ครบ 1 เดือน หลังตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 61 กทม.ดีเดย์จัดระเบียบ ถ.ข้าวสาร ห้ามตั้งวางแผงค้าบนฟุตปาท และกำหนดให้ผู้ค้าที่ตั้งแผงค้าบนทางเท้าในถนนข้าวสารลงไปขายบนผิวจราจร ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. หากผู้ค้าฝ่าฝืนอาจต้องดำเนินตามกฎหมาย จากเดิมเคยขายได้ 09.00-02.00 น. ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกคือ กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า

การจัดระเบียบของ กทม.ครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือเปล่า มีผลกระทบการท่องเที่ยวอย่างไร หลังเป็นข่าวครึกโครมทั่วโลก ต่างชาติถึงกับงง เพราะเสน่ห์ของถนนข้าวสารที่สร้างสีสัน คือ ร้านอาหารริมทาง (Street Food) ที่หลากหลาย แบบดั้งเดิมสไตล์ไทย ซึ่งเป็นภาพที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกและคนไทยชินตา และถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์กของไทย

บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ชีวิตของพวกเขารับผลกระทบอย่างไร มีการเยียวยาหรือไม่ ทางทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบ หลังลงพื้นที่สำรวจและสอบถามความคิดเห็น 2 ครั้ง

...

รถเข็นก็คน หัวอกแม่ค้า เดือนนี้ส่งดอกเบี้ยเงินกู้ 4 พัน

“ไปกทม. ไปพบผู้ว่าฯ ส่งแต่ตัวแทน ก็รับเรื่องเฉยๆ แต่ไม่มีคำตอบ ไม่เคยพูดถึงพ่อค้า แม่ค้ารถเข็น ว่าจะให้ไปขายตรงไหน พูดถึงแต่แผงผ้า รถเข็นคนไทยมีที่ใครที่มัน รถเข็นที่ตั้งเกลื่อนคือของคนต่างด้าว รถเข็นก็คนนะคะ ลำบากจริงๆ กู้เงินร้อยละ 20 มาเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน เดือนนี้ทั้งเดือนป้าส่งดอกไป 4 พันแล้ว หาเงินส่งดอกอย่างเดียวเลย (เสียงสั่นเครือ)”

นางลำพึง อยู่เย็น หรือ ป้าตุ๊ก ทำมาหากินในถนนข้าวสารมา 30 กว่าปี ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่ยังมีร้านค้าไม่มาก โดยขายผัดไทย ปัจจุบันเข็นรถขายไก่ย่าง บอกเล่าความรู้สึกกับทีมข่าวฯ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ พร้อมเผยอีกว่า หลังถูกจัดระเบียบ การค้าขายแย่ลงเรื่อยๆ รายได้ลดครึ่งต่อครึ่ง เดิมขายตั้งแต่บ่ายสองจนถึงตีสอง ได้วันละ 30 กิโล ปัจจุบันขายได้แค่ 10 กิโล บางวันขายไม่หมด เพราะจำกัดเวลาขายให้น้อยลง

รวยคงไม่นั่งให้มาไล่ นักท่องเที่ยวลด อนาคต เป็น “ป่าช้า”

ไม่เพียงแต่แม่ค้ารถเข็นเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ผู้ค้าที่เช่าพื้นที่ก็เดือดร้อนหนักเช่นกัน ผู้ค้าขายผัดไทยเจ้าหนึ่งซึ่งเช่าพื้นที่หน้าร้าน โอดครวญกับทีมข่าวฯ ว่า ตนนั้นขายผัดไทยจานละ 30-50 บาท ขายไม่แพง หลังจัดระเบียบ ชีวิตย่ำแย่ ชี้ ถนนข้าวสารไม่ควรจัดระเบียบ เพราะไม่ใช่ถนนหลักที่มีรถวิ่ง นักท่องเที่ยวลดลง แนะ กทม. จัดระเบียบความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ

หลังจัดระเบียบ เงียบเชียบดังป่าช้า
หลังจัดระเบียบ เงียบเชียบดังป่าช้า

มาก็พยายามไล่อย่างเดียว บอกจัดระเบียบนะ ก่อนมาจัดระเบียบก็ไม่เคยมาถาม ถ้ารวย คงไม่นั่งให้มาไล่หรอก หลังจัดระเบียบไม่ดีเลย ไม่ดีม๊าก มาก (ลากเสียงยาว) พ่อค้าแม่ค้าเสียหายกันเยอะ รายได้ลดลงมาก รายจ่ายก็เยอะอยู่แล้ว

...

อยากให้จัดระเบียบความปลอดภัยของชาวต่างชาติ เพราะขอทานเยอะ ต่างชาติไม่อยากมาแล้ว จากมาวันละพัน เหลือวันละ 300 คน ฝรั่งบางคนก็มาถามเดี๋ยวนี้ทำไมเป็นแบบนี้ แต่ก่อนมีของขายเยอะแยะ ข้าวสารเป็นจุดขายของประเทศไทย เป็นหน้าตา จัดระเบียบแบบนี้อีกหน่อยเป็นป่าช้าแม่ค้าขายผัดไทยตัดพ้อ

จากวันละพัน บางวันขายไม่ได้ ต้องอดมื้อกินมื้อ

นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าเดินเร่ขายแมงป่องช้างทอดเสียบไม้ ซึ่งเป็นอีกเมนูฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความแปลก ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นายสำราญ ศาลางาม เดินเร่ขายมา 10 ปี ตั้งแต่เวลา 12.00 -24.00 น. บอกกับทีมข่าวฯ ด้วยหน้าตาเศร้าหมอง เมื่อถูกถามถึงความเป็นอยู่หลังมีการจัดระเบียบ

จากเดิม ตื่นเช้า เดินไม่กี่ก้าวจากห้องพักในถนนข้าวสารก็พบอาหารที่ขายบนรถเข็น
จากเดิม ตื่นเช้า เดินไม่กี่ก้าวจากห้องพักในถนนข้าวสารก็พบอาหารที่ขายบนรถเข็น

...

โดยเปิดเผยว่า เมื่อก่อนถนนข้าวสารคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว รายได้ตกวันละ 1 พันกว่าบาท ลูกค้าที่อุดหนุนส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มาซื้อกิน ถ่ายรูป ถ่ายคลิป โชว์เพื่อนเป็นที่สนุกสนาน แต่ปัจจุบัน เงียบเหงา ขายของยาก ทำให้รายได้ลด เหลือวันละ 100-300 บาท และบางวันก็ขายไม่ได้สักบาท จนต้องอดมื้อกินมื้อ

“บางวันขายไม่ได้ ก็ไม่ได้กินข้าว ต้องอดข้าว ถ้าขายได้ก็ได้กิน ตั้งแต่จัดระเบียบมา อดข้าวมาหลายครั้ง และกลัวเทศกิจจับ นายสำราญเล่าเสียงซื่อๆ

วิถีเดิมกำลังหาย ระเบียบกับอัตลักษณ์ ควรจัดคู่กัน

ตลอดสองข้างทางของถนนข้าวสาร ทีมข่าวฯ เดินสำรวจตั้งแต่ 9 โมงจนถึงพลบค่ำ แวะสอบถามผู้ค้านับหลายสิบราย ซึ่งมีทั้งพ่อค้ารับถักผม แม่ค้าขายของที่ระลึก งานเพ้นท์ งานแฮนด์เมด แม่ค้าผลไม้รถเข็น หรือร้านนวดแผนไทย ได้รับผลกระทบหมด

หัวอกแม่ค้ารถเข็น ไม่ถูกบรรจุในระบบของ กทม. แม้จะโดนไล่ที่ก็ต้องทน
หัวอกแม่ค้ารถเข็น ไม่ถูกบรรจุในระบบของ กทม. แม้จะโดนไล่ที่ก็ต้องทน

...

และต่างตอบในทิศทางเดียวกันโดยไม่ได้เตี๊ยมว่า ถนนข้าวสารในตอนกลางวัน เงียบเหงาและซบเซาอย่างหนัก นักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 50% วอน กทม. แก้ไขให้อัตลักษณ์ของถนนข้าวสารกลับมาเป็นเหมือนเดิม เปิดขายเวลาเดิม

ส่วนการให้ขายบนผิวจราจรนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตกดึก นักท่องเที่ยวออกมาเต้นเต็มถนน คนต่างชาติมาเที่ยวถนนข้าวสาร เพราะสตรีทฟู้ด และบรรยากาศดั้งเดิมสไตล์ไทย กินอาหารไทย ช็อปสินค้าไทย ไม่ใช่ทางโล่งๆ บรรยากาศจืดชืดเช่นปัจจุบัน

บริการด้านขนส่งทั้งตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ก็เงียบเหงา เพราะนักท่องเที่ยวลดลง
บริการด้านขนส่งทั้งตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ก็เงียบเหงา เพราะนักท่องเที่ยวลดลง


“คนที่เคยมา ก็จะถามว่าทำไมกลางวันไม่มีขายของ ทำไมดูโล่งๆ บรรยากาศจืดชืด มันไม่ได้กระทบแค่พ่อค้ารถเข็น แผงลอย มันกระทบแม้กระทั่งธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ ด้วย อย่างร้านนวดไทย ก็แย่เหมือนกัน พอจะได้ลูกค้าบ้างก็ตอนกลางคืน อยากให้ กทม.จัดระเบียบเรียบร้อยด้านความสวยงามจะดีกว่ามาจำกัดเวลาในการขายของของรถเข็น แผงค้า เพราะสิ่งเหล่านี้คืออัตลักษณ์และเสน่ห์ของเมืองไทย และถนนข้าวสาร นายธนวรรณ เมธาวุฒิ ผจก.ร้าน Jenny Thai massage ที่เปิดบริการนักท่องเที่ยวในถนนข้าวสารกล่าว

จากขายได้วันละพัน ลดเหลือหลักร้อย บางวันขายไม่ได้ ไม่มีเงินจนต้องอดข้าว
จากขายได้วันละพัน ลดเหลือหลักร้อย บางวันขายไม่ได้ ไม่มีเงินจนต้องอดข้าว

กทม. จัดเป็นจุดผ่อนผัน ชมรมผู้ค้าฯ ชี้แนะ อย่าฟังความ ผู้ลงทุน ข้างเดียว

บทสรุปของการจัดระเบียบถนนข้าวสาร ในฝั่งของผู้ค้าแผงลอยมีแผนรับมืออย่างไร น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสาร ชี้แจงกับทีมข่าวฯ ขณะนี้กำลังเจรจากับผู้บริหาร ขอขยายเวลาขาย และหนุนให้ผู้ค้ารถเข็นเข้าสู่แบบแผนของ กทม. อีกทั้งพร้อมให้ความร่วมมือทุกนโยบาย แต่ขอความชัดเจนจาก กทม. และให้อำนาจกับผู้บริหารท้องถิ่นแทน กทม.

นอนรอลูกค้าหลายชั่วโมงก็ยังไม่ถูกเรียกใช้บริการ
นอนรอลูกค้าหลายชั่วโมงก็ยังไม่ถูกเรียกใช้บริการ

ขณะคุยกันนั้น น.ส.ญาดา ชี้ให้ทีมข่าวฯ ดูภาพความวุ่นวายของการเริ่มตั้งแผงค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ของที่ระลึก ของแฮนด์เมด ที่ใช้เวลาเกือบชั่วโมงจึงติดตั้งแล้วเสร็จ เพื่อเปิดขายเวลา 1 ทุ่มจนถึงเที่ยงคืน ตามคำสั่งจัดระเบียบ แทนที่จะได้เห็นภาพและบรรยากาศพระอาทิตย์ใกล้ตกดินที่สวยงาม แต่นักท่องเที่ยวต้องมาเจอภาพดังกล่าว

ในด้านรายได้นั้น น.ส.ญาดา เปิดเผยว่า บางแผงขายได้พันหนึ่ง พันห้า เนื่องจากกลางคืนของที่ระลึกขายไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวมากิน ดื่มมากกว่า

น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสาร
น.ส.ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมผู้ค้าแผงลอยถนนข้าวสาร

ในแบบแผนของ กทม. ไม่ให้รถเข็นอยู่ในระบบ แต่ชมรมพยายามนำเสนอโดยนักวิชาการ ชี้ให้เห็นว่ารถเข็นเป็นตัวดึงดูด เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมา ต้องมาเจอผัดไทย ตั๊กแตนทอด ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ชมรมรู้สึกว่า ผู้บริหารไม่เปิดกว้างให้ชี้แจง รับฟังแต่ด้านกลุ่มนักลงทุน เจ้าของอาคาร ซึ่งมีแค่ 2-3 คน

อยากให้มารับฟังผู้ค้า เรามีภาพหลักฐานการบริหารจัดการแผงลอยในถนนข้าวสารตั้งแต่สมัยปี 2548 ไม่ได้เดือดร้อนแล้วมาทำ อยากให้มีนโยบายที่ชัดเจนจาก กทม. และควรให้อำนาจผู้อำนวยการเขตมากกว่าเพราะใกล้ชิด รู้ปัญหากันมาตลอดกับผู้ค้า และรับฟังผู้บริหารระดับท้องถิ่นบ้าง น.ส.ญาดา ชี้แนะ

จัดเทศกิจมาดูแล 24 ชั่วโมง ป้องกันพ่อค้าแอบขาย
จัดเทศกิจมาดูแล 24 ชั่วโมง ป้องกันพ่อค้าแอบขาย

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตถนนข้าวสาร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานเขตพระนคร เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดระเบียบถนนข้าวสาร รวมถึงพิจารณาข้อร้องเรียน การแก้ไขปัญหาและยุติปัญหาร้องเรียน ซึ่ง น.ส.ญาดาเข้าร่วมประชุมด้วย ได้มีมติในที่ประชุมว่า เห็นด้วย ให้จัดเป็นจุดผ่อนผัน ส่วนขนาดแผงค้า เห็นด้วย ให้มีขนาด 1 คูณ 1.5-1.6 เมตร ส่วนในเรื่องของเวลาเปิดขาย ยังไม่มีข้อสรุปเพราะยังมีข้อโต้แย้ง ต้องประเมินอีกรอบ

ถนนข้าวสารในปัจจุบันที่ โล่ง เงียบ
ถนนข้าวสารในปัจจุบันที่ โล่ง เงียบ

ภายหลังการลงพื้นที่ติดตามความเรียบร้อยการจัดระเบียบพื้นที่ถนนข้าวสารในครั้งนี้ของทีมข่าวฯ ทำให้รู้ว่านักท่องเที่ยวลดลงจริงอย่างเห็นได้ชัด ดังคำพูดของผู้ค้า และนักท่องเที่ยวยังเบนเข็มไปเที่ยวจุดอื่นแทนถนนข้าวสารอีกด้วย แต่จะเป็นที่แห่งใด และเสน่ห์ ร้านริมทาง ผ่านสายตาต่างชาติเป็นอย่างไร โปรดรอชมคลิปเร็วๆ นี้.

ภาพ ชุติมน เมืองสุวรรณ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่


                  reporter.thairath@gmail.com  หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ