เหตุการณ์ปะทะระหว่างวินฯ และ Grab Bike ที่เป็นกระแสสังคมหนักๆ กรณีนักศึกษาจุฬาฯ เรียก Grab Bike แต่ถูกวินฯ เจ้าถิ่นยึดกุญแจรถ สุดท้ายจบลงที่ตำรวจเรียกวินฯ มาตักเตือน ก่อนปรับ 4,000 บาทแก่หนุ่ม Grab Bike หลังนำรถส่วนบุคคลมาวิ่งให้บริการ และไม่มีใบขับขี่สาธารณะ

และก่อนหน้านี้ทาง Grab ได้หยุดให้บริการจักรยานยนต์รับ-ส่ง ผู้โดยสารไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของ Grab Win ที่มีผู้ขับขี่เป็นวินฯ ที่เข้าระบบอย่างถูกกฎหมายของขนส่งฯ แล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มป้ายขาวกลับมาวิ่งให้บริการอีกครั้ง จากเหตุผลที่ บริษัทฯ อ้างว่า เป็นเพราะกลุ่มป้ายเหลืองให้บริการไม่เพียงพอ

ต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีกหลายเหตุการณ์ จนนำมาสู่ “จุดเดือด” ที่ทำให้กลุ่มวินฯ รวมตัวออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ 6 ข้อ คือ

1. ให้แกร็บไบค์หยุดฝ่าฝืนกฎระเบียบและกฎหมายประเทศไทย
2. หยุดสนับสนุนให้สมาชิกนำรถผิดประเภทมารับส่งผู้โดยสาร
3. หยุดสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมและผู้ใช้บริการ
4. หยุดสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัย
5. หยุดทำลายระบบขนส่งภายในประเทศ
6. บริษัทควรมีธรรมาภิบาลและจริยธรรม

แล้วศึกใหญ่ครานี้จะจบลงเช่นไร...?

...

สถิติพี่วินฯ ถูกกฎหมายกว่าแสนคน จากจำนวนวินฯ ทั้งหมด 5,638 วินฯ

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดี ฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงจำนวนวินฯ เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 60 มีวินฯ ที่จัดระเบียบเข้าสู่ระบบแล้ว 5,638 วินฯ และจำนวนรถจักรยานยนต์และผู้ขับขี่ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่สาธารณะ ผ่านการเช็กประวัติอาชญากรรมเพื่อเข้าสู่ระบบแล้ว 98,826 คน

ในกลุ่มของนิติบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ จะประกอบด้วย 1. กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย (ป้ายเหลือง) 2. กลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายขาว) ให้บริการในเชิงรับจ้าง ซึ่งกลุ่มที่ 2 นั้น ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องเข้าสู่ระบบในอนาคตหากมีการจัดระเบียบเพิ่มเติม กลุ่มเหล่านี้ต้องเข้าสู่ระบบ ตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด เชื่อว่าอีกไม่นาน ต้องมีการจัดระเบียบเร็วๆ นี้

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดี ฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก
นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดี ฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก
ขนส่งฯ จ่อ ออกกฎหมายรองรับ จยย.รับจ้าง ผ่านแอปพลิเคชัน

รองอธิบดี​ขนส่งฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงสงครามอันร้อนระอุครั้งนี้ ว่า ขนส่งฯ ได้ร่วมประชุมพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหาร, ตำรวจ, กรุงเทพมหานคร, ผู้ให้บริการรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน และผู้ประกอบการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลุ่มต่างๆ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้...

1. จะมีการออกกฎหมายมารองรับการให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ อัตราค่าโดยสาร ค่าเรียกรถ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ

“ขณะนี้ ได้มีการเดินเครื่องผลักดัน โดยจะมีการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องรถจักรยานยนต์รับจ้าง ในการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน และบริการด้านนี้เป็นเรื่องสาธารณะ รัฐจำเป็นที่จะต้องเข้าไปควบคุม อย่างแท็กซี่กำหนดค่าเรียกไว้ไม่เกิน 20 บาท ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ และจำเป็นที่ต้องบอกกล่าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำกึ่งประชาพิจารณ์ว่ายอมรับได้หรือไม่ในอัตราราคานี้ ทั้งผู้ให้บริการ วินฯ อยู่ได้ และผู้ใช้บริการ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” นายจงรักษ์ กล่าว

...

รองอธิบดีฯ ขนส่งฯ สั่งป้ายดำหยุดวิ่ง! เผย เม.ย.ปรับแล้ว 65 ราย

2. กรณีของบริษัทต่างๆ ที่ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน อย่างน้อย ผู้ขับขี่ควรจะมีใบขับขี่สาธารณะ และจดทะเบียนป้ายเหลือง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่นำรถป้ายขาวและผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขี่รถสาธารณะ ก็ให้หยุดยั้งไว้ก่อน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ ตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมาย

...

กรณีนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการลักษณะรับจ้าง เป็นการใช้รถผิดประเภท มีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ในกรณีผู้ขับขี่รถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา จับปรับกรณีนำรถป้ายดำมาวิ่งให้บริการไปแล้ว 65 ราย และที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินคดีกับบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวน ฟ้องร้อง แต่ไม่ขอระบุชื่อว่าเป็นบริษัทใด

Grab รอฟังข่าวดี? ขนส่งฯ เตรียมจัดระเบียบป้ายดำเข้าระบบถูกกฎหมาย

3. เปิดจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยมีเงื่อนไข คือ เป็นรถที่วิ่งให้บริการอยู่ปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเข้าระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

...

“ผู้ที่ขับขี่อยู่ในระบบ Grab จะต้องเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องในการจัดระเบียบรอบต่อไป โดยผู้ขับขี่จะต้องมาแสดงเจตจำนง และจะมีกำหนดว่า ภายในวันนี้เจ้าตัวต้องมาแสดงตนขอรับสิทธิ์ในการให้ความช่วยเหลือ ให้รัฐจัดระเบียบเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเปิดกว้างสำหรับคนที่วิ่งให้บริการอยู่แต่ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เปิดหมดทุกคนเหมือนแท็กซี่เสรี ซึ่งต้องพิสูจน์ว่า วิ่งงานอยู่จริง แต่ยังไม่ได้รับการจัดระเบียบให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นแล้ว ดีมานด์ ซัพพลายก็จะไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม รวมทั้งผู้ให้บริการด้วย” รองอธิบดีขนส่งฯ ระบุ

ขนส่งฯ อุบ ออกกติกา จยย.รับจ้างผ่านแอปฯ รับ-ส่งทั่ว กทม.

4. เตรียมออกเกณฑ์ใหม่ จากข้อจำกัดของวินฯ ส่งได้ห้ามรับนอกพื้นที่ และวิ่งอยู่ในโซนของตัวเอง ขณะที่ บริษัทผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันสามารถวิ่งได้ทุกพื้นที่

“ทางกรมการขนส่งทางบกจะมีร่างกติกาออกมา เพื่อรองรับในเรื่องดังกล่าว สำหรับกรณีการใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันว่า ขอบข่ายควรจะเป็นอย่างไร ประชาชน วินฯ รับได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้สิทธิประโยชน์ไปรับ-ส่งในจุดอื่นที่ผ่านแอปพลิเคชัน

ส่วนกติกาจะเป็นอย่างไรขอให้รอสักนิดหนึ่งเร็วๆ นี้ ภายใน 1-2 เดือน จะให้พูดล่วงหน้าไปก็ยังไม่ควร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่วางกฎกติการ่วมกัน ต่างคนต่างปฏิบัติ ต่างทำมาหากิน ไม่สนใจกฎหมาย แล้วจะอยู่กันอย่างไร ก็เกิดข้อพิพาทกัน” นายจงรักษ์ กล่าว

รองอธิบดีขนส่งฯ วอน ปชช. เลือกบริการที่ถูกกฎหมาย

นายจงรักษ์ ฝากไปยังประชาชนผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ว่า ขอวิงวอน และขอความร่วมมือประชาชนให้เลือกใช้บริการในสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพราะจะเป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการโดยตรง เนื่องจากหากเกิดปัญหาการให้บริการ จะสามารถตรวจสอบได้ และรัฐเข้าไปควบคุมกำกับดูแล เรียกมาปรับหรือจับได้ง่าย

แต่หากประชาชนไปเลือกใช้บริการในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเจตนาที่จะทำ หากเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะยากต่อการตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมาย ผลกระทบก็จะตกมาอยู่ที่ประชาชนโดยตรง

รองอธิบดี ฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก
รองอธิบดี ฝ่ายปฏิบัติการ กรมการขนส่งทางบก
นักวิชาการ ย้อนถาม จยย.รับจ้าง วิ่งทางไกล ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่?

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในมุมมองนักวิชาการที่มีต่อระบบขนส่งประเภทรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า...วัตถุประสงค์หลัก คือ การให้บริการรับ-ส่ง ในระยะทางสั้น เน้นตามตรอก ซอก ซอย และมีพื้นที่รับผิดชอบประจำชุมชน และวิ่งไปส่งตามซอยที่ไม่มีบริการสาธารณะอื่นมารองรับ เช่น รถเมล์ รถสองแถว แต่ปัจจุบันเนื่องจากการจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัด ผู้ใช้บริการจึงหันมาโดยสารจักรยานยนต์ในระยะทางไกลมากขึ้น

“ส่วนตัวมองว่า ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่ต้น นั่นคือ รัฐไม่ได้ตั้งใจจะให้รถจักรยานยนต์มาวิ่งในทางไกล แต่อยากให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เช่น แท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า ปัญหาจึงเกิดขึ้นในระยะทางที่วิ่งไกล การเรียกค่าโดยสารแพง แม้ว่ารัฐจะกำหนดเกณฑ์ราคาอยู่แล้ว แต่ Grab มีค่าโดยสารที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่ได้มีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ” ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งฯ ระบุ

4 คำถามถึงรัฐ วินฯ VS Grab

ทั้งนี้ ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ข้อดีของการใช้แอปพลิเคชัน สามารถคำนวณระยะทางและค่าโดยสารที่เหมาะสมได้ ขณะเดียวกัน วินฯ เวลาวิ่งทางไกลค่าโดยสารจะค่อนข้างแพง หรือบางครั้งตามข่าวที่มีการขูดรีดกันหลายร้อยบาท

ขณะที่ ข้อจำกัดของวินฯ ที่รับ-ส่ง เฉพาะพื้นที่ที่จำกัด แต่การใช้แอปพลิเคชันสามารถวิ่งรับได้ทั่วกรุงเทพฯ

ดังนั้น จึงเกิดคำถามกับรัฐ คือ ....

1. หากจะอนุญาตให้วิ่งเสรี ทั้งวินฯ และบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันทั้งหลาย จะอนุญาตทั้งหมดหรือไม่?

2. หากเปิดให้มีการรับ-ส่ง ทั่วไป ไม่จำกัดพื้นที่เหมือนอย่างแท็กซี่ จะต้องเพิ่มจำนวนรถจักรยานยนต์รับจ้างมากขึ้น ในเขตกรุงเทพฯ หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน?

3. จะควบคุมเรื่องเกณฑ์กำหนดราคาได้ดีมากขึ้นหรือไม่?

4. มาตรฐานความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับการใช้จักรยานยนต์รับจ้างในระยะทางไกล มีมากน้อยแค่ไหน?

“ผมมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัย รัฐสามารถการันตีได้หรือไม่ว่ารถจักรยานยนต์รับจ้างทุกคันที่ออกไปให้บริการประชาชนจะปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนถูกต้อง ผู้ขับขี่มีใบขับขี่ถูกต้อง รูปแบบการประกันภัยถูกต้อง” ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งฯ แสดงทัศนะ

นักวิชาการ เผย เอกชนให้บริการ จยย.รับ-ส่ง ไม่ได้แย่งอาชีพ เชื่อเป็นกลไกการตลาด

นอกจากนี้ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ยังอธิบายถึงการที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการรับจ้างสาธารณะด้วยว่า ไม่ได้เป็นการแย่งอาชีพวินฯ แต่เป็นการรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ ดังนั้น คนที่อยู่ในระบบได้ก็อยู่ต่อไป ส่วนคนที่อยู่ไม่ได้ก็ต้องออกนอกระบบ เป็นเรื่องปกติของกลไกการตลาด

แล้วทางออกของทั้งสองฝ่าย ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์ที่สุด คืออะไร? ผู้สื่อข่าวตั้งคำถาม

ดร.สุเมธ นิ่งคิดถึงโจทย์ใหญ่ข้อนี้ ก่อนเผยว่า เรื่องนี้ตอบยาก ขึ้นอยู่กับว่า การมีรถจักรยานยนต์รับจ้างที่สามารถรับ-ส่งได้ทั่วไป ไม่มีวินฯ ไม่ได้จำกัดพื้นที่นั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบขนส่ง และผู้ใช้บริการอย่างไร และจะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นหรือไม่ สุดท้ายภาระก็จะตกมาอยู่กับรัฐอีกว่า ทำไมออกใบอนุญาตขับขี่สาธารณะได้ง่าย และไม่สามารถดูแลคุ้มครองผู้โดยสารได้

“ผมมองว่า การที่เปิดให้จยย.รับจ้าง รับส่งได้ทั่วไป และทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ยากหรอกครับ แต่อยากให้รัฐคำนึงถึงโจทย์หลักมากกว่า ว่า การใช้รถจักรยานยนต์โดยสารในระยะทางไกลๆ เป็นรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมที่รัฐบาลควรจะสนับสนุน และเปิดให้มีจำนวนมากขึ้นหรือไม่?” ผอ.วิจัยด้านนโยบายการขนส่งฯ สะกิดถามรัฐบาล

ทางออกของปัญหาวินจักรยานยนต์รับจ้างปะทะ Grab Bike จะเป็นอย่างไร จะเป็นศึกสุดท้ายหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง