หลัง mission impossible กลายเป็น mission possible ด้วยน้ำมือชาวโลกที่มาร่วมแรงร่วมใจกับชาวไทย นำตัว 13 สมาชิกทีมหมูป่า ดำน้ำฝ่าช่องแคบสุดอันตรายและแสนมืดมิด ภายในถ้ำหลวง ออกมาสู่โลกภายนอกได้เป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของชาวโลก
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เรื่องราวอันเต็มไปเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาที่สุดแสนจะดราม่าลึกซึ้งกินใจ รวมไปจนกระทั่งถึง รายละเอียดปลีกย่อยในปฏิบัติการที่ตรึงชาวโลกให้มาร่วมลุ้นระทึก การรายงานสดของเกือบทุกสำนักข่าวของโลกนี้ จะได้รับความสนใจ จากสารพัดบริษัทภาพยนตร์ ที่อยากจะหยิบ mission possible นี้ ไปสร้างเป็นภาพยนต์ ในแบบ base of true story
หากแต่...เสียงท้วงติง ที่ดังกระหึ่มตาม ณ วินาที ก็คือ ภาพยนตร์ที่ใครใคร่อยากจะสร้างนี้ มันจะไม่เป็นการไปตอกย้ำ ประสบการณ์ที่แสนเลวร้าย ที่ ทั้ง 13 ชีวิต ต้องเผชิญกระนั้น หรือ...?
หรือหาก...มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นจริง คนสร้าง หรือ ผู้กำกับ ควรเลือกวิธีการนำเสนอในรูปแบบใด หรือ ควรมีกรอบในการทำงานอย่างไร จึงจะเหมาะสมมากที่สุด ที่จะไม่ทำให้ทั้ง 13 ชีวิต ต้องรู้สึกเจ็บปวดกับประสบการณ์ที่อยากจะลืม!
...
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่จะไปขอความเห็นจาก ผู้เชี่ยวชาญในวงการภาพยนตร์ไทยและผู้รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ 13 ชีวิตทีมหมูป่าต้องรู้สึกว่า โลกภายนอกนี่ มันช่างเลวร้ายเสียยิ่งกว่าช่วงที่ติดอยู่ภายในถ้ำเสียอีก
นายทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับมากฝีมือของไทย
โดย ผู้กำกับชื่อดัง เริ่มต้นบทสนทนาว่า สิ่งสำคัญในการสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอ้างอิงถึงความเป็นจริงของเหตุการณ์ หรือหนังชีวประวัติของคน อยู่ที่มุมมองและทัศนคติของผู้กำกับว่า คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร หรือสนใจประเด็นอะไรเป็นพิเศษ ที่อยากจะนำมาเล่า
ซึ่งเหตุการณ์ของทีมหมูป่า เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ที่มีประเด็นน่าสนใจมากมาย ขึ้นอยู่กับ ผู้กำกับที่จะทำหนังเรื่องนี้ ว่า มีความสนใจในมุมใด เมื่อสนใจประเด็นแล้วก็คงต้องยึดที่หัวใจของเรื่องว่า จะทำอย่างไรกับประเด็นนั้น หากถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ อาจจะต้องมีการลำดับเรื่องราวให้คนดูเข้าใจ ด้วยการข้ามหรือตัดทอนบางอย่างออก เพื่อความเข้าใจง่าย และกระชับ
หากถามว่ามุมมองไหนน่าสนใจสำหรับนำมาทำเป็นภาพยนตร์ ผู้กำกับชื่อดัง กล่าวว่า น่าจะเป็นในส่วนของการที่น้องๆ ติดอยู่ในถ้ำมืดมิด 10 กว่าวัน โดยไม่มีอะไรกิน แล้วรอดชีวิตมาได้อย่างปลอดภัย นั้นแปลว่า เด็กๆ ทุกคนมีสติกันเป็นอย่างมาก แม้ตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน ก็สามารถนำพาตัวเองให้หลุดพ้น จากภาวะวิกฤติได้
“นับว่าเป็นความโชคดี ที่น้องๆ กลุ่มนี้เป็นนักกีฬา และเป็นกลุ่มเด็กที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามแบบฉบับวิถีเด็กชนบท ที่ใช้ชีวิตแบบโลดโผนโจนทะยาน คลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ เด็กๆ จึงสามารถครองสติ รับมือกับภาวะคับขันและบีบคั้นที่เกิดขึ้นได้ หากเป็นตัวเองถูกจับไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนั้น อาจเกิดความตื่นตระหนก หวาดผวา ฟูมฟาย จนขาดสติ และอาจเอาตัวไม่รอด”
ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่าการนำเรื่องราวของทั้ง 13 คนมาสร้างเป็นภาพยนตร์จะกระทบต่อความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้น “ส่วนตัวมองว่าการอ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ อาจจะทำให้คนดูได้เรียนรู้ เหตุการณ์ที่ไม่ดีนั้น แบบเข้าใจ และเรียนรู้ จนกลายเป็นประสบการณ์ชีวิตได้ แล้วอาจกลายเป็นบทเรียนของตัวคนดูเองได้”
เรื่องนี้อยู่ที่มุมมอง และวิจารณญาณของคนดูแต่ละคน เพราะการที่จะดูหนังสักเรื่อง หรืออ่านหนังสือสักเล่ม ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในฐานะคนดู คงไม่ได้อยากดูในแง่มุมที่ดีและถูกต้องไปเสียทุกอย่าง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราคงไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมัน
แต่กลับกันหากเรื่องนั้น มีความผิดพลาด หรือความไม่ถูกต้องอะไรบางอย่าง และผู้กำกับหรือผู้เขียน สามารถถ่ายทอดเรื่องหล่านั้นออกมาให้ผู้ชมเข้าใจได้ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร สถานการณ์นั้นคืออะไร เหตุใดตัวละครจึงตัดสินใจแบบนั้น สิ่งเหล่านี้คือ จุดที่น่าสนใจมากกว่า ที่จะทำให้คนเข้าไปดู และติดตามเรื่องราว
...
“หากอยู่ในฐานะคนดู ที่จะเข้าไปดูภาพยนตร์ ชีวประวัติ ของใครสักคน หรือ ภาพยนตร์ที่ทำจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงสักเหตุการณ์หนึ่ง ผมว่า จริงๆ แล้ว เราอยากรู้ความจริง ต่อให้ความจริงนั้น อาจเป็นความจริงที่ตอกย้ำ ความเจ็บปวดอะไรบางอย่าง ของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่เรารู้สึกว่า เราอยากรู้ความจริง เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งนั้น”
อย่างกรณีของทีมหมูป่า ถ้ามีการถ่ายทอดในลักษณะการให้ข้อมูล อาจช่วยให้คนที่เข้าไปชมภาพยนตร์ ตระหนักถึงการที่จะเข้าไปเที่ยวภายในถ้ำว่าควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องไปประสบเหตุในลักษณะเดียวกัน
แต่ขณะเดียวกันถ้าถามว่าการนำเรื่องจริง ที่อาจเจ็บปวดของคนที่ตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นมาเล่า เมื่อคนนั้นได้มาดูเขาย่อมรู้สึกเจ็บปวดอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเรากลัวตรงจุดนั้น เราก็ไม่ควรเริ่มต้นทำตั้งแต่แรก ซึ่งการที่จะเอาเรื่องของใครสักคนมาเล่า และเป็นเหตุการณ์ในเชิงลบ ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล จะต้องมีการขออนุญาตก่อน เพราะถ้าเขาไม่ยินยอม ก็คงจะไม่สามารถใช้ชื่อ-นามสกุลจริงของเขาได้
...
ต้องมีการคุยกันให้ดีเสียก่อน ว่าสามารถนำเรื่องนั้นไปเล่าได้ในระดับไหน และต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเล่าเรื่องนี้ด้วยเหตุผลแบบใด เพราะหากไม่มีเหตุผลที่จะนำมาเล่า คงไม่ใครคิดที่จะเอาเรื่องส่วนตัว ที่ไม่ใช่ประเด็นที่อยากพูด มาเล่าให้คนอื่นฟัง
“อย่างตอนที่ ผมทำภาพยนตร์เรื่องวัยรุ่นพันล้าน ที่เป็นชีวิตจริงของ คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ เจ้าของเถ้าแก่น้อย จุดเริ่มต้น มันมาจาก พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) นำบทสัมภาษณ์ของคุณต๊อบมาให้อ่าน ตอนนั้น รู้สึกว่ามันมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจมากมาย แต่พอมาวันหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่า อยากได้ความรู้สึก นึกคิด เพื่อทำความเข้าใจ คุณต๊อบให้มากขึ้น เพื่อจะได้ปรับให้ตัวละครตัวนี้ มันมีความลึกมากขึ้น อยากเข้าใจเขาว่า เหตุใดเขาจึงคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ตัดสินใจแบบนั้น
เลยตัดสินใจไปนั่งจับเข่าคุยกันกับคุณต๊อบ จนกระทั่งเจ้าตัว บอกเล่าเรื่องราว ที่ไม่เคยปรากฏในบทสัมภาษณ์ที่ใดมาก่อน ซึ่งมีหลายประเด็นที่ผมรู้สึกว่า น่าสนใจ และน่าจะนำมาใส่ในภาพยนตร์
...
แต่บางเรื่องก็เป็นประเด็นที่ Sensitive ที่อาจเป็นเรื่องภายในครอบครัว เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณต๊อบ เอง หรือ คุณพ่อของคุณต๊อบ ซึ่งพอได้คุยกันว่า น่าจะนำประเด็นนี้ไปใส่ในภาพยนตร์ ตอนแรกคุณต๊อบเอง ก็ไม่โอเค เพราะเขาไม่เคยเล่าให้ใครฟังแม้แต่คนในครอบครัว แต่เขาเล่าให้ผมฟัง เขาก็เลยถามผมว่า
มันจะดีหรือพี่...?
ผมก็เลยแชร์ กับ คุณต๊อบไปว่า ตอนที่กำกับภาพยนตร์ เรื่องเด็กหอ จริงๆ มันก็คือ ภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องราวส่วนตัวของผมเอง ซึ่งมันมีบางส่วนในภาพยนตร์เหมือนกัน ที่ตัวผมเอง ไม่เคยคุยกับพ่อและแม่ เช่น ตอนเด็กๆ เราถูกส่งไปโรงเรียนประจำ เรารู้สึกอย่างไร และแม้เมื่อโตขึ้นมาแล้ว เราเข้าใจแล้วว่า มันคืออะไร
แต่เราก็ไม่เคยมีโอกาสได้กลับไปรื้อฟื้นคุยกับพ่อและแม่เหมือนกัน ว่า ตอนนั้น ผมรู้สึกว่า พ่อและแม่ ไม่รัก ถึงได้ส่งให้มาอยู่ที่โรงเรียนประจำ อะไรแบบนี้ เป็นต้น
ตอนพาพ่อและแม่ไปดู ผมก็บอกไปว่า อยากให้มาดูหนังเรื่องนี้ เพราะมีความในใจอะไรบางอย่าง ที่อยากจะบอกผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ พอเล่าเรื่องนี้ให้คุณต๊อบฟัง เขาก็เข้าใจ แล้วก็บอกกับผม ว่า ลองดูก็ได้พี่! เพราะเขาก็ไม่รู้ว่า มันจะเป็นอย่างไร แล้วสุดท้ายมันก็ได้อยู่ในหนัง แล้ว คุณต๊อบก็พา พ่อและแม่ไปดูเหมือนกัน ซึ่งพอดูเสร็จ ผมก็มาถาม คุณต๊อบว่า เป็นไงบ้าง?
คุณต๊อบ ก็เล่าว่า พ่อและแม่ นั่งดูแบบเงียบๆ แต่อมยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ
ซึ่งประเด็นแบบนี้ มันเป็นเรื่องระหว่างคนทำหนังและเจ้าของเรื่อง ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจกันก่อน ว่า หากจะเอาเรื่องของเขามาเล่า ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่า จะเล่าเรื่องนี้แบบไหน อย่างกรณี เรื่องเล่าของคุณต๊อบ ผมต้องคุยกับคุณต๊อบ เยอะมาก ว่า ผมจะเล่าเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลแบบใด
เพราะหากมันไม่มีเหตุผลที่จะนำมาเล่า เราคงไม่คิดที่จะเอาเรื่องส่วนตัว ที่ไม่ใช่ประเด็นที่เราอยากจะพูด มาเล่าให้คนอื่นฟังอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ผู้กำกับหนุ่ม ยังบอกอีกว่าว่า แม้จะไม่ได้ติดตามแบบใกล้ชิด เพราะช่วงนั้น ต้องออกกองทำงานหนักมาก แต่ทุกเช้าเวลาตื่นขึ้นมา ก่อนอาบน้ำ ผมจะต้องติดตามข่าวทุกวัน ว่า วันนี้ เราเจอคนแปลกหน้าที่อยากเจอมากที่สุด แล้วหรือยัง แล้วพอวันที่ได้เจอพวกเขา ผมก็รู้สึกดีใจมากๆ ทั้งๆที่ไม่รู้รายละเอียดมากนักก็ตาม แต่รู้สึกว่าตัวเองได้พลังในทางบวกเต็มไปหมด จากเหตุการณ์นี้ ไม่ต่างจากตอนที่ คุณตูนวิ่งโครงการก้าวคนละก้าว
“หากได้มีโอกาสทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะทำเนื้อเรื่องในลักษณะการให้ความหวัง ให้พลังบวกกับคนดู ไม่ว่าโลกนี้จะต้องเผชิญกับอะไร หรือจะเจอเหตุการณ์ที่มันยากลำบากสักแค่ไหน ทุกเหตุการณ์มันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ถ้าเรามีสติ ยึดไปในทางบวก หาทางออกด้วยสติแล้วแก้ไขมัน ก็จะมีทางออกที่ดี รอเราอยู่ในปลายทาง” ผู้กำกับหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
รมว.ท่องเที่ยวฯ ลั่น หากฮอลลีวูดสร้างหนังจริง "13 หมูป่า" ต้องขอดูบทก่อน แต่ไม่ปิดกั้นไอเดีย
ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะผู้ดูแลและอนุญาตบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าวฯว่า หากจะมีการนำเรื่องราวของถ้ำหลวงมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ต้องมีการประชุมตั้งท่ากันให้ดี และต้องให้แต่ละฝ่ายที่เสนอตัวจะสร้างภาพยนตร์นั้นได้เสนอตัวออกมาให้ครบทุกคนก่อน
เพราะการสร้างภาพยนตร์สามารถทำออกมาได้หลากหลายรูปแบบ มีตั้งแต่ แบบสารคดีย้อนถอยหลัง แบบดราม่า และแบบหนังฟอร์มใหญ่ที่มีทั้งพระเอกนางเอกเป็นตัวเดินเรื่อง บางครั้งอาจมีเนื้อหาไม่ตรงกับความจริง ซึ่งผู้ที่ต้องการสร้างภาพยนตร์จะต้องเขียนเนื้อเรื่องย่อมาให้กรรมการพิจารณาดูว่าเรื่องไหนจะสนับสนุนให้สร้าง
“ต้องถือว่าไอเดียของคนสร้างหนัง เขามีไอเดียดีๆ เยอะ เราต้องรอฟังไอเดียดีๆ เพราะถ้าเรากำหนดว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็แปลว่าเราจะให้สร้างหนังที่เราเป็นคนกำหนด ในที่สุดแล้ว เราอาจจะปิดโอกาสตัวเอง”
สำหรับการยื่นขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เหตุการณ์ถ้ำหลวงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อเข้ามาทางกระทรวงฯ คาดว่าส่วนใหญ่น่าจะติดต่อไปบริษัทที่สนับสนุนกองถ่ายต่างประเทศกันมากกว่า เพราะบริษัทเหล่านั้นจะทำงานกันเป็นสมาคม
“ในหนึ่งปี มีกองถ่ายเข้ามาขอใช้สถานที่ในประเทศไทยในการถ่ายทำภาพยนตร์ประมาณ 800 กองถ่าย และต้องทำการขออนุญาตเข้ามาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์”
ทั้งนี้ ในส่วนของประเด็นที่หลายคนไม่เห็นด้วยที่จะมีการนำเหตุการณ์นี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กๆ นายวีระศักดิ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวไว้ว่า ใครจะมองอย่างไรก็เป็นสิทธิของคนนั้น เพราะการสร้างภาพยนตร์ก็เป็นสิทธิเหมือนกัน และหากบุคคลใดไม่ประสงค์จะให้ข้อมูลก็มีสิทธิที่จะไม่ให้ได้เช่นกัน