จากยาเสพติดประเภท 5 ... ในวันนี้ "กัญชา" กำลังจะมีบทบาทใหม่ หลังมีการปลดล็อกให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ และเปิดให้มีการแจ้งครอบครองกัญชา ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยมียอดผู้แจ้งครอบครองกว่า 20,000 ราย และผู้ป่วยสามารถครอบครองกัญชาต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งแม้จะอนุญาตให้มีการใช้ในทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีการจำกัดการใช้และครอบครอง ไม่ได้เปิดเสรีเหมือนในบางประเทศที่สามารถใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์และการสันทนาการ


"สายเขียวด้านมืด"


จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2552-2560 นั้น มี "คดีกัญชา" มากถึง 109,517 คดี จำนวน 248,183.83 กิโลกรัม เฉลี่ยปีละ 12,169 คดี แม้จะเป็นอัตราส่วนเพียง 6.45% ของคดียาเสพติดทั้งหมด แต่ก็น่าสนใจว่า คดีกัญชามีเกิดขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยกรุงเทพมหานครมีการดำเนินคดีเกี่ยวกับกัญชามากที่สุด 9,582 คดี รองลงมาเป็น จ.สุราษฎร์ธานี 8,575 คดี ส่วนจังหวัดที่มีการถูกดำเนินดคีกัญชาน้อยที่สุด คือ จ.สิงห์บุรี 41 คดี

...


และอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับกัญชาทุกปี ปี 2552-2560 รวมกว่า 15,225 คดี หรือ 13.90% ของจำนวนคดีกัญชาทั้งหมด โดยในปี 2558 มีคดีมากที่สุดถึง 2,569 คดี แม้ในช่วงปีหลังจะลดลง แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าสบายใจนัก เฉลี่ยปีละ 1,692 คดี


ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับ "กัญชา" ใหม่ อย่างในสหรัฐฯ ที่จากใช้กัญชาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ก็มีการขายกัญชาในเชิงสันทนาการ ทำให้มีมูลค่าตลาดกัญชาปี 2561 มากถึง 10,820,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ทางการแพทย์ 6,070,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1.9 แสนล้านบาท) และสันทนาการ 4,750,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1.5 แสนล้านบาท) และมีแนวโน้มว่า จะมีมูลค่าพุ่งสูงถึง 7.5 แสนล้านบาทในอีก 6 ปีข้างหน้า


ซึ่งหากประเทศไทยสามารถควบคุมและสามารถเปิด "กัญชาเสรี" ได้ ก็จะเกิดผลดีต่อประเทศในอนาคต โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่คาดว่า เดือนกรกฎาคมนี้จะสามารถผลิตยาจากกัญชาลอตแรกที่ปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกในอาเซียน ได้ถึง 2,500 ขวด