“สัมผัสแรกที่พบในวันนั้น วันที่พวกเราเดินขึ้นไปอยู่ที่ประมาณจุด 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ภูเขาไฟรินจานี คือ พื้นมันสั่น และค่อยๆ สั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกก็ยังรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมพื้นมันสั่น จากนั้นก็ได้ยินเสียงดินถล่มลงมา มันเสียงดังมาก พอหันไป ก็เลยเห็น กลุ่มฝุ่นควันหนาทึบร่วงลงจากภูเขาทั้งแถบ จากนั้น ก็เห็นบรรดาลูกหาบจำนวนมาก วิ่งหนีตายผ่านหน้าเต็นท์ของกรุ๊ปพวกเรา 18 คน ที่ไปด้วยกันนั่งพักอยู่ พวกเราเห็นแบบนั้น ก็รู้สึกตกใจ ยังไม่ทันได้คิดอะไร ก็ออกวิ่งตามลูกหาบไปทันที เพราะเชื่อว่า มันต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน”

ตอนนั้น ยอมรับเลยว่า ตกใจมาก ตัวสั่นโดยไม่รู้ตัว ขนาดวิ่งหนีออกมาตั้งหลักตั้งไกลร่วม 100 เมตร เพื่อตั้งสติแล้ว แต่ตัวมันก็ยังสั่นเองโดยไม่รู้ตัวอยู่ดี” คุณสุภาพร บางม่วง ผู้จัดการฝ่ายการเงินและฝ่ายบุคคล Soimilk และ BK Magazine หนึ่งในกลุ่มคนไทยที่เผชิญหน้า กับ เหตุการณ์ระทึกขวัญแผ่นดินไหว ระดับ 6.4 ที่บริเวณภูเขาไฟรินจานี (Mount Rinjani) เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา เล่าถึงวินาทีชีวิตให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฟัง ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ขณะกำลังรอขึ้นเครื่องบินกลับมาตุภูมิ อยู่ที่ท่าอากาศยานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

...

เปิดประสบการณ์เที่ยวเขารินจานี เส้นทางโหด เผชิญร้อน หนาว ฝน 4 วัน 3 คืน สูง 3.7 พันเมตร

ดิฉันมาท่องเที่ยวที่ภูเขารินจานี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดย 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นอะไรที่ประทับใจมาก ภูเขาลูกนี้ มันทั้งสวยและโหด เนื่องด้วยเพราะเส้นทางขึ้นมันยากลำบากมาก แถมยังเจอทั้ง อากาศร้อน สลับหนาว และบางที อาจเจอฝน ทำให้ครั้งแรกที่มาเยือน ไม่สามารถบรรลุความฝันเดินทางพิชิตยอดเขา ได้สำเร็จ จนมาครั้งที่ 2 ผลจากการเตรียมความพร้อมร่างกายมาเป็นอย่างดี ทำให้สามารถพิสูจน์ตนเอง พิชิตยอดเขานี้ได้สำเร็จในที่สุด

พอทิ้งช่วงมา 2-3 ปีแล้ว มีความคิดถึง ก็เลยอยากไปอีกรอบนึง ประกอบกับเพื่อนๆ ก็อยากให้ช่วยพาไปเที่ยวด้วย จึงได้ตัดสินใจมากันในที่สุด

พวกเรามากันรวม 18 คน เริ่มต้นการขึ้นเขาพร้อมไกด์ท้องถิ่นและลูกหาบ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. โดยช่วงนี้ ถือเป็นช่วงไฮซีซั่น ของ ภูเขารินจานี จะมีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนไทยเดินทางไปมากที่สุด เพราะจะไม่ค่อยมีฝนมาเป็นอุปสรรคในการพิชิตยอดเขาลูกนี้

แต่แล้ว...นอกจากเส้นทางที่ยากลำบาก ที่ปกติอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 4 วัน 3 คืน กว่าที่จะสามารถพิชิตยอดเขาสวยโหด ที่สูง 3,726 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล นี้ได้ ก็ต้องมาพบกับอะไร ที่มันเรียกได้ว่า ประสบการณ์เฉียด แบบไม่คาดฝันเข้าจนได้

วินาทีแผ่นดินไหว วิ่งหนีตาย สติหลุด เจอ AFTER SHOCK ซ้ำนับ 10 ครั้ง

ภาพที่เห็น ดินถล่มลงมาเหมือนในคลิปนี้ มันอยู่ห่างจากจุดที่พวกเราพัก ไปเพียงไม่น่าจะเกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น! เรียกได้ว่า มันใกล้มากๆ พวกบรรดาลูกหาบ ที่วิ่งหนีออกไปก่อนแถมยังไม่ยอมมาเตือนให้พวกเราวิ่งหนีตาม ยอมรับในเวลาต่อมาว่า ตั้งแต่ทำทัวร์ขึ้นเขารินจานีมา ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่นี่มาก่อน ซึ่ง ณ เวลานั้น คาดว่า พวกเขาซึ่งเป็นคนท้องถิ่นแท้ๆ ก็คงสติหลุดไม่ต่างจาก พวกเรานักท่องเที่ยวต่างถิ่นเช่นกัน

หลังจากพวกเราวิ่งหนีตาย ออกมาให้ไกลที่สุดจากจุดเกิดเหตุ เพื่อดูสถานการณ์ ไกด์นำทางแนะนำ ให้ตั้งค่ายพักอยู่ที่เหนือริมทะเลสาบขึ้นมา เนื่องจากทางผู้นำทางมองว่า หากเกิดดินถล่มลงมา มันจะมีร่องน้ำและภูเขาเล็กๆ ลูกหนึ่งป้องกันเอาไว้ชั้นหนึ่งก่อนที่จะมาถึงที่พัก ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่ ที่ปลอดภัยมากที่สุด ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าไกด์ท้องถิ่น จะบอกว่าจุดนี้น่าจะปลอดภัยแล้ว แต่ตอนนั้นสารภาพตามตรงเลยว่า ส่วนตัวไม่มีความมั่นใจอะไรเลย เพราะเท่าที่ทราบ ปกติเวลามีแผ่นดินไหวครั้งแรก มันมักจะมีครั้งที่ 2 หรือ ครั้งที่ 3 ตามมา ซึ่งมันอาจจะมีระดับความรุนแรงมากกว่าครั้งแรกเสียอีก แถมในระหว่างที่นั่งรอในที่พัก มันก็ปรากฏว่ามี AFTER SHOCK ตามมาอีกหลายครั้งมาก

...

จากที่ลองนับดู จนถึงเวลา 11.00 น. ในวันที่ 29 ก.ค. นับได้ถึงประมาณ 10 ครั้งด้วยกัน แล้วในแต่ละครั้งที่เกิด AFTER SHOCK มันก็มักจะดินถล่มลงมาอยู่ตลอดเวลาด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อตั้งหลักกันได้แล้ว ไกด์ท้องถิ่นได้พยายามประสานหาข้อมูลจาก ไกด์นำทางคนอื่นๆ เพื่อสอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตอนนั้น ดินมันถล่มลงมารอบๆ ภูเขาไปหมด เขาจึงพยายามสอบถามทางการไปว่า สามารถเดินลงมาจากภูเขาในจุดใดได้บ้างที่มันปลอดภัยจากดินถล่ม

อาหารจำกัด หลังดินถล่ม ตัดขาดจากทีมลูกหาบ ขอความช่วยเหลือผ่านโซเชียล

ตอนนั้นทีมพวกเรา เหลืออาหารจำกัดกว่าคนไทยกลุ่มอื่นๆ เนื่องจาก ตอนที่ตัดสินใจว่า จะเดินมาหลบภัยที่จุดนี้ ในระหว่างทาง ขณะกำลังเดินไปเป้าหมาย เกิดดินถล่มลงมาจนกระทั่งทำให้ถูกตัดขาดจากทีมลูกหาบจำนวนหนึ่ง ที่เดินล่วงหน้าไปเล็กน้อย ทำให้สัมภาระบางส่วน เช่น เต็นท์และเครื่องนอน รวมถึงอาหารและน้ำดื่ม ติดไปกับชุดลูกหาบกลุ่มนั้น

กลุ่มเรา 18 คน ใช้บริการลูกหาบทั้งสิ้น 23 คน ชุดลูกหาบที่ถูกดินถล่มตัดขาดจากกลุ่มเรา มี 14 คน จึงเหลือกลุ่มลูกหาบที่อยู่กับเราเพียง 8 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำหน้าที่แบกกระเป๋าส่วนตัว

...

อาหารที่เตรียมมา สำหรับตลอดการขึ้นเขารินจานี 4 วัน 3 คืน ซึ่งเบื้องต้นก่อนเกิดเหตุ ถูกใช้ไปแล้ว 2 วัน 2 คืน เมื่อส่วนหนึ่งติดไปกับลูกหาบชุดนั้น พวกเราก็ยิ่งเหลือ อาหารและน้ำดื่ม น้อยลงไปอีก สำหรับการรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอก

ตอนนั้น เหลือแต่กระเป๋า และอาหารประจำตัวที่แต่ละคนแบกกันมา พวกขนมขบเคี้ยว อาหารเสริม และน้ำดื่มในกระติก ที่พกไว้สำหรับจิบระหว่างทาง ตอนนั้น พวกเราเหลือแค่นั้นจริงๆ ประเมินกันในเบื้องต้นแล้ว คิดว่าอาหารและน้ำดื่มที่เหลือทั้งหมด น่าจะมีเพียงพอสำหรับการรอคอยความช่วยเหลือได้ประมาณ 1 วัน

พอเจอสถานการณ์แบบนี้ พวกเราจึงเริ่มพยายามหาทางติดต่อกับโลกภายนอก ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ปัญหาที่พบก็คือ สัญญาณโทรศัพท์มันจะมีเป็นบางช่วงเท่านั้น หนำซ้ำ แบตเตอรี่ก็เหลือน้อยเต็มที

ตอนนั้นพวกเราประเมินกันว่า น่าจะติดอยู่ตรงจุดนี้ประมาณ 1 คืน เท่านั้น เพราะเห็นว่าสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังภายนอกได้ และในช่วงค่ำๆ เริ่มสังเกตดูแล้วว่า การเกิด AFTER SHOCK แต่ละครั้ง มันเริ่มค่อยๆ เบาลงๆ ก็เลยเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) น่าจะออกไปจากจุดนี้ได้

...

คนไทยรวมกลุ่ม แบ่งปันอาหาร แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานทูตให้การช่วยเหลือ

ช่วงนั้น คนไทยเราออกตามหากันจนรวมกลุ่มกันได้เป็นร้อยคนแล้ว เพราะหลังจากสามารถติดต่อกับทางสถานทูตไทยได้ ทางสถานทูตแจ้งมาว่า ต้องการรายชื่อคนไทยทั้งหมดที่ติดอยู่ และจะมีเฮลิคอปเตอร์บินมารับ ทุกคนจึงคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และเดินมารวมกลุ่มกัน

ช่วงคืนวันที่ 29 ก.ค. กลุ่มพวกเราไม่มีทั้งอุปกรณ์สำหรับการพักแรม รวมถึงน้ำดื่มและอาหารก็มีจำกัด แต่ในความโชคร้ายยังมีโชคดี เพราะกลุ่มคนไทยกลุ่มใหญ่ที่ติดอยู่กับเรา มีน้ำใจช่วยกันแบ่งปันอาหารที่เหลืออยู่แจกจ่ายกัน

ชั่วโมงนั้น พวกเราคนไทยที่รวมกลุ่มกัน ใครมีอะไรก็แบ่งๆ กัน พวกเราได้กินข้าวราดเครื่องแกงคล้ายน้ำราดหมูสะเต๊ะมากิน ส่วนเพื่อนอีกคนมีแจ่วบองติดมา ก็แบ่งๆ กันกินประทังกันไป ส่วนน้ำดื่มที่มีเหลืออยู่น้อยนิด เราจะใช้วิธีพยายามแค่จิบๆ ให้พอหายกระหายน้ำเท่านั้น เพราะถึง ณ ชั่วโมง นั้น พวกเราไม่สามารถคิดประมาทเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้น มีอะไรเหลือหากประหยัดได้ จะต้องประหยัดให้ได้มากที่สุด

ส่วนความพยายามติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก นั้น พวกเราคนไทยที่รวมกลุ่มกัน ใช้วิธีเลือกผู้แทนกลุ่มขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ติดต่อขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก ส่วนคนที่เหลือจะต้องยอมเสียสละ ประหยัดแบตเตอรี่ของตัวเองเอาไว้ เพื่อเตรียมไว้ให้ ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน ยังคงสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ เพราะตอนนั้นต้องยอมรับว่า แบตเตอรี่ของแต่ละคนที่เตรียมกันมาสำหรับการท่องเที่ยวครั้งนี้ เริ่มร่อยหรอลงทุกที

และพอมาถึงวันที่ 30 ก.ค. มีรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์ที่จะมารับ เจอกับปัญหาเรื่องทัศนวิสัย เนื่องจากมีหมอกปกคลุมเต็มพื้นที่ ประกอบกับจุดที่พวกเราหลบภัยอยู่นั้น เป็นลักษณะแอ่งน้ำ ทำให้เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถลงจอดได้ จึงทำให้ต้องรอคอยความช่วยเหลือต่อไป

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาหลังจากได้รับคำยืนยันว่า สามารถเดินลงเขาได้อย่างปลอดภัยแล้ว พวกเราจึงค่อยๆ ทยอยเดินทางลงมา จนกระทั่งได้ขึ้นรถที่ทางสถานทูตจัดเตรียมไว้ให้ในที่สุด ในเวลา 16.00 น.

มนต์เสน่ห์ แห่งยอดเขารินจานี เป้าหมายนักผจญภัย

จริงๆ แล้ว ข้างบนยอดเขามันว่างเปล่ามาก เป็นที่โล่งๆ วิวที่จะเห็นเป็นเพียงทิวเขารินจานี ซึ่งตรงกลางเป็นภูเขาไฟเล็กๆ ที่ยังไม่ได้ดับสนิท และมีทะเลสาบสีเขียวตัดสลับ แต่บริเวณโดยรอบ มันเต็มไปด้วยธรรมชาติที่หลากหลาย มีทั้งทุ่งหญ้า หินภูเขา ทะเลสาบ และป่าชื้น ซึ่งการไปในแต่ละครั้งจะพบวิวทิวทัศน์ไม่เหมือนกันสักครั้ง ซึ่งนับว่ามีเสน่ห์สำหรับนักท่องเที่ยวแนวผจญภัยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งค่าใช้จ่ายก็ถือว่าไม่แพง เพราะสำหรับทริปขึ้นเขา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 4 วัน 3 คืนนี้ มีค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ คนละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับเป้าหมายในการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ภูเขารินจานี นั้น ส่วนตัวต้องการไปเพื่อพิสูจน์ตัวเองมากกว่ายังมีพลังไฟอยู่ในตัวมากน้อยแค่ไหนมากกว่า!

ขอบคุณภาพและคลิป ของ คุณสุภาพร บางม่วง 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน