จากเงินลงทุนครั้งแรก 28,000 ดอลลาร์ฯ เมื่อปี 1995 ในวันนี้ ปี 2019 ผ่านมา 24 ปี ชายผู้ถูกขนานนามว่า "Iron Man" แห่งโลกความจริง มีความมั่งคั่งสุทธิกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ฯ กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก ... สูตรความสำเร็จของเขาคืออะไร? มาไล่เรียงกันทีละสเตป


จุดกำเนิด "Iron Man" ที่มีนามว่า "อีลอน มัสก์"


"อีลอน มัสก์" หรือชื่อเต็ม "อีลอน รีฟ มัสก์" เด็กน้อยที่มีบุคลิกขี้อาย ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง เริ่มฉายแววความเป็นนักประดิษฐ์และคิดค้นตั้งแต่วัยเยาว์ ช่วงวัย 10 ขวบ มัสก์มีความชื่นชอบเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เริ่มพัฒนาและเรียนรู้ด้วยตัวเองในการสร้างซอฟต์แวร์ จนอายุ 12 ปี มัสก์ก็ประสบความสำเร็จกับ "Blaster" เกมและซอฟต์แวร์แรกในชีวิตเขา


ในปี 1995 แม้จะไม่มีภูมิหลังทางด้าน Computer Science เลยแม้แต่น้อย แต่มัสก์ก็ตัดสินใจเข้าทำงานที่ Netscape บริษัทคิดค้นเว็บเบราว์เซอร์โอเพนซอร์สชั้นนำในยุคนั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 90% แต่สุดท้าย มัสก์ก็ต้องเดินออกมา ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

...


ความท้าทายในชีวิตมัสก์ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง หลังเข้าเรียนระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์และพลังงาน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เพียง 2 วัน มัสก์มองเห็นโอกาสในยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังจะเฟื่องฟู ตัดสินใจดร็อปเรียน แล้วออกมาก่อตั้ง Zip2 (Zip2 Corporation) บริษัทที่เปรียบเสมือนแหล่งจัดหาข้อมูลออนไลน์สำหรับเว็บไซต์ให้กับ The New York Times และ Chicago Tribune ด้วยเงินลงทุน 28,000 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 877,492 บาท ในช่วงนั้น Zip2 ประสบความสำเร็จมากทีเดียว แต่มัสก์กลับไม่มีโอกาสได้นั่งตำแหน่งซีอีโอ ด้วยเหตุผลว่า "อายุยังน้อย" ผ่านไปกว่า 4 ปี Zip2 ผลงานเด่นจนเข้าตา Compaq Computer ติดต่อขอซื้อ ด้วยมูลค่ากว่า 307 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 9.6 พันล้านบาท (มูลค่าหุ้น 34 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท) รอช้าอยู่ไย มัสก์ตัดสินใจตกลงทันที แล้วนำเงินก้อนนั้นมาเริ่มลงทุนกิจการใหม่


มัสก์ไม่ปล่อยให้เสียเวลา ควักเงินลงทุน 11 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 340 ล้านบาท ก่อตั้ง X.Com บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน/การจ่ายเงินออนไลน์ หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างชื่อจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในนาม PayPal ช่วงนั้นแม้ธุรกิจของมัสก์จะไปได้สวย แต่เขากลับโชคร้าย ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องสูญเสียรถสปอร์ตสุดหรู MCLAREN มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 31 ล้านบาท หลังจากหายดีจากอุบัติเหตุ มัสก์ยังคงนำพา PayPal เดินหน้าต่อไปได้อย่างสวยงาม แถมยังได้เลื่อนขึ้นเป็นซีอีโอ หากแต่ระหว่างนั้น มัสก์เกิดความไม่ลงรอยกับผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัท ช่วงที่เขาเดินทางไปฮันนีมูนกับภรรยาก็กลายเป็นช่องว่างให้ถูกเล่นงานลับหลัง ตกจากเก้าอี้ซีอีโอแบบฟ้าผ่า แถมยังต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้มนานถึง 6 เดือน ด้วยโรคมาลาเรียในสมองที่รุนแรงถึงขั้นเกือบเสียชีวิต

©mohamed_hassan
©mohamed_hassan


หลังจากหายดี มัสก์ก็ได้ตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนของ PayPal ซึ่งในช่วงนั้น มัสก์เกิดความคิดว่า เขาอยากจะลองสำรวจอวกาศดูสักครั้ง ถึงขนาดหอบเงินจากการขายหุ้น PayPal ลงทุนเดินทางไปรัสเซียเพื่อขอเปิดดีลเจรจาซื้อจรวดมิสไซล์ โดยยื่นข้อเสนอซื้อมูลค่า 21 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 657 ล้านบาท แต่กลับถูกปฏิเสธ ต้องยอมล่าถอย


ผ่านไป 2 ปี ในเดือนตุลาคม ปี 2002 อีลอน มัสก์ ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด PayPal ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ eBay มูลค่าหุ้นกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ในตอนนั้น ความตั้งใจของมัสก์ในการไปบุกอวกาศยังไม่มอดหายไป นำเงินไปลงทุนเทคโนโลยีด้านอวกาศต่อเนื่อง และยังหอบเงินไปขอตื๊อรัสเซียอีกครั้ง หวังว่าครั้งนี้ต้องสำเร็จ แต่สุดท้ายก็วนอีหรอบเดิม ถูกปฏิเสธรอบสอง แถมยังหยามมัสก์ว่าเป็นแค่ "เจ้าเด็กน้อย" เพียงแค่คำคำเดียวนี่ละ ทำเอามัสก์ถึงกับร้อนรุ่ม บอกกับตัวเองว่า "ต้องสร้างจรวดด้วยตัวเอง"

...

©SpaceX-Imagery
©SpaceX-Imagery


เพียงไม่ถึงปี ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ มัสก์ก็สามารถก่อตั้ง SpaceX (Space Exploration Technologies Corporation) ได้สำเร็จ แถมปีต่อมา 2003 มัสก์ยังก่อตั้ง Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่หวังจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของ เจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors)


และความหวังแรกของมัสก์ก็เริ่มต้นขึ้นในปี 2006 หลังจากซุ่มมานานหลายปี เมื่อ SpaceX เริ่มทำการทดสอบจรวดไปสถานีอวกาศนานาชาติครั้งแรก แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เจอแบบนี้หลายคนคงท้อแล้ว แต่สำหรับมัสก์นั้น "ไม่ใช่" SpaceX ยังคงทดสอบจรวดต่อเนื่องแม้จะเหลวเป๋วทุกครั้ง จนกระทั่งปี 2008 SpaceX กลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จน NASA ตัดสินใจฝากความหวังให้บรรทุกดาวเทียมไปด้วย แต่ก็เช่นเดิม ปล่อยขึ้นฟ้าได้เพียง 2 นาที ก็ล้มเหลว

...


ปี 2010 มัสก์ตัดสินใจนำ Tesla เข้าสู่ตลาดหุ้น โดยเสนอขายหุ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ปิดที่ 23.83 ระดมทุนได้มากถึง 226 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ต่อมาปี 2012 ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของ SpaceX เปิดตัว Falcon 9 ขึ้นสู่อวกาศ มัสก์ถึงกับคุยโวเลยว่า "คล้ายว่าเขาได้รับชัยชนะในการแข่งขันซูเปอร์โบลว์" และยิ่งภูมิใจเข้าไปอีก หลัง Falcon 9 ประสบความสำเร็จในการบรรทุกดาวเทียมโคจรรอบโลก แถมช่วงนั้น Tesla ก็นับว่าไปได้ดีทีเดียว เปิดตัว Model S รถยนต์ซีดานไฟฟ้ารายแรก ได้รับรางวัลรถยนต์แห่งปี 2013 ช่วงเดือนนั้น Tesla หุ้นขึ้น 23.149 จุด


ความสำเร็จปี 2013 ของ อีลอน มัสก์ ยังไม่หมด ในปีนั้นเขายังเปิดเผยคอนเซปต์ Hyperloop นวัตกรรมที่จะมาช่วยด้านคมนาคม เป็นท่อสุญญากาศ ความเร็วสูงกว่า 700mph โดยมัสก์บอกว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 ปีในการสร้างและเริ่มใช้


เส้นทางความล้มลุกคลุกคลานของมัสก์ยังไม่จบ ปี 2016 ทั้ง SpaceX และ Tesla เกิดปัญหา Model X ส่งมอบช้ากว่ากำหนด แถมจรวดที่บรรทุกดาวเทียมของ Facebook ที่มีมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 9.3 พันล้านบาท ล้มเหลว ปีนั้นความมั่งคั่งสุทธิของมัสก์ลดลงกว่า 8 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 3.8 แสนล้านบาท

...


แต่ชีวิตล้มเหลวของมัสก์ก็กลับมาสดใสอีกครั้ง เมื่อจรวด Falcon 9 สามารถลงจอดบน Drone Ship กลางทะเลสำเร็จ แถมยังประสบความสำเร็จในการทดสอบการปล่อยตัวจรวดที่ทรงประสิทธิภาพอย่าง Falcon Heavy ซึ่งการทดสอบครั้งแรกจะบรรทุก Tesla Roadster สีแดงเชอร์รี่ของมัสก์ไปด้วย แถมรัฐบาลสหรัฐฯ ยังอนุมัติให้ SpaceX เริ่มปฏิบัติการกองรบดาวเทียมขึ้นสู่วิถีวงโคจรโลก แม้ SpaceX ไปได้ดี แต่มัสก์กลับต้องเผชิญกับความล้มเหลวของ Tesla ประกาศเลื่อนเป้าการผลิต Model 3 เหตุจากระบบการผลิตมีปัญหา เรียกคืน Model S กว่า 123,000 คัน แถมยังเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ Autopilot ขัดข้อง ช่วงเดือนนั้น หุ้น Tesla ร่วงหนักที่สุด 76.93 จุด


จากนั้นไม่นาน มัสก์ส่งสัญญาณปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เรียกเสียงฮือฮาลงทุกหน้าสื่อ พนักงานระส่ำระสาย สุดท้ายประกาศฟ้าผ่าปลดพนักงาน 9% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และมัสก์ยังปล่อยระเบิดลูกใหญ่อีกลูก ด้วยการจะเอา Tesla ออกจากตลาดหุ้น หลังจากประกาศหุ้น Tesla ร่วงทันที 11% เกิดเป็นการยื่นฟ้องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) สุดท้าย มัสก์ยอมถอยไม่นำ Tesla ออกตลาดหุ้นแล้ว พร้อมทำตามข้อตกลง SEC ด้วยการลงจากตำแหน่งประธาน Tesla 3 ปี พร้อมจ่ายค่าปรับ 20 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 620 ล้านบาท ... ปี 2018 นับเป็นปีแห่งหายนะของมัสก์เลยก็ว่าได้ ความมั่งคั่งสุทธิลดเหลือ 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 6.1 แสนล้านบาท


และล่าสุด ปี 2019 ผ่านมาครึ่งปี แม้จะมีอีกหลายโครงการที่กำหนดเดิมต้องเปิดตัวในปีนี้ แต่ท้ายที่สุด กลับเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด แต่สถานะความมั่งคั่งของ อีลอน มัสก์ ได้พลิกฟื้นกลับมาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 6.96 แสนล้านบาท


สำหรับอนาคตต้องจับตาต่อไปว่า "อีลอน มัสก์" จะนำพา Innovation ของตนเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้สำเร็จจริง ๆ หรือไม่ และต้องล้มอีกกี่ครั้งถึงจะสำเร็จ


"if things are not failing, you are not innovating enough"

(ความล้มเหลวถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หากไม่เคยล้มเหลวเลย นั่นแสดงว่า คุณยังไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพียงพอ) - อีลอน มัสก์