ลูกน้อยเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ทุกคน แต่..หากลูกน้อยเป็นอะไรไป หัวใจพ่อแม่คงแตกสลาย

ช่วงนี้กำลังระบาดหนักโดยเฉพาะคุณหนูๆ น้องๆ หลายคนเกิดอาการไข้ขึ้น ไอจาม มีเสมหะมาก จนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเร่งพาส่งรักษาให้ถึงมือแพทย์ โดยเฉพาะ เคสล่าสุด จากการเปิดเผยของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ ศิริมา ศิริชัยนาคร ว่า เกิดเหตุสุดสะเทือนใจกับครอบครัวหนึ่ง ซึ่งต้องเสียลูกน้อย วัย 5 เดือน จากอาการป่วยจากเชื้อไวรัส RSV 

ไข้ RSV คืออะไร ทำไมเด็กเล็กถึงป่วยจากโรคนี้ได้ง่าย ติดต่อจากอะไร แล้วจะมีวิธีป้องกันหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้าน “กุมารแพทย์” พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด รพ.BNH

RSV ภัยร้ายกำลังระบาดหนัก เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปีเสี่ยงมาก โดยเฉพาะหน้าหนาว - ฝน

พญ.สุธีรา กล่าวว่า RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus ซึ่งความหมายของ Respiratory แปลว่าระบบทางเดินหายใจ Syncytial พอเข้าไปแล้ว ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจ และ V คือ ไวรัส

...

“ไวรัสตัวนี้ระบาดอยู่ช่วงนี้ โดยจะระบายในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สาเหตุการติดต่อมาจากการ ไอ จาม รดกัน กินอาหารร่วมกัน คือ ติดต่อเหมือนโรคหวัดทั่วไป แต่โรคนี้จะมีอาการรุนแรงได้ เพราะไวรัสจะลงไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้”

กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด รพ.BNH เน้นย้ำว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงคือ เด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะระบบทางเดินหายใจส่วนบน ตั้งแต่จมูกถึงปอด ช่วงจะสั้นมาก ดังนั้น เชื้อไวรัส จึงอาจเดินทางได้เร็วมาก นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ กลุ่มผู้ป่วยโรคคุ้มกันบกพร่อง และคนชรา แต่หากเป็นเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่ ที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยมากอาการจะไม่รุนแร

อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่พบไม่มาก แนะวิธีสังเกตอาการ

กรณีเด็กที่เสียชีวิตได้นั้น คุณหมอสุธีรา อธิบายว่า หากเชื้อไวรัสเดินทางไปถึงระบบหายใจส่วนล่างแล้ว มันจะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่งผลให้ติดเชื้อแบคทีเรียมาเพิ่มอีก จากนั้นจะมีอาการหอบ ไอรุนแรง หากอาการหนักต้องรีบส่งตัวเข้าโรงพยาบาล รักษาห้อง ICU โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“ผู้ป่วยที่ถึงขั้นเสียชีวิต จากเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว คือ จะแลกเปลี่ยนออกซิเจนล้มเหลว ยิ่งเด็กทารกที่มีอายุน้อยๆ จะยิ่งเสี่ยง หรือการส่งผู้ป่วยมารักษาช้าเกินไป แต่...ที่พบส่วนใหญ่ จะไม่รุนแรงมาก ซึ่งอาการจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูก หากผ่านวันที่ 3 ไปแล้ว แต่หากว่ากินยาแล้วไม่ดีขึ้น ในวันที่ 4 ช่วงนี้จะอันตราย ต้องมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด หากรักษาถูกต้องวันที่ 7-9 อาการก็จะดีขึ้น”

วิธีการสังเกต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคที่เกี่ยวกับเด็ก แนะนำว่า อาการของโรคนี้เหมือนกับการเป็นไข้ปกติ แต่หากกินยาไปแล้วหลายวัน อาการไม่ดีขึ้น และยังพบว่ามีน้ำมูกมากผิดปกติ เกิดอาการไอจนอาเจียน จนนอนไม่ได้ ต้องรีบส่งตัวมารักษา ซึ่งเราจะเห็นอาการนี้หลังจากป่วยแล้ว 3 วัน ซึ่งหมอจะนำเชื้อจากจมูกหรือคอ ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ก็จะทราบผล โดยแค่ครึ่งชั่วโมงก็ทราบผลในครึ่งชั่วโมง โดยจะต้องให้แอดมิต ให้น้ำเกลือ และยาขยายหลอดลม

หลายคนโพสต์เตือนถึงความน่ากลัวของไวรัสตัวนี้
หลายคนโพสต์เตือนถึงความน่ากลัวของไวรัสตัวนี้

...

ยาปฏิชีวนะช่วยไม่ได้ ต้องใช้วิธีรักษาตามอาการ ระมัดระวังเชื้อโรคอื่นแทรกซ้อน

สำหรับวิธีการรักษานั้น พญ.สุธีรา เปิดเผยว่า เนื่องจากเชื้อโรคตัวนี้คือ “ไวรัส” ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ จึงไม่สามารถช่วยอะไรได้ ยกเว้น มีภาวะมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรก ก็จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแบคทีเรีย ส่วนเด็กที่อาการรุนแรง เราจะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เสมหะจะเยอะ เราก็จะพ่นยาให้ ถ้าสั่งน้ำมูกไม่ได้ก็ต้องล้างจมูก และคอยติดตามว่ามีภาวะขาดออกซิเจนหรือไม่ มีก๊าซพิษหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เรียกว่า รักษาตามอาการ

“สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ การที่ผู้ใหญ่นำเชื้อโรคมาให้เด็ก เพราะเวลาผู้ใหญ่ป่วย อาจจะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ป่วยไม่รุนแรง แต่เมื่อนำเชื้อโรคมาสู่เด็ก โดยเฉพาะเด็กแล้ว เด็กจะมีอาการรุนแรงกว่า นอกจากนี้ เวลาเด็กไปโรงเรียนก็อาจจะติดมาจากเพื่อนได้ อย่างไรก็ตาม จากสถิติที่พบโรคนี้ส่วนมากจะอาการไม่หนักมาก ผู้ที่ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตนั้นจึงมีไม่มากนัก" 

จุดเริ่มป่วย RSV มีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด ในอนาคต

...

กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด รพ.BNH กล่าวว่า จากการรักษาที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ป่วยโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้อีก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคหอบหืดได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะระบบทางเดินหายใจจะไวต่อพวกไรฝุ่น ทำให้เกิดอาการหอบได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ และมีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์นมวัว จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่า เพราะนมวัวจะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการภูมิแพ้มากขึ้น

การแพ้นมวัวนั้น เราจะทราบได้ก็ต่อเมื่อต้องคอยสังเกตตนเองดู หากรับประทานแล้ว มีเสมหะในคอ เกิดน้ำมูกไหล หากยังฝืนทานต่อไป ก็จะมีอาการไอและมีเสมหะตลอด ดังนั้น จึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตัวเองแพ้...

“หมอเคยเจอ เด็กอายุยังไม่ครบเดือนเลย ป่วย RSV แต่ยังโชคดีที่เคสนี้ป่วยไม่รุนแรง แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ สิ่งที่ช่วยได้ส่วนหนึ่งคือ “นมแม่” เมื่อลูกคลอดใหม่ๆ เราควรให้เด็กกินนมแม่ เพราะจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคได้ หมอพบว่า เวลาเด็กป่วย RSV ที่ต้องแอดมิตรักษา เราพบว่ารักษาไม่นาน 3 วันก็ดีขึ้น แต่เด็กบางคนที่ให้กินนมวัว เราจะแอดมิตนานกว่า บางคนถึง 7 วัน เพราะมีเสมหะมาก หากแม่ไม่มีนม ก็ให้เปลี่ยนเป็นนมอย่างอื่น ที่ไม่ใช่นมวัว เช่น นมถั่ว ป้องกันภูมิแพ้"

...

พญ.สุธีรา ให้คำแนะนำผู้ปกครองว่า ถึงแม้เด็กจะเริ่มโตแล้ว 4-5 ขวบ เราก็ยังให้กินนมแม่ได้ สมมติว่าแม่มีน้องอีกคน เราสามารถปั๊มเพิ่มเพื่อเก็บไว้ได้ เราอาจจะให้ลูกคนโต กินจากขวด และลูกคนเล็กกินจากเต้าแม่ก็ได้ เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กจะถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ก็ต่อเมื่ออายุ 6-7 ขวบไปแล้ว ฉะนั้น ก่อน 6-7 ขวบ หากเจอเชื้อโรคต่างๆ ก็จะทำให้ป่วยได้บ่อย หากได้กินนมแม่แล้วจะได้ภูมิคุ้มกันตรงนี้เข้าไป หากพ่อแม่คนไหนให้ลูกกินนมวัวแล้วป่วย แล้วคุณแม่ให้ลองกลับมากินนมแม่ ก็จะเห็นผลชัดเจนด้วยตัวคุณแม่เอง

“ช่วงไหนที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น เด็กกลุ่มที่รับประทานนมวัวจะมีสิทธิ์ป่วยก่อนมากถึง 70% ส่วนนมถั่วจะช้ากว่า และนมแม่จะช้าที่สุด”

นี่คือคำแนะนำจาก กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ที่ให้ความสำคัญกับนมแม่ ที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันของหนูน้อยที่กำลังเติบใหญ่ในอนาคต

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน