เลยอาจต้องใช้เวลาพอสมควรหลังจากรับมาเลี้ยง ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยและมีโรคล้วนมีอาการเหมือนกันคือ ซึม ไม่ร่าเริง เบื่ออาหาร น้ำตาเยอะ ขี้ตาเขรอะ ขนไม่สวยเหมือนตัวอื่น ๆ

กรณีสัตว์น้ำให้สังเกตที่ครีบ ถ้าเป็นโรคหรือมีปรสิต ครีบจะแหว่ง และมีจุดจ้ำเลือด ต้องสังเกตให้ดี กรณีสัตว์ปีกให้สังเกตที่ปีก ถ้าปีกตกไม่พับเก็บตามปกติ ไม่ร้อง ไม่ขัน หงอนตก ซึม ให้พึงระวังว่ามีอาการป่วย ไม่ปกติ สุดท้ายในสัตว์เลื้อยคลาน ที่สังเกตได้ยากที่สุด เพราะสังเกตยากว่ามีอาการซึมหรือไม่ จึงแนะนำให้สังเกตที่เกล็ดว่าปกติหรือไม่ ดวงตามีเยื่อหรือไม่ กระดอง ผิดรูปไปจากปกติหรือไม่ ทั้งนี้การเป็นไปของโรคในสัตว์เลื้อยคลานนั้น เป็นไปค่อนข้างช้า

การป้องกันโรคในสัตว์ และเจ้าของ

...

การป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง กรณีโรคพิษสุนัขบ้า ต้องเอาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันในช่วงปีแรกเกิด หลังจากนั้นต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีและควรเลี้ยงในรั้วบ้าน ไม่ควรเลี้ยงแบบปล่อย ส่วนโรคอื่น ๆ อาทิ โรคหัด โรคไข้หวัดแมว ก็ควรนำไปฉีดวัคซีนเช่นกัน

นอกจากนี้ ถ้าซื้อสัตว์เลี้ยงมาแล้ว เราควรสังเกตอาการและดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด 1 สัปดาห์ ถ้าอาการปกติดีให้เริ่มโปรแกรมฉีดวัคซีนได้ ส่วนเรื่องอาหาร ควรถามที่ร้านว่าให้อาหารอะไร เราควรให้อาหารตามนั้นเพื่อป้องกันอาการท้องเสียในสัตว์ หรือถ้าต้องการเปลี่ยนประเภทอาหาร ให้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปทีละนิดโดยการผสมอาหารใหม่ในอาหารเก่า แล้วเพิ่มปริมาณเรื่อย ๆ ในแต่ละอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ด หรือน้ำนมที่ให้สัตว์เลี้ยงกิน

ส่วนการป้องกันในคน ให้ดูแลรักษาความสะอาดให้ดี หรือถ้าถูกสัตว์เลี้ยงกัด หรือข่วน ให้รีบไปรับวัคซีนป้องกัน อย่าละเลย เคยมีกรณีที่คนถูกกัดและข่วนเป็นแผลเล็ก ๆ เลยคิดว่าตนไม่เป็นอะไร สุดท้ายเสียชีวิตจึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ไม่ควรประมาทแล้วเชื้อจะไม่มาถึงตัวเรา ส่วนการป้องกันโรคฉี่หนู ถ้าในบริเวณที่เลี้ยงสัตว์มีน้ำท่วมขัง หรือเศษอาหารที่เหมาะต่อการเข้ามาอาศัยของหนู ให้กำจัดทิ้งให้หมด เพื่อป้องกันโรคมาถึงตัวเราได้

ตรวจสอบตัวเองก่อน คิดเลี้ยงสัตว์ ไม่ใส่ใจ สัตว์เสี่ยงดุร้าย

สพญ.อรพิรุฬห์ได้ฝากถึงคนที่รักหรือสนใจเลี้ยงสัตว์ว่า การเลี้ยงสัตว์เราต้องตรวจสอบความพร้อมของตัวเองเป็นสำคัญ สัตว์เลี้ยงบางตัวต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ถ้าเราไม่ใส่ใจเท่าที่ควร สัตว์เลี้ยงอาจเครียด ขาดความอบอุ่น และดุร้ายในที่สุด 

แม้ในตอนแรกสัตว์เลี้ยงที่เราเลือกอาจดูน่ารัก น่าเลี้ยง แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัตว์ตัวนั้นโตขึ้น มีรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป เราจะยังรักสัตว์ตัวนั้นอยู่หรือไม่ เมื่อมันลูกมีหลานแล้วเราเลี้ยงไม่ไหว นำไปปล่อย ก็กลายเป็นภาระของสังคม ดังนั้นควรใส่ใจและตรวจสอบความพร้อมของตัวเองให้ดี

นาง รัชนี รัตนจริงใจ เจ้าของร้าน “Ratchanee Farm” ในตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร
นาง รัชนี รัตนจริงใจ เจ้าของร้าน “Ratchanee Farm” ในตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร

เจ้าของร้านตลาดนัดสัตว์เลี้ยง เผยกฎเหล็ก ป้องกันโรค

ทีมข่าวฯ ได้ไปสำรวจตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักร นางรัชนี รัตนจริงใจ เจ้าของร้าน “Ratchanee Farm” ในตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักรแถบโซน D เปิดเผยว่า ตนเป็นเจ้าของฟาร์มรัชนี ซึ่งเป็นฟาร์มนำเข้า ส่งออก และเพาะพันธุ์สุนัขสากล มีหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ อลาสก้า มาลามิว, ซามอยด์ และสายพันธุ์หายากที่แพงที่สุด คือ ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ เป็นต้น โดยทางรัชนีฟาร์มจะคัดสรรแต่สุนัขที่ประเทศไทยยังไม่มี และได้นำสุนัขจำนวนหนึ่งมาเปิดเป็นร้านในจตุจักร

ส่วนของการดูแลสุนัขนั้น สุนัขเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจโรคอย่างละเอียด และได้รับมาตรฐานจากแต่ละประเทศ ก่อนจะนำเข้ามาที่ฟาร์ม เมื่อถึงเวลาส่งออกไปอีกประเทศหนึ่ง ทางรัชนีฟาร์มต้องตรวจโรคก่อนจะส่งออกเสมอ สุนัขที่นี่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยตัวละ 2 เข็ม เป็นสุนัขอายุตั้งแต่ 3 ถึง 5 เดือน อายุน้อยกว่านั้น จะไม่นำมาขาย เพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาจากเรื่องโรคเลย ไม่เคยมีลูกค้ามาเรียกร้อง หรือเจอปัญหาอะไรเลย เพราะดูเรื่องโรคและความปลอดภัยเป็นพิเศษอยู่แล้ว

เจ้าของร้านดูแลอย่างดี ซื้อแล้วเกิดโรค ลูกค้าต้องพิจารณาตัวเอง 

เธอได้เสริมถึงการดูแลสุนัขภายในร้านว่า จะทำความสะอาดของเสียจากสุนัขอยู่เสมอ ใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดพ่น และฉีด ให้ไม่สามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ เพราะในตัวสุนัขก็ปลอดโรคอยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคได้ ก็คือลูกค้า เมื่อลูกค้าเข้ามาเลือกชมสุนัขภายในร้านมักจะชอบสัมผัสสุนัข โดยที่ไม่ทราบว่าได้ไปสัมผัสสุนัขจากร้านอื่นมาก่อนหรือไม่ และสุนัขพวกนั้นเป็นโรคอะไรหรือเปล่าก็มิอาจทราบได้ ดังนั้นวิธีป้องกันคือ การติดป้ายห้ามสัมผัสสุนัข หรือให้สุนัขเลียมือเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของสุนัขภายในร้าน

สุนัขทุกชนิดในฟาร์มมีใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ถูกกฎหมาย 100% เราเป็นฟาร์มสุนัขมากว่า 30 ปี ทำธุรกิจมาตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่รู้จักสุนัขพันธุ์นอก เป็นเจ้าแรก ๆ ของประเทศ ต่างชาติก็รู้จักฟาร์มเรา ดังนั้นการดูแลสุนัขให้ปลอดภัย ไร้โรค จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่ดีจริง คนที่เสียหายก็คือเจ้าของธุรกิจเอง เสียทั้งทรัพย์สิน และชื่อเสียง

สุดท้ายนี้ นางรัชนีได้ฝากว่า สัตว์ที่เลี้ยงในร้าน กับที่ซื้อไปแล้วย่อมต่างกัน ถ้าที่ร้านเลี้ยงดูอย่างดี แต่ลูกค้าซื้อไปแล้วมีการเกิดโรค หรืออุบัติเหตุใด ๆ ไม่ควรมาโทษร้านหรือพาดพิงคนอื่น ถ้าซื้อสัตว์ไปแล้ว ควรเลี้ยงดูเอาใจใส่ด้วยความรัก มีเวลาให้กับสัตว์ แล้วปัญหาจะไม่เกิดขึ้น

รู้ว่า "เสี่ยง" แต่ต้อง "ขอลองเลี้ยง" ...สุดท้ายไม่รอด

นาย A ไม่ประสงค์ออกนาม ให้สัมภาษณ์ว่า ตนนั้นเคยซื้อสัตว์เลี้ยงจากตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักรโดยเลือกซื้อกระต่ายและหนูแฮมสเตอร์ เลี้ยงจากเป็นสัตว์ที่น่ารัก น่าเลี้ยง แต่ต้องประสบปัญหาสัตว์ย้อมสี คือ สภาพสัตว์ไม่ตรงกับตอนแรกที่ซื้อมา อีกทั้งยังติดโรคมาด้วย เนื่องจากตลาดนัดจตุจักรเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคของสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงประเภทเดียวกัน หลังจากนั้นตนจึงพยายามดูแลสัตว์เลี้ยงตามอาการ แต่แล้วก็ไม่สามารถยื้อชีวิตกระต่ายและแฮมสเตอร์ได้

นาย A กล่าวว่า แม้ตนจะทราบข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับ สัตว์เลี้ยงที่ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักรแล้วก็ตาม แต่ตนยังตัดสินใจเข้าไปเลือกซื้อ เพราะอยากเลือกสัตว์ที่ถูกใจ อีกทั้งจตุจักรมีสัตว์เลี้ยงและประเภทร้านให้เลือกจำนวนมาก เขาเผยความรู้สึกว่า เข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะโซนขายสัตว์เลี้ยงของจตุจักร ไม่มีความสะอาดเท่าที่ควร อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมสัตว์มากมายหลายชนิด จึงง่ายต่อการเกิดโรคติดต่อ

นาย A กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฝากถึงบุคคลที่สนใจหรือรักสัตว์เลี้ยงว่า ควรศึกษาข้อมูลของสัตว์ที่ต้องการเลี้ยงให้เยอะ ๆ ลองเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กหรือกลุ่มตามโซเชียลมีเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือถ้าต้องการสัมผัสสัตว์เลี้ยงแบบตรง ๆ ให้ไปเดินที่ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเอง

"หากพร้อมเลี้ยงจริง ๆ ไม่แนะนำให้ซื้อจากตลาดนัดจตุจักร ยิ่งถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรก ยิ่งไม่ควร การเลือกซื้อตามกลุ่มเฟซบุ๊กอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะคนที่นำมาประกาศขาย มักเอามาจากการเพาะพันธุ์แบบปิด และราคาไม่ต่างจากตลาดนัดสัตว์เลี้ยงจตุจักรนัก"  

สัตว์เลี้ยงที่เราเลือกมานั้น คือ อีกหนึ่งชีวิตที่เราต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นก่อนซื้อควรคำนึงถึงข้อมูลที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์นำเสนอในวันนี้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจกลายเป็นว่า เราซื้ออันตรายให้มาร่นอายุขัยชีวิตสัตว์เลี้ยงก็เป็นได้

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่