หลังจากที่เมื่อคืนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวด่วนขึ้นหน้า 1 แต่มีอีกหลายฉบับที่ปิดกรอบไปแล้ว ไม่สามารถอัพเดตข่าวสารสำคัญในกรอบของวันนี้ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับหัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หัวเรือใหญ่ผู้ตัดสินใจสั่งการ “หยุด” กระบวนการพิมพ์ เพื่อรอฟังข่าวสำคัญ พร้อมการแก้ไขปัญหาในแบบฉบับของคนหนังสือพิมพ์ เขาทำกันอย่างไร

เปิดวินาทีสั่ง “หยุดพิมพ์” รอพระราชโองการ

หัวหน้าข่าวหน้า 1 เปิดเผยว่า แม้กรอบบ่ายของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะปิดกรอบไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีเหตุการณ์สำคัญในตอนเช้าเป็นพาดหัวใหญ่บนหน้า 1 แต่กรอบเช้ากำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ หัวหน้าข่าวหน้า 1 ได้รับสัญญาณมาว่า ให้รอฟังข่าวสำคัญที่จะเกิดขึ้นในค่ำคืนวันนี้ ด้วยความคุ้นเคยกับข่าวมานาน จึงคาดเดาได้ว่า อาจจะเป็นข่าวที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ในช่วงเช้า จึงสั่งหยุดทุกอย่างไม่ให้ดำเนินต่อ เพื่อเตรียมการทำข่าวจากหน้าจอโทรทัศน์

...

“การแก้ปัญหาเมื่อคืนนี้ค่อนข้างฉุกละหุก แต่เราเคยชินกับสถานการณ์แบบนี้แล้ว ทันทีที่รู้ข่าวก็ไหวตัวได้ทัน สั่งหยุดทุกอย่างให้ทุกคนเตรียมพร้อม แต่ไม่ได้ถึงกับวุ่นวาย เพียงแต่เป็นกระบวนการคิดที่จะต้องยุติการทำงานแต่ละจุด และขอเลื่อนเวลาถ่ายเพลท สตาร์ตแท่นพิมพ์ รวมทั้งเวลาออกรถด้วย เราก็ประกาศไปว่า ทุกอย่างหยุดก่อน นับเวลาเดินหน้า และผมจะทำให้เร็วที่สุด หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้

ทันทีที่มีพระราชโองการผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ผมก็สั่งรื้อหัวข่าวเดิมออก และเตรียมหัวข่าวใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะว่าเป็นประเด็นที่สำคัญของข่าว และจะมีผลทางการเมืองตามมาหลังจากนั้นด้วย ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ไปแล้วก็สั่งหยุดและทำลายทิ้ง เพราะเท่ากับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ล้าสมัย จะปล่อยให้หลุดออกไปไม่ได้ แต่เมื่อคืนนี้ เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกำลังจะเริ่มพิมพ์ ยังไม่ทันได้พิมพ์ จึงสั่งหยุดรอ ทำให้การพิมพ์เสียเวลาไปเล็กน้อย

ส่วนกรอบบ่ายออกไปก่อนล่วงหน้าแล้ว มันสุดที่จะห้ามได้แล้ว ตอนที่พระราชโองการออกมา กรอบบ่ายได้เดินทางไปครึ่งทางแล้ว ไม่ได้เป็นความผิดพลาด แต่ไม่ทันเวลา เราปิดข่าวก่อนที่จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ดังนั้น ที่ออกไปแล้วก็ออกไป ส่วนที่ยังไม่ออกเราต้องเสนอให้ทันเหตุการณ์”

กระแสโซเชียล แห่แชร์ ยักษ์เขียวไทยรัฐ วิ่งถึงวังน้อย ต้องเรียกกลับมา จริงหรือ?

หัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตอบอย่างชัดเจน ว่า “ถ้าเป็นความผิดพลาด เช่น พาดหัวผิด นำเสนอผิด แล้วเกิดความเสียหาย เราเรียกกลับแน่นอน แต่เหตุการณ์เมื่อคืนนี้ ไม่ได้เป็นความผิดพลาด แต่เป็นเหตุการณ์ตามเวลา ณ เวลา 3 ทุ่มยังเป็นเหตุการณ์ที่พรรคไทยรักษาชาติส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ถูกต้องอยู่ จนถึงนาทีที่มีพระราชโองการ ดังนั้น เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกกลับ”

คุณค่าหนังสือพิมพ์ คือ บันทึกประวัติศาสตร์

เมื่อถามถึงคุณค่าของหนังสือพิมพ์ จากหัวหน้าข่าวหน้า 1 ผู้มากประสบการณ์ ได้รับคำตอบว่า ข่าวออนไลน์ ข่าวทีวี มีความรวดเร็ว ขณะที่ หนังสือพิมพ์ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการทำ ไม่ว่าจะมีข่าวอะไรเกิดขึ้น ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อออกตามกำหนด แต่หนังสือพิมพ์ จะมีข้อได้เปรียบอยู่ข้อหนึ่ง ก็คือ ทำหน้าที่ซึมซับเหตุการณ์ทั้งหมด เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของวันนั้น ต่อไปในอนาคตหลักฐานนี้จะยังคงอยู่

‘หนังสือพิมพ์วันนี้ คือ การบันทึกประวัติศาสตร์ เพื่ออนาคต..’ นี่คือคุณค่าของหนังสือพิมพ์ที่ยังมีอยู่ และจะต้องรักษาไว้

ขอบคุณภาพจาก Banyong Suwanpong
ขอบคุณภาพจาก Banyong Suwanpong

...

ในยุคที่ข่าวสารเกิดขึ้นได้ทุกวินาที สอดรับกับโลกดิจิตอลที่มีการรับ-ส่ง ข้อมูลด้วยความรวดเร็ว ขณะที่ สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ข่าวที่ลงหน้าหนึ่งในวันพรุ่งนี้ ก็อาจไม่ทันกับเหตุการณ์ก็เป็นได้

คนหนังสือพิมพ์จะต้องปรับตัวอย่างไร?

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แหล่งข่าวที่ทีมข่าวได้ชวนสนทนา ถามกลับมาในทันที

“แล้วคุณอยากรักษาอะไรของหนังสือพิมพ์ไว้?”

“หากคุณอยากรักษากระดาษไว้ หนังสือพิมพ์จะต้องเป็นของที่คนอยากเก็บ หมายความว่า เรื่องที่ถูกตีพิมพ์ ต้องเป็นเรื่องที่สามารถกลับมาอ่านซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นข่าวที่รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดไว้ และสามารถสืบค้นได้ต่อ รวมทั้ง เหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ หรือโฟกัสเฉพาะคนกลุ่มที่อ่านหนังสือพิมพ์

แต่หากสิ่งที่คุณอยากเก็บไว้ คือ หัวใจของการทำงานของคนหนังสือพิมพ์แล้วละก็ คุณต้องไปตีความหมายว่า คนหนังสือพิมพ์ทำข่าวต่างจากสื่อประเภทอื่นๆ อย่างไร และอะไรคือจุดเด่น” ผศ.สกุลศรี ตั้งคำถามชวนคิด

...

“หัวใจ” ของหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่ “กระดาษ”

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อธิบายถึงหัวใจสำคัญของหนังสือพิมพ์ ว่า รูปแบบ วิธีการทำงาน และเนื้อหาในแบบที่หนังสือพิมพ์เป็น อันประกอบไปด้วย ความลึก การให้รายละเอียดในเชิงวิเคราะห์ ประสบการณ์ของนักข่าว การเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ ที่และนำมาเสนอด้วยวิธีการเขียนที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพตาม

นี่คือลักษณะของความเป็น “หนังสือพิมพ์”

“สิ่งที่คนหนังสือพิมพ์ควรปรับตัว คือ การนำหัวใจหลักของการทำหนังสือพิมพ์นำไปใช้ในทุกๆ แพลตฟอร์ม เพราะอนาคตไม่รู้ว่า คนจะยังจับ
กระดาษอ่านอยู่หรือไม่ แต่คำว่า งานข่าวแบบหนังสือพิมพ์ มันจะยังคงอยู่ หากคนหนังสือพิมพ์นำวิธีการทำข่าว เล่าเรื่อง ไปอยู่ในฟอร์แมตอื่นๆ ได้ เช่น ความลึก มุมมอง บทวิเคราะห์ แม้เนื้อหาจะยาว แต่เชื่อว่าคนยังอยากอ่านอยู่” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ชี้แนะ

ถามว่า เป็นเพราะเหตุใดคนจึงอยากอ่านหนังสือพิมพ์อยู่นั้น เนื่องจากข่าวออนไลน์เป็นข่าวสั้นๆ หลายข่าว ขณะที่ หนังสือพิมพ์รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดมาให้ มีความลึก มีบทวิเคราะห์ มีความเห็นของคนที่หลากหลาย สามารถใช้ข้อมูลที่หนังสือพิมพ์นำเสนอไปต่อยอดได้ คิดว่า นี่เป็นเหตุผลที่คนยังอยากอ่านหนังสือพิมพ์อยู่

...

ไม่สู้ความเร็ว แต่สู้ความลึก

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไม่ควรแข่งกับออนไลน์ในเรื่องของความเร็ว เพราะไม่มีทางที่จะสู้ได้ แต่สิ่งที่หนังสือพิมพ์ควรแข่งกับออนไลน์ คือ ความลึกของข่าว บทวิเคราะห์ และหนังสือพิมพ์ยังตรวจสอบข้อมูลได้ดีกว่าออนไลน์ รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายมาจบในที่เดียว นี่คือสิ่งที่หนังสือพิมพ์ควรทำ

ขณะที่ ออนไลน์ จะมาเป็นก้อนเล็กๆ ทีละนิด และกระจายไปทีละชิ้น บางทีคนสับสน แต่หนังสือพิมพ์จะทำให้คนไม่เกิดความสับสนในข้อมูลนั้น เพราะว่าเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ครบถ้วน มีข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมารวมไว้ในที่เดียว

เหตุสุดวิสัย! ข่าวสำคัญ ไม่ทันปิดหน้า แก้ไขสถานการณ์อย่างไร?

สำหรับการทำงานของหนังสือพิมพ์นั้น จะมีการปิดหน้าตามช่วงเวลาต่างๆ หากมีสถานการณ์สำคัญในช่วงดึก หลังจากที่ปิดหน้าไปแล้ว คนหนังสือพิมพ์ มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร

หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เผยว่า ข่าวบางข่าวเกิดหลังจากที่หนังสือพิมพ์ปิดหน้าไปแล้ว หากเทคโนโลยีทำทันก็สามารถเปลี่ยนหน้า 1 ได้ แต่หากสุดวิสัยจริงๆ เปลี่ยนไม่ได้ ต้องมองว่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ยังมีกรอบเช้า และกรอบบ่าย สามารถแก้ไขได้

อีกข้อหนึ่ง คือ ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มเดียว หนังสือพิมพ์ทุกฉบับมีเว็บไซต์ออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้น สามารถใช้พื้นที่บนออนไลน์แทนในการอัพเดตข้อมูล เพื่อรอกรอบบ่ายได้ ในกรณีที่สุดวิสัยไม่สามารถแก้ไขได้ในทันที

แต่หากไม่ใช่ในสถานการณ์ที่พลิกล็อกทันทีทันใด เป็นสิ่งที่รู้ล่วงหน้า สามารถพัฒนาข้อมูลต่อได้ อาจจะปรับข้อมูล โดยส่วนที่ทันต่อเหตุการณ์นำเสนอผ่านออนไลน์ไปแล้ว ส่วนหนังสือพิมพ์จะให้บริบทข้อมูล คำอธิบายที่เพิ่มเติม

หน้า 1 ต้องเปลี่ยน! ก้าวข้ามสถานการณ์ปัจจุบัน นำเสนอสเตปต่อไป

ผศ.สกุลศรี กล่าวต่อว่า หน้า 1 หนังสือพิมพ์ในอนาคต อาจจะเปลี่ยนเป็นบริบทในเชิงลึกมากกว่าข่าวทันเหตุการณ์รายวัน โดยทำให้คนเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น และพูดถึงสเตปต่อไปว่า จะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น มองว่า หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์จะต้องเปลี่ยนจากวันนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นการมองไปข้างหน้า เพื่อบอกได้ว่า สเตปต่อไปคืออะไร เพื่อจะได้ไม่ตกกระแส และสิ่งที่จะได้จากคนหนังสือพิมพ์ที่มีความชำนาญ วิเคราะห์ คาดการณ์ หรือมองอะไรต่อยอดไปจากสิ่งที่เป็นในเหตุการณ์ปัจจุบัน คนจะอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะออนไลน์ไม่มีเวลาทำเรื่องลักษณะนี้ เพราะต้องรวดเร็วนาทีต่อนาที

“หนังสือพิมพ์หน้า 1 อาจจะต้องเป็นข่าวอนาคตที่มีข้อมูลเพิ่ม และทำให้ทุกคนมองก้าวข้ามไปข้างหน้า ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ต้องเป็นแบบนี้ คนถึงจะอ่านหนังสือพิมพ์ค่ะ” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ฝากทิ้งท้าย.