จากกรณีที่ น.ส.วิภา บานเย็น ได้เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2542 จํานวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ ค้างชําระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน จนต้องถูกยึดบ้านและที่ดินตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น (ทำดีไม่ได้ดี! เปิดใจครูวิภา เรือจ้างระทมทุกข์ ค้ำเงินกู้ กยศ. สุดท้ายถูกยึดบ้าน) ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไขคำตอบประเด็นคาใจของสังคมทีละประเด็น ดังต่อไปนี้...
ไขคำตอบ 9 ข้อ ประเด็นคาใจ ครูใช้หนี้ กยศ.แทนศิษย์
1.จำนวนผู้กู้ 60 คน มีกี่คนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี?
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า จากจํานวนผู้กู้ 60 ราย มีผู้กู้ที่ชําระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชําระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดําเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจํานวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์ แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 รายนี้ ครูวิภาได้มาชําระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้ว โดยทาง กยศ.จะดําเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ส่วนอีก 17 คดีที่เหลือนั้น อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้ คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย
...
2.ไฉน กยศ.จึงมุ่งยึดทรัพย์กับครูวิภาแทนที่จะเป็นลูกศิษย์?
นายชัยณรงค์ ตอบว่า กยศ. ไม่ได้มุ่งหวังว่า จะต้องยึดทรัพย์ผู้ค้ำหรือผู้กู้ก่อน แต่เนื่องจากเมื่อสืบทรัพย์ผู้กู้แล้วไม่พบ จึงต้องไปดำเนินการทางผู้ค้ำแทน ซึ่งผู้กู้อายุ 30 กว่าปี บางคนมีเงินเดือน แต่ไม่มีอสังหาริมทรัพย์ เมื่อสืบไปอาจจะไม่พบทรัพย์ จึงต้องไปทางผู้ค้ำและขอยืนยันว่า กยศ.ได้มุ่งไปที่ลูกหนี้ก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วโอกาสในการสืบพบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันคือครูวิภาย่อมมีสูงกว่าลูกศิษย์
3.กยศ.มีเกณฑ์กำหนดไว้หรือไม่ ว่า สามารถค้ำประกันได้กี่คน วงเงินไม่เกินเท่าไร?
นายชัยณรงค์ อธิบายว่า ไม่ได้มีข้อกำหนดว่า ครู 1 คน สามารถค้ำประกันให้นักเรียนได้กี่คน และไม่ได้ระบุจำนวนวงเงินด้วย แต่อนาคตข้างหน้า กยศ.จะปรับระบบ เพื่อหามาตรการป้องกันในเรื่องนี้ โดยมองว่า อาจจะจำกัดจำนวนเงินที่สามารถค้ำประกันได้ว่าไม่เกินเท่าไรและจำนวนบุคคลว่า ค้ำประกันได้กี่คน
4.โอนผู้ค้ำประกัน จากครูวิภาเปลี่ยนเป็นครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้กู้ได้หรือไม่?
นายชัยณรงค์ ตอบว่า ไม่สามารถโอนผู้ค้ำประกันได้ เนื่องจากทั้ง 21 ราย มีคำพิพากษาจนถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น ผลของคำพิพากษายังผูกพันกับครูวิภาอยู่
5.ครูวิภาชำระหนี้บางส่วนให้ลูกศิษย์ไปแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป?
นายชัยณรงค์ ระบุว่า ครูวิภา มีสิทธิ์ไปไล่เบี้ยจากผู้กู้ได้ โดยทาง กยศ.จะหาทนายความให้
6.ลูกศิษย์ 17 คน เป็นใคร กยศ.จะดำเนินการอย่างไร?
ลูกศิษย์ครูวิภา 17 คนนี้ ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่อยู่ในภาคเอกชน โดย กยศ. อยู่ระหว่างพัฒนาระบบตัดเงินเดือน หากมีรายได้ผ่านการเสียภาษีของกรมสรรพากร แต่ถ้าเป็นคนทำสวน หรือค้าขายไม่มีนายจ้างก็ไม่สามารถหักจากเงินเดือนได้
7.ครูวิภายังต้องชำระหนี้แทนลูกศิษย์ที่เหลืออยู่ 17 คนหรือไม่?
นายชัยณรงค์ ตอบว่า หากกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ และกยศ.ไปสืบทรัพย์แล้วไม่พบทรัพย์ รวมทั้งไปสืบแล้วว่าทำงานที่ไหน แต่ไม่สามารถหักเงินเดือนตามระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือเอกชนก็ตาม ดังนั้น ภาระความรับผิดชอบก็ยังคงอยู่ที่ครูวิภา
...
8.ในคดีที่ครูวิภาถูกยึดทรัพย์ที่ดิน มูลค่าประมาณหลายแสนบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ายอดหนี้หลักหมื่นบาท ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
นางเพ็ญรวี มาแสง ผู้อำนวยการกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า กฎหมายกำหนดไว้ว่า “การยึดทรัพย์” ต้องยึด “ไม่เกินหนี้” แต่คดีของครูวิภา เป็นการแถลงยืนยันของเจ้าหนี้ ว่า ครูวิภามีทรัพย์เป็นที่ดินอยู่ 1 แปลง และไม่สามารถแยกยึดได้ เพราะเป็นที่โฉนดเดียว รวมทั้ง ไม่มีทรัพย์ของจำเลย หรือ ผู้กู้แล้ว กยศ. จำเป็นที่จะต้องยึดทรัพย์ที่ดินของครูวิภา
...
9.จำนวนผู้กู้ 21 ราย ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น สามารถนำยอดหนี้มารวมกัน เพื่อยึดทรัพย์เป็นที่ดิน 1 แปลงครั้งเดียวได้หรือไม่?
นางเพ็ญรวี มาแสง ผู้อำนวยการกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า ไม่สามารถทำได้ กฎหมายระบุว่า ทรัพย์ที่ดินแปลงนี้ เมื่อถูกยึดไปแล้วห้ามยึดซ้ำ ยกเว้นว่า ครูวิภาจะไปไถ่ถอนทรัพย์ จึงจะสามารถมายึดซ้ำได้ และขึ้นอยู่กับว่า อีก 17 คดีที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีนั้น กยศ.ในฐานะเจ้าหนี้ จะขออำนาจศาลให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ลูกหนี้เลยหรือไม่
นอกจากนี้ กยศ.อาจจะใช้สิทธิ์ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ มาขอ “เฉลี่ยทรัพย์” ในคดีเก่า ซึ่งถูกยึดที่ดินไว้แล้วก็ได้ แต่ต้องมีคำสั่งจากศาล
...
กยศ. พบ ข้าราชการ ค้างชำระหนี้ 3,400 ล้านบาท
สำหรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นหน่วยงานของรัฐในกํากับดูแลของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีฐานะเป็นนิติบุคคล กองทุนเปิดให้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2539 ดําเนินงานมาแล้ว 22 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้กู้ยืมเพื่อ การศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครอง และเป็นการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ปัจจุบัน พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ได้มีผลบังคับใช้โดยบูรณาการกองทุน กยศ. และ กรอ. ให้เป็นเอกภาพภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อจํากัดของกองทุน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงานการให้ กลับมา กู้ยืม และการติดตามหนี้ เพื่อที่กองทุนจะได้นําเงินงบประมาณแผ่นดิน และเงินที่ได้รับชําระหนี้ เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อนําไปสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา รุ่นต่อไป
ข้อมูล สถานะการดําเนินงานกองทุนฯ ณ 30 เมษายน 2561
กองทุนมีผู้กู้ยืมทั่วประเทศ จํานวนทั้งสิ้น 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงกําลังศึกษา/อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1 ล้านราย
- ผู้กู้ที่ชําระหนี้เสร็จสิ้น 8 แสนราย
- ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 5 หมื่นราย
- ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชําระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 4 แสนล้านบาท
ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชําระหนี้ แบ่งเป็น
- ชําระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย
- ผิดนัดชําระหนี้ 2.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชําระ 6.8 หมื่นล้านบาท
ผู้กู้ยืมผิดนัดชําระหนี้ แบ่งเป็น
- กลุ่มผิดนัดชําระแต่ยังไม่ถูกดําเนินคดี 1.2 ล้านราย เป็นเงินค้างชําระ 2 หมื่นล้านบาท
- กลุ่มถูกดําเนินคดี 1 ล้านราย เป็นเงินค้างชําระ 4.8 หมื่นล้านบาท
ข้าราชการที่เป็นผู้กู้ยืม 169,000 ราย เป็นเงินต้นคงเหลือ 16,000 ล้านบาท
- ชําระปกติ 99,000 ราย
- ผิดนัดชําระ 70,000 ราย เป็นเงินค้างชําระ 3,400 ล้านบาท
กยศ. ยัน จำเป็นบังคับคดี เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการติดตามหนี้ กยศ.ไม่ได้ละเลยที่จะติดตามผู้กู้ยืม และได้ดําเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่ผู้กู้ยืมครบกําหนดชําระหนี้ กยศ.จะส่งจดหมายแจ้งภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืม จากนั้น จะมีจดหมายติดตามหนี้ค้างชําระ แจ้งเตือน ให้แก่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์แจ้งเตือนภาระหนี้ และส่งข้อความ SMS รวมถึง ประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ ให้รับทราบเพื่อดําเนินการชําระหนี้ภายในระยะเวลาที่กําหนด แต่หากผู้กู้ยืมไม่ได้ รับจดหมายจากกองทุนก็สามารถตรวจสอบยอดหนี้และสถานะของตนเองได้ทางเว็บไซต์ กยศ.
นอกจากนี้ หากผู้กู้ยืมค้างชําระหนี้ จะต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 12 หรือ 18 ต่อปี ของเงินต้นงวดที่ค้างชําระแล้วแต่กรณี จนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและดําเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อถูกดําเนินคดีแล้วสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทําสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้ และชําระหนี้เป็นรายเดือน ได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาลและศาลมีคําพิพากษาให้ชําระหนี้ทั้งหมด และยังได้ให้เวลาผ่อนชําระหนี้ ตามคําพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกําหนด กยศ.มีความจําเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมาย มิฉะนั้น จะมีความผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน
ผู้จัดการ กยศ. เชื่อ มีเคสเหมือนครูวิภา
นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้ผิดนัดชำระหนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ เรียนจบแล้วแต่ยังยากจนอยู่, กลุ่มมีเงินแต่ไม่จ่าย ขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ และขาดวินัยทางการเงิน เอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น จนไม่มีเงินชำระหนี้ กยศ.
ส่วนโอกาสที่จะมีเคสเหมือนครูวิภาหรือไม่นั้น ทราบว่า ยังมีจำนวนมาก เพราะหลักเกณฑ์ของ กยศ.ไม่กำหนดให้การค้ำประกัน มาทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะสังคมชนบทเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ บางครอบครัวไม่มีคนค้ำ ครูจึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเด็ก ซึ่งหลังจากเหตุการณ์วันนี้ กยศ. จะนำชื่อผู้กู้มาตรวจสอบ โดยเท่าที่ทราบจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่บ้านที่เซ็นค้ำประกัน กยศ.ให้เด็กๆ
“วันที่น้องขาดแคลน กยศ.ให้โอกาส ครูให้โอกาส ขอได้โปรดชำระเงินคืนให้ กยศ. เพื่อแบ่งเบาภาระของครู และน้องคนอื่นๆ ใครไม่มีให้มาบอก แจ้งว่าติดจัดอย่างไรบ้าง แต่เราทราบตัวทั้ง 17 คนแล้ว ผมเชื่อว่าคงไม่ใจดำปล่อยให้ครูเดือดร้อน” ผู้จัดการกองทุนฯ ฝากไปยังผู้กู้ที่เหลือ 17 คน
ครูวิภาหนีไม่พ้น! กรมบังคับคดี แนะนำข้อมูลศิษย์ให้ กยศ.ตามชำระหนี้
ด้าน นางเพ็ญรวี มาแสง ผู้อำนวยการกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การบังคับคดีขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ในการที่จะไปสืบทรัพย์ และแถลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีในการยึดทรัพย์ กรมบังคับคดีไม่ได้มีหน้าที่ในการสืบทรัพย์ การขายทอดตลาดไม่ใช่ทางสุดท้ายที่จะชำระหนี้
ส่วนครูจะต้องอยู่ด้วยความกังวลไปอีกกี่ปี หมายบังคับคดียึดทรัพย์จะมาถึงบ้านวันไหน ทางแก้ปัญหาที่แนะนำครูวิภา นั่นก็คือ หากครูทราบว่าลูกศิษย์รายไหนมีที่อยู่ พ่อแม่เป็นผู้ค้ำประกันมีทรัพย์สิน หรือทราบว่าทำงานที่ไหน ครูช่วยส่งให้ข้อมูลให้กับ กยศ. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปติดตามบุคคลเหล่านั้น ให้ชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเมื่อผู้กู้ซึ่งก็คือลูกศิษย์ไม่ได้ชำระหนี้ รวมทั้ง ไม่มีทรัพย์สินให้บังคับคดียึดทรัพย์ ตามคำพิพากษาต้องย้อนกลับมาที่ผู้ค้ำประกัน นั่นก็คือ คุณครู กำหนดให้ผู้ค้ำประกันรับผิดร่วมกับลูกศิษย์ในวงเงินที่กำหนด
“ทรัพย์ของครูมีค่ามากกว่าเงิน” ครูวิภา ทิ้งท้ายถึงลูกศิษย์
น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร เผยว่า เมื่อไม่สองวันที่ผ่านมา ได้มีลูกศิษย์โทรมาขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน และขอคำแนะนำ ส่วนเงินที่ครูชำระหนี้แทนนั้น ลูกศิษย์จะผ่อนใช้ให้เดือนละ 5,000 บาท แต่ไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะคุยทางโทรศัพท์ไม่มีหลักฐาน และตอนนี้มีนักเรียนประสานว่าจะปิดหนี้อีก 2 รายในสิ้นเดือนนี้ ส่วน 4 รายที่โดนยึดทรัพย์ได้ดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบไปตามจำนวนยอดเงิน 9 หมื่นกว่าบาท และเหลืออีก 17 ราย ยังมีความกังวลใจ ทุกข์ใจอยู่ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีหมายศาลมาอีกเมื่อไหร่
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตนตกใจมากว่ามีการยึดทรัพย์ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีหนังสือมาแจ้งให้รู้ล่วงหน้า และก็ไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กยศ.เลย รวมทั้ง ไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนชำระหนี้ตามสัญญาหรือไม่ จ่ายไปเท่าไหร่ ขาดส่งตอนไหน จึงมองว่า คนค้ำหน้าจะรู้ข้อมูลของคนกู้ด้วย ส่วนตอนนี้ทาง กยศ.ยับยั้งบังคับคดีชั่วคราว แต่หากอนาคตเด็กไม่จ่าย ครูก็โดนยึดทรัพย์อยู่ดี พอไถ่ทรัพย์ได้ โดนยึดอีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความกังวลใจมีเท่าเดิม จากเป็นหนี้ ต้องไปกู้เงินเพื่อเอาทรัพย์ของตัวเองคืนอีก
ในท้ายที่สุดนี้ เรือจ้างผู้ทุกข์ระทมจากหนี้ก้อนโตของลูกศิษย์ ยังฝากไปยัง 17 คนที่รอการบังคับคดี ว่า “ครูฝาก นร.อีก 17 คน ซึ่งครูไม่รู้ว่ากี่ปีต้องมารับภาระตรงนี้ ต้องรอเวลาว่าเด็กจะมาจ่ายไหม ถ้าไม่มาต้องรอหมายศาลการยึดทรัพย์ และถ้ามีการยึดทรัพย์เมื่อไหร่ ครูก็จะไปกู้เงินจากที่อื่น เพื่อไถ่ทรัพย์คืนมาเหมือนเดิม เพราะทรัพย์ของครูมีค่ามหาศาลมากกว่าเงิน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพโดย ชุติมน เมืองสุวรรณ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ที่นี่