ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน แม้แต่ผู้ที่ไร้ลมหายใจ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดเบื้องหลังทีมนักนิติวิทยาศาสตร์ สู่กระบวนการพาพวกเขาเหล่านี้...กลับคืนสู่บ้าน
เนื่องด้วยปัจจุบันสถิติศพนิรนามมีกว่า 3,898 ราย โดยสามารถพิสูจน์ได้แล้ว 2,050 ราย และยังอยู่ในระหว่างดำเนินการอีกกว่า 1,848 ราย
เมื่อมีการแจ้งคนหายหรือศพนิรนามจะถูกส่งเข้าระบบฐานข้อมูล เพื่อนำมาตรวจสอบดูว่า แต่ละเคส จะต้องถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์เพิ่มในขั้นตอนใดบ้าง ได้แก่
1.ตรวจวิเคราะห์โครงกระดูก ในกรณีที่เป็นศพเน่าเปื่อยจนไม่สามารถพิสูจน์ได้แล้วนั้น จะถูกส่งไปสลายเนื้อเยื่อจนเหลือแต่โครงกระดูก จากนั้น จึงนํามาให้นักนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์หลักฐานบนโครงกระดูก
โครงกระดูกบ่งบอกอะไรได้บ้าง เช่น เพศ แม้จะแปลงเพศมาแล้วก็สามารถบอกอายุ เชื้อชาติ ส่วนสูง ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ โครงกระดูกสามารถบ่งบอกสภาพก่อนเสียชีวิตว่า ศพนิรนามรายนี้เคยมีอาการป่วย ได้รับยา เคยผ่าตัดมาหรือไม่ รวมทั้งสภาพร่างกายหลังเสียชีวิต เช่น ถูกสัตว์ประเภทใดกัดแทะหรือไม่
สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์กระดูกได้นั้น จะต้องมีความเชี่ยวชาญ สามารถแยกแยะระหว่างกระดูกมนุษย์และกระดูกสัตว์ได้ และสามารถบอกได้ว่ากองเศษกระดูกมีอยู่กี่คน เพราะกระดูกมนุษย์ไม่มีส่วนใดที่ซ้ำกันเลย
2.การทำภาพเชิงซ้อน เพื่อเปรียบเทียบรูปภาพใบหน้ากับกะโหลก แต่เป็นการตรวจเป็นคร่าวๆ เนื่องจากบางคนมีลักษณะกะโหลกที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งภาพที่นำมาใช้เปรียบเทียบบางคนใช้แอปพลิเคชันทำหน้าเรียวอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ โดยส่วนใหญ่เทคนิคดังกล่าวมักจะใช้ในการคัดแยกเบื้องต้นกรณีที่มีเคสเยอะให้เหลือเฉพาะกลุ่มที่ใกล้เคียงที่สุด
...
จากนั้น เมื่อผลห้องแล็บที่ส่งตรวจวิเคราะห์เพิ่มเสร็จเรียบร้อย จะนำลงสู่ฐานข้อมูล หากผลตรงกันว่า ศพนิรนามเป็นใคร จะนำศพนั้นคืนสู่ญาติ แต่หากไม่พบจะนำข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.thaimissing.go.th กรณีที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นใครจะถูกส่งไปฝังที่ จ.นครนายก
ทั้งนี้ เคยมีเคสที่ผู้เสียชีวิตสักเลขบัตรประชาชน 13 หลักไว้ที่แขนทำให้เจ้าหน้าที่สามารถสืบทราบได้ว่าเป็นใคร หรือเคสที่ทำศัลยกรรมโดยเจ้าหน้าที่สืบจากเลขซิลิโคน จนทำให้รู้ชื่อผู้เสียชีวิต และส่งคืนญาติได้สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง