คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ยิ่งยุคปัจจุบัน เสรีภาพทางเพศเปิดกว้างมากขึ้น การจะเป็นคนข้ามเพศ จากชายกลายเป็นหญิง หรือจากหญิงกลายเป็นชายอย่างสมบูรณ์แบบทั้งกายและใจ มีสิ่งหนึ่งสำคัญนั่นก็คือ “การเทคฮอร์โมน” ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ "จำเป็น" สำหรับ "คนข้ามเพศ" ได้อย่างดีทีเดียว

"การเทคฮอร์โมน" มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างไร จำเป็นไหมกับคนข้ามเพศ ทีมข่าวฯ มีคำตอบจาก แพทย์หญิงพูนพิศมัย สุวะโจ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่เมื่อได้ฟังข้อมูลแล้วทำให้รู้ว่า กว่าคนที่มีร่างชาย หัวใจสาว จะได้เป็นคนข้ามเพศสมใจ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะสาวสองที่ปรารถนา “ผ่าตัดแปลงเพศ”

ความสำคัญของ "เทคฮอร์โมน" ต่อ "คนข้ามเพศ"

เพื่อความเข้าใจที่กระจ่าง แพทย์หญิง พูนพิศมัย อธิบายถึงการ “เทคฮอร์โมน” ซึ่งจำเป็นต่อ "คนข้ามเพศ" ที่มั่นใจในตัวเองแล้วว่าต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเพศสภาพเดิม มาเป็นชาย หรือหญิง การ “เทคฮอร์โมน” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกดฮอร์โมนเพศสภาพพื้นฐานเดิมให้ลดผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเสริมฮอร์โมนเพศสภาพใหม่ที่ต้องการ เช่น

...

กรณีสาวสอง พื้นฐานเดิมคือ ผู้ชาย แต่สภาพจิตใจไม่ตรงกับเพศกำเนิด ก็ต้อง “เทคฮอร์โมน” ซึ่งมีทั้งกิน หรือฉีด มีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ 1.ลด หรือกดฮอร์โมนเพศชายให้น้อยลง เช่น ไม่ให้มีโครงหน้าแบบผู้ชาย ลดการเจริญของขนตามร่างกาย หนวด 2.เสริมฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อให้ความเป็นชายที่มีในตัวลดลงจนแทบไม่เหลือเลย ร่างกายจะมีสรีระรูปร่างเหมือนผู้หญิง หนวด หรือขนต่างๆ ขึ้นช้า เค้าโครงใบหน้าเริ่มสวยไปในทางผู้หญิง  

"เทคฮอร์โมน" ที่ปลอดภัย ต้องพบแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ สูตินรีแพทย์ 

การ “เทคฮอร์โมน” ที่ปลอดภัยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างจริงจัง ซึ่งแต่ละคนเทคฮอร์โมนในปริมาณไม่เท่ากัน เพราะระบบกลไกของร่างกายในการปรับตัว กรรมพันธุ์ และการดูดซึมไม่เท่ากัน ซึ่งปริมาณการเทคฮอร์โมนจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ 

“การเทคฮอร์โมนควรไปพบแพทย์ โดยจะเป็นแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ หรือสูตินรีแพทย์ก็ได้ เพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมน ตรวจเลือด ดูระดับการทำงานของตับ ของไต ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะฮอร์โมนแต่ละตัวให้ผลแต่ละบุคคลต่างกัน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ จะได้จัดยาให้ได้เหมาะสม” แพทย์หญิงพูนพิศมัยอธิบาย

การเตรียมตัว 1 ปี ที่สำคัญ ก่อน "ผ่าตัดแปลงเพศ" 

สำหรับสาวสองที่อยาก “ผ่าตัดแปลงเพศ” เพราะรู้สึกว่าทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และเป็นผู้หญิงได้เต็มตัวนั้น ต้องเทคฮอร์โมนเป็นระยะเวลา 12 เดือน และใช้ชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงในเพศที่ต้องการ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ถึงจะเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศได้

หลังตัดสินใจ “เทคฮอร์โมน” ไปแล้ว อาจต้องทำไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อไหร่ที่หยุด เพศสภาพพื้นฐานก็จะค่อยๆกลับคืน นอนหลับได้ไม่ดี มีอาการร้อนวูบวาบเหมือนวัยทอง อีกทั้งอารมณ์แปรปรวน จิตใจสับสน แต่ในคนที่แปลงเพศแล้วจะลดการใช้ฮอร์โมนไปได้มาก เช่น แปลงเพศจากชายเป็นหญิง เพราะได้ตัดส่วนของอัณฑะที่ผลิตฮอร์โมนเพศชายไปแล้ว การทานยากดฮอร์โมนเพศชายก็ไม่ต้องใช้ต่อ เพียงแค่เสริมฮอร์โมนเพศหญิงต่อเนื่องต่อไป

...

“การเทคฮอร์โมน มีทั้งกิน ทาที่ท้องแขน จากชายอยากเป็นหญิง ก็จะรับฮอร์โมนต้านเพศชาย เสริมฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อให้ผิวนุ่ม ผมเส้นเล็ก ถ้าเทคมากเกินไป จะทำให้ตับไตทำงานหนัก ไม่ดีต่อสุขภาพ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพศไหน อย่าเทคยาเอง ควรปรึกษาแพทย์ แม้ผ่าตัดแปลงเพศแล้วก็ตาม

เพราะถ้าตัดสินใจเทคฮอร์โมนแล้ว แรกๆ ก็สนุกกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ในระยะยาวจะกลายเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลระดับฮอร์โมน และสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมนไปตลอดชีวิต” แพทย์หญิงพูนพิศมัยชี้แนะ

แพทย์หญิงพูนพิศมัย สุวะโจ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
แพทย์หญิงพูนพิศมัย สุวะโจ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยกรรมตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

...

ทั้งนี้ฮอร์โมน 3 ประเภท คือ 1.ฮอร์โมนแบบฉีด (Injection) อาทิ  โปรกีนอน, โปรลูตอน, ดูโอโทน, ฟีโนกีนอน-เอฟ, เอสตราดิออล เบนโซเอท 2.ฮอร์โมนแบบทาน (Oral) อาทิ แอนโดคัวร์ โปกีโนว่า ไซโคโปกีโนว่า ไฮเลส100 เอสโตรมอน พรีมาลิน และยาคุมทั่วไป เช่น ไดแอน แอนนา เมอซิลอน 3.ฮอร์โมนแบบทา แต่มีเฉพาะฮอร์โมนแบบเอสโตรเจน ที่เหมาะสำหรับสาวประเภทสองที่แปลงเพศแล้ว และไม่ชอบกินยา

สำหรับสถานที่ในการ "เทคฮอร์โมน" มีบริการในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป หรือโรงพยาบาลรัฐ โดยผู้เทคฮอร์โมน ถ้าอายุระหว่าง 18 - 20 ปี ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอม.

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่

...