ศึก "หัวเว่ย" VS "สหรัฐฯ" ภายใต้การนำของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ยังไม่จบ ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะของการดูท่าที แม้บริษัทสัญชาติอเมริกันจะเรียงหน้าออกมา "แบนหัวเว่ย" ต่อเนื่อง แต่ทางหัวเว่ยเองกลับมองว่า เป็นสถานะ "จำยอม"... เมื่อสหรัฐฯ ปกครองประเทศด้วยกฎหมาย บริษัทสัญชาติอเมริกันทั้งหลายจึงจำเป็นต้อง "ทำตามกฎหมาย" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ณ ปัจจุบัน เรียกได้ว่า "หัวเว่ย" คือ บริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของจีน และเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลังสามารถแซงหน้า "แอปเปิล" (Apple) ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจาก "ซัมซุง" (SAMSUNG) นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในอนาคต ทั้งรถยนต์ไร้คนขับ เมืองอัจฉริยะ การจราจรอัจฉริยะ หรือแม้แต่โรงงานอัจฉริยะ
แต่... การเติบโตของ "หัวเว่ย" ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อประเทศฝั่งตะวันตกมีปฏิกิริยาไปในทางเดียวกับสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาระบุว่า "เครือข่ายและโทรศัพท์หัวเว่ยถูกควบคุมโดยรัฐบาลจีน มีความเสี่ยงที่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จะรั่วไหล" และยังกดดันประเทศอื่นๆ ให้ร่วมกันแบนหัวเว่ยจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยว่า ทิศทางของหัวเว่ยในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ก้าวต่อไปของ 5G หัวเว่ยจะเป็นรูปแบบไหน? แม้ในขณะนี้สหรัฐฯ จะออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับหัวเว่ย หรือผ่อนผันการแบนหัวเว่ยออกไป 90 วัน
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม Open Lab หัวเว่ย และพูดคุยกับ นายโจว เจิ้น ผอ.ฝ่ายกิจการสาธารณะและการสื่อสารภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บจก.หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) โดย นายโจว เปิดเผยว่า หัวเว่ยได้นำนวัตกรรมดิจิทัลที่ดีที่สุดของโลกและโซลูชั่นที่ดีที่สุดมาสู่ประเทศไทย และปี 2562 หัวเว่ยได้เปิด Open Lab เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเมื่อเดือนกันยายน 2561 หัวเว่ยได้มีการติดตั้ง Cloud Service ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเอกชนในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ซึ่งช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานราชการสนใจการพัฒนาบุคลากรด้านไอซีที (ICT) เพราะการศึกษาเป็นรากฐาน Digital Engine ในปีที่ผ่านมาได้มีโครงการฝึกอบรม โดยมีนักวิจัยที่มีความสามารถด้านไอซีทีเข้าร่วมกว่า 35,000 คน และยืนยันว่า บริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยทุกอย่าง ทั้งด้านสรรพากร แรงงาน หรือวีซ่า โดยจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยกว่า 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,647 ล้านบาท และมีการจ้างงานจำนวน 8,000 อัตรา
"หัวเว่ย ประเทศไทย" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวเว่ยได้ร่วมพัฒนาระบบเทคโนโลยีกับหลายหน่วยงานของไทย อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่ในอนาคตจะไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาคอยจดตัวเลขมิเตอร์ แต่ตัวเลขมิเตอร์จะส่งไปยัง PEA เลย ไม่ต้องเสียเวลาและยังมีความแม่นยำ รวมถึงกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 โดยกล้องจะสามารถตรวจจับใบหน้าเพื่อดูว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในลิสต์หรือไม่ เช่น อาชญากร เมื่อมีการเปรียบเทียบใบหน้าเสร็จ ระบบจะประมวลผลและแสดงชื่อพร้อมข้อมูลต่างๆ ซึ่งกล้องสามารถตรวจจับใบหน้าได้พร้อมกันสูงสุดมากกว่า 100 ใบหน้า และหากพบว่าบุคคลที่ตรวจจับได้เป็นอาชญากรหรือบุคคลต้องสงสัยจะมีการแจ้งเตือนทันที
สำหรับในปีนี้ หัวเว่ยได้นำ Smart Technology ยกมาวางที่ประเทศไทย และจะมีการเริ่มทำงาน 5G อย่างจริงจัง จะมีการผลิตชิพเซ็ต 5G ออกมาแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงสมาร์ทโฟนที่เป็น 5G ก็จะมีออกมาแน่นอน และจะมาพร้อมแอปพลิเคชันอย่าง วิดีโอ เกมมิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการทดสอบแล้ว
...
ควรแยกการเมืองออกจากเทคโนโลยี
สำหรับกรณีมาตรการของสหรัฐฯ ที่มีต่อ "หัวเว่ย" นั้น นายโจว กล่าวว่า สหรัฐฯ ใช้วิธีการการแข่งขันทางการค้าที่ไม่ใช่วิธีทางการตลาด แต่เป็นการกีดกันและกดดัน มาตรการที่สหรัฐฯ ใช้กับหัวเว่ยในครั้งนี้เป็นวิธีการที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราทราบดีว่าทั่วโลกมีความห่วงใยด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบอินเทอร์เน็ต แต่ว่าความปลอดภัยก็ควรแก้ไขด้วยเทคโนโลยี ควรแยกการเมืองออกจากเทคโนโลยี การกีดกันบริษัทเทคโนโลยีแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นความปลอดภัยควรแก้ด้วยเทคโนโลยี การจัดการ และการบริหาร
"ประหลาดใจอยู่เหมือนกันที่สหรัฐฯ มาเล่นงานหัวเว่ย หัวเว่ยเป็นแค่ธุรกิจธรรมดาแห่งหนึ่ง มีการติดต่อทำการค้า 172 ประเทศทั่วโลก มีพนักงาน 188,000 คน ปฏิบัติตามกฎหมายมาโดยตลอด รวมทั้งมีการทำซีเอสอาร์ (CSR) ต่อเนื่อง สงครามการค้าเป็นเรื่องของประเทศชาติ หัวเว่ยเป็นแค่บริษัทเทคโนโลยี เราจะทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าสงครามการค้าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ขอทำงานให้ดีก่อน 30 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเชื่อมโลกตลอดเวลา การที่สหรัฐฯ ทำแบบนี้ ย่อมทำลาย Supply Chain, Solution Chain ทำให้เกิดการแตกแยกกัน"
...
แน่นอนว่าสงครามการค้าที่ผันมาสู่ "สงครามเทคโนโลยี" ครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อหัวเว่ย ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ จนสื่อหลายสำนักมีการรายงานว่า "หัวเว่ยยอดขายตก" ในประเด็นนี้ นายโจว กล่าวว่า ผลกระทบต่อยอดขายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งหัวเว่ยยืนยันแล้วว่า ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปแล้วหรือวางตลาดอยู่จะไม่กระทบ รวมถึงกูเกิล (Google) เองก็ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งหัวเว่ยได้มีการติดต่อกับพันธมิตรอยู่เสมอ มั่นใจว่าจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาได้ ในเรื่องของยอดขายก็มีขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้กระทบอะไรมากมาย ไตรมาสแรกปี 2562 ยอดขายทั่วโลกเติบโต 39% และในเดือนเมษายนเติบโต 25% ในส่วนของยอดขายที่แน่ชัดนั้นอาจจะตอบยาก เพราะหัวเว่ยไม่ได้มีสินค้าเพียงประเภทเดียว แต่มีถึง 4 ประเภท คือ 1.การดำเนินธุรกิจร่วมโอเปอเรเตอร์ 2.การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ 3.สมาร์ทโฟน และ 4.ระบบ Cloud-AI
"20 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยใช้เงินมากกว่า 10% ของยอดขาย ในการลงทุน R&D โดยในปี 2561 หัวเว่ยลงทุน R&D จำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์ฯ (4.7 แสนล้านบาท) และ 5 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ (3.1 พันล้านบาท) มีผู้ชำนาญการทั่วโลก รวมถึงพนักงาน R&D กว่า 80,000 คน"
...
เมื่อถามว่า สมาร์ทโฟนรุ่นต่อไปของหัวเว่ยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการของหัวเว่ยเองเลย หรือจะชะลอการออกรุ่นใหม่ก่อนเพื่อดูท่าทีของสหรัฐฯ นายโจว กล่าวว่า กรณีนี้มีปัจจัยหลายอย่างมากที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะชะลอการจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นต่อไปหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ หัวเว่ยได้มีการหารือกับทางกูเกิลอยู่ตลอด และกูเกิลเองได้มีการติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะมีความกังวลอยู่เหมือนกัน
นายโจว กล่าวย้ำตอนท้ายว่า วิชั่นของหัวเว่ย คือ ดิจิตอลต้องเข้าถึงทุกครอบครัว ทุกอย่างต้องเชื่อมถึงกันหมด สิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดคือ ความเชื่อมโยง
เราไม่ควรจะตกเป็นเป้าหมายของการชักจูงที่มีสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี
นอกจากนี้ ทาง "หัวเว่ย" ยังมอบบทสัมภาษณ์ของ นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธาน บริษัท หัวเว่ยฯ ครั้งสัมภาษณ์กับสื่อจีนบางสำนัก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง นายเหริน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เราได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และอะไหล่จำนวนมากในสหรัฐฯ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อต้องเจอกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกได้ถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจที่บริษัทเหล่านี้มีต่อเรา ราวๆ ตี 2 หรือ ตี 3 นายอีริค ซหวี่ หนึ่งในประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้โทรมาหาผมและบอกว่า ซัพพลายเออร์ในสหรัฐฯ ของเราทำงานหนักเพียงใดเพื่อเตรียมสต็อกสินค้าให้เรา ผมถึงกับน้ำตาไหล ดังคำกล่าวที่ว่า การกระทำที่ชอบธรรมจะได้รับพลังสนับสนุนมหาศาล ขณะที่สิ่งที่ไม่ชอบธรรมจะได้ความช่วยเหลือเพียงน้อยนิด เพราะจนถึงปัจจุบัน บริษัทอเมริกันบางรายยังคงหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงเรื่องการขออนุมัติอยู่
เราจะไม่ทิ้งพันธมิตรสหรัฐฯ ของเรา หรือหาทางเติบโตด้วยตัวเราเองทั้งหมด แต่เราจะเติบโตไปด้วยกัน
แม้ว่าบริษัทคู่ค้าของเราจะไม่สามารถจัดส่งชิพได้มากเพียงพอ แต่เราก็ไม่มีปัญหา เพราะเราสามารถผลิตชิพคุณภาพสูงที่เราต้องการได้เองทั้งหมด ในช่วงเวลาที่ "สงบสุข" เราใช้นโยบาย "1+1" คือ ชิพครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทในสหรัฐฯ และครึ่งหนึ่งมาจากหัวเว่ย แม้ชิพของเราจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ผมก็ยังจะซื้อชิพที่มีราคาสูงกว่าจากสหรัฐฯ เราไม่สามารถอยู่แยกจากโลกนี้ได้ ดังนั้นเราก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของมัน
"ผมไม่ใช่คนที่อ่านใจใครได้ เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว นักการเมืองสหรัฐฯ กำลังคิดอะไรอยู่ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะตกเป็นเป้าหมายของการชักจูงที่มีสหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี เพียงเพราะเรามีความก้าวหน้ากว่าสหรัฐฯ เทคโนโลยี 5G ไม่ใช่ระเบิดปรมาณู แต่เป็นสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน