จีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของกันและกัน โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก แต่แล้วเมื่อสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ได้ฟาดฟันกันในทางการค้า โดยสหรัฐฯ เป็นผู้เปิดเกมรุกก่อน ในขณะที่จีนก็โต้กลับได้อย่างทันควัน ไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ปฐมบทสงครามการค้าจีน สหรัฐฯ จึงปะทุขึ้นมา
อะไรจะเกิดขึ้นกับโลก และใครจะเป็น The Winner ในศึกครั้งนี้?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อดีต ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้
...
เปิดปฐมบทสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
“อะไรกันแน่ คือ ปมที่ทำให้สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน?”
มีข้อสังเกตว่า...สงครามครั้งนี้ปะทุขึ้นเพราะมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะหากเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนอื่น อาจจะไม่เลือกทำสงคราม “Trade Wars” ในรูปแบบปะทะหนักกับจีนในลักษณะ Zero-Sum game เช่นนี้ก็เป็นได้
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่เป็นรากเหง้าในใจของทรัมป์ในการทำสงครามครั้งนี้ คือ ...สหรัฐฯ คงทนไม่ได้ หากจีนจะผงาดแซงหน้าขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกด้วย “เทคโนโลยี” สุดล้ำเช่นนี้
“เราต้องปกป้องพรมแดนเราจากความร้ายแรงของต่างประเทศที่มีต่อสินค้าเรา ขโมยบริษัทเรา และทำลายการจ้างงานของเรา การปกป้องจะนำไปสู่ความมั่งคั่งที่ยิ่งใหญ่และความเข้มแข็ง”
โดนัลด์ ทรัมป์ ให้คำมั่นสัญญาขณะลงเลือกตั้งประธานาธิบดี พร้อมแสดงท่าทีแข็งกร้าวที่จะปกป้องอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จากการแข่งขันของต่างประเทศ โดยจะใช้นโยบายการค้าที่ “อเมริกาต้องมาก่อน” นำเอาการจ้างงานที่ไปอยู่ต่างประเทศกลับคืนมาสหรัฐฯ
ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทรัมป์จะต้องทำตามคำหาเสียงที่ให้ไว้กับประชาชนชาวอเมริกา ว่าจะต้อง “แข็งกร้าวกับจีน”
ในเบื้องลึกแล้ว มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ย่อมจะหวั่นไหวกับการผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วของจีน โดยเฉพาะความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของจีนอย่างก้าวกระโดด และยิ่งเมื่อจีนประกาศยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมจีนด้วย Industry 4.0 ทำให้สหรัฐฯ มองว่า การเติบโตของจีนอาจจะเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ก็ได้
โดยที่เครื่องมือที่สหรัฐฯ เลือกใช้ คือ มาตรการทางภาษี เพราะสหรัฐฯ ถือว่า ถ้าทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษี สหรัฐฯ จะอยู่ในอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า เพราะรู้ดีว่า จีนต้องพึ่งพาการค้าขายกับสหรัฐฯ เป็นตลาดอันดับ 1 และรายได้จากการส่งออกของจีน 19% มาจากสหรัฐฯ ทรัมป์จึงคิดว่า จะ “บีบ” จีนได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสร้างความเสียหายอื่นๆ ที่จะตามมา
“สิ่งหนึ่งที่คุณทรัมป์อ่านเกมผิด คิดว่าจะบีบจีนได้ และผู้นำจีนจะต้องยอมสหรัฐฯ แต่กลายเป็นว่า จีนพร้อมปล่อยหมัดสวนกลับทันควัน โดยเก็บภาษีกลับด้วยมูลค่าและอัตราเท่ากัน จีนในยุคสีจิ้นผิงไม่ได้ยอมต่างชาติให้มาย่ำยีจีนได้ง่ายๆ อย่างที่คิด ก็เลยทำให้เกิดปัญหาสงครามการค้าปะทุตามมา”
...
สวนกันหมัดต่อหมัด! สหรัฐฯ เปิดเกม จีนซัดกลับ
ในยกแรกนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้เปิดเกมก่อน ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน โดยอ้างว่า จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ใช้คำว่า “ขโมย” เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติที่ไปลงทุนในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้จีน ทรัมป์ผูกโยงอ้างเรื่องเหตุผลด้านความมั่นคง สหรัฐฯ จึงขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน
ขณะที่ จีนเองก็ไม่ยอมตกอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว จึงสวนกลับในทันทีด้วยการเก็บภาษีในสินค้านำเข้าสหรัฐฯ โดยจีนใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟันพร้อมจะตอบโต้กลับ
ต่อมา สหรัฐฯ ขู่ว่าสำหรับการเก็บภาษีอัตราร้อยละ 10 สินค้าประมาณ 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้ ในต้นปี 2019 นี้จะขึ้นเป็น ร้อยละ 25 และจีนเองก็ขู่กลับเช่นกัน
แต่ในท้ายที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็เจรจาสงบศึก “พักรบ” ชั่วคราว 90 วัน เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศพบกันในการประชุม G20 ที่อาร์เจนตินา โดยมีการตกลงของสหรัฐฯ ว่า ต้นปี 2019 ภาษีที่เก็บร้อยละ 10 และจะขึ้นเป็นร้อยละ 25 นั้น จะยังไม่ขึ้น ส่วนจีนก็ยอมสหรัฐฯ หลายเรื่อง ไม่ว่ารับปากว่าจะซื้อสินค้าเกษตร รวมทั้งอาจจะทบทวนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่สหรัฐฯ ใช้เป็นปมในการโจมตีจีนเรื่องเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่จีนพยายามที่จะพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และรวมไปถึงผลิตสินค้าไฮเทคมากขึ้น
...
“เทคโนโลยี” หัวใจสำคัญของสงครามการค้า
คำกล่าวที่ว่า “ใครคุมเทคโนโลยี คนนั้นคือผู้กุมอนาคตโลก” คงเป็นแรงจูงใจให้ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ความสำคัญและเดินหน้ามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งจีนทำได้อย่างรวดเร็ว ล้ำหน้าอย่างก้าวกระโดด และเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องได้ เช่น เทคโนโลยี AI สร้างนวัตกรรมอัจริยะต่างๆ เพื่อเศรษฐกิจ Digital Economy
ชัดเจนว่า จีนเป็นประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านการจัดระเบียบทางสังคม โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก Big Data ซึ่งมีข้อมูลมหาศาล ด้วยการใช้ระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม (Social Credit System) เพื่อจัดระเบียบและปรับพฤติกรรมคนจีนให้ดีขึ้น
...
“จีนใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด เพราะเขาไม่ได้ใช้เพื่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อความมั่นคง และการจัดระเบียบทางสังคมได้ด้วย ดังนั้นการผงาดขึ้นของจีนด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด คือ ปมเบื้องลึกของสงครามการค้าครั้งนี้ ที่ทำให้มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ต้องหวั่นไหว คุณทรัมป์จึงเน้นที่จะสกัดกั้นมหาอำนาจใหม่อย่างจีนที่เติบใหญ่ด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และเลือกใช้วิธีการต่างๆ รวมทั้งการทำสงครามการค้าครั้งนี้”
“หัวเว่ย-ไอโฟน” เชลยศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน
บริษัทผู้ผลิตมือถือระดับโลกทั้งสองค่าย เปรียบดั่งตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของการห้ำหั่นกันระหว่างสองชาติ โดย “หัวเว่ย” เป็นบริษัทที่คนจีนทั้งประเทศภาคภูมิใจ มียอดขายเป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้าไอโฟน แต่หัวเว่ยไม่ได้ทำแค่สมาร์ทโฟน แต่ยังพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างโซลูชั่นอีกมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ซึ่งพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ แอปเปิล ผู้ผลิตไอโฟน เจ้าพ่อไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ผู้มีสาวกทั่วโลก
“ทำให้การแข่งขันระหว่าง 2 ค่าย คือ หัวเว่ยของจีน กับ ไอโฟนของสหรัฐฯ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ และถูกใช้เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมของคนในชาติจากการทำสงครามการค้าครั้งนี้ด้วย”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ห้ามใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง และบุตรสาวประธานบริษัทหัวเว่ย โดนจับกุมในแคนาดาด้วยข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านไอโฟนในจีนอย่างกว้างขวาง บางบริษัทในประเทศจีนถึงกับสั่งห้ามพนักงานใช้ไอโฟน หรือจูงใจให้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยด้วยการนำมาแจกให้พนักงานของตนใช้ฟรี เป็นต้น จึงถือเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์กลับเช่นเดียวกัน
“นักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกบางรายตั้งคำถามว่า หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชนของจีนที่ไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลมาสู่สาธารณะมากนัก และการระดมทุนของหัวเว่ยย่อมมีข้อจำกัดกว่าบริษัทเทคคอมรายใหญ่อื่นๆ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ แต่ทำไมหัวเว่ยจึงสามารถเติบโตทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จะนำเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมหาศาลมาได้อย่างไร มาจากแหล่งทุนใด หรือจะมีรัฐบาลจีน/พรรคคอมมิวนิสต์หนุนหลัง เบื้องหลังการเติบโตอย่างลึกลับของหัวเว่ยจึงเป็นอีกเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากชาติตะวันตกมาโดยตลอด”
สี จิ้นผิง VS โดนัลด์ ทรัมป์ ศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ต่างกัน
ในทุกๆ ครั้งที่ผู้นำของทั้งสองประเทศมหาอำนาจออกมางัดข้อกันในสงครามการค้าครั้งนี้ จะมีคนในชาติจะออกมาหนุนหลังอย่างแตกต่างกัน โดยผู้นำฝ่ายจีนจะมีคนจีนทั้งประเทศเป็นกองเชียร์ให้ปล่อยหมัดอัดใส่สหรัฐฯ
มีข้อสังเกตว่า ในยุคสีจิ้นผิงได้เกิดกระแสชาตินิยมในจีนสูงมาก หากมีฝรั่งตะวันตกมาทำอะไรกับจีน คนในชาติจะเกิดความรู้สึกว่า “ยอมไม่ได้” ล่าสุดในกรณีของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของอิตาลีจะมาจัดงานแฟชั่นโชว์เดินแบบในจีน แต่ได้ผิดพลาดโดยการปล่อยคลิปวิดีโอโปรโมตงานด้วยภาพผู้หญิงจีนที่พยายามใช้ตะเกียบกินพิซซ่าหรือสปาเก็ตตี้อย่างยากลำบากด้วยท่าทางเงอะๆ งะๆ จนเกิดกระแสต่อต้านในจีนที่มองว่า เป็นการ “ดูถูกวัฒนธรรมจีน” จนในที่สุด งานเดินแบบครั้งนี้ต้องถูกยกเลิกไป
ตั้งแต่ สี จิ้นผิง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำจีน มีความพยายามให้คนจีนได้ภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์จีน และได้ประกาศ ”ความฝันของจีน” ที่จะฟื้นฟูชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ชาติตะวันตกมีท่าทีเชิงลบหรือดูหมิ่นกับจีน ก็จะมีคนจีนทั้งประเทศรวมพลังสามัคคีกันต่อต้านต่างชาติเหล่านั้น รวมทั้งการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ในรอบนี้
ในทางตรงกันข้าม โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมิได้มีคนอเมริกันทั้งประเทศเป็นกองเชียร์ จะมีก็แค่ฐานเสียงในบางรัฐบางกลุ่มที่สนับสนุน หากแต่ยังมีนักธุรกิจสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้าแบบนี้ เพราะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
ใครได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ?
เรียกได้ว่าเมื่อชาติมหาอำนาจทั้งคู่ทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีตอบโต้กันและกัน ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็น่วมกันทั้งคู่ เช่น บริษัทสหรัฐฯ ที่จะมาค้าขายกับจีน รวมทั้งผู้บริโภคสหรัฐฯ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้นจากสินค้านำเข้าจากจีนที่บวกภาษีสูงขึ้น
ผลกระทบต่อจีนก็เริ่มชัดเจนขึ้น นักธุรกิจในจีนเริ่มกังวลถึงผลกระทบจากสงครามการค้า และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2018 อาจจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าไว้ที่ 6.5% และถ้าเป็นเช่นนี้ จะเป็นการเติบโตต่ำที่สุด หรือ New Low ครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของประเทศจีน จึงเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อไปถึงเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
ผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ที่รวมกันคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก” เพราะฉะนั้นเมื่อยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 เดี้ยง เศรษฐกิจโลกก็ย่อมจะเดี้ยงตามไปด้วย นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใน Global Supply Chain ห่วงโซ่การผลิตของทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะโดนหางเลขไปด้วย ประเทศที่ต้องพึ่งพาทั้งสองประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
จีน คู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่การค้ากับจีนอาจจะถูกกระทบ
กลับมาดูที่ประเทศไทย ซึ่งพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ก็ย่อมจะโดนหางเลข หากเศรษฐกิจโลกซบเซาจากสงครามการค้า เศรษฐกิจไทยก็จะลำบากไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย สินค้าส่งออกจากไทยไปจีนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ก็ย่อมจะถูกกระทบ เช่น วัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบต่างๆ ที่ไทยส่งออกไปให้กับจีน แล้วจีนนำไปแปรรูปต่อเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หากโดนอัตราภาษีที่สูงขึ้น จะทำให้การส่งออกของจีนซบเซา และส่งผลต่อเนื่องให้จีนนำเข้าวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากไทยน้อยลงนั่นเอง
ส่วนในแง่ของการที่ไทยจะฉวยโอกาสจากสงครามการค้าครั้งนี้ได้หรือไม่ จากความคาดหวังว่า หากจีนหรือสหรัฐฯ เมื่อมีการค้าขายกันเองน้อยลง อาจจะเบนเข็มไปค้าขายกับชาติอื่นเช่นประเทศไทยหรือไม่ ก็ยังไม่เห็นผลเชิงบวกเช่นนี้ที่ชัดเจนมากนัก แล้วจะมีประเทศไหนที่จะรับอานิสงส์จากสงครามการค้ารอบนี้หรือไม่ คำตอบคือ เวียดนาม
เวียดนาม ส้มหล่นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ
ในขณะนี้มีรายงานว่า เวียดนามได้กลายเป็น winner จากสงครามการค้าครั้งนี้ เพราะจีนและสหรัฐฯ ได้เบี่ยงเบนหันมาค้าขายกับเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามที่ขยายเพิ่มขึ้นมาก จนทำให้เมื่อเทียบกับ 10 ประเทศในอาเซียน เวียดนาม ได้ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน แซงหน้าแชมป์เดิม คือ มาเลเซีย
ในส่วนของสหรัฐฯ เช่นกัน แม้ว่าเวียดนามกับสหรัฐฯ จะเคยทำสงครามเวียดนามระหว่างกันมานาน แต่ในปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศนี้กลับหันมาค้าขายกันมากขึ้น และสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะการที่รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายเชิงรุกในการทำข้อตกลง FTA หลายฉบับกับหลายประเทศและหลายกลุ่ม ที่สำคัญ เวียดนามยังได้เข้าร่วมข้อตกลง TPP (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP) จึงเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้เวียดนามในสายตาต่างชาติ ทำให้มีบริษัทต่างชาติไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นตัวเลือกที่หลายประเทศอยากค้าขายและลงทุนด้วย รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ
ถามว่า “ทำไมจึงเป็นเวียดนาม?”
จุดเด่นของแรงงานเวียดนามที่มีความขยัน มีการพัฒนาทักษะสูงขึ้น ในขณะที่ค่าแรงไม่สูงมาก รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาลเวียดนาม ที่สำคัญ สถานการณ์ทางการเมืองเวียดนามก็มีเสถียรภาพ ไม่มีการประท้วงวุ่นวาย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีวันดีคืน โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ต่างชาติเข้าไปตั้งโรงงาน
อีกทั้ง นโยบายเชิงรุกของเวียดนามในด้านการทำข้อตกลง FTA กับหลายๆ ประเทศและหลายๆ กลุ่ม ยิ่งเป็นแต้มต่อในการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก หรือผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในขนาดใหญ่ของเวียดนามที่มีประชากรมากและมีรายได้สูงขึ้น
จึงมีบทวิเคราะห์ว่า เวียดนาม กลายเป็นผู้ชนะของสงครามการค้าจีน สหรัฐฯ ในครั้งนี้นั่นเอง
โดยสรุป ผลกระทบของสงครามการค้า คู่กรณีที่น่วมแน่นอนย่อมหนีไม่พ้นจีนกับสหรัฐฯ และประเทศทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตและการค้า
Trade Wars สู่ Tech Wars ศึกแห่งศักดิ์ศรีไม่จบง่ายๆ
สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าตอนนี้จะพักรบกันชั่วคราว 90 วัน จีนยอมถอยหลายเรื่อง และล่าสุดยังให้ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักลงทุนผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ พร้อมทั้งยังมอบ “กรีนการ์ดจีน” ให้ด้วย อย่างไรก็ดี ในแง่ผลกระทบเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังอยู่ในเหตุการณ์อึมครึม
“ในแง่ของสงครามการค้าในขณะนี้มีการสงบศึกพักรบชั่วคราวลง และด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศ อาจทำให้สงครามในรูปแบบของ Trade War อาจจะสงบลง แต่คิดว่าศึกแห่งศักดิ์ศรีของสองชาติมหาอำนาจครั้งนี้มันคงไม่จบง่ายๆ และคาดว่าในอนาคต Trade Wars อาจจะปรับรูปแบบไป โดยกลายเป็นสงครามแข่งขันกันด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Wars ระหว่างมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ และมหาอำนาจทางเทคโนโลยีน้องใหม่อย่างจีนที่เริ่มแซงโค้งล้ำหน้าขึ้นมาในหลายด้าน จึงต้องเกาะติดกันต่อไป”.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน