คุณรู้หรือไม่! ทุกค่ำคืนใน 50 เขตของ กทม. ตลอด 365 วัน ช่วงเวลา 18.00-06.00 น. ขณะคนส่วนมากนอนหลับพักผ่อน แต่มีกองทัพรถสีเขียวคันใหญ่ยักษ์ 500 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำรถ 5 คน รวมทั้งสิ้นสองพันกว่าชีวิต ออกปฏิบัติหน้าที่ “เก็บขยะ” ตามเส้นทางในเขตของตนที่เป็นหน้าที่ต้องรับผิดชอบไปจนกว่าจะลาออกหรือเกษียณ

"คนเก็บขยะ" หรือ พนักงานเก็บขนขยะมูลฝอย อาชีพที่ถูกมองด้วยความรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ หรือแม้แต่จะให้จอดรถหน้าบ้าน เพราะกลิ่นขยะเหม็นโชยจนต้องปิดจมูก น้อยคนนักจึงจะเลือกทำอาชีพนี้ แต่พวกเขากลับยอมรับและกล้าทำแม้จะโดนดูถูก เหยียดหยามก็ตาม จึงถือเป็นอาชีพที่น่ายกย่องในความเสียสละเพื่อบ้านเมืองสะอาด น่าอยู่

เบื้องหลังการทำงาน หลังทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ลงพื้นที่เกาะติดชีวิต ติดตามดูภารกิจทีมเจ้าหน้าที่เก็บขยะ สำนักงานเขตดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ถนนคับแคบ และมีชุมชนแออัดมาก บางซอยมีรถประชาชนจอดหน้าบ้าน

...

ตลอดการทำงาน 8 ชั่วโมงทำให้รู้ว่าพวกเขาทุ่มเท ทำงานหนักอย่างเต็มที่ ต้องเดินเข้าซอยไกลหลายร้อยเมตร เพื่อ ชัก ลาก กลิ้งเข็นถังขยะคนละไม่ต่ำกว่า 50 เที่ยวต่อซอย เพื่อมาที่รถ และนำถังไปวางไว้จุดเดิม กว่าจะเก็บขยะหมดต้องเดินไปกลับ ยกถังขยะที่หนักเกิน 100 กิโลฯ

“ฟันแฟลต” งานหนักสาหัส เหม็นเน่าที่สุด คนใหม่ทำวันเดียว ลาออก
“ฟันแฟลต” งานหนักสาหัส เหม็นเน่าที่สุด คนใหม่ทำวันเดียว ลาออก

โดยเฉพาะ “การฟันแฟลต” ซึ่งเป็นงานที่หนักสุด ถึงขั้นคนงานมาใหม่มาทำครั้งแรก รุ่งขึ้นขอลาออกทันที ในการทำงานพวกเขายังเจออุปสรรคปัญหา เสี่ยงชีวิตนานัปการ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ที่เป็นผลพวงจากการไม่แยกขยะของคนไทย

อาชีพ “พนง.เก็บขยะ” ต้องพก "ใจ" มาทำล้วนๆ 

นายนที นรากรณ์ เจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาด ปฏิบัติงาน ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตดินแดง เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่า กทม. มีรถเก็บขยะ 2 ประเภท คือ สีเหลือง ของกทม. 1,500 คัน ซึ่งใช้งานมานานหลายสิบปี บางคันเริ่มเสื่อมสภาพ และรถเก็บขยะสีเขียวของเอกชนมีขนาดความจุ 2 พันตัน และ 5 พันตัน กทม.ว่าจ้าง 500 คัน รวมทั้งสิ้น 2,000 คันต่อวัน

รถขยะ 1 คัน จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย คนขับรถ 1 คน และเจ้าหน้าที่เก็บขยะ 4 คน ทำงานกันเป็นทีม โดยรถวิ่งเก็บขยะ 2 เที่ยวต่อคืน เมื่อทีมชุดแรกเก็บขยะจนอัดบีบเต็มรถ และนำขยะไปทิ้งปลายทางที่โรงกำจัดขยะของ กทม. ตั้งอยู่บริเวณซอยอ่อนนุช 86 แล้ว จะมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะชุดใหม่มาทำหน้าที่ต่อ

เก็บขยะมาราธอน 6-10 ชั่วโมง "ขาขาด" อุบัติเหตุไม่คาดคิด 

เส้นทางการเข้าเก็บขยะ จะถูกประเมินและวางแผนตามเจ้าหน้าที่เขต ซึ่งต้องทำในช่วงเวลา 18.00 - 06.00 น. เท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบการจราจรของประชาชน เขตดินแดงใช้รถสีเขียวทั้งสิ้น 41 คันต่อคืนในการเก็บขยะตามถนนหลักกับถนนรอง คือ ถนนประชาสงเคราะห์ทุกซอย ถนนรัชดา ถึง รัชดา 19 ถนนวิภาวดี ขาเข้า ตั้งแต่ซอยวิภาวดี 12 ถึง สามเหลี่ยมดินแดง และซอยแยกย่อยทั้งหมด

ฝีมือการขับรถขยะเข้าพื้นที่แคบจากประสบการณ์ 24 ปี ของ  นายโลม ทองงาม พนักงานขับรถ ซึ่งบางครั้งต้องมาช่วยเก็บขยะ หากในทีมลาป่วยพร้อมกัน
ฝีมือการขับรถขยะเข้าพื้นที่แคบจากประสบการณ์ 24 ปี ของ นายโลม ทองงาม พนักงานขับรถ ซึ่งบางครั้งต้องมาช่วยเก็บขยะ หากในทีมลาป่วยพร้อมกัน

...

การเก็บขยะต่อวัน วันละ 6-10 ชั่วโมง โดยไม่พักจนกว่าจะเก็บขยะในพื้นที่รับผิดชอบจนหมด พวกเขาต้องเสี่ยงกับอันตรายจากขยะที่ไม่ได้คัดแยก เสี่ยงกับเชื้อโรค แบคทีเรีย โรคทางเดินหายใจ รวมถึงเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนขณะปฏิบัติหน้าที่ ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม. เขตดินแดงถูกรถแท็กซี่ชนขณะกำลังคัดแยกขยะอยู่ด้านหลังรถ ทำให้ต้องสูญเสียขาไปหนึ่งข้าง กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต

ขยะอันตรายจะถูกคัดแยกพักเก็บไว้ที่คอเก็บของรถ จากนั้นนำไปรวมไว้ใต้ทางด่วนดินแดงซึ่งเป็นที่เก็บขยะอันตราย
ขยะอันตรายจะถูกคัดแยกพักเก็บไว้ที่คอเก็บของรถ จากนั้นนำไปรวมไว้ใต้ทางด่วนดินแดงซึ่งเป็นที่เก็บขยะอันตราย

“รถขยะสตาร์ตเครื่องตลอดเวลาเพราะต้องใช้แรงในการอัดขยะ อาจมีเสียงดังบ้าง บางครั้งถอยรถก็ตะโกนบอกกันเพราะซอยคับแคบ มีรถประชาชนจอดอยู่ ทุกคนพยายามเต็มความสามารถเพื่อลดปัญหาการจราจร ทำบ้านเมืองให้สะอาดเต็มที่ตามนโยบาย อยากให้ประชาชนเข้าใจ เห็นใจการปฎิบัติหน้าที่ อันไหนช่วยได้ก็ช่วยกัน คัดแยกขยะ เพื่อลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเจอทุกวันคือกลิ่นเหม็นจนเกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ ท้องร่วง ท้องเสีย” นายนทีกล่าว

...

นายสวอง ยอดดำเนิน
นายสวอง ยอดดำเนิน "นิ้วแหว่ง" ไปตลอดชีวิต เกิดอุบัติเหตุขณะเก็บขยะ

"ไม้จิ้มลูกชิ้น"หรือ "ก้างปลา" ทำ "นิ้วแหว่ง" ตลอดชีวิต 

อันตรายและอุบัติเหตุจากการไม่แยกขยะ เจ้าหน้าที่เก็บขยะทุกคนเจอจนชิน ทั้งไม้จิ้มลูกชิ้นแหลมๆ ทิ่ม แก้วแตก กระจกแตกบาดมือ แม้จะป้องกันและระวังโดยการใส่ถุงมือ 2 ชั้นแล้วก็ตาม

นายสวอง ยอดดำเนิน อายุ 55 ปี ซึ่งทำมา 28 ปี ก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้รับอุบัติเหตุถูกสิ่งของบางอย่างซึ่งไม่รู้ว่าเป็นไม้จิ้มลูกชิ้น หรือเศษก้างปลาทิ่มนิ้วมือจนบวม เป็นหนอง ต้องผ่าตัด พักรักษาตัวนานเกือบสองอาทิตย์ ส่งผลให้นิ้วแหว่งไปตลอดชีวิต

...

ทีมข่าวฯ ถามถึงเหตุผลที่ยังทำอาชีพนี้ ทั้งๆ ที่ได้รับอันตรายจนนิ้วแหว่งมาแล้ว ทำไมจึงเลือกทำต่อ นายสวองกล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า

“งานสกปรกที่คนส่วนใหญ่รังเกียจ ในเมื่ออาสาตัวมาทำแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ ช่วยเหลือประชาชนไปเพื่อทำความสะอาดของ กทม.ให้ดีที่สุด” นายสวองกล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

เศษเงิน ซากแมวตาย ชัก ลากถังขยะหนัก 200 กิโลฯ

ด้าน นายอนุวัตน์ สิทธิ อายุ 32 ปี ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ 4 เดือน โดยก่อนหน้านี้ได้ทดลองเก็บขยะกับลุงที่เขตวัฒนา 4 เดือน ก็เจอขยะมาหมดทุกประเภท แม้แต่เศษเงิน 5 บาท ซากแมวตาย ส่วนอุบัติเหตุเคยเจอเศษแก้วบาดเช่นกัน

นายอนุวัตน์ สิทธิ เจอขยะมาหมดทุกประเภท  เศษเงิน 5 บาท ซากแมวตาย ส่วนอุบัติเหตุเคยเจอเศษแก้วบาดเช่นกัน
นายอนุวัตน์ สิทธิ เจอขยะมาหมดทุกประเภท เศษเงิน 5 บาท ซากแมวตาย ส่วนอุบัติเหตุเคยเจอเศษแก้วบาดเช่นกัน

ขั้นตอนการทำงานเพื่อความรวดเร็ว นายอนุวัตน์ อธิบายกับทีมข่าวฯ ว่า กทม.มีถังขยะขนาด 100 ลิตร กับ 200 ลิตร หากขยะในถังใดมีน้อยก็ยกเทใส่รวมถังเดียวให้เต็ม แล้วก็ลาก กลิ้งออกมาทีละถัง หรือสองถังพร้อมกัน ถังขยะมีน้ำหนัก 100-200 กิโลฯ ซึ่งคนเดียวลาก 2 ถังเป็นประจำ ฤดูที่ทำงานลำบากสุด คือ ฤดูฝน

“ฝนตก ฟ้าร้องก็ต้องตากฝน ต้องลุย รอฝนหยุดไม่ได้ ขยะจะเน่า เวลาฝนตกก็จะทำงานเหนื่อยหนักเท่าตัว เพราะขยะหนักมากขึ้นกว่าเดิมจากน้ำฝนที่ลงถัง” นายอนุวัตน์บอกเหตุผล

“ฟันแฟลต” งานหนักสาหัส เหม็นเน่าที่สุด คนใหม่ทำวันเดียว ลาออก

เมื่อเก็บขยะตามในซอยเสร็จ พื้นที่ต่อไปที่ต้องทำ คือ การ “ฟันแฟลต” ที่แฟลตการเคหะ ดินแดง ซึ่งการ “ฟันแฟลต” เป็นภาษาที่เจ้าหน้าที่เก็บขยะพูดกันขึ้นมาตามลักษณะการทำงาน ถือเป็นการทำงานที่ลำบากเพราะพื้นที่แคบ เหนื่อย หนักหนา สาหัสที่สุด ทั้งเก็บ ทั้งขนท่ามกลางความมืดด้วยวิธีโกย ชัก ลากทำให้ใช้เวลา และพละกำลังเยอะ กว่ารถจอดแล้วเข้าถึงจุดขยะ 

โดยเฉพาะกลิ่นที่เหม็นเน่ารุนแรงกว่าขยะในถังหลายเท่า เนื่องจากเป็นปล่อง ก๊าซของเสียสะสมอยู่เยอะ เคยมีเจ้าหน้าที่คนใหม่มาทำงานวันแรก เจอกลิ่นเหม็นเน่า ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มาทำงานได้วันเดียวก็ขอลาออกเพราะทนกลิ่นเหม็นเน่า และงานที่หนักไม่ไหว

“ฟันแฟลต” คือการโกยขยะที่กลิ่นเหม็นเน่าออกจากปล่องทิ้งขยะตักใส่ตะกร้าจนเต็ม แล้วเข็นอย่างทุลักทุเลตามทางเดินที่คับแคบ ออกมาเทที่รถขยะ ซึ่งต้องทำลักษณะนี้รวมทั้งหมด 20 ปล่อง กว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลาเกือบ 2-3 ชั่วโมง

ยาคลายเส้น สิ่งจำเป็นของคนอาชีพ “เก็บขยะ” ที่อายุมาก

นายสมนึก คงคำ อายุ 52 ปี เปิดใจกับทีมข่าวฯ ถึงการฟันแฟลตในครั้งนี้ว่า การทำงานวันนี้เป็นปกติทั่วไป ที่ต้องพบอุปสรรคปัญหา คือความยากลำบากในการเข็นเข้า เข็นออก เพราะแต่ละปล่องอยู่ห่างกัน 

ส่วนกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรงนั้นไม่รู้สึกเหม็นแต่อย่างใด เพราะชินชาแล้ว ส่วนอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น บางครั้งโดนกระเบื้องบาด ด้วยอายุงาน 12 ปี ทำให้นายสมนึกต้องมีปัญหาระยะยาวต่อสุขภาพ คือ อาการปวดหลัง และต้องกินยาคลายเส้นแก้ปวดเมื่อย

นายสมนึก คงคำ อายุ 52 ปี ต้องกินยาคลายเส้น บรรเทาปวดหลังขณะทำงาน
นายสมนึก คงคำ อายุ 52 ปี ต้องกินยาคลายเส้น บรรเทาปวดหลังขณะทำงาน

“เวลาปวดเมื่อยก็กินยาคลายเส้น ทำงานต่อสักพักก็หาย ถังที่ยกแต่ละคืนหนักหลายร้อยโล คืนหนึ่งยกหลายร้อยครั้ง กลิ่นขยะเหม็นเน่าติดตัว จนชินกลิ่นแล้ว ครอบครัวก็ชินแล้วเหมือนกัน เพราะกลิ่นจะเหม็นติดตัวกลับไปด้วย” นายสมนึกกล่าวขณะกำลังฟันแฟลต

ฟันแฟลต จน "ปอดพัง" เหตุสูดดมกลิ่นขยะ สะสมหลายปี 

ผลมาจากการสูดดมกลิ่น เหม็นเน่าสะสมเป็นระยะเวลานานหลายปี เสี่ยงเกิดโรคทางเดินหายใจ โรคปอด ภูมิแพ้ด้วย ดังที่ นายบุญรอด ประกอบทรัพย์ พนักงานทั่วไป เก็บขนมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าคนงาน ซึ่งก่อนดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ก็เริ่มจากเจ้าหน้าที่เก็บขยะ 4-5 ปี และทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจากการฟันแฟลต เมื่อไปพบแพทย์ พบว่าเป็นหลอดลมอักเสบ หากทำต่อไปเสี่ยงเป็นวัณโรค

“เคยฟันแฟลต โดนกระป๋องอะไรไม่รู้ ก็สูดสารพิษเข้าจนไอ ในปล่องจะมีก๊าซสะสมของเสีย เวลาฟันแฟลต ทำให้ไอหนักเกือบสองอาทิตย์ไปหาหมอพบว่าเป็นหลอดลมอักเสบ แต่ถ้านานไปอาจเป็นวัณโรคปอด” อดีตเจ้าหน้าที่เก็บขยะย้อนเล่าเหตุการณ์

เบื้องหลัง "แยกขยะ" เพื่อความปลอดภัย นำขายคือรายได้เสริม

อาชีพเก็บขยะเสี่ยงชีวิต เสี่ยงอุบัติเหตุ เป็นงานที่เสียสละอย่างแท้จริง แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์ที่ไม่เข้าใจในการทำงานของพวกเขา โดยมองว่าการที่ไม่แยกขยะจากบ้านตนเอง เพราะสุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ก็นำขยะมาเทรวมกันหมดนั้น

ในความเป็นจริง ทีมข่าวได้รับการเปิดเผยจาก ว่าที่ร้อยตรี สันติ ชุ่มชวย พนักงานทั่วไป เก็บขนมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าคนงาน ว่า การแยกขยะ เช่น ขวด กระป๋อง พลาสติก จุดประสงค์หลักเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่

ป้องกันการเกิดอันตราย เมื่อกดแรงอัดขยะของรถจะได้ไม่กระเด็นแตกใส่หน้า อีกทั้งการฉีกถุงเพื่อแยกขยะยังช่วยให้สามารถอัดขยะได้จำนวนมากขึ้น ส่วนการนำขยะแยกแล้วไปขาย เป็นรายได้เสริมของเจ้าหน้าที่ถือเป็นประโยชน์ทางอ้อม 

ชัก ลาก ถังขยะออกจากในซอยที่รถขยะเข้าไม่ถึง
ชัก ลาก ถังขยะออกจากในซอยที่รถขยะเข้าไม่ถึง

“ถุงขยะที่มัดต้องฉีก เพราะอัดขยะได้ง่าย ถ้าไม่ฉีก พออัดขยะเข้าไปจะทำให้พื้นที่ในรถจุขยะเต็มเร็ว ถ้าไม่คัดแยก ขยะอาจเก็บไม่หมดซอย เพราะอัดขยะไม่ได้ ของบวม แข็ง อัดแล้วจะคืนตัว กระเด้ง ทำให้เต็มเร็ว” ว่าที่ร้อยตรีให้เหตุผล

จากการเกาะติดชีวิต "เจ้าหน้าที่เก็บขยะ" เขตดินแดงในครั้งนี้ของทีมข่าวฯ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของพวกเขาที่ต้องอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงทุกวินาที เมื่อทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากพวกเขาแล้ว ผู้ที่เคยคิดดูถูก หรือเดินหนีห่างด้วยกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของพวกเขา คงจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และช่วยกันแยกขยะกันมากขึ้น เพราะหลายคนคงลืมไปว่า "ถ้าไม่มีพวกเขา บ้านเมืองก็คงไม่สะอาด" 

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่