ปลาออร์ฟิช หรือ ปลาพญานาค ความยาว 3.84 เมตร ติดแหจับปลาขอบชาวประมง ห่างราว 1 กม. นอกชายฝั่งเมืองอิมิสุ จังหวัดโทยามะ ทางเหนือของญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นับตัวที่ 3 แล้วที่พบในอ่าวโทยามะในเดือนนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 19 พบออร์ฟิชอีก 2 ตัวแต่ตัวบางกว่า นอกชายฝั่งเมืองอิมิสุ และนาเมริคาวะ จนเกิดเสียงร่ำลือว่าอาจเป็นสัญญาณแห่งภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ
ออร์ฟิช ลักษณะคล้าย พญานาค อาศัยทะเลน้ำลึก
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลา นั่นคือ รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาออร์ฟิช ว่า
...
“ออร์ฟิช” หรือ “ปลาพญานาค” ลักษณะลำตัวยาว มีเกล็ดสีเงิน ครีบสีแดง อาศัยอยู่ในน้ำลึก 500-1,000 เมตร สาเหตุที่เรียกว่า “ปลาพญานาค” เนื่องจากครีบมีลักษณะคล้ายตรีของพญานาคนั่นเอง
ออร์ฟิช เป็นปลาทะเลน้ำลึก สามารถพบได้ในมหาสมุทรทั่วโลก อย่างประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือช่วงที่เป็นรอยต่อรอยเลื่อน พื้นลาดลงไป แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานว่าพบออร์ฟิช เนื่องจากทะเลแถบนี้ น้ำไม่ได้ลึกอย่างมากแค่ 200 เมตรเท่านั้น
สำหรับวงจรชีวิตของออร์ฟิชนั้น ตัวอ่อน อาจจะลอยขึ้นมาอยู่ในน้ำตื้นบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วจะเจอยากมาก ซึ่งหลายครั้งที่พบเจอออร์ฟิช มักจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นมา คนจึงตกใจกลัวว่าปลารับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนก่อน จึงว่ายขึ้นมาน้ำตื้น ก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง
เรื่องแปลก! พบ ออร์ฟิช แต่ไม่ผิดธรรมชาติ
ในปีก่อนหน้าที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ได้พบออร์ฟิชลอยขึ้นมาตาย 10 กว่าตัว ปีต่อมาจึงเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมาก นั่นจึงเป็นเหตุที่ชาวญี่ปุ่นค่อนข้างจะกลัวในเรื่องนี้
นอกจากนี้ ตอบไม่ได้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหว ธรรมชาติของปลาในทะเลลึกจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับบนบก ส่วนมากแล้ว หากเกิดแผ่นดินไหว สัตว์น้ำจะหลบไปที่อื่น ไม่จำเป็นต้องขึ้นมาน้ำตื้นเสมอไป ถามว่ารับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ไหมนั้น รับรู้ได้ แต่ก็ตอบยากเพราะปลาในทะเลลึกมีหลากหลายชนิด
“ถามว่าเป็นเรื่องแปลกไหมที่พบออร์ฟิช ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องแปลกกว่าปกติ แต่ไม่ได้แปลกผิดธรรมชาติ ส่วนจะเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติหรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้ เพราะที่เคยเกิดขึ้นนั้น มีทั้งเกิดแผ่นดินไหว และไม่เกิดแผ่นดินไหว มันไม่ 100%” ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ชี้แจง
ไขคำตอบ ออร์ฟิชโผล่ญี่ปุ่น สัญญาณเตือนภัยพิบัติจริงหรือ?
...
ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า นักพิบัติภัย ไม่ได้ละเลยข้อมูลทางธรรมชาติ รวมทั้งมีหลายครั้งในโลกนี้ ก่อนที่จะเกิดพิบัติภัยใหญ่ๆ จะมีพฤติกรรมของสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไป สัตว์บางตัวมีเซนเซอร์พิเศษมากกว่ามนุษย์ สามารถรับรู้ถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะมีฝนตกใหญ่ๆ หรือน้ำท่วม มด แมลงจะย้ายรัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เห็นอยู่เป็นประจำ และในต่างประเทศก็มีเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเชิงวิทยาศาสตร์
อย่างกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน คือ ปลาออร์ฟิช ซึ่งเป็นปลาน้ำลึก เข้าใจว่าในปัจจุบันโลกกำลังเจอปรากฏการณ์เรื่องของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ (polar vortex) จึงคิดว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะกลไกที่สำคัญ คือ กระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็น จะพบว่า จริงๆ แล้วปลาออร์ฟิช เป็นปลาน้ำลึก อยู่กับน้ำเย็นใต้ทะเล ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับกระแสน้ำเย็นที่อยู่ข้างใต้ที่ขึ้นมาในระดับที่สูงกว่าปกติ ปลาเหล่านี้จึงตามมาด้วย เนื่องจากน้ำข้างบนร้อนกว่า โดยส่วนตัวจึงคิดว่า อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็น และโดยเฉพาะปลาเหล่านี้ ไหลตามกระแสน้ำ ซึ่งอาจจะมีโอกาสเห็นปลาน้ำลึกขึ้นมาอยู่บนกระแสน้ำได้
...
“ไม่ได้บ่งบอกว่า การพบเจอออร์ฟิชจะเป็นสัญญาณบ่งบอกพิบัติภัยก็ได้ แต่อาจจะหมายถึง ตอนนี้สถานการณ์เรื่องของภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อาจจะมีพิบัติภัยตามมา หรือปรากฏการณ์ที่ตามมาจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ เช่น บอมบ์ไซโคลน (Bomb Cyclone) ลักษณะอากาศแถบใกล้ๆ ขั้วโลก อุณหภูมิภายใน 24 ชม.ลดลงมานับ 10 องศา หรือ พายุหิมะ ภายใน 1 วันตกถล่มทลายหนาเป็นเมตร ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เพิ่งเกิดขึ้นในแถบแคนาดา สหรัฐอเมริกา” ผู้เชี่ยวชาญด้านพิบัติภัย ให้ความเห็น
10 อันดับ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
อันดับที่ 10 คันโต ปี 1923
...
เกิดแผ่นดินไหว 7.9 แมกนิจูด ที่ เขตคันโต กรุงโตเกียว เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน ปี 1923 ทำลายบ้านเรือนประชาชนไปกว่า 2 ล้านหลัง มีผู้เสียชีวิต 142,800 ราย
อันดับที่ 9 เกนโรคุ ปี 1703
เกิดแผ่นดินไหว 8 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณอ่าวซะงะมิ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรโบโซ และยังทำให้เกิดสึนามิพัดเข้าสู่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฮอนชู ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 108,000 คน เป็นสึนามิที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่ง
อันดับที่ 8 นันไคโด ปี 1946
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 แมกนิจูด ซึ่งเป็นพื้นที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งเลื่อนลงมาอยู่ด้านล่างอีกแผ่นหนึ่ง แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่นี่ทุกๆ 100 ถึง 200 ปีตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไป 1,362 คน
อันดับ 7 อาโอโมริ ปี 1968
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด เกิดขึ้นที่ชายฝั่งตะวันออกของฮอนชูใกล้กับมิซาวะประเทศญี่ปุ่นและตามด้วยสึนามิครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิต 52 คน
อันดับ 6 เกาะคูริล ปี 2006
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.4 แมกนิจูด ลึกลงไปประมาณ 30 กม. ทำให้เกิดสึนามิถล่มชายฝั่งตอนเหนือของญี่ปุ่น แต่ไม่มีใครเสียชีวิต เนื่องจากมีประชากรประมาณ 19,000 คน
อันดับ 5 ซันริกุ ปี 1933
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.4 แมกนิจูด ห่างจากฝั่งประมาณ 290 กม. และเกิดเป็นสึนามิ ซึ่งมีคลื่นสูงถึง 28.7 เมตร กวาดล้างบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหาย ราว 3,000 หลัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน
อันดับ 4 อันเซ-นันไค ปี 1854
ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 8.4 อีกหลายแห่ง แผ่นดินไหวที่ อันเซ-นันไค คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 10,000 คน บนเกาะคิวชู ส่งผลให้เป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวลานั้น ถึงขนาดถูกกล่าวขานว่า เป็นปลาดุกยักษ์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวมีผู้เสียชีวิต 2,000 คน อีกหนึ่งปีต่อมา แผ่นดินไหวอันเซเอโดะ ซึ่งมีขนาด 6.9 คน คร่าชีวิตผู้คนได้ไปกว่า 6,600 คน
อันดับ 3 เมอิจิ-ซันริกุ ปี 1896
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5 แมกนิจูด ก่อให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ จนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฮาวายและแคลิฟอร์เนีย และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาถึง 76 ครั้ง ในขนาด 5.0 แมกนิจูดหรือมากกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 27,000 คน
อันดับ 2 ปีโฮเอ ปี 1707
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 แมกนิจูด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5,000 คน นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายปานกลางถึงรุนแรงทั่วเกาะฮอนชูตะวันตกเฉียงใต้ เกาะชิโกะกุและเกาะคิวชูตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังอาจเป็นสาเหตุของการปะทุครั้งสุดท้ายของภูเขาไฟฟูจิในอีก 49 วันให้หลัง
อันดับ 1 โทโฮคุ ปี 2011
เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ สูงที่สุดถึง 40.5 เมตร ในมิยาโกะ รวมทั้ง ยังทำลายเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนด้วย หลังจากนั้น ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 1,200 ครั้ง นับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่คร่าชีวิตมากกว่า 15,000 คน
กรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USGS.gov ได้เก็บข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นและรอบๆ พบว่า ในปี 2018 มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น 839 ครั้ง มีความรุนแรงตั้งแต่ 3.2-6.6 แมกนิจูด เฉลี่ยเกิดแผ่นดินไหว 2-3 ครั้งต่อวัน
ประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นบ่อยครั้ง โดยประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นหมู่เกาะ เกิดมาจากแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น คือ แผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย และแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือชนกัน [3] เกิดเป็นหมู่เกาะขึ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน ลักษณะภูมิประเทศของญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “วงแหวนแห่งไฟ” (The Ring of fire) ซึ่งเป็นพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะคล้ายเกือกม้า เป็นบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดขึ้นบ่อยครั้ง
เตือน ภายใน 10 ปี โตเกียวอาจเจอแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 8
ศ.ดร.ธนวัฒน์ เผยว่า นักวิชาการทางด้านแผ่นดินไหว ออกมาเตือนว่า ภายใน 10 ปี ที่โตเกียวอาจจะเจอแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากกว่า 8 ขึ้นไป ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการแถลงข่าว และประชาชนชาวญี่ปุ่นใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ตื่นตระหนก แม้กระทั่ง มาตรฐานการสร้างที่อยู่อาศัยก็ได้มาตรฐาน ป้องกันแผ่นดินไหว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดไปจากที่เคยเป็น
บทเรียนญี่ปุ่นสู่ไทย รับมือภัยพิบัติ
สำหรับบทเรียนจากแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น นำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้อย่างไรบ้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพิบัติภัย อธิบายว่า ประเทศญี่ปุ่น เรื่องการศึกษาในเชิงวิชาการ ค่อนข้างก้าวหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆ มาก รวมไปถึง ความตระหนักรู้ของประชาชนและการออกแบบด้านวิศวกรรม การบังคับใช้กฎหมาย จะเห็นได้ว่าพิบัติภัยแต่ละครั้งในญี่ปุ่น ความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นจะเชื่อและติดตามข้อมูลข่าวสารของทางราชการที่อิงอยู่บนข้อมูลทางวิชาการ ดังนั้น จะเห็นว่าแม้จะเป็นประเทศที่มีพิบัติภัยอยู่ทุกวัน แต่สามารถรับมือได้
“ก่อนหน้านี้ที่เกิดพายุเกย์ มีผู้เสียชีวิต 500 คน พายุแฮเรียตที่แหลมตะลุมพุก มีผู้เสียชีวิตเป็นพันคน แต่พายุปาบึกเสียชีวิตไม่ถึง 10 คน รัฐบาลสามารถรับมือได้รวดเร็ว ข่าวสารดี มีการอพยพประชาชน จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ดีขึ้นเยอะมาก แสดงว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่จะช่วยลดความเสียหายต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ คิดว่าบ้านเราน่าจะดีขึ้นครับ” หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน