เกิดเป็นคนดัง ไม่ว่าจะทำอะไรมักเป็นที่สนใจของสังคมเสมอ ดังดาราชาย “ศรราม เทพพิทักษ์” ที่หอบลูกสาว “น้องวีจิ” วัย 2 เดือนกว่า และภรรยาบินไปเที่ยวไกลถึงฝรั่งเศส ในโลกออนไลน์นอกจากได้เห็นภาพความรักและความอบอุ่นของครอบครัวเทพพิทักษ์แล้ว
บางกระแส โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ เกิดข้อสงสัยว่าลูกอายุเท่าไรจึงควรพาไปเที่ยวนอกบ้าน ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ เพราะในการเลี้ยงลูก การพาไปท่องเที่ยว ถือเป็นพื้นฐานพัฒนาการและการเรียนรู้การใช้ชีวิตของลูก ที่มีความสำคัญเหนือกว่าการสั่งสอนในบ้าน
ผู้ที่จะมาให้ความกระจ่างในวันนี้ คือ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้เกริ่นว่า การเดินทางท่องเที่ยวกับทารกนั้น นับเป็นเรื่องท้าทายของพ่อแม่ ซึ่งหากทำในช่วงอายุของลูกที่ไม่เหมาะสม นอกจากเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังทำให้ลูกไม่มีความทรงจำในการท่องเที่ยวแต่ละที่ของครอบครัวอีกด้วย
ข้อคำนึงของพ่อแม่ ก่อนพาลูกเที่ยวนอกบ้าน
...
การพาลูกอายุน้อยกว่า 1 เดือน เป็นช่วงอายุที่คุณหมอมักแนะนำพ่อแม่ ห้ามพาลูกออกนอกบ้าน เพราะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย แต่หากลูกอายุเกิน 1 เดือน หากพ่อแม่ต้องการพาไปเที่ยวห้าง หรือตามที่ต่างๆ พญ.สุธีรา แนะ พ่อแม่ อย่าชะล่าใจ ควรคำนึงความปลอดภัย ดังนี้
1. การติดเชื้อ หากพาลูกไปเดินห้าง หรือไปในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ ในที่แออัด ในห้องแอร์ที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ไม่มีแสงแดด ไม่มีระบบกำจัดเชื้อโรคฟอกอากาศ โอกาสที่ลูกจะรับเชื้อโรคยิ่งมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งระบบภูมิคุ้มกันยังไม่ดี อาจได้รับเชื้อโรคที่ติดต่อทางละอองฝอยจากการไอหรือจามที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งหากพาลูกไปเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ในโซนเด็ก อาจติดเชื้อโรคที่เด็กคนอื่นเป็นหวัด แล้วอาจมีน้ำมูก น้ำลายเปื้อนป้ายอยู่ แล้วลูกไปจับของเล่นต่อ
นอกจากนี้ลูกอาจเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หวัด ท้องร่วง อาเจียน หรืออาจเป็นโรคที่ร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคเรื้อรังไม่หายขาด เช่น เริมที่ปาก จากการได้รับเชื้อโรคจากคนแปลกหน้า ที่มักอยากสัมผัส แอบหอมแก้ม จับหน้า จับมือลูก เพราะความน่ารัก น่าเอ็นดู
“เด็กเล็กๆ ใครเห็นก็มักจะน่ารัก น่าเอ็นดู หากพ่อแม่จำเป็นต้องพาลูกไปห้าง เพราะไม่มีคนดูแล หรือแม่ต้องไปซื้อของ ให้เลือกช่วงเวลาที่คนไม่พลุกพล่าน คอยระวังไม่ให้คนอื่นจับหรืออุ้มลูก ถ้าลูกเล่นเครื่องเล่น หลังเล่นเสร็จให้รีบพาไปล้างมือทันที หรือแม่พกแอลกอฮอล์เจลไป แล้วให้ลูกถูมือก็ได้”
กระเตงลูก ตะลุยเที่ยว อายุที่ “จำความ” ได้ดี
ส่วนการพาลูกไปเที่ยวทะเล หรือเดินทางไปต่างประเทศนั้น พญ.สุธีรา เปิดเผยว่า ต้องคำนึงถึงอายุลูกเป็นสำคัญ หากลูกยังเล็กเกินไปจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่พ่อแม่คิดว่าลูกจะได้รับ และการเดินทางไกลด้วยรถหรือเครื่องบินหลายชั่วโมง อาจทำให้ลูก และพ่อแม่เหนื่อยโดยไม่จำเป็น หรือเหนื่อยเกินไป หากลูกเดินไม่ไหว พ่อแม่ก็ต้องผลัดกันอุ้ม หรือกระเตงข้าวของและรถเข็นพะรุงพะรัง อาจทำให้เที่ยวไม่สนุก ควรให้ “ลูก” โตและรู้เรื่องมากขึ้นจะดีกว่า เพราะลูกจะได้รับประโยชน์จากการเที่ยวที่คุ้มค่ากับการเดินทางไกลๆ มากขึ้น
...
“พ่อ แม่ อย่ารู้สึกผิดที่ไม่ได้พาลูกเล็กไปเที่ยวไกลๆ เป็นการดีสำหรับลูกที่จะไม่เหนื่อยเกินไป เพราะเด็กเล็กยังไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร จริงๆ เด็กเรียนรู้ตลอดเวลา แต่อายุ 4-5 ขวบขึ้นไป เขาจะจำความได้ เล่าต่อเพื่อนได้ว่าไปเที่ยวไหน ไปทำอะไรมาบ้าง วันที่อากาศดีๆ ควรพาลูกไปวิ่งเล่นขี่จักรยานในสวนสาธารณะ ไปสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ลูกมากขึ้น หากพาเข้าห้างอย่างเดียวเพราะอากาศเย็นสบาย ลูกจะขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งดีๆ อื่นๆ อีกมาก”
รถ เรือ เครื่องบิน พาลูกเที่ยววิธีใดปลอดภัยมากที่สุด
กรณีพ่อแม่ลาพักร้อน และตั้งใจวางแผนเที่ยวแบบครอบครัวให้สุขสันต์เต็มที่ โดยนำลูกเล็กไปด้วย เพราะกลัวว่าจะคิดถึงลูกจนเที่ยวไม่สนุกนั้น ก็ทำได้ โดย พญ.สุธีรา แนะความปลอดภัย หากเดินทางไกลโดยรถ ต้องให้ลูกนั่งในคาร์ซีตเบาะหลังเพื่อความปลอดภัย หากโชคร้ายเกิดอุบัติเหตุ และหยุดพักทุก 2 ชม. เนื่องด้วยลูกอาจเหนื่อยเกินไป
...
หากเลือกเดินทางโดยเครื่องบินระยะไกล ควรรอให้ลูกอายุ 2 เดือนขึ้นไป เพราะร่างกายแข็งแรงพอที่จะทนความเครียดจากการบิน และควรเลือกเวลาเดินทางที่เป็นเวลานอนของลูก เพื่อให้มีปัญหาในการปรับตัวเรื่องเวลาน้อยที่สุด ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรพาลูกเล็กเดินทางไปต่างประเทศที่มีโรคบางโรคที่ทารกยังไม่โตพอที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคชนิดนั้นๆ ได้ ส่วนการเดินทางด้วยเรือ ไม่แนะนำอย่างยิ่ง ด้วยภัยพิบัติทางน้ำและทะเลเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เนื่องจากมักเป็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงและช่วยเหลือได้ลำบาก
“ลูกเล็กอายุอย่างน้อย 1 เดือน พาเที่ยวนอกบ้านได้ แต่เด็กเล็กมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว เจอคนเยอะ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พ่อแม่ต้องคำนึงตามที่หมอแนะนำไว้ข้างต้น กรณีนั่งเครื่องบิน เด็กยังไม่สามารถรับมือกับแรงดันอากาศได้ด้วยตัวเอง มีเคล็ดลับง่ายๆ คือ ให้ลูกดูดนม หรือดูดน้ำจากขวด ก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด ก็จะช่วยลดอาการหูอื้อ และให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ ขณะอยู่บนเครื่องหากต้องเดินทางหลายชั่วโมง เพราะทารกสูญเสียน้ำออกจากร่างกายได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่” พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดกล่าว
...
การดูแลพิเศษ "ทารก" ขึ้นเครื่องบิน อย่างปลอดภัย
แอร์โฮสเตสสายการบินหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมข่าว กรณีการนำทารกขึ้นเครื่องบิน ไปทั้งในต่างประเทศ หรือในไทย ต้องมีอายุระหว่าง 0-2 ปี โดยผู้โดยสารจะต้องแจ้งต่อสายการบินก่อนทุกครั้ง ถ้าเป็นทารกแรกเกิด สายการบินอาจจะขอรายละเอียด หรือใบรับรองทางการแพทย์ก่อน ซึ่งสายการบินมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธหากสุขภาพเด็กคนนั้นไม่พร้อมที่จะขึ้นบิน
บริการพิเศษสำหรับทารกคือ มี Bassinet หรือเปลเด็ก (แบบที่ติดกับpartition)ให้กับทารก โดยพนักงานต้อนรับฯ จะมาติดให้หลัง seat belt sign off และต้องเก็บก่อนที่จะ landing โดยมีข้อจำกัดคือ เด็กจะต้องอายุไม่เกิน 6 เดือน น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลฯ ความยาวของเด็กไม่เกิน 67 ซ.ม. หากเด็กอายุหรือขนาดเกินดังกล่าว จะเป็นอันตรายมาก เพราะเด็กจะดิ้น ตกลงมาได้ ถึงแม้ว่าเปลจะมีแผ่นรัดนิรภัยให้แล้วก็ตาม
ช่วง takeoff landing และอาจวุ่นวาย (turbulence) พ่อแม่จะต้องอุ้มเด็กและรัดเข็มขัดนิรภัยเฉพาะตัวผู้ใหญ่ ไม่ต้องรัดโอบรอบเด็ก ถือเป็นมาตรฐานความปลอดภัยบนเครื่องบิน ในส่วนของ BABY หรือ CHILD RESTRAINT SYSTEM หรือ CAR SEAT ที่ผู้โดยสารจะนำขึ้นเครื่องบิน ต้องเป็นรุ่นที่ได้รับมาตรฐานจาก UN และผลิตภายใต้ US STANDARDS เท่านั้น และขนาดจะต้องไม่เกิน 16 นิ้ว
โดยผู้โดยสาร จะต้องเสียค่าตั๋วสำหรับที่นั่งสำหรับวาง car seat เท่าค่าตั๋วเด็ก ส่วน Bed Box อีกอุปกรณ์หนึ่งที่นิยม ห้ามนำและใช้บนเครื่อง เพราะยังไม่ได้การรับรองความปลอดภัยจาก FAA และ bed box ยังทำให้เกิดการกีดขวาง obstruct เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินบนเครื่องได้
“การบริการ ทางพนักงานต้อนรับถูกฝึกมาให้ดูแลเด็กในกรณีพ่อแม่จะต้องเข้าห้องน้ำ หรืออำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อุ่นนม หรือล้างขวดนมให้ อาหารสำหรับทารก ทางสายการบินก็จะจัดเตรียมให้ตามความเหมาะสม” แอร์โอสเตสสาว ผู้มากประสบการณ์กว่า 20 ปี
การเดินทางท่องเที่ยวกับ “ลูก” เป็นเหตุการณ์ที่ท้าทาย และเป็นโอกาสที่ดีของพ่อแม่ สำหรับสอนลูกให้เรียนรู้การดำเนินชีวิต คำแนะนำดังกล่าวในวันนี้จะช่วยให้ทุกๆ ทริปการเดินทางท่องเที่ยวของครอบครัวปลอดภัย มีความสุข มีคุณค่า และมีความทรงจำที่ดีทั้ง พ่อ แม่ ลูก
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ