ภัยเงียบที่มากับหน้าฝน และตอนนี้กำลังระบาดอย่างหนักทำให้มีคนป่วยและเสียชีวิตมากกว่า 2 เท่าในปีที่ผ่านมา

ใช่แล้ว ภัยที่น่ากลัวนี้คือ "ไข้เลือดออก" โดยจากสถิติกรมควบคุมโรค ประจำสัปดาห์ที่ 21 ปี 2562 (ข้อมูลวันที่ 5 มิ.ย. 62) พบว่า สถิติคนป่วยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 (ในช่วงเวลาเดียวกัน) พบว่า ไข้เลือดออกจากระบาดหนักในช่วงปี 2558 คือ มีผู้ป่วย 21,232 ราย ตาย 11 ราย อัตราการป่วยต่อแสน คือ 32.60

ปัจจัยไข้เลือดออกระบาดหนัก ตัวเลขเจ็บตาย สูงสุดในรอบหลายปี

แต่ในปีนี้ ปรากฏว่า ตัวเลขน่าตกใจกว่านั้น คือ มีผู้ป่วยถึง 26,430 ราย ตายถึง 41 ราย อัตราการป่วยต่อแสนคน พุ่งขึ้นถึง 40.01

 

...

คำถามคือ อะไรทำให้ปัจจัยไข้เลือดออกระบาดหนักขึ้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า จากตัวเลขผู้ป่วยนี้เป็นเพียงตัวเลขที่รับรายงานเข้ามา แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ส่งข้อมูลมา หรือ ผู้เสียชีวิตบางรายก็อาจจะอยู่ในขั้นตอน "สอบสวนโรค" อยู่ ฉะนั้น ตัวเลขที่แท้จริงก็อาจจะมากกว่านี้

เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 (ป่วย 14,973 ราย ตาย 19 ราย อัตราป่วยต่อแสน 22.74) ซึ่งที่จริงเรามีการคาดการณ์อยู่แล้วว่าปีนี้จะป่วยมากกว่าปีก่อน เพราะเมื่อเราย้อนดูสถิติปี 58 เราจะทราบรูปแบบมันว่าไข้เลือดออก มักระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี ซึ่งความจริงปีที่แล้ว ควรจะเป็นที่ปีระบาดหนัก แต่เราเดินหน้าทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยจิตอาสาหลายๆ ส่วน ทำให้เราลดผู้ป่วยลงได้กว่า 5 หมื่นราย โดยช่วยผู้ป่วยไม่เสียชีวิตกว่า 50 ราย

4 ปัจจัย “ไข้เลือดออก” ระบาดหนัก อากาศร้อน ยุงโตไว

เอาละ..เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ก็เข้าคำถามว่า เพราะอะไร ปีนี้ไข้เลือดออกระบาดหนักกว่าทุกปี อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า มันจะเป็นรูปแบบการระบาดของไข้เลือดออก แต่ในปีนี้มันมีปัจจัยอื่นผสมอีก 4 ปัจจัย อันได้แก่

1. อากาศร้อนยุงโตเร็ว

หากเราสังเกตจะรู้ว่าปีนี้มีอากาศร้อนมากขึ้นและร้อนเร็วขึ้น ซึ่งอากาศร้อนแบบนี้ทำให้ช่วงจังหวะการเจริญของเติบโตของยุงเปลี่ยนไป โดยมันจะโตเต็มวัยได้เร็วขึ้น เช่น โดยปกติยุงจากไข่โตเต็มวัยจะใช้เวลา 7 วัน แต่พออากาศร้อนจากไข่โตเต็มวัย อาจใช้เวลา 5 วัน

ยุงลายวางไข่ทีละฟองในภาชนะขังน้ำฝนหรือน้ำสะอาดต่างๆ ตรงระดับน้ำหรือบริเวณใกล้ๆ ในถังน้ำ ตุ่มน้ำ แจกัน ถ้วยรองตู้กับข้าว กระป๋องต่างๆ กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ที่มีน้ำขัง หรือซอกก้านกล้วยที่มีน้ำขัง และอาจเพาะพันธุ์ในน้ำกร่อยได้

ไข่ยุงลายมีสีดำ ยุงตัวเต็มวัยเพศเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิต ครั้งละ 100-140 ฟอง บริเวณผิวน้ำนิ่ง ถึงแม้น้ำจะแห้งไปแล้ว ไข่ของยุงก็จะติดอยู่กับพื้นผิว เช่น ขอบโอ่งได้ และทนอยู่ในสภาวะแห้งแล้งได้นาน 1 ปี พอฤดูฝนวนกลับมาอีกครั้ง มีความชื้นเหมาะสม ไข่ก็จะฟักเป็นลูกน้ำได้ภายใน 2-4 วัน ลูกน้ำมี siphon สั้น และดำ ลำตัวตั้งเกือบตรง ว่ายน้ำคล้ายงูเลื้อย ไม่ชอบแสง มีช่วงเติบโต 4 ระยะ เมื่อลูกน้ำอายุประมาณ 6-8 วัน ก็จะเป็นดักแด้ (ประมาณ 4-7 วัน ในอากาศอบอุ่น) ดักแด้หรือตัวโม่ง มี trumpet เป็นสามเหลี่ยมกว้าง และอีก 1-2 วัน เป็นยุงตัวเต็มวัย หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผสมพันธุ์กินเลือด แล้วอีก 2-3 วัน วางไข่

...

ดังนั้น วงจรชีวิตยุงลายมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (holometabolous หรือ complete metamorphosis) ครบทั้งสี่ขั้นตอนเหมือนกับผีเสื้อ เริ่มจากไข่ → ตัวอ่อน (ลูกน้ำ) → ดักแด้ (ตัวโม่ง) → ตัวเต็มวัย และวนกลับไปวางไข่อีกครั้ง กินเวลาทั้งหมดอย่างน้อย 7-9 วัน ยุงลายก็จะยังเป็นยุงลายเหมือนเดิม

...


 2. แหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีมาก

ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตก เมื่อฝนตกจะมีหลายพื้นที่พบมีภาชนะน้ำขัง ซึ่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเยอะ ทำให้มีคนป่วยเยอะ

3. เด็กโต ผู้ใหญ่ป่วยไข้เลือดออก ต้นเหตุระบาดหนัก

ปัจจุบันไข้เลือดออกไม่ได้ระบาดแต่ในเด็กเล็กเท่านั้น แต่เด็กโต หรือผู้ใหญ่ก็ระบาดมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ป่วยไข้เลือดออก หรือที่เรียกว่า “ไวรัสเดงกี่” เดินทางไปสถานที่ต่างๆ ประกอบกับมียุงลายมากขึ้น เมื่อไปกัดคนที่มีเชื้อแล้วไปกัดคนอื่นต่อก็ยิ่งทำให้ไข้เลือดออกแพร่กระจายมากขึ้น

“สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากในปีนี้ เพราะคนที่ป่วยที่เป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ไม่คิดว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออก มักเข้าใจผิดว่าจะเป็นเฉพาะเด็ก แต่เมื่อเริ่มมีอาการป่วยมากขึ้น ผ่านไป 2-3 วัน ค่อยมาหาหมอ หรือบางรายหาซื้อยากินเอง ซึ่งหากป่วยไข้เลือดออก กินแค่พาราฯ ไข้จะไม่ลด หรือไปกินยา เช่น NSAIDs, สเตียรอยด์ ซึ่งยา 2 ตัวนี้อาจจะช่วยลดไข้แต่ผลร้ายคืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

4. ผู้ป่วยไข้เลือดออกซ้ำ ไวรัส “เดงกี่” สายพันธุ์ 2 เสี่ยงตายมากกว่า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กลไกของโรคไข้เลือดออก จะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ไวรัสเดงกี่ สายพันธุ์ที่ 1 2 3 และ 4 หากเราติดเชื้อเดงกี่ครั้งแรก โดยไม่มีอาการอื่นแทรก จะมีอาการมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจจะมีผื่น ซึ่งโดยทั่วไป 7 วันก็จะหาย

“แต่เมื่อเคยป่วยไข้เลือดออกแล้ว ผู้ป่วยเหล่านั้นก็จะมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่.. มันไม่พอเพียงในการป้องกันในสายพันธุ์อื่น เช่น หากเราติดเชื้อไวรัสเดงกี่ สายพันธุ์ 1 จากนั้นป่วยอีกครั้งในสายพันธุ์ที่ 3 ก็จะมีอาการป่วยไข้เลือดออกหนักขึ้น อาจจะมีเลือดออก หรือภาวะพลาสมาไหลออกจากเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่อาการช็อก แต่หากป่วยไข้เลือดออกซ้ำ หากเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ 2 อาการป่วยไข้เลือดออกจะมีความรุนแรงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ง่ายกว่า”

...

อ้วน มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน และโรคปัญหาภูมิคุ้มกัน รักษาไข้เลือดออกยากกว่า

อธิบดีกรมควบคุมโรคเน้นย้ำว่า สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรือแม้แต่คนอ้วน หากป่วยไข้เลือดออกจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เพราะวิธีการรักษาที่ยากกว่า

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีข้อสังเกตบางประการที่ระบุว่า คนที่มีโรคประจำตัวแล้วป่วยไข้เลือดออกแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า คือ “ผู้ป่วยโรคหัวใจ” เพราะผู้ป่วยโรคหัวใจเวลารักษาต้องมีการจำกัดน้ำ แต่การรักษาไข้เลือดออกต้องให้น้ำเกลือที่จะให้ผู้ป่วย ซึ่งยากต่อการคำนวณปริมาณน้ำ เช่นเดียวกับ “คนอ้วน” การให้น้ำเกลือ ต้องคำนวณตามน้ำหนักตัว นอกจากนี้ ยังมี “โรคเกี่ยวกับภูมิต้านทาน” เช่น SLE (แพ้ภูมิตัวเอง) โรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งปกติแล้วแค่ไข้เลือดออก ก็รักษายากอยู่แล้ว ยิ่งมีโรคประจำตัวก็ยิ่งทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

รูปแบบการระบาด ไข้เลือดออก เริ่มตั้งแต่ใต้ ระบาดจนถึงภาคเหนือ

อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายรูปแบบการระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า โรคไข้เลือดออกมีความสัมพันธ์กับฤดูฝน ดังนั้น ช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม ปีที่แล้ว ไข้เลือดออก เริ่มมีการระบาดในภาคใต้ เพราะฝนมาก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ขึ้นมา ภาคกลาง กรุงเทพฯ จากนั้นก็ค่อยๆ กระจายออกรูปแบบเหมือนปีกผีเสื้อ ไปภาคตะวันออก อีสาน แล้วไปภาคเหนือ ซึ่งช่วงนี้ (มิถุนายน) จะอยู่ที่ภาคอีสานกลาง แล้วค่อยๆ ขึ้นไปภาคเหนือ ซึ่งตรงนี้คือรูปแบบการระบาดไข้เลือดออกที่สัมพันธ์กับระยะเวลาฤดูกาล

“สิ่งที่อยากย้ำเตือนคือ หากเป็นไข้ กินยาแล้ว 2 วันไข้ไม่ลด ให้นึกไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก หากอาศัยในพื้นที่ที่หน่วยราชการประกาศว่าเป็นพื้นที่ไข้เลือดออกระบาด ก็ยิ่งตระหนักมากขึ้น ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำว่าให้รีบไปหาแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว”

อีกวิธีที่สำคัญ คือ การรู้จักป้องกันตัวเอง ด้วยการทายากันยุง และพยายามทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่อง ทุก 7 วัน ตามวงจรชีวิตยุง (โตเต็มวัยทุก 7 วัน) กรณีที่พบคนป่วยไข้เลือดออกในชุมชน เราต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะ ไม่ใช่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแต่บ้านเรา แต่ข้างบ้านไม่ทำลาย ฉะนั้น หากเริ่มมียุงลาย ก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาพ่นยา และควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มาฉีดพ่น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน