Highlight

  • - กว่าจะเป็นวินจักรยานยนต์รับจ้าง! เปิดค่าเสื้อวินฯ ราคาตั้งแต่ 30,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับทำเล ผู้ขับขี่วินฯ เผยกู้หนี้ยืมสินหาเงินซื้อเสื้อ ติดหนี้กว่า 3 ปี จึงคืนทุน โอด วิ่งวุ่นหาสังกัด ติดต่อราชการทำใบขับขี่สาธารณะ จดทะเบียนป้ายเหลืองสุดยุ่งยาก เผยรายได้เฉลี่ย วันละ 1,000 บาท

  • - กลุ่มผู้ขับขี่วินฯ เผยเหตุคำครหามารยาทแย่ โบ้ย วินฯ ผี ผู้โดยสารเรื่องมาก ยัน ไม่มีใครอยากใส่อารมณ์ เพราะเป็นผู้ถือเงินมาให้

  • - ผู้ขับขี่วินฯ เผย 4 เหตุผลค่าโดยสารแพง-ไม่เท่ากัน เนื่องจาก ระยะทางไกลไม่มีระบบคำนวนค่าโดยสารเหมือน Grab เรียกเก็บเงินตามความรู้สึก, วินฯ ผี - วินฯ ต่างถิ่น เก็บค่าโดยสารแพง, รถติดขอเก็บเพิ่ม เพราะวิ่งทำรอบไม่ได้ และ กฎเหล็กวินฯ รับจ้าง ส่งได้แต่ห้ามรับนอกพื้นที่ของตัวเอง

  • - “ผมถูกเอาเปรียบ!” ผู้ขับขี่วินฯ เล่าความรู้สึก สุดหวงแหนวินฯ หลังถูก Grab ชุบมือเปิบ แย่งอาชีพ ขี่รถป้ายขาวกล้ารับหน้าวินฯ ถามกลับ “ทำแบบนี้ได้อย่างไร?”

  • - กลุ่มผู้ขับขี่วินฯ ตอบชัด ไม่รับข้อเสนอ Grab เข้าร่วมพาร์ทเนอร์ เปรียบ “ทำนาบนหลังคน” ได้ส่วนแบ่งทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร ลั่น ไม่อยากตัดทางทำมาหากินเพื่อนร่วมอาชีพ

...

พูดจาไม่สุภาพ โขกค่าโดยสารโหด ขี่รถหวาดเสียว ทำร้ายร่างกายคนขี่ Grab และล่าสุด กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ Grab ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่นำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งกันระหว่างวินฯ และ Grab 

วันนี้ถึงคราวที่พี่วินฯ เสื้อส้ม จะออกมาตอบทุกข้อครหาที่เกิดขึ้น และเผยเหตุผลเบื้องลึกของพฤติกรรมเหล่านี้...

เปิดค่าเสื้อวินฯ ราคามหาโหด สูงถึง 5 แสน!

เรตราคาเสื้อวินจักรยานยนต์ร้บจ้างที่มีการซื้อ-ขาย เพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าร่วมวินฯ ในพื้นที่นั้นๆ จะแบ่งตามพื้นที่ 3 ประเภท ดังนี้...

1. กลุ่มวิน จยย. ให้บริการในซอย ราคาขั้นต่ำ 30,000-80,000 บาท
2. กลุ่มวินปากซอยทั่วไป ราคาพุ่งสูงถึง 80,000-150,000 บาท
3. กลุ่มวินให้บริการในพื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ชั้นใน เช่น สุขุมวิท ราคาจะอยู่ที่ 150,000-500,000 บาท

นายเฉลิม วินมอเตอร์ไซค์เขตบางซื่อ วัย 34 ปี เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ราคาเสื้อวินฯ ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นๆ สำหรับวินฯ ในเขตบางซื่อ ราคาเสื้อวินฯ 30,000 บาท แต่ถ้าเช่าเดือนละ 1,000 บาท ขณะที่ วินฯ​ ใกล้เคียงกัน แต่ทำเลดีกว่า เสื้อวินฯ จึงมีราคาสูงถึง 70,000 บาท

ด้าน นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร วัย 38 ปี เผยต่อว่า วินฯ ในสังกัดที่ตนอยู่นั้น ค่าเสื้อวินฯ 100,000 บาท เพราะอยู่ในพื้นที่ริมถนนใหญ่ มีบริษัท และคอนโดฯ หลายแห่ง รวมทั้งยังไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า

...

หนี้ท่วมหัว กู้ยืมเงินจ่ายค่าเสื้อวินฯ

นายนิกร ยังแชร์เรื่องราวส่วนตัวให้ทีมข่าวฟังด้วยว่า “ส่วนใหญ่มักจะซื้อเสื้อวินฯ ด้วยเงินสดกัน ซึ่งตอนที่ผมมาขับวินฯ ที่นี่ก็อาศัยหยิบยืม กู้เงิน และเก็บเงินส่วนตัวมาจ่ายค่าเสื้อ และใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะใช้ทุนค่าเสื้อวินฯ ราคา 1 แสนบาทหมด และผมก็ไม่ได้คิดว่า การที่ผมลงทุนซื้อเสื้อวินฯ แพง ผมจะต้องเก็บค่าโดยสารแพง แต่มองว่า ผมได้อาชีพมากกว่า”

จ่ายยิบย่อย ค่าเช่าวิน ค่าท้องที่

นายเฉลิม ยังเผยด้วยว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าวินฯ เดือนละ 500 บาทต่อคัน กับหัวหน้าวินฯ ด้วย

ขณะที่ นายนิกร ระบุว่า วินฯ ตนจะต้องเสียค่าเช่าวินฯ สัปดาห์ละ 50 บาทต่อคัน เพื่อนำไปจ่ายค่าบำรุงท้องที่ให้กับเทศกิจ แต่ปัจจุบันในยุค คสช. ไม่ต้องจ่ายทั้งค่าเสื้อ และค่าบำรุงท้องที่แล้ว

ส่วน นายปอ อายุ 35 ปี วินมอเตอร์ไซค์บีทีเอสหมอชิต กล่าวว่า ตนต้องเสียค่าส่วนกลาง เดือนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าจอดรถบนทางเท้าให้แก่เจ้าหน้าที่เทศกิจด้วย เนื่องจากเมื่อก่อนเป็นถนนแต่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นทางเท้า จึงต้องเสียค่าปรับจากการนำรถมาจอดด้านบน

...

เปิดขั้นตอนเข้าสู่ อาชีพ “พี่วิน” สุดยุ่งยาก ใช้เวลานาน

การจะเข้าไปเป็นสมาชิกวินจักรยานยนต์ได้นั้น แหล่งข่าวพี่วินหลายแห่งเล่าให้ทีมข่าวฟังว่า....

1. จะต้องรู้จักกับคนในวินฯ หรือหัวหน้าวินฯ เพื่อติดต่อว่า มีเสื้อวินฯ ให้เช่า หรือขาย หรือไม่
2. คนในวินฯ ก็จะมาโหวตกันว่านิสัยดีไหม ถ้านิสัยโอเคเข้ากันได้ถึงจะโหวตให้เข้ามาร่วมวินฯ
3. ขออนุญาตจากเขตจัดตั้งวินฯ แจ้งกับกรมการขนส่งฯ โดยจะต้องรอช่วงเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียน

สำหรับค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ จะมีค่าธรรมเนียม ดังนี้
ค่าคำขอใบอนุญาต ฉบับละ 5 บาท
ค่าใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3 ปี ฉบับละ 150 บาท
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถแบบใหม่ระบบคอมพิวเตอร์ (แถบแม่เหล็ก) 100 บาท

...

ส่วนค่าใช้จ่ายในการขอเปลี่ยนป้ายเป็นป้ายรถจักรยานยนต์สาธารณะ ( ป้ายเหลือง) จะมีค่าธรรมเนียม ดังนี้
ค่าคำขอ 5 บาท
ค่าตรวจสภาพรถ 10 บาท
ค่าแผ่นป้ายทะเบียนรถ 100 บาท
ค่าใบคู่มือ ใบจดทะเบียนรถ 100 บาท
ค่าภาษี 100 บาท

กลุ่มวินจักรยานยนต์ลาดพร้าว ซอย 1 ให้ข้อมูลว่า “กว่าจะได้ป้ายเหลืองใช้เวลานานมาก เป็นปีบางทียังไม่ได้เลย เพราะต้องรอสำนักงานเขตเปิดให้ลงทะเบียน และต้องไปทำใบขับขี่สาธารณะ เปลี่ยนป้ายเหลือง และตรวจสภาพรถทุกปี และต้องมีการตรวจประวัติอาชญากรรมด้วย”

ต้นเหตุ คำครหา “มารยาทแย่” เป็นเพราะ...?

นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร กล่าวว่า “การที่วินฯ จะแสดงกิริยาไม่ดีกับผู้โดยสารนั้น ต้องมีต้นสายปลายเหตุ และผู้โดยสารที่ชอบร้องเรียนสังเกตดูแล้วว่า ต้องเรื่องมาก ต้องไม่ธรรมดา บางคนพูดจาไม่ดีกับวินฯ เขาก็มองว่า เขาไม่ใช่ขี้ข้านะ แต่ถ้าผู้โดยสารเจอก็สามารถร้องเรียนได้ แล้วเข้าไปคุยกัน ส่วนมากวินฯ ไม่ค่อยจะอะไรกับผู้โดยสารอยู่แล้ว เพราะผู้โดยสารเขาเอาเงินมาให้”

ขณะที่ นายปอ วินมอเตอร์ไซค์บีทีเอสหมอชิต แจงว่า “วินฯ ที่มารยาทแย่ มักจะเป็นพวกวินฯ ผี และไม่สนใจว่า หากโดนร้องเรียนจะส่งผลต่อตัวเอง เพราะเขาไม่มีป้ายชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเป็นวินฯ ป้ายเหลืองถูกกฎหมาย อย่างผมจะไม่แสดงกิริยาไม่ดีต่อผู้โดยสาร เพราะผมก็มองว่า เขาเป็นลูกค้ามาใช้บริการเรา เอาเงินมาให้เรา”

ใกล้-ไกล ราคาไม่เคยเท่ากัน! เปิด 4 เหตุผลโขกค่าโดยสารแพง

1. ไม่มีระบบคำนวณค่าโดยสารเหมือน Grab เรียกเก็บเงินตามความรู้สึก

นายเฉลิม วินมอเตอร์ไซค์เขตบางซื่อ เผยว่า รัฐเป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมา แต่เมื่อถูกเรียกไปนอกเส้นทาง หรือไปไกล วินฯ จะเรียกราคาขึ้นมาเอง ซึ่งวินฯ ไม่เหมือน Grab ที่มีระบบคำนวณราคาอัตโนมัติตามระยะทาง ดังนั้น วินฯ​ ก็จะคำนวณราคาตามความรู้สึกว่า ถ้าเกินจากจุดนี้จะต้องบวกเพิ่มอีกกี่บาท

2. วินฯ ผี - วินฯ ต่างถิ่น เก็บค่าโดยสารแพง

นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร กล่าวว่า วินฯ บางรายมีงานประจำทำอยู่แล้ว และมาวิ่งแค่ฉาบฉวย ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ และเสื้อวินฯ​ ก็ไม่ได้ระบุว่าอยู่วินฯ ไหน ป้ายหน้าอกไม่มีชื่อให้ดู เพราะไม่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่ง ไม่ได้ถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนวินฯ ถูกกฎหมาย ดังนั้น จะคิดราคาแพงหรือจะแสดงกิริยาอย่างไรก็ได้ ไม่สนใจ ไม่แคร์ เพราะว่าไม่เดือดร้อน ตามหาตัวไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งวินฯ​ ผีเหล่านี้ เป็นส่วนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของวินฯ เสียหาย แต่วินฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ค่อยมีปัญหา เพราะพวกเขากลัวถูกร้องเรียน เนื่องจากมีชื่อเบอร์โทรอยู่

3. รถติด พี่วินฯ ขอเก็บเพิ่ม

นายปอ วินมอเตอร์ไซค์บีทีเอสหมอชิต อธิบายถึงสาเหตุค่าบริการที่ไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง เนื่องมาจากเป็นเฉพาะช่วงเวลา เช่น เมื่อถูกผู้โดยสารเรียกไปไกลมากในชั่วโมงเร่งด่วนที่รถติด หากวิ่งไปส่งแล้วกว่าจะกลับมาที่วินฯ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ขณะที่ หากอยู่แถววินฯ จะสามารถรับผู้โดยสารได้หลายเที่ยวมากกว่า ดังนั้น อาจจะมีการขอเพิ่มค่ารถกับทางผู้โดยสารเล็กน้อย แต่หากผู้โดยสารไม่ตกลงก็จะไม่มีการบังคับใดๆ ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้โดยสารด้วย

4. ส่งได้ แต่ห้ามรับนอกพื้นที่

กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ลาดพร้าว ซอย 1 เคยประสบปัญหาผู้โดยสารร้องเรียนว่าเก็บค่าโดยสารแพงเช่นกัน จึงชี้แจงให้ทีมข่าวฟังว่า วินฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีกฎระเบียบที่ยึดถือกันทุกวินฯ นั่นคือ ไม่สามารถข้ามเขตหรือไปรับผู้โดยสารที่อื่นได้เหมือนกับรถแท็กซี่ เป็นกฎของวินที่ส่งได้แต่ห้ามรับ ได้เงินค่าโดยสารเพียงขาเดียว แต่ Grab รับได้ทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ

อู้ฟู่จริงหรือ? เปิดกระเป๋าตังค์พี่วินฯ รายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท

จากการพูดคุยสอบถามพี่วินฯ หลายแห่ง พบว่า พวกเขามีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 800 บาท

“วิ่งตั้งแต่ 16.30-23.00 น. รายได้ต่อวัน 800 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงสิ้นเดือนหรือวันศุกร์ก็จะได้ประมาณ 1,000-1,200 บาท บางวินฯ จะมีเป็นกะแบ่งกันวิ่งแล้วแต่ตกลงกัน แต่บางวินฯ จะวิ่งเวลาไหนก็ได้ ซึ่งสำหรับเราก็วิ่งให้ได้ทุกวัน แต่จะเลือกช่วงเวลาที่ผู้โดยสารเยอะ” นายเฉลิม วินมอเตอร์ไซค์เขตบางซื่อ เผยถึงรายได้ส่วนตัว

เปลือยใจ พี่วินฯ ไฉนเจอหน้า Grab จะต้องปะทะ?

จากการปะทะหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพี่วินฯ และ Grab มีสาเหตุมาจากอะไรบ้างนั้น?

นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร ชี้แจงถึงอารมณ์ความรู้สึกว่า “เหมือนเขามาชุบมือเปิบ เพราะกว่าเราจะได้เป็นวินฯ เราลงทุนไปเยอะ สมัยก่อนต้องซื้อเสื้อ หาวินฯ หาเพื่อนคนรู้จัก ไปทำใบขับขี่ บัตรวิ่งวินฯ ไปอบรม กว่าจะได้เสื้อวินฯ มาไม่ใช่ง่ายๆ เลย จึงเป็นเหตุผลให้คนในวินฯ เกิดความหวงแหนวินฯ ของตัวเอง เพราะก่อนยุค คสช.เสื้อวินฯ แพงมาก ไม่ใช่ได้ฟรีเหมือนตอนนี้ อยู่ๆ คุณจะมาเอาหน้าวินฯ เขาไปก็ไม่ถูก

ขณะที่ Grab ไม่ต้องทำอะไรเลย สมัครในเว็บฟรีๆ แล้วก็เอารถป้ายขาวมาวิ่งรับผู้โดยสารหน้าวินฯ ของเรา เขาทำได้ยังไง ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้รู้จักเขามาก่อน เขาทำเกินไป จะรับผู้โดยสารที่ไหนก็ได้ ทั้งที่เราก็ถูกกฎหมายทุกอย่าง ผมก็เลยรู้สึกว่า ถูกเอาเปรียบ”

นายปอ วินมอเตอร์ไซค์บีทีเอสหมอชิต กล่าวว่า “ส่วนตัวผมไม่ได้ปะทะอะไร แต่ก็เห็นแล้วว่า เขาเป็น Grab มารับคน ซึ่งใช้รถป้ายขาว มันผิดกฎหมายอยู่แล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว สมมติว่า เราเป็นผู้โดยสาร เราก็อยากได้ราคาถูก แต่ในฐานะที่เราเป็นรถรับจ้าง เราก็อยากได้เงิน การที่ไปด่าไปว่าเขา มันก็เท่านั้น ภาพลักษณ์เราจากที่แย่อยู่แล้วก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก”

พี่วินฯ ตอบชัด รับ-ไม่รับ? ข้อเสนอ Grab ชวนร่วมงานเสนอโบนัส 1,000 บาท

หลังจากเกิดเหตุการณ์กลุ่มวินฯ ออกมาประท้วงบริษัท Grab กระทั่ง ผู้บริหาร บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย ออกมาเชิญชวนให้กลุ่มวินฯ เข้าร่วมขับขี่กับ Grab โดยยื่นข้อเสนอเป็นโบนัสประกันรายได้ ทดลองรับงาน 2 งานใน 7 วันแรก หรือ 14 งานใน 1 สัปดาห์ เพื่อรับ 1,000 บาทนั้น

กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ลาดพร้าว ซอย 1 บอกปัดขับ Grab เพราะ ไม่อยากตัดทางทำมาหากินเพื่อนร่วมอาชีพ “ขี่วินฯ แบบนี้ดีอยู่แล้ว ไม่อยากไปล้ำเส้นไปรับลูกค้าถิ่นคนอื่น และเราทำถูกกฎหมาย มีวินฯ อยู่แล้ว ทางบริษัทก็ได้กินเปล่า”

ด้าน นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร ตอบชัดเจนว่า “รายได้ของเขาก็เกิดจากการวิ่งงานของเรา ถ้าเราทำงานได้เยอะเขาก็ต้องได้เยอะ เหมือนทำนาบนหลังคน เจ้าของแอปฯ ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่รับงานมาแล้วจ่ายงานไป แล้วเราจะไปเป็นขี้ข้าเขาทำไม”

ขณะที่ นายปอ วินมอเตอร์ไซค์บีทีเอสหมอชิต มองว่า “ผมว่าบริษัทกำลังล่อหลอก พยายามหาพวก ถามว่า อยากได้เงินไหมก็อยากได้นะ แต่อยากถามว่า คุณทำแบบนี้เพื่ออะไร แล้วไม่ใช่บริษัทของคนไทยด้วย แต่ในอนาคตต้องดูว่า แอปพลิเคชันที่ใช้เป็นอย่างไร ตัวเราก็ต้องพัฒนาไปตามโลก จะมาย่ำอยู่แบบนี้ก็คงไม่ได้ครับ”

แชร์ประสบการณ์...บุคคลอ้าง Grab ชวนวินฯ สมัครงาน ยื่นข้อมูลแจ้งขนส่งฯ

นอกจากนี้ ยังเคยเกิดเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคล อ้างว่า รับงานมาจากบริษัท Grab เชิญชวนให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาสมัครขับขี่รถกับ Grab โดยมาพูดคุยกันถึงที่วินฯ โดยบอกว่า เป็นงานอิสระ อยากจะวิ่งงานวันไหนก็ได้ และหากลงรายชื่อสมัครจะได้พาวเวอร์แบงก์

นายนิกร วินมอเตอร์ไซค์เขตจตุจักร แชร์ประสบการณ์ว่า “คนกลุ่มนี้ เขามีหน้าที่หาวินฯ มาสมัครขี่ Grab และจะขอดูบัตรวินฯ โดยจะเอาชื่อและข้อมูลในบัตรไปใช้แอบอ้าง เพื่อยื่นให้กับขนส่งฯ ดูว่า ทางบริษัท Grab มีวินฯ แบบถูกกฎหมายด้วย ซึ่งวินฯ บางคนไม่รู้ ถูกเขาเอาของมาล่อก็อยากได้ของ แต่เขาไม่วิ่งอยู่แล้ว ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่า ถ้าไม่วิ่งก็มีผล”

ยัง!!! ยังไม่จบเพียงเท่านี้...

สำหรับรายงานพิเศษในตอนหน้าจะพาไปเปิดใจหนุ่ม Grab Bike ตอบปม ชุบมือเปิบ แย่งลูกค้า ไม่แฟร์กับพี่วินฯ ที่สำคัญที่สุด .... ทำไม Grab ราคาถูก ติดตามต่อได้ในวันพรุ่งนี้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง