นับเป็นก้าวย่างสำคัญ สำหรับ สินค้าเกษตรของไทย.. สำหรับการค้าขายกับจีนผ่านอีคอมเมิร์ซ “ทุเรียนหมอนทอง” 8 หมื่นลูก หมดเกลี้ยงภายใน 1 นาที

ถามว่าน่าตื่นตะลึงไหม... ก็ถือว่าน่าตื่นเต้นสำหรับคนไทย แต่ถ้าเทียบประชากรจีนกว่าพันล้านคน ก็ถือว่าน้อยนิดนัก

แต่ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น และนี่คือเบื้องหลังของจุดเริ่มต้นนั้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้โอกาสดี ได้พูดคุยกับ อดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน “วิบูลย์ คูสกุล” ชายที่ราชาอีคอมเมิร์ซจากแดนมังกร อย่าง “แจ็ค หม่า” เรียกว่าเป็นเพื่อน โดยทำหน้าที่ประสานงานติดต่อกับ แจ็ค มาโดยตลอด

“ผมรู้จักแจ็ค หม่า ตอนที่เขายังไม่ดังเท่านี้... ”

นี่คือคำแรกที่ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง ได้กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ก่อนที่จะเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนว่า แจ็ค หม่า เป็นคนที่เหลือเชื่อ โดยเฉพาะวิธีคิดและการใช้ภาษาพูดของเขาในการสื่อภาษาอังกฤษเขาสามารถนำเสนออะไรสักอย่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ และหากสังเกตดูจะเห็นว่า การตอบคำถามแต่ละครั้ง เขาจะมีวิธีพูดแบบ “บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น” ไม่พิงใครโดยตรงให้มีปัญหาตามมา แม้จะถูกรุกถามเจาะจงถึงใครสักคนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น มีการถามถึง ปธน.ทรัมป์ เขาก็พูดออกมาได้ เนื้อหาสาระมีประเด็นโดยไม่ต้องไปกระทบกระเทือนใคร

...

“สำหรับผม โดยธรรมชาติหน้าที่ของการเป็นเอกอัครราชทูตฯ จำเป็นต้องขวนขวายหาทางช่วยเหลือรักษาผลประโยชน์คนไทยในมิติต่างๆ เช่น การค้า การลงทุน คือ ต้องพยายามหาเวทีให้คนไทยได้ขายของ ขายสินค้าไทย และบริการของเรา และอย่างที่ทราบกันคือ แจ็ค หม่า เขาเริ่มต้นด้วยการทำ อีคอมเมิร์ซ ผมโดยส่วนตัวแล้วติดต่อพูดคุยกันกับเขาผ่านทาง แอปฯ Wechat มาโดยตลอด...

มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยท้าทายกันว่า “เรามาช่วยกันขายทุเรียนกันในตลาดจีนให้ระเบิดเถิดเทิงกันดีไหม” เพราะส่วนตัวแล้วอยากจะช่วยให้เกษตรกรไทยขายสินค้าเกษตรได้ราคาดีและมีตลาดจีนที่กว้างขวางใหญ่โตรองรับ ซึ่งตอนที่ท้าทายกันนั้นก็หลายปีมาแล้ว ตั้งแต่ผมเป็นทูตอยู่ที่เมืองจีน..”

กระทั่งล่าสุด สิ่งที่เคยท้าทายกันกับ Jack Ma ก็กลายเป็นความจริง โดยเมื่อไม่กี่วันนี้ กับข่าวที่สื่อจีนรายงานว่า เว็บไซต์ Tmall.com บริษัทในเครือของ อาลีบาบา ขายทุเรียนไทย 80,000 ลูกใน 1 นาที...

อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน กล่าวว่า ตนดีใจที่ได้เห็นว่าทุเรียนของไทยขายในแพลตฟอร์มของเขา โดยก่อนหน้านั้นมีคนจีนออร์เดอร์มาแล้วกว่า 60,000 ครั้ง ใน 3-4 วัน นี่..ถือเป็นการสานฝัน ที่เราอยากจะขายของให้เกษตรกรไทย ที่สำคัญตนได้บอกกับเขาว่า “คุณต้องทำให้เกษตรกรไทยได้ราคาดีด้วยนะจึงจะเจ๋งจริง” และนี่ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีเวทีนำสินค้าเกษตรไทยเข้าถึงประชากรกว่าพันกว่าล้านคนของจีน ซึ่งหลังจากนี้เชื่อว่าจะมีผลไม้และสินค้าเกษตรอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

“ครั้งล่าสุดที่ได้เจอกัน ผมแซวเขาว่า TAOBAO ของคุณยังไม่เจ๋งพอนะ เพราะผมเปิดดูแล้วยังไม่มี “ทุเรียนหมอนทองภูเขาไฟ” (ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในดินภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ) ขาย บอกเขาไปว่าหากผมมีโอกาส ผมจะพาเขาไปดูและชิมที่ศรีสะเกษ เขาตอบรับพร้อมแซวกลับว่าขอเป็นผู้แทนจำหน่าย ประเทศจีนนั้นผู้บริโภคให้ความสนใจทุเรียนไทยเป็นอย่างมาก ขนาดประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ยังเคยพูดถึงทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อหลายปีก่อนตอนผมเป็นทูต ว่า “ทุเรียนหมอนทองยังเป็นทุเรียนที่ดีที่สุดของไทยหรือไม่..” ในการเยือนไทยครั้งนี้ แจ็ค หม่า ก็มาเล่าให้ฟังอีกว่าท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดถึงทุเรียนหมอนทองของไทยอีก ตอนเจอกันที่ไหหลำ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ถ่ายภาพคู่กัน ระหว่าง วิบูลย์ กับ แจ็ค หม่า
ถ่ายภาพคู่กัน ระหว่าง วิบูลย์ กับ แจ็ค หม่า

...

นอกจากนี้ แจ็ค หม่า ยังบอกกับผมและพูดหลายครั้งว่า ภรรยาเขาคือแฟนพันธุ์แท้ของทุเรียนไทยเลย..เสียดายวันนั้น กระทรวงพาณิชย์เรามอบทุเรียนให้เขาไปเพียงลูกเดียว นับว่าน้อยไปหน่อย น่าจะให้ทุเรียนทุกพันธุ์ชั้นเลิศของไทยพันธุ์ละ 1 ลูก” เพื่อหวังผลประชาสัมพันธ์ทุเรียนไทยผ่านภรรยา แจ็ค หม่า คิดว่าเป็นช่องทางที่มีประสิทธิผลที่สุด (หัวเราะ) นายวิบูลย์ เล่าเรื่องราวที่น่าภูมิใจถึงทุเรียนไทย

เผยเบื้องหลังความสำเร็จ...ทำหน้าที่สะพานเชื่อมประสาน

ทั้งนี้ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีน เผยความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ แจ็ค หม่า ว่า เรามีความสนิทคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง โดยมีการพูดคุยกันผ่าน WeChat มาโดยตลอด และจากการพูดคุยกันมาอย่างยาวนานนั้นทำให้มีส่วนในการร่วมมือระหว่างไทยกับอาลีบาบา ในครั้งนี้

นายวิบูลย์ เผยถึงเบื้องหลังก่อนที่ “แจ็ค หม่า” จะมาร่วมลงนามเอ็มโอยู 4 ฉบับว่า.. จริงๆ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เคยให้ตนติดต่อเขาไว้นานแล้ว ตั้งแต่ช่วงการมาประชุมระหว่างประเทศที่ไทยปี 2559 ซึ่งตอนแรกเขาก็ปฏิเสธ แต่ต่อมาได้มีการประสานพูดคุยกันหลายครั้งรวมทั้งของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนเขาได้มาเยือนและลงนามกันในครั้งนี้

“เนื่องจากส่วนตัวเรารู้จักกัน จึงได้รับทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมประสานใจให้ในหลายโอกาส ซึ่งนอกจากทางภาครัฐแล้ว ยังมีภาคเอกชนที่วานให้ตนช่วยติดต่อประสานงานกับเขา ผมได้พยายามย้ำกับเขาตลอดว่า ในความสัมพันธ์ไทยจีนทุกมิติ เราจะต้องทำให้เกิดประโยชน์ระหว่างกันทั้งสองฝ่ายให้ได้ จึงจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน”

วิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน
วิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน

...

ความจำเป็นในการค้ายุค 4.0 สิ่งสำคัญ คือ การถ่ายทอดความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี

ทีมข่าวฯ​ ได้สอบถาม ถึงการถ่ายทอดความรู้ที่ทางอาลีบาบา จะมอบให้กับคนไทย ว่าจะได้ทำได้จริงหรือไม่ นายวิบูลย์ กล่าวว่า ในกรอบเอ็มโอยูที่ได้ลงนามกันก็มีระบุอยู่แล้ว เท่าที่ได้ฟัง ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วก็รู้สึกอุ่นใจ..ถึงแม้เรามีประสบการณ์ความร่วมมือกับบางประเทศแล้ว แต่สำหรับ อาลีบาบา จะมีการเปิดโรงเรียนสอนนักธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ

นายวิบูลย์ เน้นย้ำว่า การจะได้เรียนการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำการค้ายุคดิจิทัลของจีนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้ธุรกิจการค้าของจีนเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น เราจะเข้าใจกระบวนการค้าของเขาก็ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีวิธีการของเขา ซึ่งปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ ด้านเทคโนโลยีในจีนมีมากมายหลายสิบบริษัท ซึ่ง อาลีบาบา ถือเป็นหนึ่งที่ใหญ่ที่สุด เรื่องทำนองนี้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเทคโนโลยี 4.0 นั้น ทุกอย่างจะดำเนินอยู่บนโลกดิจิทัลในแพลตฟอร์มเหล่านี้ คือเอาตลาดที่สมัยก่อนเคย “แบกะดิน” ไป “แบบนอากาศ” เป็นโลกของแพลตฟอร์มที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวจึงอยู่รอด

“หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ เมื่อก่อนหลายๆ ท่านอาจจะปฏิเสธสมาร์ทโฟน บางคนไม่ยอมใช้ หรือไม่อยากใช้ แต่ปัจจุบันนี้ทุกคนใช้สมาร์ทโฟนกันหมด เพราะประโยชน์และความจำเป็นไม่ใช่ประเด็นอยากไม่อยากใช้ ต่อไปการค้าขายและบริการหลากหลายก็จะมาในแพลตฟอร์มเหล่านี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ที่จีนถือว่าล้ำหน้ามาก ทุกคนใช้ QR Code ใช้จ่ายซื้อของผ่าน อีคอมเมิร์ซ โยงออฟไลน์กับออนไลน์ การพัฒนาของเขาไปไกลจนอเมริกาเริ่มกลัวแล้ว ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพึ่งการใช้แพลตฟอร์มของเขาเพื่อขายสินค้าของเราให้มากที่สุดไปในตลาดจีนและตลาดทั่วโลก สิ่งสำคัญที่ดีที่สุดข้อหนึ่ง คือการที่เขายอมให้เราส่ง เอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ ไปเรียนรู้จากเขา ที่มีการระบุในเอ็มโอยู..”

...

อาลีบาบา คือ ผู้เล่นหน้าใหม่ไทย หาใช่การผูกขาด

เริ่มมีนักธุรกิจบางคนเริ่มกังวล เรื่องการผูกขาด กรณีนี้ นายวิบูลย์ มองว่า ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องกังวล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีไม่ได้ ปัจจุบัน เศรษฐกิจของไทยก็เชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจของโลกอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ปิดหูปิดตาตัวเองไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ทุกองค์กรควรทำ คือ การปรับตัว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เรื่องนี้ถึงแม้แจ็ค หม่าจะไม่มา ทุกอย่างก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพราะเราห้ามมันไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ อันที่จริง ในประเด็นนี้การที่อาลีบาบาเข้ามานั้น ดีต่อการต่อต้านการผูกขาดของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีนอีกบริษัทที่เข้ามาไทยก่อนหน้านี้คือเจดี ดอทคอม สรุปให้เขาแข่งขันกัน ผู้บริโภคได้ประโยชน์

ข้อกังวล เรื่องการผูกขาดนั้น เรื่องนี้เชื่อว่าหลายคนคิด แต่เมื่อวันก่อน “แจ็ค หม่า” ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “การผูกขาด” ไม่ได้อยู่ในความคิดของเขาเลย และที่สำคัญปัจจุบันนี้ระบบอีคอมเมิร์ซนั้นมีมากมาย จึงต้องสู้กันด้วยการบริการ ขณะเดียวกัน ทางเราเองก็มีระบบอีคอมเมิร์ซที่ต้องสร้างขึ้น สิ่งที่จะวัดกันว่าอะไรดีหรือไม่ สุดท้ายจะอยู่ที่การแข่งขัน เช่น อีคอมเมิร์ซ บริษัทแห่งหนึ่งสั่งสินค้าแล้วส่งได้ภายใน 3 วัน ขณะที่อีกแห่งต้องใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ แบบนี้ผู้บริโภคจะเป็นคนเลือกซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

“การเซ็นเอ็มโอยู ครั้งนี้ ยังเป็นเพียงกรอบกว้างๆ เท่านั้น แต่หลังจากนี้จะมีการทำแผนปฏิบัติการออกมา ซึ่งหลังลงนามเสร็จ ตัว แจ็ค หม่า ได้เดินทางกลับไปที่ปักกิ่ง แต่ทีมงานเขายังอยู่ประชุมต่อ ถามว่ามีรายละเอียดแต่ละโครงการแค่ไหน ตอนนี้ยังเป็นการพูดคุยเพิ่มเติมและวางแผนร่วมกันเพื่อลงรายละเอียดต่อไป” นายวิบูลย์ กล่าว

แจ็ค หม่า เคร่งศาสนาพุทธ เตรียมรีเทิร์นเมืองไทยอีกครั้งปลายปี พูดคุยเรื่อง “ความเมตตา”

ทีมข่าวฯ ถามอดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศจีนว่า มีเหตุผลใด ที่ทำให้เราเชื่อใจเขาได้ นายวิบูลย์ ตอบว่า ส่วนตัวผมเห็นว่าเขามีวิสัยทัศน์และจิตใจที่ใช้ได้เลย ที่เราอาจจะไม่ทราบนะ..ว่าความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเขาคือการเป็นครู ดังนั้น เขาจึงทำโครงการหนึ่งที่ช่วยเหลือครูชนบท เขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่เขาจะทำหลังเกษียณ นอกจากนี้ ในจีน เขายังมีคนจาก taobao มาคอยให้ความรู้เรื่องการทำค้าขายผ่านออนไลน์ให้เกษตรกรในชนบทด้วย

“มีอีกเรื่อง ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ เขาจะจัดโครงการเสวนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับทางพุทธศาสนา ร่วมกับท่าน ว.วชิรเมธี ในเดือนพฤจิกายน ปีนี้ โดยได้ให้ตนติดต่อ แจ็ค หม่า มาร่วมพูดคุย ในหัวข้อ compassion (ความเมตตากรุณาหรือเห็นอกเห็นใจ) ตอนแรกเขาปฏิเสธว่าไม่มีเวลา ผมเลยบอกว่า นี่นับเป็นโอกาสดีที่สุดของคุณนะ “อย่าให้เวลาที่คุณขาดมาจำกัด compassion ที่คุณมี” ซึ่งเนื้อแท้แล้วเขาสนใจเรื่องปรัชญาและศาสนาพุทธ นี่คือจุดเด่นของเขาอีกอย่างหนึ่ง” นายวิบูลย์ กล่าว

อาลีบาบา บ่น ระบบราชการไทย “เก่งไม่กลัว กลัวช้า”

ทีมข่าวฯ ถามอดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า อาลีบาบา ให้ความสำคัญกับประเทศไทยแค่ไหน... นายวิบูลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมภายในของ กลุ่มอาลีบาบา มองประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งอันที่จริงแล้ว เขาติดต่อประเทศไทยก่อนมาเลเซียด้วยซ้ำ แต่เขามาเจอระบบราชการไทย มีปัญหาความล่าช้า ทางอาลีบาบา เขาก็บ่น..ผ่านตนมาประมาณว่า “เก่งไม่กลัว กลัวช้า”(หัวเราะ) เขารู้สึกอึดอัดกับระบบบางอย่างของไทย เขาส่งข้อความมาหาเรา เราก็ได้นำเรียนผ่านไปทางผู้ใหญ่ แต่ของมาเลเซียเขาทำได้อย่างรวดเร็ว

“ในฐานะที่เป็นอดีตทูตประจำประเทศจีน ส่วนตัวแล้วอยากเห็นอะไรที่เกิดประโยชน์ร่วมกันไทยจีนที่ยั่งยืน ที่สำคัญ คือ เราปฏิเสธการมาถึงของดิจิทัลเทคโนโลยีไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้เพื่อช่วยการค้าขายของเรา ทุกประเทศต้องปรับตัว”

มอบทุเรียนให้เป็นที่ระลึก
มอบทุเรียนให้เป็นที่ระลึก

ปัจจุบันตลาดของจีนถือเป็นตลาดพรีเมียม ข้าว 10% หรือ 5% ไม่ต้องส่งไปจีนเลย อย่างที่ผมไปศรีสะเกษมา เจอทุเรียนภูเขาไฟ ข้าวหอมทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้า 2 สิ่งนี้คือสินค้าของผู้มีอันจะกินบริโภค ซึ่งตอนนี้สินค้าพรีเมียมในจีนนั้น คนจีนพร้อมที่จะจ่าย ตลาดจีนเปลี่ยนไปในแง่นี้ และนี่เป็นโอกาสดีของไทย เราสามารถดึงนักท่องเที่ยวมาสวนเกษตรอินทรีย์ของคุณยังได้เลย

“สิ่งสำคัญคือการรักษาคุณภาพ เพราะใน TAOBAO ผู้บริโภคสามารถประเมินคุณภาพกันเองได้เลย ประเมินคุณภาพโดยผู้บริโภค เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้คุณต้องรักษาคุณภาพ”

อดีตเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์มเหล่านี้ในประเทศไทยอันเป็นสิ่งท้าทายมากคือ ทางการไทยจะพิจารณาหรือจะหาทาง regulate คือมีกฎเกณฑ์กำหนดอย่างไรเพื่อปกป้องเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพ รวมทั้งประโยชน์ด้านภาษีของไทย ในขณะเดียวกันก็ต้องให้เกิดความสมดุล ไม่ไปกระทบปิดกั้นสิ่งที่จะเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและการช่วยขยายการค้าการลงทุนตามนโยบายรัฐบาล

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน